วันอังคาร, สิงหาคม 24, 2553

ข้อโต้แย้งนโยบายบังคับนักศึกษาทำกิจกรรม

ข้อเท็จจริง
ตามประกาศมหาวิทยาลัย สรุปสาระสำคัญตามความเข้าใจของผมได้ความว่า
  1. นักศึกษา ที่จะจบการศึกษาได้ จะต้องทำกิจกรรมไม่น้อยกว่า 60 หน่วยกิจกรรม ทำกิจกรรม 3 ชั่วโมงจึงจะคิดให้เป็น 1 หน่วยกิจกรรม (การประเมินว่าจะนับให้หรือไม่ ทำโดยคณะกรรมการกิจกรรม)
  2. กิจกรรมที่มหาวิทยาลัยจัดหมวดหมู่ไว้มี 5 ด้านคือ 1) พัฒนาศักยภาพตนเอง 2) สร้างความภูมิใจในสถาบัน 3) สร้างจิตสาธารณะ 4) คุณธรรมจริยธรรม 5) ศิลปวัฒนธรรม ใน 60 หน่วยกิจกรรมนั้น นักศึกษาจะต้องร่วมกิจกรรมให้ครบ 5 ด้าน ๆ ละ 8 หน่วยกิจกรรม ที่เหลือเป็นอิสระ 20 หน่วยกิจกรรม
  3. ในหลักสูตร 4 ปี มีการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของแต่ละชั้นปีไว้ด้วยคือ ชั้นปีที่ 1) 20 หน่วยกิจกรรม ชั้นปีที่ 2) 15 หน่วยกิจกรรม ขั้นปีที่ 3 ) 10 หน่วยกิจกรรม และชั้นปีที่ 4) 5 หน่วยกิจกรรม
  4. หากปฏิบัติตามนี้ไม่ได้ จะไม่สามารถจบการศึกษาได้
  5. มหาวิทยาลัย ขอนแก่นไม่ใช่ที่แรก ไม่ใช่ที่เดียว ที่มีการบังคับในลักษณะคล้าย ๆ กัน ที่ทราบว่ามีทำไปก่อนแล้วคือ เกษตรศาสตร์ นเรศวร เป็นอย่างน้อย แต่เงื่อนไขและวิธีปฏิบัติอาจแตกต่างกัน
ข้อโต้แย้ง
กิจกรรม นักศึกษา คือกิจกรรมที่นักศึกษาเลือกที่จะทำ ตามใจสมัคร เป็นสิ่งบ่มเพาะตัวตนของนักศึกษาให้เติบโตขึ้นไปในทิศทางของตัวเอง แน่นอนว่าการทำกิจกรรมเป็นเรื่องที่ดี และพวกเราในฐานะครู ก็มีหน้าที่ส่งเสริม ให้นักศึกษาได้ทำกิจกรรมที่เขารัก เขาชอบ หากกิจกรรมเหล่านั้นจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตัวเด็กเองและส่วนรวม

กิจกรรม ที่เกิดจากความสมัครใจนั้น เป็นกิจกรรมที่เป็นธรรมชาติมากกว่า และได้ผลในสาระสำคัญมากกว่า เช่น เราคิดว่าการมีจิตอาสาเป็นเรื่องดี เราเลยบังคับให้ทุก ๆ คนทำกิจกรรมอาสา ซึ่งมันไม่ได้สร้างจิตอาสาขึ้นมาเลย อันนี้คนที่ทำกิจกรรมจริง ๆ จะทราบดีเช่น
"เราเคยได้รับ การติดต่อจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งว่าอยากจะให้พานักศึกษาของเขาไปออกค่าย อาสาฯเราก็ต้องบอกอาจารย์ไปว่าให้ทั้งหมดสมัครเข้ามาด้วยตัวเองดีกว่า เพราะถ้าไปบังคับให้ไปนั่นก็ไม่ใช่จิตอาสาแล้ว เพราะเขาไม่ได้ไปด้วยใจแต่ไปเพราะถูกบังคับ"
คุณสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา (http://www.volunteerspirit.org/node/1343)
การเป็นคนดีนั้นดี แต่การบังคับให้คนเป็นคนดีนั้นเป็นไปไม่ได้

คน เรานั้นแตกต่างกัน ความแตกต่างกันนี่แหละคือความงามของคนรุ่นหนุ่มสาว คือป่าแห่งความคิดและจินตนาการ ที่มันสวยงาม ก็เพราะมันแตกต่างกัน

ความ ชอบในงานอดิเรก วิธีการใช้ชีวิต ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับวิชาชีพ ผมคิดว่าเราไม่ควรบังคับนักเรียนของเราถึงระดับนั้น หากคิดว่าไม่ใช่เช่นนั้น ทำไมเราถึงไปเปิดเป็นวิชากิจกรรมไปเสียเลย แล้วก็บรรจุลงไปในหลักสูตรเสียให้เรียบร้อย ว่ามีวิชา กิจกรรม 1 ถึง กิจกรรม 8 และทุกคนต้องลงเรียนและผ่านเทอมละ 1 รายวิชา ... เรื่องนี้ทำไม่ได้เพราะอะไร? ทุกคนรู้คำตอบในใจอยู่แล้ว

นักศึกษา คนหนึ่ง ๆ ก็จะมีเงื่อนไขความจำเป็นต่างกัน การเป็นนักศึกษา ไม่ได้หมายถึงเป็นเด็กอายุ 18 - 22 ปี ที่แบมือขอเงินพ่อแม่มาเรียน แล้วก็ใช้ชีวิตเล่น ๆ ไปวัน ๆ นักศึกษาหลายคนนอกจากรับผิดชอบตนเองแล้วยังจะต้องรับผิดชอบครอบครัวด้วย นักศึกษาบางคนที่ผมเคยให้คำปรึกษา ต้องหาเงินมาเรียนเอง นักศึกษาบางคนที่เพื่อนผมให้คำปรึกษา ต้องทำงานหาเงินส่งทางบ้าน

นักศึกษา กลุ่มนี้ เวลากลางวันมาเรียน เวลากลางคืนต้องไปทำงาน บางครั้งมาลาเรียนเป็นสัปดาห์เพราะต้องไปทำงานที่ไซต์งานต่างอำเภอ ต่างจังหวัด มาเรียนไม่ได้ ขนาดเวลาจะมาเรียนยังไม่ค่อยจะมี นักศึกษากลุ่มนี้จะเอาเวลาที่ไหนไปร่วมกิจกรรมให้มันครบ 60 หน่วยกิจกรรม (180 ชั่วโมง! 5 ด้าน ๆ ละ 36 ชั่วโมง) นี่เป็นกลุ่มที่แม้จะมีจำนวนน้อย แต่เป็นกลุ่มที่ผมเป็นห่วงมากที่สุด

ใน ประกาศมหาวิทยาลัยนั้นไม่เพียงบังคับให้ทำกิจกรรม แต่ยังบังคับให้ทำกิจกรรมตามหมวดหมู่ที่กำหนดด้วย ซึ่งหมายความว่า หากมีนักศึกษาที่มีความชื่นชอบกิจกรรมการเขียนโปรแกรมเป็นชีวิตจิตใจ เขาก็ไม่สามารถใช้เวลาของเขากับสิ่งที่เขารักได้เต็มที่ เพราะต้องแบ่งเวลาออกไปทำกิจกรรมอื่น ๆ อีก 4 ด้าน นี่จะเป็นการทำลายศักยภาพของนักศึกษาคนนี้หรือไม่

อาจารย์ หลายท่านที่ผมได้คุยด้วย พบว่าการบังคับหมวดหมู่กิจกรรมข้อนี้ กลายเป็นอุปสรรคของการทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่างที่จำเป็นต้องอาศัยความทุ่มเท และเวลามาก เพราะนักศึกษาที่ทุ่มเทเพื่องาน (ผู้มีจิตอาสาที่แท้จริง) จะเสียประโยชน์ คือแทนที่จะเอาเวลาไปเข้าร่วมกิจกรรมที่ได้หน่วยกิจกรรมง่าย ๆ ให้มันครบ ๆ ก็ต้องมาเสียเวลาเตรียมงานต่าง ๆ ในระยะยาวก็คือกิจกรรมลักษณะนี้อาจลดลงและหายไป

ในแง่ของ สิทธิเสรีภาพ อิสระที่จะไม่ทำกิจกรรมของนักศึกษากลุ่มหนึ่งนั้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็เป็นอิสระส่วนบุคคลที่พึงได้รับการให้เกียรติและเคารพ ในฐานะผู้ใหญ่คนหนึ่งที่มีสิทธิ์เลือกวิธีการใช้ชีวิตของตนเอง การจะสอนให้เขาเคารพสิทธิคนอื่นได้นั้น ก่อนอื่นเราจะต้องเคารพสิทธิของนักศึกษาของเราเสียก่อน ไม่ใช่คิดว่าฉันเป็นอาจารย์ จะสั่งให้นักศึกษาทำอะไรก็ได้นั้น ไม่ได้!

นักศึกษา นั้นมีหน้าที่เรียน และมีสิทธิ์ที่จะทำกิจกรรม ถ้าอยากทำ หากเราไม่เคารพสิทธิ์ของนักศึกษาในข้อนี้ เราจะสอนนักศึกษาของเราให้เคารพสิทธิ์ของคนอื่นได้อย่างไร

นอกจาก นี้ในระบบการบังคับนี้ ยังได้ปฏิเสธการมีชีวิตอยู่ของนักศึกษานอกรั้วมหาวิทยาลัยด้วย เพราะกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยไม่รู้ ไม่เห็น ไม่มีส่วนในการจัดการ ไม่สามารถนับหน่วยกิจกรรมได้

นั่นหมายความว่า เราอาจไม่เคยคิดเลยว่านักศึกษาของเรา อาจไปเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมชุมชนที่ไหนสักแห่งนอกรั้วมหาวิทยาลัยได้ เช่นกลุ่มเครื่องบินวิทยุบังคับ กลุ่มโอเพ่นซอร์ส กลุ่มคนชอบเดินป่า กลุ่มอาสาสมัคร กลุ่มนักปั่นจักรยาน กลุ่มกิจกรรมลีลาศริมบึง เข้าวัดเป็นประจำตามลักษณะนิสัยพื้นฐานเดิม หรือแม้แต่โต๊ะหมากรุกหน้าตลาด...ไม่นับ!

นี่ใช่เรากำลังดึง นักศึกษาของเราออกจากที่ของเขา ออกจากดินจากป่าที่เขาจะเติบโตได้อย่างงดงาม เพื่อมาเฉาอยู่ในกระถางสวย ๆ ของเรา หรือเปล่า

ข้อเสนอแนะ
  1. ผม ไม่ได้ต้องการโจมตีใคร ผมไม่ต้องการเรียกร้องถามหาความรับผิดชอบจากใคร มหาวิทยาลัยขอนแก่น แม้จะมีปัญหาต่าง ๆ มากมาย แต่ก็ยังเป็นที่ ๆ น่าอยู่ เพราะเรารู้ว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่ตัดสินใจเรื่องใด ๆ แล้วเกิดปัญหาขึ้นมา หรือเราไม่ชอบใจก็ตาม แต่เราก็เชื่อมั่นได้อย่างน้อยอยู่หนึ่งประการก็คือ ที่เขาทำไปนั้น ก็ด้วยความรักและหวังดีต่อมหาวิทยาลัยของพวกเราทุกคน
  2. ใน อุดมคติของผม เสนอให้ยกเลิกนโยบายนี้อย่างสิ้นเชิง และเราแก้ปัญหานักศึกษาไม่ทำกิจกรรมโดยการจัดกิจกรรมให้น่าสนใจขึ้น (ซึ่งไม่ง่ายและต้องใช้เวลา)
  3. หากยกเลิกไม่ได้ด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ควรให้ลดจำนวนหน่วยกิจกรรม ลดหมวดกิจกรรมที่บังคับ คือบังคับเท่าทีี่เห็นว่าจำเป็นจริง ๆ และมีกิจกรรมรองรับอยู่แล้ว เช่นกิจกรรมกีฬาน้องใหม่ หรือกิจกรรมรับเพื่อนใหม่ เป็นต้น และขอให้ยกเลิกกรอบจำนวนหน่วยกิจกรรมประจำชั้นปีเสีย
  4. อาจารย์ที่ เป็นผู้ลงมือทำกิจกรรมทุกท่าน และนักศึกษาที่ทำกิจกรรมทุกคน หากเห็นปัญหาเช่นเดียวกับที่ผมเห็น ช่วยกันแสดงความคิดเห็นของท่าน ผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บริหารได้รับทราบความอึดอัดใจของพวกเราให้ได้มากที่สุด

ด้วยความเคารพในความเห็นของผู้อ่านทุกท่าน