วันศุกร์, กันยายน 09, 2554

วิธีการสอนในเทอมนี้ ดูเหมือนจะได้ผลดี

จากที่เคยบ่น ๆ ไว้เรื่องคำพูดของ George Bernard Shaw เมื่อสักพักใหญ่ ๆ มาแล้ว ก็อย่างที่บอก ไม่ใช่ทุกคนที่สอนได้ อันนี้ไม่ใช่หยิ่ง จองหองนะ มันเหมือน ๆ กับว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะทำอาหารอร่อยนั่นแหละ ดังนั้นคนที่ทำอาหารอร่อยควรจะภูมิใจฉันใด คนที่สอนได้และโดยเฉพาะที่สอนได้ดี ก็ควรจะภูมิใจด้วยเช่นกันฉันนั้น

ในภาคเรียนนี้ (๑/๒๕๕๔) ผมได้ประมวลความบกพร่องในการสอนจากภาคเรียนก่อน ๆ เข้าด้วยกันพบว่า ความบกพร่องของผมก็คือ
  • ให้เวลาน้อยเกินไปกับคนที่ตั้งใจเรียน อยากเรียน อยากรู้
  • ให้เวลามากเกินไปกับคนที่ไม่ตั้งใจเรียน ไม่ได้อยากเรียน ไม่ได้อยากรู้
  • เอาเรื่องพื้นฐานที่ควรให้นักเรียนขบคิดเอง ไปสอนอย่างละเอียดในห้องเรียน ส่งผลให้คนที่เรียนได้เร็วจะเบื่อ ในขณะที่คนที่เรียนได้ช้าก็จะงง
ภาคเรียนนี้เลยคิดอีกวิธีหนึ่งออกมา ก็คือ ในส่วนคะแนนเก็บ ผมไม่เช็คชื่อแล้ว แต่ผมจะกำหนดชั่วโมงเข้าพบไว้ ทำเป็นตารางแน่นอนไว้สัปดาห์ละ ๓ ชั่วโมง ในภาคเรียนนี้นักศึกษาจะต้องมาพบผมเพื่อถามคำถาม ๘ ครั้งตาม ๘ หัวข้อในบทเรียนภายในเวลาที่กำหนด

นั่นหมายความว่า หากไปถามข้างทาง จะไม่ได้รับการเช็คชื่อ ถามนอกเวลาที่กำหนดให้ถามจะไม่ได้รับการเช็คชื่อ ถามเกินได้ แต่ไม่เช็คชื่อเกินให้ เช็คชื่อให้แค่ บทละ ๑ ครั้งเท่านั้น และผมให้สามารถเข้ามาตั้งคำถามได้พร้อม ๆ กันครั้งละ ๔ - ๕ คน คำถามเดียวก็ได้จะเช็คชื่อให้ทุกคน

ผลตอบรับที่ได้นับว่าดี กล่าวคือ
  • คนที่ต้องการถาม มีเวลาแน่นอนที่จะเข้ามาถามผม ไม่ต้องรอดูว่าผมอยู่ที่ห้องทำงานหรือเปล่า
  • คนที่ไม่เคยถามเลย มีจำนวนหนึ่งที่ครั้งแรก ๆ มาถามตามเพื่อนเฉย ๆ (คือไม่ได้ตั้งคำถามเอง) พออยู่ในบรรยากาศการซักถามของเพื่อน ๆ สักพักจะเริ่มสนุกกับการถาม และครั้งต่อ ๆ มาก็สามารถตั้งคำถามเองได้ และได้เรียนรู้คุณค่าของการถาม
  • เนื้อหาที่สอนในห้องเรียน แม้จะเพียงพอกับการสอบ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่อยากถ่ายทอด มีนักศึกษาที่เรียนรู้ได้เร็วจำนวนหนึ่งมาเรียนรู้เพิ่มเติมในชั่วโมงที่เปิดให้ถาม
  • สุดท้ายตัวผมเองก็ได้เรียนรู้จากคำถามของนักเรียนเช่นกัน ทั้งในแง่ของตัววิชาเอง และในแง่ของการสอนว่าในชั่วโมงที่ผ่านมานั้นการสอนพลาดประเด็นสำคัญอะไรไปหรือไม่ มันจะสะท้อนออกมาในคำถามของนักศึกษานั่นเอง
จุดอ่อนของภาคเรียนนี้ก็คือการสั่งงานเขียนโปรแกรมที่ที่สุดแล้วก็ตรวจและให้ Feedback กับนักเรียนไม่ทันการณ์ ซึ่งต้องหาทางปรับปรุงต่อไปในอนาคต ใจอยากให้ทำเป็นโครงงานเล็ก ๆ มากกว่าให้โจทย์ แต่ไม่มั่นใจว่าจะดูแลนักศึกษาได้ทั่วถึง และเนื้อหาของโครงงานก็อาจไม่ครอบคลุม หากนักศึกษาได้มาอ่านและมีข้อเสนอแนะใด ๆ ก็ขอให้ทิ้งข้อความไว้ก็แล้วกันครับ ยังไง ๆ ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับรุ่นน้องต่อไป

ความพ่ายแพ้ที่มาในคราบของชัยชนะ

ในสัปดาห์นี้มีข่าว (น่าจะ) ดีสำหรับครอบครัวอยู่อย่างหนึ่ง คือผมได้รับตำแหน่งวิชาการแล้ว

เป็นเรื่องที่หัวเราะไม่ออก ร้องไห้ไม่ได้ เพราะจิตใจออกจะสับสนอยู่บ้างว่าอันที่จริงแล้วมันเป็นข่าวดีหรือข่าวร้ายกันแน่ เหตุผลที่ผมสับสนก็เพราะอันที่จริงแล้ว การที่ผมขอตำแหน่งวิชาการนี้ก็เพราะมหาวิทยาลัย "บังคับ" ให้พนักงานมหาวิทยาลัยทุกคนขอตำแหน่งวิชาการภายในเวลา ๗ - ๘ ปี หลังจากการบรรจุ มิฉะนั้นจะไม่ต่อสัญญา สิ่งที่ผมคิดไม่ออกก็คือการมีผู้ช่วยศาสตราจารย์เยอะ ๆ หรือรองศาสตราจารย์เยอะ ๆ หรือศาสตราจารย์เยอะ ๆ มันทำให้มหาวิทยาลัยดีขึ้นอย่างไรจึงทำถึงขนาดต้องบังคับกัน

พูดง่าย ๆ ก็คือผมไม่ชอบถูกบังคับให้ขอตำแหน่ง พอ ๆ กับที่ผมเชื่อว่านักศึกษาไม่ชอบถูกบังคับให้ทำกิจกรรมนั่นแหละ

ผมมีอคติกับวิธีคิด และกระบวนการในการขอตำแหน่งเกือบทุกขั้นตอน ตั้งแต่นโยบายการวัดระดับของมหาวิทยาลัยด้วยจำนวนผู้ดำรงตำแหน่งวิชาการ การเขียนระเบียบที่คลุมเครือ ไม่รัดกุม การตีความไม่สมเหตุสมผลในการระบุประเภทและองค์ประกอบของผลงาน ที่มาของการตัดสินผลงานว่าจะรับประเมินผลงานแบบไหน เกณฑ์ที่เกินเกณฑ์ (Over Spec.) ความไม่ชัดเจนในเรื่องเกณฑ์คุณภาพผลงาน ต้องทำไปแบบเดาใจผู้ประเมิน ซึ่งจะเป็นใครก็ไม่รู้ จะใช้เกณฑ์อะไรก็ไม่รู้ ฯลฯ ผมไม่พอใจกับขั้นตอนไหน ๆ ของมันแม้แต่ขั้นตอนเดียว

แม้จะมีอคติกับมันขนาดไหน แม้จะไร้สาระ ไม่สมเหตุสมผลสักเพียงใด ที่สุดแล้วผมก็ต้องยอมทำตามมันไปจนสิ้นสุดกระบวนการตามระเบียบเสร็จสิ้นและได้ตำแหน่งวิชาการนี้มา

ความสำเร็จ (?) ครั้งนี้ ในทางหนึ่งก็เป็นความสบายใจว่าไม่ต้องกังวลเรื่องต่อสัญญาแล้ว ในอีกทางหนึ่งตำแหน่งนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งการยอมแพ้ต่อสิ่งที่เราไม่เชื่อมั่น ไม่เห็นประโยชน์ ไม่เห็นด้วย ไม่ได้แตกต่างไปจากคนอื่น ๆ ที่เราดูแคลน นับเป็นความอัปยศในใจอย่างหนึ่ง

อาจยิ่งแย่กว่าด้วยซ้ำ เพราะเรามองเห็นและเชื่อว่าว่ามีสิ่งไม่ถูกต้อง ไม่สมเหตุสมผล เกิดขึ้นในระบบ แต่เราก็ยอมแพ้ต่อมันเพื่อเอาตัวรอด เราจะยังกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นครูบาอาจารย์อยู่อีกหรือ?

อย่างไรก็ตามก็ต้องขอขอบคุณผู้สนับสนุนทุก ๆ ท่าน ที่ให้ความช่วยเหลือ กำลังใจและคำแนะนำตลอดกระบวนการ ผมซาบซึ้งจากใจจริงในความหวังดีและเป็นห่วงของทุกท่านครับ

วันอังคาร, กันยายน 06, 2554

เรียนรู้จากการตรวจข้อสอบ

ผ่านไปแป๊บเดียวถึงฤดูกาลตรวจข้อสอบอีกแล้ว รอบนี้ตรวจง่าย จากการตรวจข้อสอบพบว่ามีนักศึกษาอยู่ 4 กลุ่ม คือ
  1. กลุ่มที่รู้ว่าต้องทำอะไร และทำสิ่งนั้นได้
  2. กลุ่มที่รู้ว่าต้องทำอะไร แต่ทำสิ่งนั้นไม่ได้
  3. กลุ่มที่จะให้ทำอะไรก็ทำได้ แต่กลับไม่รู้ว่าต้องทำอะไร
  4. กลุ่มที่ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ทำไม่ได้ และไม่รู้ด้วยว่าต้องทำอะไร
สำหรับผมแล้ว กลุ่มที่ 1 ไม่น่าห่วง เพราะเขาเตรียมตัวมาดีแล้ว
กลุ่มที่ 2 ไม่น่าห่วง เพราะถ้าจำเป็นเขาสามารถหาข้อมูลประกอบมาช่วยแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง อย่างน้อยเขาก็รู้ว่าปัญหาคืออะไร และควรจะแก้ไขอย่างไร
กลุ่มที่ 4 ก็ยังไม่ห่วง เพราะเขาอาจจะไม่เหมาะกับสายงานนี้แต่แรก แต่อาจจะไปได้ดีในสายงานอื่น ๆ ซึ่งอาจพบในภายหลัง

กลุ่มที่ผมเป็นห่วงมากที่สุดกลับเป็นกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มคนที่รู้ว่าวิธี ก. ทำอย่างไร วิธี ข. ทำอย่างไร แต่ไม่รู้อย่างลึกซึ้งถึงธรรมชาติของกรรมวิธี ทำให้เมื่อประสบปัญหาแล้วไม่รู้ว่าเมื่อใดจะต้องใช้วิธี ก. และเมื่อใดจะต้องใช้วิธี ข. และกรรมวิธีต่าง ๆ เหล่านี้จะเชื่อมโยงกันเพื่อแก้ปัญหาโดยรวมได้อย่างไร

ถ้าบอกว่า ให้ทำวิธี ก. ซิ เขาก็จะทำได้ ถ้าบอกว่าให้ทำวิธี ข. ซิ เขาก็จะทำได้ แต่ถ้ามีปัญหามาให้และให้แก้ปัญหา ด้วยความที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจธรรมชาติของปัญหารวมทั้งธรรมชาติของการแก้ปัญหาอย่างลึกซึ้ง จึงไม่สามารถเลือกใช้กรรมวิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ ไปตามลำดับอย่างที่ควรจะเป็นได้

ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญที่สุด

ดังนั้นการสอนต่อจากนี้ไป จะเป็นการฝึกฝนให้นักศึกษารู้ว่าต้องทำอะไร และรู้ว่าสิ่งที่ต้องทำนั้น ทำอย่างไร และการสอบต่อจากนี้ไปจะเป็นการประเมินเพื่อจำแนกว่านักศึกษาแต่ละคน ๆ ที่เข้าสอบนั้นเป็นนักศึกษากลุ่มใด สำหรับผมแล้ว กลุ่ม 1 คือ A กลุ่ม 2 คือ B กลุ่ม 3 คือ C และกลุ่ม 4 คือ F

ส่วนข้อสอบจะยากขึ้นหรือง่ายลงนั้นก็แล้วแต่ความคิดของแต่ละคน ว่าที่ปรับปรุงแล้วนี้จะถือว่ายากขึ้นหรือว่าง่ายลง