วันศุกร์, มีนาคม 04, 2554

ปัญหาของระบบการศึกษาของเรา

บอกกันก่อน ว่านี่คือความคิดเห็นส่วนตัวของผม แลกเปลี่ยนกันได้ แบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์กันได้ เมื่อผมรู้อะไร ๆ มากขึ้น ความคิดผมก็อาจเปลี่ยนได้ ผมไม่ดื้อหรอกครับ เฮอะ เฮอะ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เรื่องของเรื่องก็คือเมื่อสักสัปดาห์ที่แล้วได้พูดคุยกับรุ่นพี่ที่เคารพท่านหนึ่งเกี่ยวกับระบบการศึกษาของเรา หลังจากนั้นก็นำมาคิดต่อและได้ข้อสรุปในใจที่อยากจะบันทึกไว้ ผมคิดว่าปัญหาของการศึกษาของเราเกิดจากสาเหตุไม่กี่ประการ ได้แก่
  1. ผู้มีความรู้ และมีอำนาจ ท่านมีความสามารถระบุสาเหตุของปัญหาได้ถูกต้อง แต่เวลาจะแก้ปัญหาไม่แก้ที่ต้นเหตุ คอยแต่จะออกกฏออกระเบียบต่าง ๆ มาแก้ที่ปลายเหตุ
  2. ขาดความเป็นตัวของตัวเองในการแก้ปัญหา
  3. ใคร ๆ ก็อยากทำงานใหญ่ ๆ ไม่มีใครใส่ใจกับงานเล็ก ๆ ที่มีความจำเป็นอย่างแท้จริง
  4. คิดว่ากรุงเทพฯ คือประเทศไทย ประเทศไทยคือกรุงเทพฯ 
  5. ดื้อ
ผมอยากจะระบายความรู้สึกในประเด็นต่าง ๆ ข้างต้นดังต่อไปนี้

การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุโดยใช้อำนาจ
ผู้บริหารในระบบการศึกษาเท่าที่ผมได้รับผลกระทบโดยตรง (จากรัฐบาล จากกระทรวงศึกษา จาก กพร. จาก สกอ. จากสภาวิศวกร จากมหาวิทยาลัย จากคณะฯ และจากภาควิชาฯ) มักจะมองปัญหาเล็ก ๆ เป็นเรื่องใหญ่เกินจริง ยินดีใช้เวลาและทรัพยากรไปกับการออกกฏระเบียบมาเพื่อ "กลบฝัง" สิ่งที่ท่าน ๆ ทั้งหลายไม่ต้องการจะเห็น เช่น
  • ไม่อยากจะเห็นนักศึกษาเอาแต่เรียน จึงออกระเบียบมาบังคับให้นักศึกษาต้องทำกิจกรรม บางมหาวิทยาลัยบังคับให้ทำกิจกรรมไม่ได้ จะเป็นเพราะนักศึกษาไม่ยอมหรือท่านอายเองก็เหลือจะเดา ท่านก็เลยแอบเอาไปไว้ในหลักสูตรเป็นวิชาหนึ่งไปเสียเลย ท่านแน่ใจหรือครับว่าท่านแก้ปัญหาที่ต้นเหตุแล้ว?
  • ไม่อยากจะเห็นนักศึกษาเรียนและรู้แต่เฉพาะวิชาชีพของตน อยากให้นักศึกษามีความรู้รอบตัวกว้างขวาง จึงออกระเบียบให้ต่อไปนี้เป็นต้นไป ทุกหลักสูตรจะต้องมีรายวิชาศึกษาทั่วไปรวม 30 หน่วยกิต เบียดรายวิชาชีพไป 1 ภาคการศึกษา ท่านแน่ใจหรือครับว่าท่านแก้ปัญหาที่ต้นเหตุแล้ว? (อยากจะถามด้วยซ้ำไปว่าท่านแน่ใจหรือครับว่าท่านไม่ได้สร้างปัญหาอื่นขึ้นมาอีก)
  • สภาวิชาชีพเป็นห่วงว่าจะมีสถาบันการศึกษา ลักไก่ขออนุมัติหลักสูตรที่สถาบันไม่พร้อมจะสอน ท่านเลยเพิ่มระเบียบให้เข้มข้นขึ้นคือเพิ่มวิชาบังคับมันซะเลย เอ๊ะ!!?? ไอ้ที่มันลักไก่อยู่ได้นี่เพราะระเบียบมันไม่เข้มข้นเหรอครับ คนตรวจสถาบันก็ตัวท่านเองนะครับ ท่านไม่อยากให้ลักไก่ท่านก็ตรวจดี ๆ ซิครับ ท่านแน่ใจหรือครับว่าท่านแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุแล้ว?
  • อาจารย์มีตำแหน่งวิชาการจำนวนน้อย อยากจะเพิ่มจำนวน ผศ. รศ. สนับสนุนมันยากครับ บังคับกันง่ายกว่า ใครที่เป็นพนักงาน ถ้าไม่ทำให้เรียบร้อยภายใน 8 ปี จะไม่ต่อสัญญา ผมมองเห็นความหวังดีอยู่ แต่ว่าการที่อาจารย์ไม่ได้ขอตำแหน่งวิชาการนี่มีสาเหตุจากอะไรกันแน่ครับ แล้วไอ้การออกเป็นกฏออกมานี่มันแก้อะไรที่ต้นเหตุบ้างหรือเปล่า อันนี้ก็ยังสงสัยอยู่ครับ
ถ้ามองในแง่ดีนะครับ ก็มองว่าคณะผู้มีอำนาจอาจยังไม่ทราบว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไรและเหตุของมันคืออะไร ถ้ามองในแง่ร้าย ก็มองได้ว่าอันที่จริงอะไรเป็นอะไรนั้นทราบดีอยู่ แต่ท่าน ๆ มีวาระซ่อนเร้น มีผลประโยชน์แอบแฝง จึงทำเป็นมองไม่เห็นว่า กฏ ระเบียบ ที่ออกมาบังคับใช้นั้น มันไม่ได้แก้ปัญหา แต่มันสร้างปัญหาเพิ่ม ท่านครับ คนเราเกิดมาเดี๋ยวก็ตายแล้ว ท่านปู้ยี่ปู้ยำกับระบบการศึกษาของประเทศโดยมีวาระซ่อนเร้น มีเด็ก ๆ ได้รับผลกระทบมากมาย บางอย่างมีผลกับอนาคตของเขาอย่างมาก ท่านไม่กลัวบาปกลัวกรรมหรือครับ?
 
ขาดความเป็นตัวของตัวเอง
ผู้บริหารในระบบการศึกษาเท่าที่ผมได้รับผลกระทบโดยตรง (จากรัฐบาล จากกระทรวงศึกษา จาก กพร. จาก สกอ. จากสภาวิศวกร จากมหาวิทยาลัย จากคณะฯ และจากภาควิชาฯ) มักจะนิยมใช้เครื่องมือตามสมัยนิยม (จากต่างประเทศ) โดยไม่ใตร่ตรองว่ามันใช้การได้จริงในวัฒนธรรมการทำงานของสังคมของเราหรือไม่ เช่น
  • ท่านเห็นว่านักศึกษาอ่อนภาษาอังกฤษ ท่านอยากให้นักศึกษาเก่งภาษาอังกฤษขึ้น ท่านเลยจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ทั้ง ๆ ที่หลักสูตรไม่ใช่หลักสูตรในภาษาอังกฤษ ท่านแน่ใจหรือครับว่านักศึกษาของเราอ่อนภาษาอังกฤษ?

ผมคิดว่านักศึกษาไม่ได้อ่อนแต่เฉพาะภาษาอังกฤษครับท่าน นักศึกษาของเราอ่อนภาษาไทยด้วย ถ้านักศึกษาไม่สามารถอ่านภาษาไทยและจับใจความสำคัญให้ได้ ไม่สามารถเรียบเรียงประโยคภาษาไทยได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล เราไปให้เขาขนเรียนภาษาอังกฤษไป 9 หน่วย 12 หน่วย จะมีประโยชน์อันใดครับ?
ผมคิดว่าก่อนจะเป็นบัณฑิตที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีนั้น เขาจะต้องเป็นบัณฑิตที่ใช้ภาษาคนให้ได้ดีก่อนครับ ดังนั้นผมจึงขอเสนอว่าถ้าจะบังคับเรียนภาษาอังกฤษ สู้บังคับเรียนภาษาไทยดีกว่า เหมือนที่เวลาท่าน ๆ ทั้งหลายไปเรียนเมืองนอกแล้วก็ต้องเรียนภาษาอังกฤษเพื่อการเขียนนั่นแหละครับ ฝรั่งเขาก็มาเรียนกับท่านด้วยใช่ไหมเล่า
  • ท่านเห็นว่าเดี๋ยวนี้มี e-Learning ใช้กัน ท่านก็เลยอยากให้อาจารย์ใช้ e-Learning กันมั่ง โชคยังดีว่าตอนนี้แค่ "สนับสนุน" ให้ใช้ แต่เผลอ ๆ จากประสบการณ์ เดี๋ยวก็บังคับกันจนได้ว่าทุกวิชา "ต้อง" มี e-Learning ไม่ว่ามันจะจำเป็นหรือไม่ มีประสิทธิผลหรือไม่ เหมาะสมกับแนวทางการสอนของอาจารย์หรือไม่
ผมคิดว่าจะ e-Learning จะ Social Media จะ Student Center จะ Project Based จะ Problem Based จะ KPI จะวิจัยในชั้นเรียน สุดท้ายมันก็แค่เครื่องมือครับ ไม่มากไปกว่านั้น ไม่น้อยไปกว่านั้น

ผมได้มีโอกาสอ่านประวัติคณาจารย์รุ่นเก่าหลาย ๆ ท่านที่เกษียณอายุราชการไป แล้วลูกศิษย์ลูกหาก็ช่วยกันทำหนังสือที่ระลึกให้อาจารย์ สิ่งที่ท่านลงมือทำมาตั้ง 30 - 40 ปีมาก่อน สอดคล้องกับแนวทางการศึกษาสมัยใหม่ทุกประการ แต่ท่านก็ใช้เครื่องมือตามยุคสมัย ตามความพร้อม ตามความเหมาะสม และที่สำคัญคือ ทำด้วยหัวใจและวิญญาณของคนเป็นครู ไม่ใช่ว่าพอมีอะไรใหม่เข้ามาปั๊บ จะต้องกระโดดใส่ทันที กระโดดใส่คนเดียวไม่พอ ยังต้องบังคับให้คนอื่นทำเหมือน ๆ กันด้วย (ฉันจะได้เป็นผู้นำ?)

ผมคิดว่าการกะเกณฑ์ให้ใครต่อใครมาเดินตามเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งเส้นทางเดียว มันกัดกร่อนจิตใจและวิญญาณของครูลงไป เพราะอิสระมันไม่มี มันก็กัดกร่อนจนหมด หมดแล้วก็กลับมาตำหนิครูอีก ว่าไม่มีวิญญาณความเป็นครู ไม่ทุ่มเทการสอน ... โอ้โหเพ่ ดูมั่งเด่ะ ว่าให้อิสระเขาในการสอนขนาดไหน ขนอะไรที่เขาไม่รู้จัก ไม่ชิน ไม่เหมาะ ไปให้เขาทำมั่งล่ะ ถ้าไม่ทำก็จะเสียโอกาส

ถึงบรรทัดนี้ บางคนอาจนึกแย้งในใจว่า เอ๊ะ เขาก็ไม่ได้บังคับนี่นา ผมมีอคติเกินไปหรือเปล่า อืม...อาจจะใช่ก็ได้ครับ คือว่าผมน่ะมีความคิดอย่างนี้ครับ
  • ตอนนี้ไม่บังคับ รอสักพัก เผลอ ๆ เดี๋ยวก็บังคับ
  • ตอนนี้ไม่บังคับทางตรง แต่ก็ถือว่าบังคับทางอ้อม เช่น คนที่ไม่ได้ใช้เครื่องมือตามนี้ ๆ (เช่น e-Learning) เวลาถูกประเมิน ก็จะได้คะแนนต่ำกว่าคนที่มี ส่วนคนที่ไม่มี เขาจะใช้แนวทางอื่น หรือเครื่องมืออื่น ก็อาจจะได้รับน้ำหนักน้อย หรือไม่มีน้ำหนักเลยก็ได้ อย่างนี้ไม่บังคับก็เหมือนบังคับ เพราะถ้าไม่ทำตาม ก็จะได้รับโอกาสน้อยกว่าคนอื่น ๆ
เครื่องมือก็คือเครื่องมือ ผมคิดว่าครูบาอาจารย์ท่านน่าจะได้รับอิสระที่จะเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับแนวทางการเรียนการสอนของท่าน โดยไม่สูญเสียโอกาสอันเนื่องจากการไม่เลือกเครื่องมือที่กำหนด เพื่อให้จิตวิญญาณของครูไม่ถูกกัดกร่อนไปด้วยระบบการประเมินที่คับแคบ ไม่รอบด้าน ไม่เป็นธรรม และขาดความเป็นตัวของตัวเอง
  • มีบทความวิจัยน้อย เลยกำหนดมันซะเลยว่าจะจบโทต้องมีกี่เปเปอร์ จะจบเอกต้องมีกี่เปเปอร์ เอาเปเปอร์เป็นตัวตั้ง
เรื่องตลกก็คือพอมหาวิทยาลัยมันเยอะขึ้น สนามที่จะให้เปเปอร์ออกมันไม่พอ ก็เลยจัดพิมพ์วารสารขึ้นมาเอง จัดงานประชุมวิชาการขึ้นมากันเองซะเลย จะดันออกนอกประเทศก็ไม่ได้เพราะคุณภาพมันเท่าเดิม ก็เลยมีวารสารวิชาการ ประชุมวิชาการเยอะแยะไปหมด
  • ซ้ำร้าย การประเมินมหาวิทยาลัย ก็มีหัวข้อว่าด้วยการจัดประชุมวิชาการระดับชาติและระดับนานาชาติมาเป็นตัววัดเพิ่มเข้าไปอีก (ไม่มีไม่ได้...อายเค้า)
เราก็เลยมีประชุมวิชาการระดับชาติและระดับนานาชาติเกิดขึ้นเยอะแยะไปหมด เรามีมหาวิทยาลัยเป็นร้อยมหาวิทยาลัย ทุกมหาวิทยาลัยก็อยากได้ผลประเมินสูง ๆ ทุกคนก็เลยจัดกันคนละงานสองงานเป็นประจำทุกปี ดู ๆ ไปแล้วก็ครึกครื้นดีนะครับ

งานเล็ก ๆ ไม่ งานใหญ่ ๆ เอา
ด้วยวิธีการประเมินแบบที่ผมวิจารณ์ไว้ข้างต้น เราได้สร้างบุคลากรอีกประเภทหนึ่งขึ้นมา ก็คือบุคลากรที่คอยมองว่า ประเด็นหรือหัวข้อการประเมินคืออะไร แล้วก็จะ ทำตามที่เขาจะประเมิน บุคลากรส่วนนี้ก็จะไม่ยินดีทำงานที่จำเป็นต้องมีคนทำ (แต่ไม่เกี่ยวกับการประเมิน)
  • ถ้าการประเมินเน้นวิจัย ท่านก็จะไปวิจัย
  • ถ้าการประเมินบอกว่าต้องมี e-Learning ท่านก็จะสร้าง e-Learning
  • การประเมินไม่ได้บอกว่าท่านต้องจัดกิจกรรมให้เด็ก ๆ (ซึ่งถูกมหาวิทยาลัยบังคับให้ทำตามกำหนด) ท่านก็จะปฏิเสธงานกิจกรรม
  • การประเมินไม่ได้บอกว่าท่านต้องช่วยงานอื่น ๆ ของคณะ เช่นกรรมการดูงาน กรรมการฝึกงาน กรรมการซ้อมบัณฑิต กรรมการพิจารณาทุนการศึกษา อาจารย์ที่ปรึกษาชมรม ท่านก็จะปฏิเสธงานเหล่านั้น
ผมคิดว่าองค์กรทั้งหลาย จะตั้งดำรงอยู่ได้และจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน งานทั้งเล็กและใหญ่ล้วนสำคัญทั้งสิ้น ผมคิดว่า ใด ๆ แตกต่างกันด้วยรายละเอียด คิดโปรเจ็คพันสองร้อยล้านมันไม่ยากหรอกครับ มันยากตอนทำจริง ๆ และต้องแก้ปัญหาในรายละเอียดนั่นแหละ แต่รายละเอียดพวกนี้มันงานเล็กครับ ถ้าท่าน ๆ มาทำเองมันคงจะเสียเวลาท่านสินะครับ

กรุงเทพฯ คือประเทศไทย
ตามนั้นเลยครับ
  • คิดว่าเด็ก ๆ ทุกคนเข้าถึงอินเตอร์เนตได้โดยสะดวก เชิญมาต่างจังหวัดบ้างนะครับ
  • คิดว่าโรงเรียนมีความพร้อมเหมือนโรงเรียนในเมือง ผมเคยไปเยี่ยมโรงเรียนหนึ่ง ทั้งโรงเรียนมีครูอยู่ 7 คน ผมจำไม่ได้ว่าสอนกี่ชั้น แต่ครูทุกคนต้องช่วยกันทำทุกอย่าง ตั้งแต่บัญชีครุภัณฑ์ รายรับรายจ่าย ประกันคุณภาพ กิจกรรมนักเรียน อาหารกลางวัน ดูแลห้องคอมพ์ (บริจาค) ฯลฯ มีอยู่วันหนึ่งนั่งดูรายการโทรทัศน์ นักวิชาการการศึกษามาพูด "สับ" ครูในห้องส่งว่า ครูมักง่าย สอนแบบขนมชั้น จบไปเป็นแถว ๆ ไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ใช้ศักยภาพของตนเองเต็มที่ ผมยังนึก ๆ  อยู่ว่าคนพูดนี่เคยออกมาสอนนอกกรุงเทพฯ บ้างหรือเปล่า ออกมาแล้วไม่ต้องไปถึงโรงเรียนชนบทไกล ๆ หรอก เอาแค่โรงเรียนประจำอำเภอเล็ก ๆ ก็ได้ อย่าไปโรงเรียนดัง ๆ หรือโรงเรียนประจำจังหวัด แล้วท่านจะได้รู้ว่ามันเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ท่านทั้งหลายเป็นคนกำหนดให้ครูเขาเองนี่แหละ
ดื้อ
ถ้าได้ลองเลือกให้ทำอะไรลงไปแล้ว ต่อให้มันเห็นชัดขนาดไหนว่าไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ก็ไม่เลิกง่าย ๆ ครับ ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม อันนี้เป็นสิ่งที่ผมรู้สึกนะครับ

แล้วผมคิดยังไง?
ผมคิดว่าการเรียนการสอนของเรามันผิดเพี้ยนบิดเบี้ยวไปหมด มันควรจะเหมือนปิระมิด คือ
  • ระดับต้น สอนให้รู้ถูกผิดดีชั่ว ให้รู้จักสังคม ให้รู้พื้นฐานกว้าง ๆ
  • ระดับกลาง เปิดโอกาสให้เขาได้ทดลองในทุก ๆ อย่าง พอปลาย ๆ ก็ให้เขาพัฒนาตนเองตามความถนัด จากนั้นค่อยไปเลือกในระดับสูง
  • ระดับสูง เข้มข้นที่เนื้อหาเฉพาะด้าน เพื่อพัฒนาในสิ่งที่เขาเลือกแล้วให้ดีที่สุด
แต่จากมุมมองของผม ผมกลับเห็นว่าเราทำกันอีกแบบ เหมือนกับนาฬิกาทรายคือ
  • ระดับต้น สอนให้รู้ถูกผิดดีชั่ว ให้รู้จักสังคม ให้รู้พื้นฐานกว้าง ๆ (ดีแล้วครับ) แต่ใช้ปัญหาระดับทดสอบไอคิวมาใช้ ผมเคยเจอการบ้านเด็ก ป. 5 หลังมหาวิทยาลัยมีเรื่องลำดับและอนุกรมแล้วนะครับ อันนี้เจอกับตัวเลย ทั้งกว้าง ทั้งลึก นึกไม่ออกว่าจะสอนยังไง พ่อแม่ขายข้าวแกงก็ช่วยไม่ได้ นี่ใช่ผลที่คาดหวังเวลาเอาเรื่องพวกนี้มาสอนหรือเปล่า
  • ระดับกลาง แยกสายวิทย์ สายศิลป์ เหมือนจะตีกรอบมาให้ค่อนข้างแคบในด้านการเรียนการสอน แต่พอประเมินก็มาใช้ทางกว้างอีก
  • ระดับสูง อยากให้เขาเรียนรู้ชีวิตครบทุกอย่าง สายวิทย์ต้องเรียนศึกษาทั่วไปของสายศิลป์ สายศิลป์ต้องสอบวัดระดับความรู้คอมพิวเตอร์ของสายวิทย์ กว้างออกมาอีก
ผมคิดว่าเด็กจะเรียนตามที่เราประเมินเขา
  • สำหรับนักเรียนแล้ว คนที่จะประเมินเขาในปลายทางสุดท้ายคือ เงินเดือนจากผู้ประกอบการครับ ถ้าเราแก้ปัญหาช่องว่างอัตราเงินเดือนระหว่างวิชาชีพไม่ได้ ถ้าเด็กเลือกได้เขาก็จะไหลไปเลือกเรียนวิชาชีพที่ให้เงินเดือนสูง ไม่เกี่ยวกับความชอบหรือความถนัดของเขาเลย ผลก็คือเราจะได้สังคมขาดความสมดุลในวิชาชีพ
  • ที่วิชาชีพปลายทางเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมการเรียนของเด็ก ๆ ก็เพราะว่า เด็ก ๆ จะไปประกอบวิชาชีพปลายทางที่ต้องการได้ ก็ต้องสอบเข้าให้ได้ในคณะที่ต้องการ
  • ถ้าช่องว่างรายได้ระหว่างวิชาชีพลดลง อัตราการแข่งขันเพื่อสอบเข้าคณะยอดนิยมจะลดลง ความตึงเครียดจะลดลง และสัดส่วนเด็กที่เลือกเข้าคณะต่าง ๆ ก็จะสมดุลกัน เด็กจะได้เลือกเรียนในสิ่งที่ชอบมากขึ้น การเรียนของเด็ก ๆ ก็จะมีความสมดุลและสอดคล้องกับบุคลิกภาพของเขามากขึ้น
  • ปัญหาพฤติกรรมการเลือกเรียน การเน้นกวดวิชาในบางวิชาจนการเรียนรู้เสียสมดุลย์ก็น่าจะลดน้อยลงไปในที่สุด
ในทำนองเดียวกัน ผมคิดว่าครู-อาจารย์จะสอนอย่างที่เราประเมินเขา นั่นคือผมคิดว่าสิ่งสำคัญสำหรับคนที่เลือกวิชาชีพครู ก็คือการสอน ส่วนเครื่องมือนั้นจะใช้อะไรก็ได้ ดังนั้นการประเมินจึงควรประเมินประสิทธิผลการสอนเป็นหลัก โดยไม่น่าจะต้องไปสนใจว่ามีเครื่องมืออะไรหรือไม่แม้แต่น้อย

และการประเมินประสิทธิผลการสอน ก็คือการประเมินนักเรียนนั่นแหละ เล็งกันที่วัตถุประสงค์การเรียนรู้ในแต่ละหัวข้อก็พอ ว่าสอนได้ตามที่กำหนดหรือเปล่า ว่ากันเป็นจุด ๆ ไปทีละจุด ๆ ไม่ควรจะต้องไปสนใจว่าเด็กสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้หรือไม่ เพราะนั่นไม่ใช่เป้าหมายของการศึกษา

อยากให้ย้อนกลับมาดูเป้าหมายการศึกษา แล้วประเมินตามนั้น อย่าเอาเรื่องที่ไม่ใช่เป้าหมายทางการศึกษาอย่างแท้จริงเข้ามาปะปนให้มันวุ่นวายจนละเลยเป้าหมายการศึกษาที่แท้จริงเลย

แน่นอนว่าผมก็เห็นด้วยว่ามันไม่ง่ายเลย แต่ผมเชื่อว่ามันทำได้ถ้าเรา
  • เลิกใช้อำนาจกลบปัญหาในปลายทาง แต่ใช้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุต้นทางอย่างแท้จริง
  • มีความเป็นตัวของตัวเองในการแก้ปัญหา เครื่องมือก็เป็นแค่เครื่องมือ ไม่มากไปกว่านั้น ไม่น้อยไปกว่านั้น
แล้วก็ระดมสมองจากบุคลากรด้านการศึกษาทุกระดับ ทุกด้าน มาช่วยกันคิด ช่วยกันหาทางออก และจัดให้มีการปรับปรุงระบบอย่างสม่ำเสมอ (คืออย่าดื้อครับ ถ้ามันใช้ไม่ได้ก็อย่าดื้อ) ผมว่ามันน่าจะค่อย ๆ ดีขึ้นเองครับ