วันอาทิตย์, ตุลาคม 14, 2555

ความรู้คืออะไร?

มีนักศึกษาถามใน Facebook ว่าความรู้คืออะไร? เนื่องจากว่าคำตอบมันยาวเลยเอามาเขียนในบล๊อกดีกว่า จะได้อ่านง่ายและเก็บไว้ตอบนักศึกษารุ่นต่อ ๆ ไปได้ด้วย

ความรู้นั้นมีหลายระดับต่าง ๆ กันไป การศึกษาในแต่ละระดับก็คาดหวังผลสัมฤทธิ์เป็นความรู้ในระดับที่ต่าง ๆ กันด้วย จากประสบการณ์ + ความรู้ (ทั้งจากการอ่าน ความจำ การสังเกต การเก็บข้อมูล การคิดวิเคราะห์ การตีความ ฯลฯ) จะสาธายายได้ว่าความรู้มีหลายระดับดังต่อไปนี้

รู้แบบจำได้ คือเคยเห็น จำได้ เรียกว่ารู้แล้ว เช่นรู้ว่าอำเภอชนบทอยู่ในจังหวัดขอนแก่น เป็นต้น ความรู้เช่นนี้ต้องมีแหล่งความรู้ภายนอก เช่นอ่านหนังสือหรือแผนที่แล้วรู้ มีคนบอกแล้วรู้ ความรู้แบบนี้เป็นความรู้แบบรู้ข้อมูล ทั่ว ๆ ไปก็ใช้ความจำเป็นหลัก คนธรรมดาก็จะมีกลไกในการจำสิ่งที่สำคัญสำหรับตนเองเพียงพออยู่แล้ว

โดยปรกติแล้วความรู้ในระดับนี้มีมากก็นับได้ว่ารู้มาก แต่ไม่ได้แปลว่าเก่ง ถ้าเก่งก็ถือว่าเก่งเรื่องจำแม่นเท่านั้น

รู้แบบรู้จัก บ้างก็เรียกรู้จำ คล้าย ๆ กับรู้แบบจำได้ แต่ว่าการจำนั้นจะจำแบบลึกว่าการจำธรรมดา เช่นการเห็นหน้าเพื่อนแล้วรู้จักว่านี่คือเพื่อนเรา ไม่เคยต้องเอามาท่องแต่ก็จำได้ รู้แบบรู้จักนี้หากแม้นว่าหน้าเพื่อนจะเปลี่ยนไปบ้าง เช่นแก่ลง อ้วนขึ้น ไม่เหมือนเดิม เราก็ยังรู้จัก ความรู้ทางเทคนิคที่ใช้ความรู้แบบนี้ผมจัดหมวดหมู่ไว้ในกลุ่มความรู้พื้นฐาน เช่นกฏของโอห์มนี้คนที่เรียนวิศวกรรมไฟฟ้าไม่ควรจะต้องเอามาท่อง มันควรจะรู้แบบรู้จักแล้ว คือฝังลงไปในเส้นเลือดในไขสันหลังแล้ว สามารถหยิบมาใช้ได้แบบไม่รู้ตัวกันเลยทีเดียว ความรู้ในระดับนี้จะได้มาก็ด้วยการใช้ความจำบ่อย ๆ จนกระทั่งจำได้ลึกซึ้ง บางทีผมจะเรียกความรู้ในระดับนี้ว่าทักษะ

ความรู้ระดับนี้มีมากก็นับได้ว่ารู้มาก ยังไม่เรียกว่าเก่ง แต่เรียกได้ว่าเป็นคนคล่องแคล่วว่องไวในงาน และจะช่วยให้เรียนรู้ได้เร็ว เพราะจะทำอะไรก็ไม่เสียเวลาเปิดคู่มือ เปิดตำรา สามารถหยิบใช้ความรู้นี้ได้ทันที

รู้แบบเข้าใจ ภาษาไทยนี้ตรงตัวที่สุด คือมันเข้าไปในใจเลย เปรียบเหมือนจอมยุทธ์ที่ฝึกท่าร่างมาดีแล้ว เมื่อต่อสู้จริงจะใช้กระบวนท่าออกมาได้โดยไม่ต้องท่อง ไม่ต้องคิดถึงคำภีร์หรือตำราอะไร เพราะทุกสิ่งทุกอย่างนั้นอยู่ในใจอย่างสมบูรณ์แล้ว จะถึงขั้นนี้ได้ข้อมูลทุกอย่างที่รู้ หรือจำได้จะต้องเชื่อมโยงกันตามหลักเหตุและผล ความรู้แบบเข้าใจนี้เมื่อมีแล้วสามารถทำนายผลลัพธ์ของปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ได้จากความรู้เดิม ๆ เช่นเรารู้ว่า อำเภอเมืองชุมพร อยู่จังหวัดชุมพร ดังนั้นอำเภอเมืองขอนแก่นก็ย่อมจะต้องอยู่ในจังหวัดขอนแก่น ไม่ต้องรอให้ใครมาบอก ไม่ต้องรออ่านจากตำรา แต่รู้ได้เพราะเข้าใจกลไกการตั้งชื่ออำเภอเมืองนั่นเอง

รู้ระดับนี้หากมีมากก็นับได้ว่ารู้มาก แต่ก็ยังไม่เรียกว่าเก่ง เพียงเรียกได้ว่าเป็นคนหัวไวเท่านั้น

ความรู้ทั้ง 3 ระดับนี้ส่งเสริมและพึ่งพาซึ่งกันและกันเสมอ ขาดระดับใดระดับหนึ่งไปไม่ได้ เปรียบดังหินเส้าไฟซึ่งต้องมีพร้อม 3 เส้าไม่อย่างนั้นก็ตั้งเตาไม่ได้

คนที่หัวไว แต่จำเรื่องพื้นฐานไม่ได้จะเรียนในระดับสูงได้ยาก เพราะจำอะไรไม่ใคร่ได้
คนที่มีทักษะเพราะทำมาก แต่หัวไม่ไวนักก็จะเรียนระดับสูงก็ต้องใช้เวลานาน เพราะเชื่อมโยงกลไกระดับลึกซึ้งไม่ได้
คนที่มีความจำดี แต่ไม่ค่อยซ้อมก็จะขาดทักษะ เหมือนช่างมีเครื่องมือเยอะในกล่องแต่ไม่รู้ว่าอะไรอยู่ที่ไหนในกล่อง


กลไกการส่งเสริมกันของความรู้ทั้ง 3 ระดับจะเป็นเช่นนี้คือ
  • เริ่มต้นเรียนรู้ด้วยการทำความรู้จัก ชื่อ ของสิ่งต่าง ๆ ที่เราสนใจให้ได้มากที่สุดก่อน เช่นชื่อของอุปกรณ์ ชื่อของสารเคมี ชื่อของกระบวนการ ฯลฯ ผมเชื่อว่าหากเรารู้จักชื่อของมันเราจะควบคุมมันได้ จึงสำคัญที่เราจะต้องรู้จักชื่อของสิ่งต่าง ๆ ในแวดวงที่เราสนใจอย่างถูกต้อง นี่เป็นเรื่องความจำ
  • ในบรรดาชื่อทั้งหลาย เราย่อมสังเกตได้ว่ามีบางชื่อปรากฏอยู่บ่อยกว่าชื่ออื่น แสดงว่านั่นเป็นชื่อที่สำคัญ หัวข้อที่เราสนใจจะต้องเกี่ยวกับชื่อนี้มาก ให้มองหา เนื้อเรื่อง (Story) ในหัวข้อนั้น ๆ ว่าหัวข้อนี้ต้องการบอกอะไรเรา อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล และส่วนต่าง ๆ ในหัวข้อนี้มันเชื่อมโยงกันอย่างไร นี่เป็นเรื่องความเข้าใจ ขอย้ำว่าให้มองหาเนื้อเรื่องไม่ใช่สมการ นักเรียนที่เรียนด้วยการจำสมการไปทั้งดุ้นมักจะมีปัญหากับการเรียนในวิชาระดับสูงเสมอ
  • เมื่อเข้าใจเนื้อเรื่องแล้วจึงค่อยวิเคราะห์สูตร ว่ามันสนับสนุนเนื้อเรื่องของเราอย่างไร นี่ก็ยังเป็นเรื่องความเข้าใจ เพียงแต่ขั้นตอนนี้เราเชื่อมเนื้อเรื่องของเราเข้ากับสมการคณิตศาสตร์เพื่อพร้อมใช้งาน
  • เมื่อเข้าใจแล้วก็ทดลองแก้ปัญหาเพื่อพัฒนาทักษะ ในกระบวนการนี้เราจะเจอทั้ง ชื่อ กลไก สัญลักษณ์และสมการบางอย่างซ้ำ ๆ กันแต่พลิกไปพลิกมาอยู่ในรูปต่าง ๆ กัน การพัฒนาทักษะเช่นนี้จะช่วยให้เรารู้จักสิ่งต่าง ๆ ในรูปแบบที่แปลกไปจากที่ปรากฏในตำราได้ (คือปลอมตัวมาก็หลอกเราไม่ได้เพราะเรารู้จักมันแล้ว) นี่เป็นเรื่องทักษะ
  • ทุกขั้นตอนไม่มีลำดับชัดเจน จะเรียงกลับไปกลับมาอย่างไรก็ได้ 
อยากจะเน้นย้ำว่าการเรียนรู้จะต้องเดินผ่านกระบวนการเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกว่าจะเกิดการทะลุขึ้นในหัว (ร้องอ๋อ) ซึ่งนักศึกษาจะได้มาจากการใคร่ครวญปัญหาด้วยตนเองเท่านั้น คนอื่นไม่สามารถช่วยได้เลย สิ่งที่คนอื่นบอกเราได้เป็นเพียงข้อมูล (Information) เท่านั้น แต่ความรู้ (Knowledge) จะต้องเกิดขึ้นมาในหัวเราด้วยตัวเราเองเท่านั้น

หวังว่าบันทึกเรื่องนี้คงจะเป็นประโยชน์สำหรับนักศึกษาที่กำลังหลงทางและเรียนแบบผิดวิธีอยู่ (จำสูตรไปสอบ)

อ้อ ลืมไป ในตอนต้นได้บอกไปว่ารู้ทั้ง 3 ระดับยังไม่เรียกว่าเก่งแล้วอย่างไรจึงจะเรียกว่าเก่ง สำหรับผมแล้วคนที่จะเรียกว่าเก่งได้ก็คือคนที่สามารถประสานความรู้ทั้ง 3 ระดับและสามารถนำความรู้นั้นมาใช้ทำงานได้ ใช้แก้ปัญหาได้ ใช้สร้างสรรค์ผลงานจริง ๆ ออกมาได้ นั่นจึงจะเรียกได้ว่าเก่งจริงครับ

วันศุกร์, กันยายน 14, 2555

ทัศนคติเชิงบวกเป็นเป้าหมาย ดี! แล้วเส้นทางล่ะ!?

มีความคิดเห็นมากมายที่อ้างผลงานวิจัยทางจิตวิทยาว่าทัศนคติเชิงบวกมีคุณแก่ชีวิต ทั้งในด้านการงาน ชีวิตส่วนตัว แม้กระทั่งความรัก และผมเองก็เห็นด้วย คือเชื่อว่าจริง

แต่ปัญหาในโลกนี้ซับซ้อนมากน้อยต่างกัน ผู้คนที่เป็นผู้รับมือกับปัญหาเองก็มีความฉลาดมากน้อยต่างกัน ผมเองก็ไม่ใช่คนฉลาดนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ฉลาดเลยกับการรับมือกับอารมณ์ของตัวเอง คือขาดทักษะทางด้านนี้อย่างมาก

ทำให้เกิดอุปสรรคว่าถึงจะเชื่อว่าคิดบวกน่าจะช่วยได้ก็ตาม แต่จะคิดบวกอย่างไรเมื่อประสบปัญหาจริง เกิดผลเสียหายขึ้นจริง และต้องรับผิดชอบจริง เอาแบบบวกจริง ๆ นะ ไม่ใช่แค่เสแสร้งแกล้งยิ้ม

ทัศนคติเชิงบวกอีกอย่างหนึ่งในการสอน ซึ่งผมก็เชื่อและพยายามทำเช่นกันก็คือการให้ Feedback เชิงบวกแก่นักศึกษาเป็นประจำ คือท่านให้ชมเรื่อย ๆ เรื่องนี้ผมก็เชื่อว่าเป็นของดี

แต่ค่านิยมฝ่ายทัศนคติเชิงบวกมักไม่พูดถึงการตำหนิหรือดุด่าว่ากล่าวที่ดูจะเป็นสิ่งน่ารังเกียจเสียด้วยซ้ำสำหรับสำนักคิดนี้ ทำให้ในทางปฏิบัติผมยังติดขัดในบางกรณีที่พอเจอปัญหาปั๊บ ไม่รู้จะรับมือกับนักศึกษาอย่างไรนอกเหนือไปจากการตำหนิอย่างรุนแรง แล้วก็มานั่งเป็นทุกข์ กังวลใจว่าเราทำไม่ถูกต้อง ไม่เกิดผลดี

ผมอยากได้เส้นทาง ผมอยากได้ตัวอย่าง ผมอยากรู้ว่าเวลาคนอื่นเจอปัญหาอย่างนิ้ ๆ อย่างที่เราเจอเนี่ย เขารับมือกับปัญหาอย่างไร เขาแก้ไขปัญหาอย่างไร เขารับผลของมันอย่างไร เพื่อเป็นแบบอย่างที่เป็นรูปธรรมไปเลยว่าคนคิดบวกเขารับมือกับปัญหาอย่างนี้ ๆ ด้วยวิธีการอย่างนี้ ๆ เราจะได้เอามาทดลองทำบ้าง ได้ผลก็ดีไป ไม่ได้ผลก็หาวิธีการอื่นต่อไป

ผู้คนฝ่ายทัศนคติเชิงบวกหลายคนคงมองว่าคิดบวกเป็นเส้นทาง ก็แค่คิดให้มันเป็นบวกมันจะไปยากอะไร ท่านประสบความสำเร็จแล้วผมยินดีด้วย
สำหรับผมที่เป็นบัวระดับต่ำกว่านั้น มองว่าคิดบวกคือเป้าหมายและตอนนี้ผมอยากได้เส้นทางเพื่อใช้เดินไปสู่ระดับความคิดขั้นนั้น....แม้ตอนนี้ก็ยังตามหาอยู่

วันเสาร์, กรกฎาคม 28, 2555

Meaningful or Important

มีความเชื่อกันอยู่มากว่าองค์กรราชการมักจะไม่ค่อยมีประสิทธิภาพนัก เรื่องนี้ก็มีส่วนจริงอยู่แม้ว่าจะไม่จริงทั้งหมดก็ตาม ด้วยว่ามีหน่วยงานราชการในหลายกระทรวงที่มีประสิทธิภาพสูงอยู่เหมือนกัน เช่นกระทรวงต่างประเทศเป็นต้น

ส่วนที่ไม่มีประสิทธิภาพนั้นก็มีอยู่เช่นเดียวกัน เป็นเรื่องน่าสงสัยว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้นทั้ง ๆ ที่หากสืบย้อนไปในอดีตสักร้อยปี เราอาจพบบันทึกในลักษณะที่หน่วยงานราชการคือหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพสูงและมีแต่คนเก่ง ๆ อยู่มากก็ได้

ผมคิดว่าการจัดการองค์กรราชการให้มีประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งนั้นอยู่ที่ตัวบุคคลในองค์กร ส่วนหนึ่งนั้นอยู่ที่วัฒนธรรมองค์กร และอีกส่วนหนึ่งนั้นอยู่ที่นโยบายการบริหารองค์กรจากระดับเบื้องบน

ในฐานะที่เป็นคนข้างล่าง ก็มีความเชื่ออยู่ว่านโยบายจากเบื้องบนน่าจะเป็นกุญแจสำคัญ เพราะนโยบายสามารถเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรได้ วัฒนธรรมองค์กรสามารถเปลี่ยนบุคลากรได้

ผมคิดว่านโยบายที่สร้างปัญหาให้กับคนทำงานก็คือนโยบายที่หลงทางไปเน้นงานที่ไม่มีความหมาย (Meaningless Work) ให้เป็นงานสำคัญ (Important Work) แทนที่งานที่มีความหมาย (Meaningful) กับองค์กร

หากงานที่มีความหมายกับงานที่สำคัญไม่ใช่งานเดียวกัน บุคลากรในองค์กรอาจสับสนกับสัญญาณที่ฝ่ายบริหาร (ไม่ว่าจะระดับใด ๆ) ส่งออกมาได้ง่าย ๆ ว่าอันที่จริงแล้วเขาควรจะให้ความสำคัญกับสิ่งใดกันแน่


ผมเชื่อว่าการนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จจำเป็นจะต้องตีโจทย์ให้แตกว่า งานใดเป็นงานที่มีความหมายกับองค์กรอย่างแท้จริง จากนั้นฝ่ายบริหารจะต้องทำให้งานที่มีความหมายนั้นเป็นงานสำคัญ แล้ววัฒนธรรมองค์กรก็จะปรับตัวตาม และบุคลากรก็จะปรับตัวตามทิศทางนโยบายของฝ่ายบริหารได้อย่างเป็นเอกภาพมากที่สุด

หากสามารถทำให้งานที่มีความหมายเป็นงานที่สำคัญได้ องค์กรก็จะประสบความสำเร็จ เพราะบุคลากรในองค์กรจะไม่เสียเวลาไปกับงานอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม เพื่อความเป็นธรรมกับผู้บริหารทั้งหลายก็ควรบันทึกไว้ด้วยว่า สำหรับหน่วยงานราชการแล้ว การตัดสินใจว่างานใดเป็นงานที่สำคัญนั้นไม่อยู่ในมือของหน่วยงานเอง แต่กลับอยู่ในมือของหน่วยเหนือขึ้นไปหรือในหลายกรณีก็อยู่ในมือของฝ่ายการเมือง ทำให้ผู้บริหารเองก็ไม่มีทางเลือกเช่นเดียวกัน