วันจันทร์, มิถุนายน 28, 2553

ว่าด้วยเรื่องเหตุและผล

ผมได้เขียนไว้ต่างกรรมต่างวาระ ว่าที่สุดแล้ว
เหตุผลเป็นได้เพียงอาภรณ์ของอารมณ์เท่านั้น
หมายความว่า สำหรับคนที่เก่ง ทุกคนสามารถ
หาเหตุผลมารองรับความต้องการของตนเองได้
ทั้งหมด (จึงป่วยการที่จะต้องไปเถียงกันคน
เก่ง ๆ ที่ไม่มีคุณธรรม)

อันนี้ก็เป็นความเชื่อของผม ไม่ใช่ข้อเท็จจริง
และผมคิดว่าไม่มีใครรู้หรอกว่าข้อเท็จจริงที่เป็น
ความจริงสัมบูรณ์ในเรื่องนี้มันคืออะไร

ถ้าไม่คิดเรื่องนี้ คือให้เชื่อไว้ก่อนว่า เหตุผลมัน
มีอยู่จริง ผมก็พบความจริงอีกอย่างหนึ่งว่า
เวลาคนเราถกเถียงกัน มันไม่ใช่ว่าคนหนึ่ง
มีเหตุผล แล้วอีกคนหนึ่งไม่มีเหตุผล ในหลาย
กรณีผมพบว่าคนทุกคนมีเหตุผลทั้งหมด เพียง
แต่ว่า คนเรานั้นให้น้ำหนักความสำคัญต่อสิ่ง
ต่าง ๆ ไม่เท่ากัน

เช่นการซื้อของ ถ้าเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับราคาถูก
เขาก็จะเห็นได้ว่า คนที่ซื้อของราคาแพง เป็นคนไร้
เหตุผล ในทางกลับกัน คนที่ให้ความสำคัญกับความ
มั่นใจในการใช้งานสินค้า (ประกัน บำรุงรักษา ทนทาน
ฯลฯ) ก็จะมองได้ว่า คนที่เลือกซื้อของถูกเป็นคนไร้เหตุผล

เวลามาคุยกัน อย่าคุยว่าราคาถูก มันดีหรือแย่กว่าความ
มั่นใจในสินค้า แต่น่าจะคุยกันได้ว่า เราจะให้ความสำคัญ
กับอะไร ขนาดไหน และจะดีมากขึ้นหากเราสามารถ
ตี "ราคา" ของน้ำหนักที่เราให้ความสำคัญ ให้มองเห็น
จากมุมมองของอีกฝ่ายได้ เช่น หากเราให้น้ำหนักกับ
ความมั่นใจในการใช้สินค้า เราอาจจะอธิบายให้เพื่อนฟัง
ได้ว่า หากซื้อมาแล้วเสีย จะมีมูลค่าความเสียหาย ค่า
เสียโอกาส ฯลฯ เป็นเท่าใด เพื่อให้เพื่อนเรามองเห็นได้
ว่าเหตุใด เราจึงเลือกเช่นนี้ เป็นต้น

แต่ถ้าตั้งต้นด้วยความเชื่อว่าอีกฝ่ายเป็นคนไม่มีเหตุผล
และปักหลักอธิบายเพียงจากมุมมองของตนเองเท่านั้น
มันก็ไม่มีวันจะคุยกันรู้เรื่องได้

เวลาผู้ใหญ่สอนเด็ก มักจะอ้างว่าสอนด้วยเหตุผล
แต่ที่ผมเคยเจอ เหตุผลที่ผู้ใหญ่สอน กลับทำให้เด็ก
สับสน เพราะการให้น้ำหนักความสำคัญของเด็ก
กับผู้ใหญ่ ไม่เหมือนกัน และเด็กอาจไม่เคยเข้าใจ
การให้น้ำหนักความสำคัญของผู้ใหญ่เลย และเสีย
โอกาสในการพัฒนาทักษะการให้น้ำหนักความสำคัญ
ของสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตด้วยตนเองได้

เช่นการซื้อของข้างต้น เมื่อเด็กมาถึงทางที่จะต้องเลือก
เขาจะไม่รู้เลยว่า เลือกทางใด จึงจะถูกใจผู้ใหญ่
เพราะหากซื้อของถูก อาจถูกตำหนิได้ว่า ไม่รู้จักซื้อของดี คุ้มค่ากว่าเป็นไหน ๆ
หากซื้อของแพง อาจถูกตำหนิได้เช่นกันว่า ไม่รู้จักประหยัด
ที่สุดแล้วก็จะตัดสินใจเองไม่ได้
เมื่อตัดสินใจเองไม่ได้ ผู้ใหญ่ผู้มีเหตุผล ก็จะหงุดหงิด
รำคาญใจที่เด็กไม่รู้จักตัดสินใจเองอีก โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง

หากเป็นเช่นนี้ สิ่งที่เรียกว่าเหตุผลของเด็กคนนี้
ก็จะเป็นเพียงการมองหน้าผู้ใหญ่ ว่าท่านพอใจ
หรือไม่เท่านั้น ซึ่งมันน่าเสียใจและน่าเสียดาย
ศักยภาพของเด็ก เป็นอย่างมาก