วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 30, 2553

He who can, does. He who cannot, teaches.

He who can, does. He who cannot, teaches.
George Bernard Shaw
1856 - 1950
ครั้งแรกที่ได้เห็นประโยคนี้จากเว็บบอร์ดรู้สึกโกรธคนเขียนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นคำที่ดูแคลนวิชาชีพครูอย่างรุนแรง ยิ่งทราบว่าคนเขียนก็เป็นครู ก็ยิ่งโมโห เรียกว่าขนาดวิชาชีพตนเองยังไม่นับถือ มันจะไปสอนดีได้อย่างไร เดี๋ยวนี้ก็ยังไม่ได้ชอบประโยคนี้มากขึ้นเท่าไร

หลังจากค้นคว้าข้อมูลเล็กน้อยทำให้ทราบว่า คนที่เขียนประโยคนี้ขึ้นมาครั้งแรกคือ George Bernard Shaw เป็นนักเขียนบทละคร(เวที?) และอาจเขียนอย่างอื่นด้วย ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1925 แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกดีขึ้นกับประโยคนี้ขึ้นมาแม้แต่น้อย

สิ่งที่ Shaw พูด น่าจะสะท้อนอคติที่มีต่อระบบการศึกษาสมัยใหม่เนื่องจากเขามีชีวิตอยู่ในรอยต่อแห่งยุคสมัย (1856 - 1950) ซึ่งคนรุ่นเขาคงจะเรียนรู้ทุกสิ่งจากการทำงาน ใช้เวลาในโรงเรียนไม่มาก และเขาอาจจะคิดว่าคนรุ่นหลังเขาใช้เวลาในโรงเรียนมากเกินไป ทั้ง ๆ ที่จบมหาวิทยาลัยแต่ก็ยังทำอะไรไม่เป็นก็เป็นได้ (หากตัดประเด็นดูแคลนวิชาชีพครูไปแล้ว ผมก็คล้อยตามทัศนคติต่อ "ระบบ" การศึกษาของเขาเหมือนกัน)

อย่างไรก็ตามในงานพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตร ผมได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบด้านซ้อมและจัดแถวบัณฑิต ในงานนี้ผมพบคำตอบที่ทำให้ผมไม่จำเป็นต้องสนใจคำพูดของ Shaw อีก นั่นก็คือเมื่อเห็นแถวบัณฑิตเดินขึ้นบันไดเข้าไปสู่อาคารกาญจนาภิเษก ภาพนั้นทำให้ผมได้ตระหนักว่า ผลงานของครูไม่ใช่สิ่งของ ไม่ใช่ตำรา ไม่ใช่หนังสือ แต่เป็นศิษย์ต่างหาก ดังนั้นมันจึงไม่สำคัญเลยว่าเรา can do หรือ cannot do เรามีศิษย์ เป็นผลงานของเราเพราะเรา can teach ต่างหาก และไม่ใช่ทุกคนที่จะ can teach ได้ 

ดังนั้น Shaw ก็ Shaw เหอะ ... ไม่แคร์ (เฟ้ย)

วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 09, 2553

พันธะสัญญา

จู่ ๆ ก็นึกถึงคำว่า Commitment ขึ้นมา...
เหตุนั้นยาวสักหน่อย ซึ่งก็คือ
วันนี้ต้องทำบางอย่างที่ไม่ได้อยากทำ แต่รับปากไว้แล้วก็ถือว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ พอใจคิดถึงจุดนั้นก็เลยคิดไปถึงว่าเคยมีคนบอกว่าคนเราสร้างสมาธิได้ 4 ทางคือ
  1. ฉันทสมาธิ - คือสมาธิที่มีความพึงพอใจรักในงานนั้น ๆ เป็นตัวนำ พอใจมันจมลงไปกับงานแล้ว มันก็เกิดสมาธิขึ้น
  2. วิริยสมาธิ - คือสมาธิที่มีความพากเพียรในงานนั้น ๆ เป็นตัวนำ (ข้อนี้ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไร)
  3. จิตตสมาธิ - คือสมาธิที่มีความตั้งใจในงานนั้น ๆ เป็นตัวนำ งานนี้อาจไม่ใช่งานที่ชอบก็ได้ แต่เป็นงานที่ได้รับมอบหมาย และบุคคลมีใจมุ่งมั่นว่าจะต้องทำให้สำเร็จ
  4. วิมังสาสมาธิ - คือสมาธิที่มีปัญญา ความรู้ ความเข้าใจในงานนั้น ๆ ความคิดที่จะพัฒนางานนั้น ๆ และมองเห็นว่าจะพัฒนาอย่างไรเป็นตัวนำ หรืออธิบายง่าย ๆ ตามความเข้าใจของผมก็คือ พอคนมันรู้ว่าจะทำได้อย่างไร ก็ถือว่ามีปัญญา ถ้าคน ๆ นั้นมีความรู้สึกอยากลงมือทำตามความคิด ก็ถือว่าถ้าทำไปจนจมลงไปกับงาน ก็น่าจะนับว่าเป็นวิมังสาสมาธิได้
ท่านว่าการสร้างสมาธิไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับ 1-2-3-4 ใครมีนิสัยอย่างไร ทำอย่างนั้น ที่เหลือจะตามมาเอง เช่นคนที่ยึดมั่นถือมั่นกับงานที่ได้รับมอบหมาย ต้องใช้วิริยะทำงาน ทำ ๆ ไป ก็เกิดปัญญาเห็นประโยชน์ของงาน เป็นลู่ทางในการแก้ปัญหาในการทำงาน ก็จะเกิดความพึงพอใจในการทำงานและในผลงานได้ เป็นต้น

อาจเป็นเคยได้ยินเรื่องนี้มา และเราปักใจคิดว่าเราเป็นพวกจิตตสมาธิ ก็เลยยึดมั่นถือมั่นกับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างมาก (แต่ไม่ใช่ว่าทำได้ดีทุกอย่าง งานหลายอย่าง เสร็จ แต่ไม่สำเร็จ) พอยึดติดมาก ๆ ก็เลยกลายเป็นนิสัย

เช่นวันนี้ไปสอน ไม่มีนักเรียนมา ก็นั่งรอ ถ้าเป็นสมัยก่อน (ตอนที่ยังบ้า ๆ อยู่) สอนผีไปแล้ว ตอนนี้ใจเย็นลง ก็นั่งรอ อันที่จริงจะไม่ต้องรอก็ได้ แต่ก็ยึดติดว่าได้รับมอบหมายมาให้สอนห้องนี้ ไม่มาก็ต้องรอ เมื่อเดือนก่อน รับปากเขาว่าจะเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยส่งให้ ก็ต้องเขียน อันที่จริงก็ไม่ใช่สาขาที่เชี่ยวชาญอะไร เมื่อรับปากไปแล้ว จู่ ๆ จะไม่ทำมันก็กระไรอยู่

แต่จากที่ร่วมงานกับนักศึกษามาผมสังเกตดู หลาย ๆ งานเป็นนักศึกษาเสนอเองว่าอยากจะทำ พอทำ ๆ ไปสักพักก็เลิก ก็หาย ถ้าผมไม่บังคับให้ทำ หมายถึงปล่อยให้คิดเองทำเอง เลือกเอง จะมีส่วนน้อยที่เลือกที่จะทำงานนั้น ๆ จนสำเร็จ เราก็รู้สึกว่านักศึกษาขาดความยึดมั่นถือมั่นในงานที่รับผิดชอบไปสักหน่อย เวลาผ่านมาพอสมควร คือสอนมาหลายปีแล้ว ต่อไปก็คงจะต้องคัดกรองอย่างมากเวลาจะร่วมงานกับนักศึกษา

เวลาเรียกมันว่าความยึดมั่นถือมั่นในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมันดูไม่ดีเนอะ ถ้าเรียกใหม่ว่า พันธะสัญญา หรือ Commitment ล่ะ ผมว่า Commitment นี่เป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งที่คนทำงานพึงมีเลยนะ คือ Commit ไปแล้ว รับปากไปแล้ว ต้องทำ จะเลิกง่าย ๆ ไม่ได้ ยกเว้นคอขาดบาดตายจริง ๆ

ที่เขียนมาก็ไม่ใช่ว่าตนเองจะดีเลิศอันใด ในสมัยเรียน น่าจะสักปี 2 ได้ ก็เคยทิ้งงานเหมือนกัน ตอนนั้นไม่รู้สึกผิดอะไร ก็คิดว่ามันจำเป็นอย่างนั้น-อย่างนี้ พอเวลาผ่านไปก็เริ่มรู้สึกผิดขึ้นมา ที่แย่คือดันลืมไม่ได้และวก็ย้อนเวลาไม่ได้ ก็เลยต้องรู้สึกผิดไปเรื่อย ๆ

ข้อดีของมันคือทำให้โกรธ-เกลียดคนอื่นได้น้อยลงอยู่ เพราะคิดซะว่าเราเคยทำอย่างนี้กับคนอื่น ตอนนี้ก็ถึงเวลาต้องใช้กรรม ก็รับกรรมไปซะ มันก็เครียดน้อยลง


ผมว่ามันเป็นคุณธรรมของคนที่จะเป็นผู้ใหญ่เลยนะ คือโตแล้ว พูดไปแล้วก็ต้องพยายามทำให้ได้ ติดขัดหรือต้องการความช่วยเหลืออะไร ลดขนาดงาน หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็คุยกัน หาทางออก แต่ทิ้งไปเฉย ๆ ไม่ได้ เพราะเมื่อเราได้ตกปากรับคำไปแล้ว ก็จะมีคนอื่น ๆ อีกมากที่จะได้ร่วมเดินทางกับเราด้วย บางคนอาจไม่ได้อยากเดินทางแต่แรก แต่ก็ร่วมทางมาเพราะเชื่อถือ/เชื่อมั่นในตัวเราหรือแม้แต่เพราะเราขอร้องเขามา แล้ววันหนึ่ง เราก็หยุดเดินไปเฉย ๆ วันนั้นเราจะตอบเพื่อนร่วมทางของเราทั้งหลายอย่างไร?

วันเสาร์, พฤศจิกายน 13, 2553

ทำงานในที่ทำงานไม่ได้

ตอนนี้จัดโต๊ะทำงานไว้ที่บ้านเรียบร้อย ทำงานดึก ๆ ดื่น ๆ ทุกวัน จนแฟนบ่น (แต่เขาก็เข้าใจนะ) อันที่จริง โดยอุดมคติแล้วเราน่าจะทำงานที่ทำงาน และให้เวลากับครอบครัวเมื่อมาอยู่ที่บ้าน

แต่ผมมีปัญหาแฮะ คือถ้าอยู่ที่ทำงาน ผมทำงานไม่ได้

อันที่จริง ผมก็ทำอะไรหลายอย่างอยู่เหมือนกันนะ เวลาเราอยู่ที่ทำงานน่ะ ที่เราทำก็เพราะเราคิดว่ามันเป็นงาน เป็นสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบ ก็ต้องทำไป อย่างวันนี้ก็จัดการเรื่อง จัดสรรสถานที่ฝึกงานให้นักศึกษา ให้คำปรึกษาแก่นักศึกษา เมื่อวานก็แก้ปัญหาเรื่องการจัดซื้อครุภัณฑ์ไม่ได้ตามแผน แก้แผนเพื่อให้จัดซื้อครุภัณฑ์ได้ ต้อนรับวิทยากรที่มาบรรยายให้นักศึกษาฟัง คุมยอดจัดซื้อวัสดุ วันก่อนนั้นก็เขียนโครงการพัฒนานักศึกษา สั่งการช่างที่จะปรับปรุงห้องทำงานให้อาจารย์ใหม่ ประชุมร่างหลักสูตร (ที่โคตรจะไม่อยากให้เปิดเลย) ... ยังดี ปีนี้ไม่ต้องทำ KPI ปีที่ต้องทำนั่นแก้รายงาน KPI จนสว่างคาตาเลย

เคยมีอาจารย์พิเศษพูดว่าเป็นอาจารย์สบายจัง ... แหงสิ (วะ) ไม่ต้องจัดการอะไรพวกนี้นี่ (หว่า)

ในความคิดเรา ที่ว่ามามันก็งานทั้งนั้นแหละ แต่มหาวิทยาลัยเขานับให้น้อย บางเรื่องเขาไม่นับให้เลยด้วยซ้ำ เขานับผลงานด้านการสอน การวิจัย

ก็ไม่ใช่ว่าไม่ได้ทำนะงานสอนงานวิจัยพวกนี้ แต่เดี๋ยวนี้ต้องเอามาทำที่บ้านหมดเลย ทั้งเตรียมสอน ตรวจข้อสอบ ตรวจการบ้าน ทำวิจัย เขียนตำรา ทำที่ทำงานไม่ได้เลยเพราะจะถูกงานอื่นแทรกเข้ามาตลอด

วันก่อน ก.จ. ก็ถามเรื่องส่งผลงานเพื่อพิจารณา เราก็บอกเขาว่าเราทำใจแล้ว เป็นอาจารย์ธุรการ ไม่ต้องส่งก็ได้มั้ง ผลงง ผลงานเนี่ย เอาแผนครุภัณฑ์หรือสมุดคุมยอดวัสดุ ไปแทนมั้ย ฮ่า ฮ่า ฮ่า

มีอาจารย์ทักว่า ทำไมอาจารย์ไม่สั่งเจ้าหน้าที่ ... อ้าว ก็งานพวกนี้เขาสั่งผมมา ถ้าจะให้เจ้าหน้าที่ทำ ก็สั่งเจ้าหน้าที่ไปเลยสิ มาสั่งผมทำไม ผมเซ็นชื่อ ผมลงนาม ผมรับผิดชอบ และผมได้ผลงาน (แม้จะน้อย) จะให้โยนงานไปให้คนอื่น แล้วรับผลงานไว้หรือไง

บ่นไปงั้นแหละ ตอนนี้ทำงานที่บ้านได้สะดวกแล้ว อะไร ๆ คงดีขึ้นมาบ้างหรอก ยังไงเวลาก็เป็นของเรา ถ้าเราไม่ยอมสักอย่าง เขาก็คงจะแย่งไปไม่ได้หรอก (มั้ง)

วันพุธ, กันยายน 15, 2553

ตรวจข้อสอบแล้วไม่เข้าใจ

ช่วงนี้มีงานประเมินผลเข้าเยอะ คือตรวจข้อสอบด้วย และเป็นกรรมการวิชาโครงงานด้วย มีทั้งเรื่องน่าชื่นใจและน่าผิดหวัง ซึ่งคงเป็นธรรมดาโลก

เอาเรื่องข้อสอบก่อน ข้อสอบที่ตะลุยตรวจช่วงนี้คือข้อสอบวิชาคณิตศาสตร์วิศวกรรม 4 เรื่องน่าชื่นใจคือ แม้จะมีบางข้อ ยุ่ง (โปรดสังเกตว่าไม่ได้ใช้คำว่ายาก) เป็นพิเศษ แต่ก็มีคนทำได้ถูกต้องครบถ้วนและได้คะแนนเต็ม 40 คะแนนในส่วนที่ผมรับผิดชอบอยู่เป็นสิบ ๆ คน และด้วยเหตุผลที่ว่ามันค่อนข้างยุ่ง คนอื่น ๆ จึงได้แสดงเพียงหลักการคิด และคำตอบบางส่วนไว้ ซึ่งถ้าถูกต้องผมก็ให้คะแนนไปตามสัดส่วน

เรื่องที่น่าผิดหวังก็คือ ในบรรดาข้อสอบที่ผมรับผิดชอบนั้น จะมีอยู่อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งง่ายเป็นพิเศษ และไม่ยุ่งด้วย คือถามตรง ๆ ตามกรรมวิธีที่ได้สอนในชั้นเรียนและนักศึกษาเกือบทุกคนทำได้ถูกต้อง แต่ก็ยังอุตส่าห์มีนักศึกษาที่ทำผิดหรือทำมั่วหรือไม่ทำเลย! ซึ่งอันที่จริง ก็เป็นเรื่องปรกติในชั้นเรียนอาจมีคนเรียนไม่ได้บ้าง ปรกติก็จะไม่คิดอะไร

แต่กับกลุ่มหนึ่งผมทราบว่านักศึกษารุ่นพี่ คือได้เรียนวิชานี้มาก่อนแล้ว และน่าจะหลายรอบแล้ว และที่พบนี้ก็ไม่ใช่คนเดียวแต่พบหลายคน ถ้าปัญหายุ่ง ๆ ทำไม่ได้ยังพอทำใจ แต่แม้แต่ปัญหาที่รุ่นน้อง ๆ ทำได้สบาย ๆ เสร็จใน 3 - 5 บรรทัดเกือบทุกคน (และในกลุ่มเรียนซ้ำด้วยกัน ก็มีคนทำได้) นักศึกษากลุ่มนี้ก็ยังทำไม่ได้ ปรากฏการณ์นี้ต้องมีความหมายพิเศษ

ความหมายก็คือ เรียนมาหลายรอบแล้วยังทำไม่ได้ มันแปลได้ไม่กี่อย่าง เช่น
  • หัวสมองไม่เหมาะกับสาขาวิชาที่มีคำนวณเยอะอย่างนี้ อาจเหมาะกับสาขาวิชาอื่นที่ใช้ทักษะอื่นมากกว่าการคำนวณ เช่นทักษะการวินิจฉัยเหตุผลเชิงพรรณา ก็ไปเรียนกฏหมาย ทักษะงานฝีมือและศิลปก็ไปเรียนศิลปศาสตร์ ถ้ามีทักษะคำนวณที่จำเป็นได้บ้าง ก็เรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ ก็ไม่ควรมาเสียเวลากับสาขาวิชานี้ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าสายวิชาเหล่านี้ง่ายกว่า แต่ตั้งใจจะบอกว่า สาขาต่าง ๆ กันจำเป็นต้องใช้ทักษะที่ต่างกัน
  • ไม่ตั้งใจเฉย ๆ คิดว่ามาเรียน ๆ แล้วก็ไหล ๆ ตาม ๆ กันไปเหมือนสมัยประถมศึกษา มัธยมศึกษา ไม่ต้องพยายามอะไร ไม่ต้องทุ่มเทอะไร หายใจทิ้งไปวัน ๆ เดี๋ยวก็จบการศึกษา ก็ไม่ควรมาเสียเวลากับสาขาวิชานี้หรือสาขาวิชาไหน ๆ ทั้งสิ้น ควรออกไปทำงานเลย เพราะอาจจะเหมาะกับการทำงานมากกว่า
  • เรียนผิดวิธี ไม่เข้าใจว่าที่เขาสอนนั้น เขาสอนเหตุผล ที่มาที่ไป ประโยชน์ใช้สอย แล้วก็กรรมวิธี แต่ไปยึดติดกับกรรมวิธีอย่างเดียว คือท่องสูตรเยอะแยะ แต่ไม่เข้าใจที่มาที่ไป เหตุผลและประโยชน์ของมัน ทำให้จำสูตรไม่ได้ หรือท่องสูตรไปก็ใช้ไม่เป็น อย่างนี้ถ้าเป็นปีต้น ๆ ยังพอหัดได้โดยธรรมชาติ ถ้าปีท้าย ๆ แล้วยังเรียนไม่เป็นอย่างนี้ ถ้าจะฝึกจะหัด ต้องทุ่มเทมากกว่าคนอื่น ๆ หลายเท่า
  • และมันก็แสดงด้วยว่าบางคนที่เรียนซ้ำ ๆ นี่ แทนที่จะซ้ำแล้วที่เคยไม่เข้าใจก็เข้าใจ ที่เคยสงสัยก็คลายสงสัย ก็เปล่า คือเรียนซ้ำ ๆ เป็นพิธีกรรมไปเฉย ๆ พอให้เปลืองเงินเล่น ๆ แต่ไม่ได้เรียนรู้อะไรจากความผิดพลาดแต่เดิมของตัวเองเลย
เนื่องจากข้อสอบที่ออกคราวนี้ถือว่าง่ายมาก (นักศึกษาส่วนใหญ่สามารถทำได้ถูกต้อง) ดังนั้นที่อึดอัดคับข้องรำคาญใจนี้ก็มีเรื่องเดียวคือในกลุ่มข้อง่าย ๆ นี้ นักศึกษาที่ทำไม่ได้มีปัญหาอะไร!? ถ้าใครมีอะไรจะบอก จะบอกที่นี่หรือจะมาบอกด้วยตนเองที่ห้องทำงานผมก็ได้ ยินดีรับฟังและจะช่วยหาทางแก้ไขให้

วันอังคาร, สิงหาคม 24, 2553

ข้อโต้แย้งนโยบายบังคับนักศึกษาทำกิจกรรม

ข้อเท็จจริง
ตามประกาศมหาวิทยาลัย สรุปสาระสำคัญตามความเข้าใจของผมได้ความว่า
  1. นักศึกษา ที่จะจบการศึกษาได้ จะต้องทำกิจกรรมไม่น้อยกว่า 60 หน่วยกิจกรรม ทำกิจกรรม 3 ชั่วโมงจึงจะคิดให้เป็น 1 หน่วยกิจกรรม (การประเมินว่าจะนับให้หรือไม่ ทำโดยคณะกรรมการกิจกรรม)
  2. กิจกรรมที่มหาวิทยาลัยจัดหมวดหมู่ไว้มี 5 ด้านคือ 1) พัฒนาศักยภาพตนเอง 2) สร้างความภูมิใจในสถาบัน 3) สร้างจิตสาธารณะ 4) คุณธรรมจริยธรรม 5) ศิลปวัฒนธรรม ใน 60 หน่วยกิจกรรมนั้น นักศึกษาจะต้องร่วมกิจกรรมให้ครบ 5 ด้าน ๆ ละ 8 หน่วยกิจกรรม ที่เหลือเป็นอิสระ 20 หน่วยกิจกรรม
  3. ในหลักสูตร 4 ปี มีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของแต่ละชั้นปีไว้ด้วยคือ ชั้นปีที่ 1) 20 หน่วยกิจกรรม ชั้นปีที่ 2) 15 หน่วยกิจกรรม ขั้นปีที่ 3 ) 10 หน่วยกิจกรรม และชั้นปีที่ 4) 5 หน่วยกิจกรรม
  4. หากปฏิบัติตามนี้ไม่ได้ จะไม่สามารถจบการศึกษาได้
  5. มหาวิทยาลัย ขอนแก่นไม่ใช่ที่แรก ไม่ใช่ที่เดียว ที่มีการบังคับในลักษณะคล้าย ๆ กัน ที่ทราบว่ามีทำไปก่อนแล้วคือ เกษตรศาสตร์ นเรศวร เป็นอย่างน้อย แต่เงื่อนไขและวิธีปฏิบัติอาจแตกต่างกัน
ข้อโต้แย้ง
กิจกรรม นักศึกษา คือกิจกรรมที่นักศึกษาเลือกที่จะทำ ตามใจสมัคร เป็นสิ่งบ่มเพาะตัวตนของนักศึกษาให้เติบโตขึ้นไปในทิศทางของตัวเอง แน่นอนว่าการทำกิจกรรมเป็นเรื่องที่ดี และพวกเราในฐานะครู ก็มีหน้าที่ส่งเสริม ให้นักศึกษาได้ทำกิจกรรมที่เขารัก เขาชอบ หากกิจกรรมเหล่านั้นจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตัวเด็กเองและส่วนรวม

กิจกรรม ที่เกิดจากความสมัครใจนั้น เป็นกิจกรรมที่เป็นธรรมชาติมากกว่า และได้ผลในสาระสำคัญมากกว่า เช่น เราคิดว่าการมีจิตอาสาเป็นเรื่องดี เราเลยบังคับให้ทุก ๆ คนทำกิจกรรมอาสา ซึ่งมันไม่ได้สร้างจิตอาสาขึ้นมาเลย อันนี้คนที่ทำกิจกรรมจริง ๆ จะทราบดีเช่น
"เราเคยได้รับ การติดต่อจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งว่าอยากจะให้พานักศึกษาของเขาไปออกค่าย อาสาฯเราก็ต้องบอกอาจารย์ไปว่าให้ทั้งหมดสมัครเข้ามาด้วยตัวเองดีกว่า เพราะถ้าไปบังคับให้ไปนั่นก็ไม่ใช่จิตอาสาแล้ว เพราะเขาไม่ได้ไปด้วยใจแต่ไปเพราะถูกบังคับ"
คุณสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา (http://www.volunteerspirit.org/node/1343)
การเป็นคนดีนั้นดี แต่การบังคับให้คนเป็นคนดีนั้นเป็นไปไม่ได้

คน เรานั้นแตกต่างกัน ความแตกต่างกันนี่แหละคือความงามของคนรุ่นหนุ่มสาว คือป่าแห่งความคิดและจินตนาการ ที่มันสวยงาม ก็เพราะมันแตกต่างกัน

ความ ชอบในงานอดิเรก วิธีการใช้ชีวิต ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับวิชาชีพ ผมคิดว่าเราไม่ควรบังคับนักเรียนของเราถึงระดับนั้น หากคิดว่าไม่ใช่เช่นนั้น ทำไมเราถึงไปเปิดเป็นวิชากิจกรรมไปเสียเลย แล้วก็บรรจุลงไปในหลักสูตรเสียให้เรียบร้อย ว่ามีวิชา กิจกรรม 1 ถึง กิจกรรม 8 และทุกคนต้องลงเรียนและผ่านเทอมละ 1 รายวิชา ... เรื่องนี้ทำไม่ได้เพราะอะไร? ทุกคนรู้คำตอบในใจอยู่แล้ว

นักศึกษา คนหนึ่ง ๆ ก็จะมีเงื่อนไขความจำเป็นต่างกัน การเป็นนักศึกษา ไม่ได้หมายถึงเป็นเด็กอายุ 18 - 22 ปี ที่แบมือขอเงินพ่อแม่มาเรียน แล้วก็ใช้ชีวิตเล่น ๆ ไปวัน ๆ นักศึกษาหลายคนนอกจากรับผิดชอบตนเองแล้วยังจะต้องรับผิดชอบครอบครัวด้วย นักศึกษาบางคนที่ผมเคยให้คำปรึกษา ต้องหาเงินมาเรียนเอง นักศึกษาบางคนที่เพื่อนผมให้คำปรึกษา ต้องทำงานหาเงินส่งทางบ้าน

นักศึกษา กลุ่มนี้ เวลากลางวันมาเรียน เวลากลางคืนต้องไปทำงาน บางครั้งมาลาเรียนเป็นสัปดาห์เพราะต้องไปทำงานที่ไซต์งานต่างอำเภอ ต่างจังหวัด มาเรียนไม่ได้ ขนาดเวลาจะมาเรียนยังไม่ค่อยจะมี นักศึกษากลุ่มนี้จะเอาเวลาที่ไหนไปร่วมกิจกรรมให้มันครบ 60 หน่วยกิจกรรม (180 ชั่วโมง! 5 ด้าน ๆ ละ 36 ชั่วโมง) นี่เป็นกลุ่มที่แม้จะมีจำนวนน้อย แต่เป็นกลุ่มที่ผมเป็นห่วงมากที่สุด

ใน ประกาศมหาวิทยาลัยนั้นไม่เพียงบังคับให้ทำกิจกรรม แต่ยังบังคับให้ทำกิจกรรมตามหมวดหมู่ที่กำหนดด้วย ซึ่งหมายความว่า หากมีนักศึกษาที่มีความชื่นชอบกิจกรรมการเขียนโปรแกรมเป็นชีวิตจิตใจ เขาก็ไม่สามารถใช้เวลาของเขากับสิ่งที่เขารักได้เต็มที่ เพราะต้องแบ่งเวลาออกไปทำกิจกรรมอื่น ๆ อีก 4 ด้าน นี่จะเป็นการทำลายศักยภาพของนักศึกษาคนนี้หรือไม่

อาจารย์ หลายท่านที่ผมได้คุยด้วย พบว่าการบังคับหมวดหมู่กิจกรรมข้อนี้ กลายเป็นอุปสรรคของการทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่างที่จำเป็นต้องอาศัยความทุ่มเท และเวลามาก เพราะนักศึกษาที่ทุ่มเทเพื่องาน (ผู้มีจิตอาสาที่แท้จริง) จะเสียประโยชน์ คือแทนที่จะเอาเวลาไปเข้าร่วมกิจกรรมที่ได้หน่วยกิจกรรมง่าย ๆ ให้มันครบ ๆ ก็ต้องมาเสียเวลาเตรียมงานต่าง ๆ ในระยะยาวก็คือกิจกรรมลักษณะนี้อาจลดลงและหายไป

ในแง่ของ สิทธิเสรีภาพ อิสระที่จะไม่ทำกิจกรรมของนักศึกษากลุ่มหนึ่งนั้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็เป็นอิสระส่วนบุคคลที่พึงได้รับการให้เกียรติและเคารพ ในฐานะผู้ใหญ่คนหนึ่งที่มีสิทธิ์เลือกวิธีการใช้ชีวิตของตนเอง การจะสอนให้เขาเคารพสิทธิคนอื่นได้นั้น ก่อนอื่นเราจะต้องเคารพสิทธิของนักศึกษาของเราเสียก่อน ไม่ใช่คิดว่าฉันเป็นอาจารย์ จะสั่งให้นักศึกษาทำอะไรก็ได้นั้น ไม่ได้!

นักศึกษา นั้นมีหน้าที่เรียน และมีสิทธิ์ที่จะทำกิจกรรม ถ้าอยากทำ หากเราไม่เคารพสิทธิ์ของนักศึกษาในข้อนี้ เราจะสอนนักศึกษาของเราให้เคารพสิทธิ์ของคนอื่นได้อย่างไร

นอกจาก นี้ในระบบการบังคับนี้ ยังได้ปฏิเสธการมีชีวิตอยู่ของนักศึกษานอกรั้วมหาวิทยาลัยด้วย เพราะกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยไม่รู้ ไม่เห็น ไม่มีส่วนในการจัดการ ไม่สามารถนับหน่วยกิจกรรมได้

นั่นหมายความว่า เราอาจไม่เคยคิดเลยว่านักศึกษาของเรา อาจไปเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมชุมชนที่ไหนสักแห่งนอกรั้วมหาวิทยาลัยได้ เช่นกลุ่มเครื่องบินวิทยุบังคับ กลุ่มโอเพ่นซอร์ส กลุ่มคนชอบเดินป่า กลุ่มอาสาสมัคร กลุ่มนักปั่นจักรยาน กลุ่มกิจกรรมลีลาศริมบึง เข้าวัดเป็นประจำตามลักษณะนิสัยพื้นฐานเดิม หรือแม้แต่โต๊ะหมากรุกหน้าตลาด...ไม่นับ!

นี่ใช่เรากำลังดึง นักศึกษาของเราออกจากที่ของเขา ออกจากดินจากป่าที่เขาจะเติบโตได้อย่างงดงาม เพื่อมาเฉาอยู่ในกระถางสวย ๆ ของเรา หรือเปล่า

ข้อเสนอแนะ
  1. ผม ไม่ได้ต้องการโจมตีใคร ผมไม่ต้องการเรียกร้องถามหาความรับผิดชอบจากใคร มหาวิทยาลัยขอนแก่น แม้จะมีปัญหาต่าง ๆ มากมาย แต่ก็ยังเป็นที่ ๆ น่าอยู่ เพราะเรารู้ว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่ตัดสินใจเรื่องใด ๆ แล้วเกิดปัญหาขึ้นมา หรือเราไม่ชอบใจก็ตาม แต่เราก็เชื่อมั่นได้อย่างน้อยอยู่หนึ่งประการก็คือ ที่เขาทำไปนั้น ก็ด้วยความรักและหวังดีต่อมหาวิทยาลัยของพวกเราทุกคน
  2. ใน อุดมคติของผม เสนอให้ยกเลิกนโยบายนี้อย่างสิ้นเชิง และเราแก้ปัญหานักศึกษาไม่ทำกิจกรรมโดยการจัดกิจกรรมให้น่าสนใจขึ้น (ซึ่งไม่ง่ายและต้องใช้เวลา)
  3. หากยกเลิกไม่ได้ด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ควรให้ลดจำนวนหน่วยกิจกรรม ลดหมวดกิจกรรมที่บังคับ คือบังคับเท่าทีี่เห็นว่าจำเป็นจริง ๆ และมีกิจกรรมรองรับอยู่แล้ว เช่นกิจกรรมกีฬาน้องใหม่ หรือกิจกรรมรับเพื่อนใหม่ เป็นต้น และขอให้ยกเลิกกรอบจำนวนหน่วยกิจกรรมประจำชั้นปีเสีย
  4. อาจารย์ที่ เป็นผู้ลงมือทำกิจกรรมทุกท่าน และนักศึกษาที่ทำกิจกรรมทุกคน หากเห็นปัญหาเช่นเดียวกับที่ผมเห็น ช่วยกันแสดงความคิดเห็นของท่าน ผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บริหารได้รับทราบความอึดอัดใจของพวกเราให้ได้มากที่สุด

ด้วยความเคารพในความเห็นของผู้อ่านทุกท่าน

วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 22, 2553

M-150 Ideology การบังคับกิจกรรม และการรักษาเมืองเชียงคาน

เป็นบันทึก 3 เรื่องที่ไม่เกี่ยวกันเลย พอดีไม่ได้เขียนบล๊อกนาน เลยเขียนรวดเดียว 3 เรื่อง

โครงการ M-150 Ideology
ช่วง 3 สัปดาห์นี้ ได้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษานักศึกษาที่สนใจจะเข้าแข่งขันรายการ M-150 Ideology พบว่าทีมนักศึกษากลุ่มนี้ มีความกระตือรือร้นสูง และมีใจรักในงาน ไม่เรื่องมาก และไม่เอาแต่ได้ (คือไม่มีคำถามว่า ทำแล้วจะได้อะไรบ้าง ทำเพราะอยากทำแท้ ๆ จากใจ)

นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนอาจารย์รุ่นพี่ คือพี่โหน่ง และความช่วยเหลือจากเพื่อนของพี่โหน่งคืออาจารย์หนุ่ย (สถาปัตย์ฯ) ปัจจัยบวกเยอะมาก ถือว่าเป็นโครงการที่ลุ้นได้ หวังว่าจะได้ผ่านรอบแรกไปลุ้นในรอบลงมือปฏิบัติต่อไป

การบังคับนักศึกษาให้ทำกิจกรรม
จะบังคับไปทำไม (ฟะ) ผมเองได้รับการปลูกฝังมาว่า กิจกรรมนักศึกษา คือสิ่งที่นักศึกษาเลือกทำตามใจสมัคร เป็นอิสระสิ่งหนึ่งที่สมัยเรียนมัธยมไม่มี ใครเป็นคนธรรมมะธรรมโม ก็เลือกชุมนุมพุทธ ใครชอบเที่ยวอาจเลือกชุมนุมถ่ายภาพ บางคนอินกับการทำเพื่อมวลชน ก็ไปออกค่ายกับชมรมอาสาฯ บางคนชอบทำกิจกรรมมาก ก็อยู่หลายชมรม

ผมเองสมัยเรียน ผมไม่สนอะไร ผมสนแต่การประดิษฐ์วงจรและแข่งขันหุ่นยนต์ ผมและเพื่อนก็ตั้งชมรมสำหรับการนี้ขึ้นมา ทุ่มเทเวลานอกเหนือจากเรียน (ซึ่งหนักมากอยู่แล้ว) ให้กิจกรรมในชุมนุมได้เต็มที่ สนุกสนานและได้เรียนรู้จากชุมนุมเยอะ และเป็นธรรมชาติ

ปัจจุบันผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองกลัวเด็กไม่ทำกิจกรรม ทางแก้คือ บังคับมันซะเลย

ไม่รู้ว่ารู้กันหรือเปล่าว่าเดี๋ยวนี้มีคนถามแล้วนะครับ เวลานำเสนอให้ทำกิจกรรมกัน เขาจะถามกันแล้วว่า งานนี้นับกี่กิจกรรม นัยว่าถ้าไม่ได้ หรือได้น้อย อาจจะไม่ทำ บางคนก็แอบ ๆ มาเซ็นชื่อร่วมกิจกรรมเพื่อนับกิจกรรม แล้วก็หนีกลับก่อน ไม่ได้ช่วยงาน ... เฮ้ย ! นี่เรากำลังสร้างเยาวชนของชาติแบบไหนกันวะเนี่ย

ไม่รู้ว่าแก้ถูกจุดไหม แม้แต่คำถามว่าทำไมเด็กถึงไม่ทำกิจกรรม ก็ไม่รู้ว่าได้ถามตัวเองบ้างหรือเปล่า เป็นการแก้ปัญหาแบบสู้บริษัทผลิตรถยนต์ก็ไม่ได้ (โตโยต้า เวลามีปัญหาจะต้องถาม "ทำไม" 5 ชั้น เพื่อหาต้นตอปัญหาที่แท้จริง)

น่าสงสัยเหมือนกันว่า การออกกำหนดแบบนี้ออกมา มันจะแก้ปัญหาอะไรได้จริง ๆ จัง ๆ และตรงจุดจริง ๆ หรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ การได้ออกกำหนดอะไรแบบนี้ออกมา เขาถือเขานับกันว่าเป็นผลงาน เอาไปใส่ CV ได้ เอาไปประกอบการประเมินเอาโบนัสได้ อันนีใช้ได้แน่ ๆ

กรรมมันก็ตกอยู่ที่เด็กนี่แหละ ไอ้ที่จะมาทุ่มเทให้กับกิจกรรมที่ตนรักตนชอบจริง ๆ ตามธรรมชาติที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล มันก็จะค่อย ๆ หายไป อย่าว่าแต่เด็กบางคนมีเงื่อนไขจำเป็นเฉพาะตัว อาจทำกิจกรรมไม่ได้ก็ต้องถูกบังคับให้ทำเหมือน ๆ กันทั้งหมด

ต่อไปก็ถึงคิวอาจารย์ละครับ จะต้องจัดต้องหากิจกรรมให้เด็กทำด้วย ไม่งั้นไม่ครบ ที่เดิมเรียกกันว่ากิจกรรมนักศึกษา ต่อไปสงสัยจะต้องเรียกว่ากิจกรรมอาจารย์ (แล้วเด็กก็เป็นผู้เข้าร่วม แล้วก็นับกิจกรรมไป)

แม้แต่จะให้เขาตัดสินใจเองว่าจะทำหรือจะไม่ทำกิจกรรมยังไม่ให้เขาเลย แล้วก็บ่นมันเข้าไปนะครับ ว่าเด็กไทยไม่โต ทำกิจกรรมกันไม่เป็น


การรักษาเมืองเชียงคานกับสิทธิพลเมือง
ได้ชมรายการข่าว 3 มิติ คุณกิตติ ไปเชียงคานและทำรายงานพิเศษเกี่ยวกับการรักษาสภาพเมืองเชียงคานไว้ กล่าวถึงการที่เมืองเชียงคาน (ไม่แน่ใจว่าโดยชุมชน หรือโดยรัฐ) กำหนดให้บ้านเรือนในเขต มีสีและแบบที่สอดคล้องกันทางภูมิสถาปัตย์ ให้ดูงดงามเหมือนเดิม

สงสัยว่าการรักษาเมืองให้เหมือนเดิม ด้วยการจำกัดแบบบ้าน และสีบ้าน นี่ นักวิชาการเขาจะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิพลเมือง เป็นเผด็จการหรือเปล่า

อย่างเมืองหลวงพระบางในลาว ซึ่งเป็นมรดกโลก ถ้าจำกัดแบบบ้าน สีบ้าน ไม่ให้เปลี่ยนหรือสร้างใหม่ มันถูก (คือรักษาศิลปวัฒนธรรม) หรือมันผิด (คือละเมิดสิทธิพลเมืองในการกำหนดที่อยู่ของตัวเอง)

สมมติว่าไม่ต้องพูดถึงเรื่องกฏหมาย หรือ Authority ใด ๆ เอาอีกที่หนึ่งก็ได้ ถนนอะไรสักถนนหนึ่งในภูเก็ต ซึ่งมีสภาพคล้ายเดิมเมื่อหลายสิบปีที่แล้วมากเสียจน ใคร ๆ ก็อยากไปเที่ยว และผู้ผลิตภาพยนตร์ก็ใช้ "โลเกชั่น" นี้บ่อย ๆ

เกิดมีบ้านหนึ่งในนั้น บอกว่าเขาไม่อยากให้บ้านมีหน้าตาแบบนี้ ขอเปลี่ยนแปลง แต่ผลของมันจะทำให้สภาพภูมิสถาปัตย์ของย่านนั้นเสียหายไป ทำให้บริษัทถ่ายหนังเขาไม่มาใช้โลเกชั่น ส่งผลให้ชุมชนขาดรายได้ เขามีสิทธิ์ที่จะทำหรือไม่?

ถ้ารัฐเข้ามายุ่ง รับรองโดนแน่ ว่าเป็นเผด็จการ แต่ถ้ารัฐไม่เข้ามายุ่ง ความงามเฉพาะตัวในชุมชนหายไป ถือว่ารัฐละเลยไหม หรือจะถือว่าคน ๆ นั้น เห็นแก่ตัวหรือเปล่า (อย่าลืมว่าบ้านเป็นบ้านของเขานะ เขาไม่ได้ไปยุ่งกับบ้านคนอื่น)

หรือจริง ๆ แล้ว เวลาเราพูดถึงสิทธิมนุษยชน หลักการว่าด้วยเรื่องสิทธิเฉพาะตนในปัจจุบันนี้ยังไม่ควรจะถือว่าถึงที่สุดใช้การได้แล้ว หลักการนี้อาจต้องการการปรับปรุงและพัฒนาต่อไปเหมือนที่มันพัฒนามา เพราะที่สุดแล้ว คนทุกคนเกี่ยวข้องกัน และการกระทำของคน ๆ หนึ่ง ย่อมกระทบต่อคนอื่นและได้รับผลกระทบจากคนอื่นแน่ ๆ

คำถามท้าทาย
ท่านอ่านดู คงพอทราบว่า ผมไม่เห็นด้วยกับการบังคับทำกิจกรรม แต่ผมเห็นด้วยกับการบังคับแบบบ้านในชุมชนที่อาศัยประโยชน์ร่วมกันจากภูมิสถาปัตย์ของชุมชน ผมเป็นพวกสองมาตรฐานหรือไม่

วันจันทร์, มิถุนายน 28, 2553

ว่าด้วยเรื่องเหตุและผล

ผมได้เขียนไว้ต่างกรรมต่างวาระ ว่าที่สุดแล้ว
เหตุผลเป็นได้เพียงอาภรณ์ของอารมณ์เท่านั้น
หมายความว่า สำหรับคนที่เก่ง ทุกคนสามารถ
หาเหตุผลมารองรับความต้องการของตนเองได้
ทั้งหมด (จึงป่วยการที่จะต้องไปเถียงกันคน
เก่ง ๆ ที่ไม่มีคุณธรรม)

อันนี้ก็เป็นความเชื่อของผม ไม่ใช่ข้อเท็จจริง
และผมคิดว่าไม่มีใครรู้หรอกว่าข้อเท็จจริงที่เป็น
ความจริงสัมบูรณ์ในเรื่องนี้มันคืออะไร

ถ้าไม่คิดเรื่องนี้ คือให้เชื่อไว้ก่อนว่า เหตุผลมัน
มีอยู่จริง ผมก็พบความจริงอีกอย่างหนึ่งว่า
เวลาคนเราถกเถียงกัน มันไม่ใช่ว่าคนหนึ่ง
มีเหตุผล แล้วอีกคนหนึ่งไม่มีเหตุผล ในหลาย
กรณีผมพบว่าคนทุกคนมีเหตุผลทั้งหมด เพียง
แต่ว่า คนเรานั้นให้น้ำหนักความสำคัญต่อสิ่ง
ต่าง ๆ ไม่เท่ากัน

เช่นการซื้อของ ถ้าเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับราคาถูก
เขาก็จะเห็นได้ว่า คนที่ซื้อของราคาแพง เป็นคนไร้
เหตุผล ในทางกลับกัน คนที่ให้ความสำคัญกับความ
มั่นใจในการใช้งานสินค้า (ประกัน บำรุงรักษา ทนทาน
ฯลฯ) ก็จะมองได้ว่า คนที่เลือกซื้อของถูกเป็นคนไร้เหตุผล

เวลามาคุยกัน อย่าคุยว่าราคาถูก มันดีหรือแย่กว่าความ
มั่นใจในสินค้า แต่น่าจะคุยกันได้ว่า เราจะให้ความสำคัญ
กับอะไร ขนาดไหน และจะดีมากขึ้นหากเราสามารถ
ตี "ราคา" ของน้ำหนักที่เราให้ความสำคัญ ให้มองเห็น
จากมุมมองของอีกฝ่ายได้ เช่น หากเราให้น้ำหนักกับ
ความมั่นใจในการใช้สินค้า เราอาจจะอธิบายให้เพื่อนฟัง
ได้ว่า หากซื้อมาแล้วเสีย จะมีมูลค่าความเสียหาย ค่า
เสียโอกาส ฯลฯ เป็นเท่าใด เพื่อให้เพื่อนเรามองเห็นได้
ว่าเหตุใด เราจึงเลือกเช่นนี้ เป็นต้น

แต่ถ้าตั้งต้นด้วยความเชื่อว่าอีกฝ่ายเป็นคนไม่มีเหตุผล
และปักหลักอธิบายเพียงจากมุมมองของตนเองเท่านั้น
มันก็ไม่มีวันจะคุยกันรู้เรื่องได้

เวลาผู้ใหญ่สอนเด็ก มักจะอ้างว่าสอนด้วยเหตุผล
แต่ที่ผมเคยเจอ เหตุผลที่ผู้ใหญ่สอน กลับทำให้เด็ก
สับสน เพราะการให้น้ำหนักความสำคัญของเด็ก
กับผู้ใหญ่ ไม่เหมือนกัน และเด็กอาจไม่เคยเข้าใจ
การให้น้ำหนักความสำคัญของผู้ใหญ่เลย และเสีย
โอกาสในการพัฒนาทักษะการให้น้ำหนักความสำคัญ
ของสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตด้วยตนเองได้

เช่นการซื้อของข้างต้น เมื่อเด็กมาถึงทางที่จะต้องเลือก
เขาจะไม่รู้เลยว่า เลือกทางใด จึงจะถูกใจผู้ใหญ่
เพราะหากซื้อของถูก อาจถูกตำหนิได้ว่า ไม่รู้จักซื้อของดี คุ้มค่ากว่าเป็นไหน ๆ
หากซื้อของแพง อาจถูกตำหนิได้เช่นกันว่า ไม่รู้จักประหยัด
ที่สุดแล้วก็จะตัดสินใจเองไม่ได้
เมื่อตัดสินใจเองไม่ได้ ผู้ใหญ่ผู้มีเหตุผล ก็จะหงุดหงิด
รำคาญใจที่เด็กไม่รู้จักตัดสินใจเองอีก โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง

หากเป็นเช่นนี้ สิ่งที่เรียกว่าเหตุผลของเด็กคนนี้
ก็จะเป็นเพียงการมองหน้าผู้ใหญ่ ว่าท่านพอใจ
หรือไม่เท่านั้น ซึ่งมันน่าเสียใจและน่าเสียดาย
ศักยภาพของเด็ก เป็นอย่างมาก

วันเสาร์, พฤษภาคม 22, 2553

ความคับแค้นใจนั้นเป็นของจริง

ผมได้ดูภาพข่าวและการสัมภาษณ์ประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุม น.ป.ช. เมื่อวานนี้ ทั้งภาพความซึมเศร้า ทั้งการให้สัมภาษณ์ที่เห็นได้ชัดว่ามีความเสียใจจริง ๆ เมื่อการชุมนุมยุติ ตอกย้ำความเชื่อของผมอย่างหนึ่งว่า

คนเหล่านี้คือส่วนที่ไม่ได้ถูกจ้าง (ผมเชื่อว่ามีส่วนที่ถูกจ้างด้วย) เขามาด้วยใจ มาด้วยความรู้สึกคับแค้นจริง ๆ และเชื่อจริง ๆ ว่าสิ่งที่แกนนำจะพาเขาไปนั้น จะแก้ปัญหาให้เขาได้ (ซึ่งแน่นอน ผมเชื่อต่างไปจากเขาร้อยแปดสิบองศา)


ในทางกลับกัน เหตุการณ์ครั้งนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า ช่องว่างในสังคมไทยนั้น ไม่ได้มีเพียงช่องว่างทางรายได้
ข้อความต่าง ๆ ใน Facebook สะท้อนช่องว่างทางทัศนคติ
ข้อความต่าง ๆ ใน Facebook สะท้อนช่องว่างทางโอกาส
ข้อความต่าง ๆ ใน Facebook สะท้อนการไม่พยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน

นี่คือโจทย์ที่รัฐ (ไม่ใช่พรรคการเมือง) จะต้องมอง เอาใจใส่

ในทางหนึ่ง จะต้องสืบค้นต้นตอของปัญหาของผู้ร่วมชุมนุมให้ได้ว่ามันคืออะไร และจะต้องแก้ไขให้ถูกจุด (วางใจได้บ้างเมื่อได้เห็นคุณหญิงสุพัตรา ออกรายการคุณกนกเมื่อหลายวันก่อน)

ในอีกทางหนึ่งจะต้องให้ความรู้แก่ประชาชน ในเรื่องของการเคารพผู้อื่นในฐานะคนเท่าเทียมกัน ให้การดูหมิ่นคนด้วยชาติกำเนิด ด้วยฐานะ ด้วยการศึกษา เป็นเรื่องที่น่าอาย น่าดูถูก ให้ได้ (รวมทั้งในทางกลับกันด้วย เช่นการดูถูกคนรวยว่าจะต้องหยิ่งแน่ ๆ หรือเรียนเก่งแล้วจะต้องเห็นแก่ตัวแหง ๆ อะไรทำนองนี้ก็ไม่น่าจะยอมรับได้เช่นกันเป็นต้น)

ไม่เพียงรัฐเท่านั้น ผมคิดว่าประชาชนทุกคน หากตระหนักถึงปัญหานี้แล้ว ทุกท่านล้วนมีภาระหน้าที่เดียวกันนี้ทั้งสิ้น

มิเช่นนั้นแล้ว ความสงบหลังการชุมนุมยุติลงนั้น จะเป็นเพียงความสงบชั่วคราวที่ซ่อนรอยร้าวลึกไว้เบื้องหลัง

วันจันทร์, พฤษภาคม 17, 2553

นี้คือจุดจบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ประเทศไทยของเราวันนี้น่าเศร้านะครับ

ผมไม่ดีใจที่ทหารต้องบุก ผมไม่ดีใจที่ผู้ชุมนุมเสียชีวิต แต่ผมจะไม่ว่าทหารเลย และผมจะไม่ว่ารัฐบาลเลย เพราะนี่คือสิ่งที่จะต้องเป็นไป ตามเส้นทางที่มีคนขีดไว้ให้เดิน ผมไม่เห็นว่ารัฐบาลจะมีทางอย่างอื่นอีก นอกจากทางที่กำลังเป็นไปอยู่ ณ ขณะนี้ แต่คนที่ต้องรับผิดชอบก็คือแกนนำ เพราะมันเห็นได้ชัดว่านี่คือสิ่งที่เขาต้องการ

ผมอยากแสดงความเห็นและคำถามเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของการชุมนุมทีละเรื่องดังต่อไปนี้
ลำดับที่ 1 ข้อเรียกร้อง
ข้อเรียกร้อง คือ ให้ยุบสภา (ภายใน 15 วัน)
เหตุผล เพราะ นายกเข้าสู่ตำแหน่งโดยไม่ชอบธรรม (นัยว่าไม่ใช่พรรคอันดับหนึ่ง จึงไม่ควรมีสิทธิ์)
ผมขอถามว่า หากผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีในสภามีจำนวน 100 คน พรรค ก. มี ส.ส. อยู่ 34 คน พรรค ข. มี ส.ส. อยู่ 33 คน พรรค ค. มี ส.ส. อยู่ 33 คน และพรรค ข. ทำงานกับพรรค ก. ไม่ได้ จึงออกเสียงให้ พรรค ค. รวมได้ 66 เสียง ต่อ 34 เสียง
จะถือว่านายกรัฐมนตรีเข้าสู่ตำแหน่งอย่างชอบธรรมไหม?
หรือควรจะเป็นคนของ พรรค ก. ซึ่งได้รับเลือกเป็นอันดับหนึ่งคือ 34 เสียง?
หรือคนของพรรค ข. ไม่มีสิทธิ์ เลือกคนอื่นนอกจากคนของพรรค ก.
หรือว่าเราใช้วิธีเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงแล้ว โดยที่ไม่มีใครมาบอกผม!!??

ลำดับที่ 2 ข้อเรียกร้อง
ข้อเรียกร้อง คือ ให้ยุบสภา (ภายใน 15 วัน)
เหตุผล เพราะ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ชอบธรรม เป็นรัฐธรรมนูญฉบับทหาร
ผมขอชี้ให้เห็นว่า
  1. รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติมาแล้ว
  2. พรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ได้เป็นรัฐบาลในรัฐธรรมนูญอันนี้มาแล้ว ถ้าคิดว่ายุบสภามันแก้ปัญหาได้ น่าจะยุบสภาเสียแต่ตอนนั้นแล้ว เออนะ ตอนนั้นทำไมไม่ยุบสภาล่ะ
  3. ถ้าจะคุยกันเรื่องความชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรม อันเนื่องมาจากการรัฐประหาร เราจะตีกรอบไหม ว่าให้คุยย้อนเวลาได้ถึงไหน จะเอาให้ถึงเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เลยไหม จะย้อนไปได้หรือไม่ได้ จะใช้หลักเกณฑ์อะไร ผมเองเป็นคนธรรมดา ไม่ใช่นักรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์อะไร แต่ผมก็อยากรู้
ลำดับที่ 3 การเจรจา 1
ผู้ชุมนุม ยุบสภา
รัฐบาล ไม่ยุบสภา
ผู้ชุมนุม ยุบสภา
รัฐบาล โอเค งั้นยุบสภาใน 9 เดือน
ผู้ชุมนุม ยุบสภาภายใน 15 วัน
ปิดโต๊ะรอบที่หนึ่ง

ย้อนกลับไปที่ความต้องการของผู้ชุมนุมอีกครั้ง
ผู้ชุมนุมต้องการอะไรล่ะครับ คราวนี้ ไอ้ 15 วันที่ว่าตอนแรกมันก็เลยมาแล้วด้วย (And so what?) แล้วนอกจากเรื่องนี้ก็ไม่เคยเห็นจะแสดงความต้องการอื่น ๆ ว่าต้องการให้รัฐบาลทำอะไร หรือแก้ปัญหาอะไรให้

ลำดับที่ 4 เสรีภาพของสื่อ
ข้อเรียกร้อง คือ ให้สื่อมีเสรีภาพ
เหตุผล คือ สื่อต้องมีเสรีภาพจึงจะนำไปสู่สังคมที่มีปัญญาและเป็นสุข
เรื่องนี้มีคำถาม 2 ข้อ และประเด็นปลีกย่อยอีก 1 ข้อคือ
  1. สื่อที่โกหก ควรมีเสรีในการโกหกหรือไม่ ประเด็นเรื่องโกหกที่ชัดเจนที่สุด ก็คือคลิปเสียงนายกฯ ซึ่งฟังแล้วก็รู้ได้ว่าตัดต่อ ผู้เชี่ยวชาญก็ยืนยันแล้ว และก็เข้าสู่กระบวนการของศาลไปแล้ว ยังเอามาพูดซ้ำ ๆ อยู่อีก
  2. สื่อที่สร้างความเกลียดชัง ควรมีเสรีในการสร้างความเกลียดชังแก่กันหรือไม่
  3. สื่อที่ละเมิดสิ่งสักการะของปวงชน ควรมีเสรีภาพในการละเมิดสิ่งสักการะของปวงชนหรือไม่ อย่าว่าแต่การละเมิดนั้นสร้างมาจากเรื่องโกหก เลื่อนลอย ซึ่งแม้แต่จะกระทำกับคนธรรมดา ๆ ก็ถือว่าละเมิดสิทธิส่วนบุคคลตามกฏหมายสากลแล้ว (หมิ่นประมาท)
ผมเองอาจเพราะเป็นครู จึงคิดว่าอำนาจ (และเสรีภาพ) จะมีโดยปราศจากความรับผิดชอบไม่ได้ นี่คือเรื่องพื้นฐานที่มักจะถูกจงใจมองข้ามกันบ่อยที่สุดเท่าที่เคยอ่านเคยเห็นในอินเตอร์เนตมา

ลำดับที่ 4 ความรุนแรง
ใครบ้างที่ใช้ความรุนแรง ผมไม่ได้ทำถึงขนาดไปค้นมาทุกรายการ แค่แสดงเท่าที่จำได้ก็ไม่น้อยแล้ว
  • ละเลงเลือดสถานที่ราชการ (เอาล่ะ หากคิดว่าเป็นการแสดงออกแบบหนึ่ง ไม่ว่ากันก็ได้)
  • ละเลงเลือดบ้านนายก! (มันจะไม่ละเมิดสิทธิของบุคคล ๆ หนึ่งมากไปหน่อยหรือครับ)
  • บุกสถานีไทยคม
  • บุกเข้ารัฐสภา
  • ปิดถนน ตรวจค้นผู้คนที่สัญจรไปมา (ชักจะเหมือนปฏิวัติแล้วนะครับ เกลียดกันนัก ทำเองซะเลย)
  • หยุดรถไฟ (เจ๋งมากครับ ไม่มีอาวุธ แต่หยุดรถไฟทหารได้ ไม่มีทหารประเทศไหนใจดีเท่านี้อีกแล้วมั้งครับ)
นี่ยังไม่นับรวมความรุนแรงอื่น ๆ ที่ไม่เห็นคนทำนะครับเช่น
  • ระเบิดฐานเสาไฟฟ้าแรงสูง
  • ระเบิด M79 ตามสถานที่ราชการและที่ชุมชนต่าง ๆ

จะทำไปทำไมครับเนี่ย

ลำดับที่ 5 การสลายการชุมนุม 1
สั้น ๆ ง่าย ๆ พลิกทุกทฤษฏีการควบคุมฝูงชนก็คือ ในกลุ่มผู้ชุมนุม มีอาวุธ!
ประชาชนเสียชีวิต ทหารเสียชีวิต นักการเมืองสบายดี แกนนำสบายดี
พี่เอก คุณปริญญา เคยจัดกิจกรรมจำลองสถานการณ์การเมืองไทยมีผู้ชุมนุม ตอนที่เรียนอยู่เยอรมันนี ก็หลายปีแล้ว ผมไปไม่ทันกิจกรรมที่ว่า แต่ได้ยินว่าสนุกดี แต่จำได้ว่าการจัดการกับการชุมนุมแบบนั้นผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธนะครับพี่เอก

ลำดับที่ 6 การเจรจา 2
รัฐบาล เลือกตั้งใหม่ 14 พ.ย
ผู้ชุมนุม ให้ระบุวันยุบสภาชัด ๆ
รัฐบาล ระบุไม่ได้ ขอใช้กรอบเวลา 45 - 60 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง รวม 15 วัน เป็น Buffer Time เพื่อสะสางงานราชการที่อาจคั่งค้าง
ผู้ชุมนุม งั้นให้นายสุเทพมอบตัว
รัฐบาล เอ้า นายสุภาพไปรายงานตัวกับ DSI ผู้รับผิดชอบคดี
ผู้ชุมนุม ไม่ได้ ให้นายสุเทพไปมอบตัวกับตำรวจ
รัฐบาล ไม่ได้
ผู้ชุมนุม ไม่ได้ (ทั้ง ๆ ที่เกือบจะได้แล้ว)
ปิดโต๊ะรอบที่ 2

ผมสงสัยว่าในห้วงเวลานั้น จริง ๆ แล้วแกนนำต้องการอะไร ผู้ชุมนุมต้องการอะไร จริง ๆ แล้วหวังผลอะไร

ลำดับที่ 7 การสลายการชุมนุม 2
ไม่ติดตามข่าวแล้วครับ มันเครียด แล้วมันก็เศร้าด้วย

แต่ดูภาพรวมเอาพอจะเดาได้ไหมครับ
ว่าไอ้ที่มันเกิดขึ้นอยู่ตอนนี้น่ะ
ใครกันแน่ ที่อยากให้มันเกิด

ผมชอบโคนัน ปัวโรต์ และนักสืบอีกหลายคน คิดแบบนักสืบให้คิดเรื่องแรงจูงใจและผลประโยชน์
เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น ผลคือจบงานนี้ อภิสิทธิ์ เป็นนายกฯ ต่อไม่ได้แล้วครับ ผมเดาใจท่านว่าท่านลาออกแน่นอนหลังจากสลายผู้ชุมนุมเสร็จ อาจไม่ยุบสภา แต่คงจะลาออก

คิดว่าใครเกลียดคุณอภิสิทธิ์ครับ? ใครยอมให้คุณอภิสิทธิ์เป็นนายกฯไม่ได้? ใครจะได้ประโยชน์หากคุณอภิสิทธิ์ไม่ได้เป็นนายกต่อไป? ใครจะเสียประโยชน์หากคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกฯต่อไป?

มันอาจตอบคำถามได้ว่าสิ่งที่แกนนำต้องการจริง ๆ นั้นคืออะไร มันอาจอธิบายได้ว่าทำไมแกนนำถึงทำอย่างที่ทำลงไป และมันอาจอธิบายได้ว่าสิ่งที่ทำนั้น ทำเพื่อใคร

จะเป็นใครก็แล้วแต่ แต่ผมไม่คิดว่าเขาจะทำเพื่อประชาชนอย่างแน่นอน

วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 06, 2553

อริยสัจ 4 กับการเมือง

มีผู้รู้สอนให้ใช้อริยสัจ 4 ช่วยในการพิจารณาแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยแนะว่า
ทุกข์ คือปัญหา (สภาวะของปัญหา)
สมุทัย คือเหตุของปัญหา (นักศึกษามักใช้ทุกข์และสมุทัยสับสนปนเปกัน)
นิโรธ คือสภาวะสิ้นปัญหา (สภาพที่เราต้องการ)
มรรค คือเส้นทางที่จะนำไปสู่สภาวะสิ้นปัญหา (ทางแก้ปัญหา)



ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้น ทำให้ไม่เข้าใจหลายอย่าง ณ เวลานี้
ดูเหมือนทุกอย่างมันจะค่อย ๆ คลี่คลายออกแล้ว
แต่เรื่องที่ยังไม่เข้าใจ ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี

อย่างน้อย ๆ ตอนนี้ที่ไม่เข้าใจเลยมี 2 เรื่อง

เรื่องแรกคือการชุมนุมของคนเสื้อแดง ซึ่งมีข้อเรียกร้องที่เสียงดัง ฟังชัดที่สุดคือ
- ให้นายกรัฐมนตรียุบสภา (เดิมว่า ภายใน 15 วัน)

หากเราใช้อริยสัจสี่พิจารณา ก็พอจะจับได้ว่า คนเสื้อแดงเห็นว่าการยุบสภา เป็นการแก้ปัญหา ซึ่งก็คือ มรรค
ถามว่า หากตั้งคำตอบ ให้การยุบสภาเป็น มรรค
แล้วคำถามคือ ทุกข์ (ปัญหา) สมุทัย (เหตุของปัญหา) และ นิโรธ (ภาวะสิ้นปัญหา) ที่คนเสื้อแดงเขามีในใจมันคืออะไร? จริง ๆ เขาก็บอกมาหลายอย่าง แต่เราเชื่อมโยงไม่ได้สักทีว่า ยุบสภา มันจะเป็นมรรคของทุกข์เหล่านั้นได้อย่างไร

เรื่องที่สองคือข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งภายในวันที่ 14 พ.ย. 2553
ถ้ายุบสภาเลือกตั้งใหม่ตามกำหนด คือทางแก้ปัญหา หรือ มรรค ของท่านนายกรัฐมนตรี
ถามว่า ทุกข์ สมุทัย และนิโรธ ที่ท่านนายกรัฐมนตรีเห็นมันคืออะไร?

แล้วยิ่งย้อนกลับมาถามตัวเองด้วยว่า หากเรายอมรับการตัดสินใจยุบสภาของนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ยอมรับการเรียกร้องให้ยุบสภาของคนเสื้อแดง เหตุผลของเราคืออะไร?

...มีแต่คำถาม ไม่มีคำตอบ...

วันเสาร์, พฤษภาคม 01, 2553

หยุดให้ท้ายพันธมิตร

วลีนี้มีพลังอย่างมากในห้วงเวลานั้น

 หยุดให้ท้ายพันธมิตร!


ผมเห็นวลีนี้ครั้งแรกจากเพื่อนร่วมโลกไซเบอร์ และได้ตามไปอ่านบทความเต็มในมติชนสุดสัปดาห์

วันนี้ ผมอยากเห็นวลีนี้อีกครั้ง ต่อกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. โดยเฉพาะจากสำนักคิดเดิม เนื่องจากหากให้คนอื่นพูด ก็ไม่น่าจะมีพลังเพียงพอ หรือว่าพอวันนี้ เป็นอีกกลุ่มที่ชุมนุมกัน กระแสความคิดจะกลับกลายเป็นการพยายามทำความเข้าใจผู้ชุมนุม?

การทำความเข้าใจกับผู้ชุมนุมเป็นเรื่องที่ดี แต่ การที่ผู้ชุมนุมจะทำความเข้าใจกับระบบรัฐสภา ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำเหมือนกัน ไม่เช่นนั้น ความเข้าใจในลักษณะ
อู๊ยย...บ้านเมืองวุ่นวายร้อนร้าย ถ้าป้าทองเป็นรัฐบาล จะลาออก รู้ทั้งรู้ว่าประชาชนไม่ได้เลือกตัวเองมาเป็นรัฐบาลยังจะหน้าด้านอยู่ได้ เออ ถ้ายุบสภา เลือกตั้งใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ชนะ ป้าไม่ว่าซ๊ากคำ จะยอมรับเสียงคนที่เขาเลือกโดยดี แต่นี่อะไรไม่รู้ อยู่ ๆ ก็ขึ้นมาเป็นรัฐบาล สมควรแล้วที่จะโดนประชาชนขับไล่ จริงไหม
จากบทความ "นับแต่นี้ไปไม่เหมือนเดิม" โดย คำ ผกา
มติชนสุดสัปดาห์
ก็จะถูกนำไปขยายผล ทั้ง ๆ ที่ กลไกประชาธิปไตยของเรา ไม่มีการเลือกตั้ง ฝ่ายบริหาร โดยตรง มีแต่การเลือกฝ่ายนิติบัญญัติ แล้วให้ฝ่ายนิติบัญญัติ เลือกผู้บริหาร ข้อตกลงของเราเป็นอย่างนี้ ไม่ชอบก็ให้แก้รัฐธรรมนุญซะ ไม่ใช่ให้ยุบสภา แล้วใช้กติกาเดิม เพื่อตอบสนอง...อะไร??

สิทธิในการเลือกตัวแทนของประชาชน เข้าสู่รัฐสภา เป็นสิทธิของประชาชน
สิทธิในการเลือกฝ่ายบริหาร เข้าสู่ตำแหน่งบริหาร เป็นสิทธิของประชาชน ที่ฝากตัวแทนในรัฐสภามาใช้

ดังนั้น แม้จะไม่ใช่พรรคที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง หาก ตัวแทนของประชาชนในรัฐสภา ให้ความไว้วางใจให้ทำหน้าที่บริหาร ก็ไม่ได้ถือว่ามาเป็นผู้บริหารโดยไม่ชอบธรรมแต่อย่างใด

หรือว่าแม้ในวงวิชาการ วงการเสรีชน ก็มี สองมาตรฐาน!!??

หรือสิ่งที่เรียกว่าเหตุผล สุดท้ายก็เป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้สนองความต้องการของตน เท่านั้นเอง

วันพฤหัสบดี, เมษายน 22, 2553

เสรีภาพในการเผยแพร่ข่าวสาร

ผมมีคำถาม (ซึ่งรู้คำตอบในใจอยู่แล้ว) เมื่อตอนมีกรณีปิดสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งโดยรัฐบาล

สื่อและบุคคลมีเสรีภาพในการเผยแพร่ความเท็จหรือไม่
สื่อและบุคคลมีเสรีภาพในการเผยแพร่ความเท็จที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือไม่
สื่อและบุคคลมีเสรีภาพในการเผยแพร่ความเท็จที่ทำให้บุคคลอื่นถูกเกลียดชังโดยไม่มีโอกาสชี้แจงหรือไม่
สื่อและบุคคลมีเสรีภาพในการเผยแพร่ความเท็จที่ทำให้บุคคลและบุคคลเกลียดชังกันหรือไม่

สื่อและบุคคลมีเสรีภาพในการเผยแพร่ความจริงหรือไม่
สื่อและบุคคลมีเสรีภาพในการเผยแพร่ความจริงที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือไม่
สื่อและบุคคลมีเสรีภาพในการเผยแพร่ความจริงที่ทำให้บุคคลอื่นถูกเกลียดชังโดยไม่มีโอกาสชี้แจงหรือไม่
สื่อและบุคคลมีเสรีภาพในการเผยแพร่ความจริงที่ทำให้บุคคลและบุคคลเกลียดชังกันหรือไม่

ผมคิดว่าคำตอบของแต่ละคำถามข้างต้น ต่อสื่อและต่อบุคคล นั้นแตกต่างกัน
เพราะความรับผิดชอบของสื่อนั้นเหนือความความรับผิดชอบของบุคคล เนื่องจากผลกระทบและอิทธิผลของมันต่อสังคมนั้นสูงกว่ามาก


โดยเฉพาะการเผยแพร่ความเท็จเพื่อให้คนเกลียดบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่ม ใดกลุ่มหนึ่งนั้น ไม่รู้ว่าจะถือว่าเข้าข่าย Hate Crime หรือเปล่า ถ้าใช่ สงสัยนักว่าเสรีชนเขาไม่เกลียด Hate Crime กันหรอกหรือ?

วันจันทร์, เมษายน 12, 2553

ท่านนายกฯ ไม่มีสิทธิ์ลาออกตอนนี้

ขอให้กำลังใจท่านนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ในการแก้ปัญหาของประเทศชาติในขณะนี้
ผมสงสารท่านเหลือเกิน แต่ไม่ว่าจะสงสารอย่างไร
ท่านก็ไม่มีสิทธิ์หนีปัญหา หรือว่าลาออกตอนนี้เด็ดขาด
จนกว่าจะจัดการโจร 5-6 คนที่ทำลายชาติบ้านเมืองอยู่ให้ได้เสียก่อน

เมื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อยแล้ว ท่านจึงจะสามารถลาออก และ
ให้คนกลางเข้ามาสอบสวนการสลายการชุมนุมเพื่อหาผู้รับผิดชอบต่อไป

อย่าให้มันจบเหมือนเขมรแดงนะครับ มันน่ากลัวเกินไป

สิ่งที่น่ากลัวในการชุมนุม ที่ผมรู้สึกได้คือ ความเกลียดชังครับ เป็นการชุมนุมที่ปั่นความเกลียดชังแก่กันมาเป็นเชื้อเพลิงให้การชุมนุมเองด้วยข้อมูลเป็นเท็จ มันเต็มไปด้วยความเกลียดชัง

จะแก้ได้ก็ต้องจัดการกับคนโกหก (หน้าตาเฉย ไม่แอบ และไม่อาย) ให้ได้ก่อน ถ้าจัดการไม่ได้ ต่อไปคนโกหก (หน้าตาเฉย ไม่แอบ และไม่อาย) ก็คงจะเต็มสภาล่ะครับ ส่วนคนอย่างท่านซึ่งมีความรู้ ความสามารถ และเป็นสุภาพบุรุษก็คงไม่มีใครกล้าเลียนแบบ เพราะมันอันตรายถึงชีวิตทีเดียว

ดีไม่ดี ดูกันต่อไป คนโกหก (หน้าตาเฉย ไม่แอบ และไม่อาย) นี่จะน่ากลัวกว่าทักษิณด้วยซ้ำไป ในอนาคตจะมีเสรีภาพอย่างที่มีอยู่ตอนนี้หรือเปล่าก็ไม่รู้

วันศุกร์, เมษายน 09, 2553

คำประกาศจาก วสิษฐ เดชกุญชร ที่ต้องอ่าน

คำประกาศจาก วสิษฐ เดชกุญชร ที่ต้องอ่าน
จากบล๊อกของคุณสุทธิชัย หยุ่น


"เนื่องจากมีผู้สนใจสอบถามมาเป็นจำนวนมาก ผมจึงขอชี้แจงว่า
( ๑) ผมไม่ใช่ ผู้นำ การชุมนุมเมื่อบ่ายวันศุกร์ที่ผ่านมา แต่ได้รับเชิญจากกลุ่มจุฬาฯเชิดชูคุณธรรมนำ ประชาธิปไตย (จคป) ให้ไปร่วมหารือก่อน
      เมื่อทราบวัตถุประสงค์ของการชุมนุม คือการ เทิดทูนและปกป้องพระมหากษัตริย์จากการลบหลู่และให้ร้าย ไม่สนับสนุนความรุนแรง
    ไม่สนับสนุนการแบ่งแยกชนชั้น และไม่บังคับรัฐบาลให้ยุบสภา ซึ่งตรงกับใจผม ผมก็ตัด สินใจรับเป็นที่ปรึกษา และไปร่วมชุมนุมด้วย


( ๒) จคป.ไม่ได้บังคับให้ใครสวมเสื้อสีชมพู   ใครจะสวมสีอะไรก็ได้ ผมสวมเสื้อสีชมพูไปร่วมชุมนุม เพราะสีชมพูเป็นสีของจุฬาฯ และ ผมเป็นนิสิตเก่า
      เราตั้งใจจะไปชุมนุมอ่านปฏิญญากันในมหาวิทยาลัย ผมจึงเห็นว่า สมควรที่จะสวมเสื้อสีชมพู


( ๓) เราตั้งใจจะประกาศปฏิญญาของเราให้ปรากฏเท่านั้น ไม่ต้อง การจะเผชิญหน้ากับกลุ่มเสื้อแดง กลุ่มเสื้อแดงเองเป็นฝ่ายประกาศขู่ก่อน จนจุฬาฯต้อง   สั่งปิดมหาวิทยาลัย และเราต้องย้ายไปชุมนุมที่สวนลุมฯ
( ๔) ถ้ากลุ่มเสื้อแดงเห็นว่าเรา เป็นศัตรูเพราะปฏิญญาของเรา ก็แปลว่ากลุ่มเสื้อแดงมีเจตนาตรงกันข้ามกับเรา   คือมุ่งทำลายพระมหากษัตริย์ สนับสนุนความรุนแรง   แบ่งชนชั้น และบังคับรัฐบาลให้ยุบสภา

( ๕) ขณะนี้ จคป.ยังไม่ได้บอกผมว่า จะเคลื่อนไหวต่อไปอย่างไรเมื่อใด แต่ถ้า จคป.ยังยึด มั่นในปฏิญญาที่ประกาศไปแล้ว ผมก็ยินดีและเต็มใจที่จะไปร่วมด้วยอีก


( ๖) ผมขอขอบ คุณท่านที่เป็นห่วง ขอเรียนว่าหลังการชุมนุมเมื่อวันศุกร์ ผมถูกด่าทางโทรศัพท์ และถูกขู่ว่าจะ ตายก่อนแก่ ด้วย แต่ผมแก่เกินกลัว  และ เจริญมรณสติเป็นนิสัย ถ้าหากว่าจะ ต้องตายเพราะป้องกันชาติ ศาสนา หรือพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เคารพสักการะของ โคตรของผมและตัวผมด้วย
      ผมก็คงตายด้วยความภาคภูมิใจ และลูกหลานผมก็คงจะ รู้สึกเป็นเกียรติ
( ๗) ท่านที่มีอุดมการณ์ร่วมกันหรือตรงกันกับ จคป. โปรดอย่าคอยจน กว่าจะถึงการชุมนุมครั้งต่อไป ขอให้เริ่มตั้งแต่เดี๋ยวนี้ด้วยการเผยแพร่อุดมการณ์ด้วยทุกวิธีที่ทำได้   เช่น ด้วยคำพูด ด้วยการเขียน ด้วยการประชุมแม้จะเป็นวงแคบๆ ใช้สื่อทุก ชนิดที่หาได้ ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ต โทรสาร จดหมาย หรือใบปลิว  
    น้ำมันที่หยดลงบนแผ่นกระดาษแม้จะเป็นหยดเล็กๆ แต่ถ้าหยดมากๆ มันจะแผ่กว้าง ออกไปจนถึงกัน และเต็มทั้งแผ่นกระดาษในที่สุด. "


    วสิษฐ เดชกุญชร  

วันพุธ, เมษายน 07, 2553

I thought I had brought myself back to me

Today, I browsed through my very first blog. It was written in English, actually because of only one reason (back then) which was I could not type in Thai.

Today, I would like to try it again. I think some words may get softer in English if my feeling is too hard.

Look back in time, I found that myself was stolen...by my job. And to make a long story short, I was assigned to do what I was not trained for, along with my profession.

The job was very time consuming and pretty stressful. That is because I did not (and could not) have a full control on things I had my responsibility on them. Things could went wrong any time. I still think...that my only true function was to be just a scapegoat when things did go wrong.

Lucky me that things went well. It has been 5 years now and I thought that I could be free from it. I could get myself back to me. It should be my turn to do something else, some research, some programs, etc. I had that sweet thought for a few months. In fact, I was begging for it.

But no...

[I deleted the last two sentences. It may not be all I want to write, but it is all I want to record.]

วันอังคาร, มีนาคม 30, 2553

ขอเอาใจช่วยคุณอภิสิทธิ์

ผมเห็นใจท่านนายกฯ มาก สงสารท่านแต่ไม่รู้จะช่วยยังไง ได้แต่เอาใจช่วย

ท่านคงหนักใจและเหนื่อยใจมากกับปัญหาของประเทศในวันนี้

คนดี ทำดีได้ง่าย ทำชั่วได้ยาก
คนชั่ว ทำชั่วได้ง่าย ทำดีได้ยาก

และในท้ายที่สุดผมเชื่อมั่นว่า ความดีจะคุ้มครองคนที่ทำดีอย่างแน่นอน

แล้วอย่างไรจึงจะเรียกว่าคนดี... ในมุมหนึ่ง คนดีของใครก็ของมัน ในอีกมุมหนึ่ง คนดีดูได้จากการกระทำที่เขาทำเพื่อสังคม ซึ่งต่างคนก็อาจเห็นไม่เหมือนกัน

หากสังคมไทย นิยมชมชอบการทำงานอย่างอภิสิทธิ์ เห็นว่าเขาเป็นคนดี สนับสนุนให้เขาทำงาน ผมเชื่อว่าเราจะได้ ส.ส. อย่างอภิสิทธิ์มากขึ้น
หากสังคมไทย นิยมชมชอบการทำงานอย่างจตุพร เห็นว่าเขาเป็นคนดี สนับสนุนให้เขาทำงาน ผมเชื่อว่าเราจะได้ ส.ส. อย่างจตุพรมากขึ้น

เราคงไม่ได้มีทางเลือกเพียงเท่านี้ แต่บางทีมันก็เหมือนกับการขายพ่วง ไม่ได้อยากได้ บางทีก็ติดมาด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้

สังคมไทยอยู่ในมือของพวกเราทุกคน ชอบอย่างไร เชื่ออย่างไร ก็เลือกอย่างนั้น
สังคมก็จะเป็นไปอย่างที่เราเลือกนั่นแหละ

วันอาทิตย์, มีนาคม 21, 2553

อยากทำหรือว่าอยากเป็น

ปัญหาอย่างหนึ่งในการสอน คือผู้เรียนไม่มีใจอยากเรียนรู้ ในที่นี้ขอเน้นคำว่าเรียนรู้ (Learn) นะครับ ไม่ใช่เรียนเอาเกรด หรือว่าเรียนไปสอบ (Study)

คำถามคาใจอาจารย์คือ
  • ทำไมผู้เรียนไม่อยากเรียนรู้? หรือแปลอีกอย่างหนึ่งคือ
  • ถ้าไม่อยากเรียนรู้เรื่องในแนวทางนี้ เลือกเรียนสาขานี้ทำไม?
ได้สังเกตผู้เรียนหลาย ๆ รุ่น พบว่ามีนักศึกษาจำนวนมากไม่รู้ว่าเรียนจบไปแล้วเขาจะมีหน้าที่ทำอะไร คือรุ่นพี่ก็ไม่ได้อธิบายให้เขาฟังแบบจริง ๆ จัง ๆ ว่าจบไปแล้วมีหน้าที่ต้องทำอะไรบ้าง ส่วนมากแล้วชอบเล่าให้กันฟังถึงผลที่ได้จากหน้าที่ มากกว่าตัวหน้าที่เอง เช่น ได้เงินเดือนเท่าไร ได้โบนัสเท่าไร ส่วนเรื่องต้องตรากตรำขนาดไหน ต้องทำอะไรบ้าง นี่มักจะไม่ค่อยเล่าสู่กันฟังเท่าไร

เรื่องนี้มีรุ่นพี่เท่านั้นที่ช่วยได้ เพราะอาจารย์จะรู้จริงเฉพาะที่ประสบกับตนเองเท่านั้น

ทำให้คิดได้ว่า อันที่จริงเด็ก ๆ บอกว่าตนเองอยากเป็นหมอ หรือว่าอยากเป็นวิศวกร หรือว่าอยากเป็นนักกฏหมาย หรือว่าอยากเป็นทหาร ตำรวจ ฯลฯ เขาแค่อยากแปะฉลากตัวเอง ด้วยยี่ห้อเหล่านั้น มากกว่าจะอยากทำงานในหน้าที่เหล่านั้นจริง ๆ
  • เด็กบางคนบอกว่าอยากเป็นนักเขียน แต่กลับพบว่าตัวเขาไม่ได้ชอบการเขียน (บางคนไม่ได้ชอบอ่านด้วยซ้ำ) แต่ชอบชื่อเสียงที่ได้จากการเป็นนักเขียน
  • เด็กบางคนบอกว่าอยากเป็นหมอ แต่กลับพบว่าตัวเขาไม่ได้ชอบรักษาคนไข้ แต่ชอบ ลาภ ยศ สรรเสริญ อันเนื่องมาจากฉลากคำว่าหมอ ที่แปะที่หน้าผากเขาเท่านั้น
  • เด็กบางคนบอกว่าอยากเป็นวิศวกร แต่กลับพบว่าตัวเขาไม่ได้ชอบแก้ปัญหาเชิงช่าง ไม่ต้องพูดถึงการไม่ชอบวิชาวิทยาศาสตร์และวิชาคำนวณ เขาแค่คิดว่าการเป็นวิศวกรมันน่าจะเท่ และมีเงินเดือนดี โดยไม่นึกถึงว่าหน้าที่ของวิศวกรคืออะไร
สำหรับเด็กเล็ก ๆ ก็ไม่เป็นไร การชื่นชอบผลลัพธ์ของหน้าที่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เช่นตอนเด็ก ๆ ไปเจอคุณหมอสวย ๆ ใจดี น่ารัก และอยากเป็นอย่างคุณหมอคนนั้นบ้าง ก็เป็นจุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจของเด็ก ๆ ได้

แต่กับเด็กโต คือตั้งแต่ระดับมัธยมต้นขึ้นไป น่าจะได้รับคำถามว่า
โตขึ้นหนูอยากทำอะไร
มากกว่าคำถามว่า
โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร
 คนที่ชอบเล่นดนตรีจริง ๆ จัง ๆ จะได้ไปเรียนดนตรี คนที่ชอบการวิเคราะห์ตรรกะและธรรมศาสตร์จะได้ไปเรียนรัฐศาสตร์และกฏหมาย คนที่รักความยุติธรรมอาจจะเลือกเรียนตำรวจ คนที่ชื่นชอบเทคโนโลยีและการแก้ปัญหาเชิงช่าง จะได้เรียนวิศวกรรมศาสตร์ คนที่ชื่นชอบการวิเคราะห์ วิจัย จะได้เรียนวิทยาศาสตร์ คนที่ชอบบริการ ใจดี อาจเลือกเีรียนด้านงานบริการ หรืองานพยาบาล ฯลฯ เด็ก ๆ จะได้ค้นพบตัวเองโดยเร็วและไม่สูญเสียพรสวรรค์ของตนเองและเวลาในห้องเรียนระดับอุดมศึกษาถึง 4 ปี

ถามตนเองว่า อยากทำอะไรเพื่อเลี้ยงชีพ จะตอบตนเองได้ว่าควรจะเรียนอะไร เพื่อให้การเรียนในระดับสูงส่งเสริมความชอบและพรสวรรค์ของตนเองให้สูงที่สุด

ก่อนเข้ามาเรียน ต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ ว่าที่ว่าอยากเป็นวิศวกรนั้น อยากทำงานวิศวกรรม หรือแค่อยากมีป้ายชื่อว่าเป็นวิศวกรเฉย ๆ

วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 22, 2553

จะยอมทิ้งความฝันของตนเองเพื่อความฝันของคนอื่นไหม?

คำถามนี้เกิดขึ้นในใจหลังจากประสบปัญหาในการทำงานหลายประการ ปัญหาเกิดจากผมไม่สามารถให้เวลากับสิ่งที่ผมอยากทำได้เต็มที่ ด้วยติดภาระกิจอื่น ๆ ที่ไม่อยากทำ

แม้ว่าเราจะสอนนักเรียนเสมอว่า คำว่า "มืออาชีพ" มันหมายความว่าจะต้องรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย ไม่สำคัญว่าเราจะอยากทำหรือไม่อยากทำ หากเป็นหน้าที่ ก็ต้องทำให้ลุล่วง จะทำทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ไม่ได้ จะทำก็ต่อเมื่อมีผลตอบแทนไม่ได้ จะทำเฉพาะเวลาที่เราได้ประโยชน์ไม่ได้

แม้ว่าจะมีคำว่า "มืออาชีพ" ค้ำคออยู่ แต่เราก็ต้องกลับมาทบทวนเหมือนกันว่า งานที่ได้รับมอบหมาย ทั้งที่ได้รับมอบหมายโดยตรงจากผู้บังคับบัญชา ทั้งที่ได้รับจากการร้องขอจากผู้อื่น และรวมไปถึงที่ได้รับจากความไม่รับผิดชอบในงานของตนเองจากคนอื่น มันเหมาะสมกับหน้าที่หลักของเราหรือไม่

ในฐานะผู้บรรยาย (Lecturer) หน้าที่เราคืออะไร? ใช่การทำบัญชีพัสดุหรือไม่ ใช่การเตรียมรถตู้รับแขกต่างมหาวิทยาลัยหรือไม่ ใช่การทำบอร์ดหน้าภาควิชาฯ ใช่การเตรียมแผนงบประมาณ ใช่การคอยตรวจดูว่าลิฟต์ทำงานดีไหมหรือไม่ ใช่การคอยดูว่าห้องน้ำยังสะอาดดีอยู่ หรือไม่

นี่มหาวิทยาลัยส่งเราไปเรียนตั้งหลายปี เสียเงินไปหลายบาทเพื่อสิ่งเหล่านี้หรือ?

นี่เราตัดสินใจมาทำงานในมหาวิทยาลัย เพราะคิดจะมาทำงานพวกนี้หรือ?

ถ้ามันเล็กน้อย เป็นครั้งคราว และทุกคนร่วมแรงร่วมใจช่วยกัน มันก็คือส่วนหนึ่งของงาน
แต่ถ้ามันเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยที่ต้องทำงานเหล่านี้ ทั้ง ๆ ที่มหาวิทยาลัยก็จ้างคนอีกเยอะแยะเพื่อทำหน้าที่เหล่านี้โดยตรง แต่เขาไม่ทำหรือมิเช่นนั้นก็ไม่ได้รับความไว้วางใจให้ทำ ผมว่ามันต้องมีอะไรผิดพลาดแล้วล่ะ

บางคนมีความฝัน และหาทางบรรลุความฝันของตนเอง โดยการทิ้งงานอื่น ๆ ไว้เบื้องหลัง ให้คนอื่น ๆ คอยเก็บกวาด เราจะยอมทิ้งความฝันของตัวเอง เพื่อคอยเก็บกวาดสิ่งเหล่านี้หรือไม่

ทิ้งหรือไม่ทิ้ง ที่ต้องเก็บก็เก็บไปแล้ว ที่ต้องกวาดก็กวาดไปแล้ว เราก็ดูเป็นคนดีในสายตาคนอื่น แต่ความรับผิดชอบของตัวเราต่อตัวเราเองล่ะ ความรับผิดชอบของตัวเราต่อครอบครัวเราล่ะ? สำคัญไหม?

ปัจจุบัน ที่ต้องเก็บบางทีก็ไม่ได้เก็บ ที่ต้องกวาดบางทีก็ไม่ได้กวาด คิดเสียว่าอยู่กันได้ก็อยู่กันไป อยู่กันมาได้ตั้งนานแล้ว ทำให้ผมมีเวลาทำสิ่งที่อยากทำได้มากขึ้น เช่นเว็บไซต์สำหรับการสอน เช่นโครงงานวิจัย หรือโปรเจ็คเล็ก ๆ ที่จะใช้เป็นตัวอย่างให้นักศึกษา งานเล็ก ๆ ผมว่าพวกนี้ต่างหากที่เป็นความฝันของเรา นี่ต่างหากที่เป็นความรับผิดชอบของเราที่มีต่อนักศึกษา

ไม่จำเป็นต้องทิ้งความฝันของตนเองเพื่อความฝันของคนอื่นอีกต่อไป การไล่ตามความฝันของเรา ก็ถือว่าเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาเหมือนกัน เป็นประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าถ้าไม่ทำตามเขาแล้ว ถือว่าเราไม่ทำเพื่อนักศึกษา เราไม่ได้ทำเพื่อมหาวิทยาลัยสักหน่อย

เราแค่กลับมาทำหน้าที่ของเราเท่านั้นเอง

วันอังคาร, มกราคม 05, 2553

พยศคนตรง

เมื่อวันก่อนแฟนอยากได้ลวดสักม้วนนึง เลยชวนไปศึกษาภัณฑ์ขอนแก่น ได้พบกลอนบทหนึ่งที่นั่น
เดิม ไม่ทราบชื่อ ไม่ทราบผู้แต่ง ก็ลอกมาอย่างรวดเร็วเพราะประทับใจในความหมายของมัน

เมื่อกลับมาก็ลองนำเอาวรรคแรกไปค้นดูใน google มีรายงานว่าเป็นกลอนชื่อ "พยศคนตรง" โดยท่านพุทธทาส หากท่านใดทราบข้อเท็จจริง จะกรุณาชี้แนะเพื่อความถูกต้องก็ขอขอบคุณไว้ล่วงหน้าครับ
พยศคนตรง
พยศคน ธรรมดา ไม่น่าคิด
มันย่อมมี ประจำจิต กันอยู่ทั่ว
พยศของ คนตรง ซิน่ากลัว
มันหลอนตัว ลึกซึ้ง พึงพินิจ
ถือว่าตัว ตรงจริง, จึงยิ่งยึด
ไว้เต็มอึด เรื่อยไป อยู่ในจิต
จะนอนนั่ง ก็คลุ้มคลั่ง คอยแต่คิด
ว่า "เราถูก- เขาผิด" อยู่ร่ำไป,
คิดว่าดี กว่าเขา ซิเราแย่
มันเพียงแต่ ดีกว่าคน ที่บาปใหญ่,
ส่วนตัวเอง บาปลึก นึกให้ไกล
มันบาปเบา อยู่เมื่อไร ให้คิดดู
ถ้านึกย้อนดู เราเองก็เคยทำตัวเป็นคนตรงพยศเหมือนกัน พอนึกออกก็รู้สึกอายเหมือนกันแฮะ

[เพิ่มเติมเมื่อเย็นวันเดียวกัน] ค้นหาโดยใช้คำค้นว่า "พยศคนตรง" ทำได้พบคอลัมน์ "กาย-ใจ" ของกรุงเทพธุรกิจโดย ศิริรัตน์ ณ พัทลุง ประจำวันอาทิตย์ที่ 16 มีนาคม 2551 ซึ่งขยายความอธิบายกลอนบทนี้เพิ่มเติม ผมคิดว่าน่าสนใจมากจึงขอบันทึกลิงก์ไว้เป็นประโยชน์