วันอาทิตย์, มกราคม 08, 2560

หนังสือ - เทคนิคสรุปทุกอย่างลงในกระดาษแผ่นเดียว

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา (ตุลาคม 2559) ได้อ่านหนังสือ เทคนิคการสรุปทุกอย่างลงใน [กระดาษแผ่นเดียว] ที่ฉันได้เรียนรู้มาจากโตโยต้า เขียนโดย อะซะดะ ซุงุรุ แปลโดย ภาณุพันธ์ ปัญญาใจ สำนักพิมพ์วีเลิร์ณ

เมื่อทดลองทำตามวิธีการที่นำเสนอในหนังสือ โดยผมได้ทดลองให้คำแนะนำนักศึกษาให้นำเสนองานแก่ผมโดยใช้เทคนิคกระดาษแผ่นเดียว ก็พบว่าใช้การได้ดี

จุดที่เตะตาผมอย่างหนึ่งก็คือ เขาเน้นให้เขียนกระดาษที่ว่านี้ด้วยมือ ไม่ใช่ด้วยคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนหรืออุปกรณ์ไฮเทคอื่น ๆ ผมคล้อยตาม แต่ก็สงสัยว่าทำไม หนังสือเองก็ให้เหตุผลไว้สั้น ๆ ว่าถ้ายังไม่ชินก็ควรเขียนด้วยมือไปก่อน และมันช่วยให้สมองทำงานอย่างเป็นระบบ แต่ก็ไม่อธิบายเพิ่มว่าทำไม

ที่คล้อยตามเพราะผมสังเกตตนเองพบว่าถ้านั่งหน้าคอมพิวเตอร์ มักจะได้งานสร้างสรรค์น้อย ได้งานธุรการเยอะ แต่ถ้านั่งหน้าโต๊ะทำงานพร้อมกระดาษปากกาในมือ จะได้งานสร้างสรรค์เยอะ แต่ก็ทำงานธุรการได้น้อย คิดว่าเครื่องมือที่อยู่ตรงหน้ามีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้สมองทำงานคนละส่วนกัน

อีกจุดหนึ่งที่นำมาใช้ประโยชน์นอกเหนือจากการนำเสนอคือใช้เรียบเรียงความคิดครับ บางวันมีงานต้องทำมาก งานเล็กงานน้อยจุกจิกเยอะไปหมด ใช้เทคนิคที่แสดงในหนังสือเล่มนี้ช่วยให้จัดลำดับความสำคัญของงานได้ดีมาก ๆ ที่ยังไม่ได้ลองคือใช้ควบคุมการประชุมได้ด้วย!

ถ้าจะมีข้อเสีย ก็นับว่าเล็กน้อยคือ ผู้เขียนบรรยายเยิ่นเย้อไปสักหน่อย แต่ถ้ามองว่ามันเป็นหนังสือแนว How-To เขียนละเอียดก็ครอบคลุมผู้อ่านได้ทุกระดับก็พอจะมองข้ามจุดนี้ไปได้ ราคาหนังสือ 175 บาท สำหรับผมที่นำเทคนิคมาใช้ประโยชน์ได้จริง ๆ ก็ถือว่าเป็นค่าวิชา นับว่าคุ้มครับ

วันจันทร์, มกราคม 25, 2559

ปีแห่งการฝึกสมาธิ

ปีที่แล้วทั้งปีไม่ได้เขียนบันทึกเลย

ส่วนหนึ่งคือต้องรับผิดชอบงานประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งตลกมากเพราะปริมาณงานประกันฯ เยอะและซับซ้อนสับสนจนกระทั่งต้องขอเลื่อนการสอนรายวิชาหนึ่งออกไป 1 ภาคการศึกษา

พูดสั้น ๆ ว่ามาทำการประกันว่านักศึกษาจะได้รับคุณภาพงานสอนที่ดีจนกระทั่งไม่ได้สอนนั่นแหละ (ฮาไม่ออก)

บางคนที่เห็นชอบกับงานประกันก็อาจแปลกใจว่ามันไม่น่าจะยากขนาดนั้น อืม...เอางี้นะ สมมติว่ามันไม่ยากจริง ๆ นั่นแหละ แต่ผมไม่เก่งไง แล้วคนเก่ง ๆ เขาก็ไม่มาทำหรอก งานแบบนี้น่ะ เรื่องประกันนี่อยากจะเขียนต่างหากไว้เมื่อความคิดตกตะกอนกว่านี้อีกสักหน่อย

อีกส่วนหนึ่งคือปีที่แล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ได้มีโอกาสไปเป็นนักศึกษาในหลักสูตรครูสมาธิของสถาบันพลังจิตตานุภาพ สาขา 78 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในรุ่นที่ 36 ชื่อรุ่นว่าฉัตติงสโม โชติกาล (ยุคที่รุ่งเรือง)

สาเหตุที่ทำให้ไปสมัครเรียนก็คือ ผมรู้คุณประโยชน์ของสมาธิมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนตัวน้อย ๆ แล้ว แต่ไม่เคยฝึก ไม่เคยปฏิบัติ นาน ๆ เข้าวัดสักทีก็แค่ทำบุญใส่ซอง ถ้านั่งสมาธิเองก็นั่งแบบงู ๆ ปลา ๆ ไม่มีหลัก ในช่วงชีวิตการทำงานที่ผ่านมาก็ตั้งใจมาตลอดว่าอยากจะไปวัด ไปฝึก ไปเรียน ไปหัดให้มันเป็น มันจะได้รู้ว่าเป็นยังไงและจะได้ไม่รู้สึกเสียชาติเกิดว่าเป็นชาวพุทธทั้งที ทำสมาธิไม่เป็น

ทุกครั้งที่จะไปวัดก็กลัว กลัวคุยกับพระผิด กลัวจะทำอะไรเปิ่น ๆ กลัวทำผิดแล้วจะบาป บางทีก็ไม่มีเวลา แต่ช่วงต้นปีที่แล้วตอนที่เห็นประกาศรับสมัครของสถาบันนั้น ใจก็คิดเลยว่า
"นี่ครูบาอาจารย์เขามาถึงที่แล้ว อำนวยความสะดวกให้ขนาดนี้ ถ้าไม่ไปเรียนอีกต่อไปก็ไม่ต้องพูดแล้วว่าอยากเรียน แต่เรียนไม่ได้เพราะติดนั่นติดนี่"
แม้จะเรียกชื่อหลักสูตรว่าครูสมาธิ แต่คนสำคัญที่สุดที่เราต้องสอนเขาก็คือตัวเอง พูดง่าย ๆ ว่าเรียนไปเพื่อเป็นครูของตัวเองนั่นแหละ สำหรับการเรียนสมาธิที่สาขา 78 จะเป็นการเรียนในวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 18:00 - 20:30 น. ซึ่งเหมาะกับคนทำงานกินเงินเดือนอย่างเรามาก ๆ การเรียนจะใช้เวลาราว 4-5 เดือน

การเรียนสมาธิใช้เวลาก็จริง แต่เวลาที่เอาไปใช้นั้นเป็นเวลาที่ไม่รบกวนหน้าที่หลักของเราจริง ๆ เท่าไร ไม่ว่าจะเป็นในฐานะลูก ในฐานะสามี ในฐานะอาจารย์ เช่นเวลาที่มาเขียน Blog เวลาทำงานพิเศษ เวลาทำงานอดิเรก เวลาดูหนังซีรีส์ตอนเย็น ซึ่งหายไปก็ไม่เดือดร้อน

ช่วงที่เรียนอยู่นั้นจึงให้โอกาสตนเองได้ฝึกจิตอย่างเต็มที่

เมื่อจบหลักสูตรแล้วก็ได้อาสาช่วยงานของสถาบันต่อไปอีกระยะหนึ่ง เท่ากับว่าให้โอกาสตนเองได้ตอบแทนพระคุณครูบาอาจารย์โดยการช่วยงานท่าน ได้ฟังท่านสอนและก็ได้โอกาสฝึกสมาธิเพิ่มเติมไปในตัวด้วย ก็เป็นเหตุให้ไม่ได้บันทึก Blog ไว้เลยทั้งปี

เรียนแล้วได้อะไร?

บางคนคิดว่าเรียนสมาธิแล้วต้องกลายเป็นชาววัด ต้องบรรลุธรรม ต้องทิ้งการทิ้งงาน อันที่จริงก็ไม่ใช่ ผมเองเรียนจบแล้วก็ยังเป็นชาวบ้านแค่ใกล้วัดเข้ามาอีกหน่อยเท่านั้น ยังไม่บรรลุธรรมแหง ๆ แต่ทุกครั้งที่ทำสมาธิก็คือว่าได้สร้างปัจจัยที่จะช่วยให้บรรลุธรรมสะสมไว้ (เรียกว่าหยอดกระปุก) ไม่ทิ้งการทิ้งงาน แต่รู้จักบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเองดีขึ้น (ทำให้มีทุกข์น้อยลงด้วย)

ที่ดีที่สุดสำหรับผมก็คือจากคนที่นั่งสมาธิไม่เป็น นั่งไม่ได้ นั่งแล้วจะเหน็บกิน ตอนนี้ก็ไม่กินแล้ว แต่ก่อนนั่งแล้วจะกระสับกระส่ายตอนนี้ก็อยู่นิ่ง ๆ ได้เป็นนานสองนาน ตอนนี้ก็เริ่มรู้สึกว่าการนั่งสมาธิเป็นการพักผ่อนอย่างหนึ่งไปแล้ว เป็นสิ่งที่ทำได้ทุกวันเหมือนการกินข้าว การอาบน้ำ การนอนหลับพักผ่อน ไม่ใช่เฉพาะวันที่จะเข้าวัดหรือเฉพาะวันพระเท่านั้น

ที่สำคัญคือสังเกตได้ว่าจิตใจมั่นคงดีขึ้นพอสมควร แม้เรื่องประกันคุณภาพการศึกษาและเรื่องอื่น ๆ จะรบกวนชีวิตอยู่มากเหมือนเดิม แต่ก็รบกวนจิตใจเราได้น้อยลง ทำให้รู้สึกว่าต้องบ่นน้อยลง รำคาญตัวเองน้อยลง แค่เท่าที่ได้ในปัจจุบันชาตินี้ก็คุ้มแล้ว

หากท่านใดได้อ่านบันทึกนี้แล้วเกิดความสนใจว่าหลักสูตรครูสมาธิของสถาบันพลังจิตตานุภาพสอนอะไร ขอให้ไปลองเรียนด้วยตนเองจะดีที่สุด เพราะเล่าไปบางคนก็จะคาดหวังไปเปะปะ ความวิเศษของหลักสูตรนี้อยู่ที่ความธรรมดาของมันนั่นแหละ มันไม่มีอะไรพิสดารหรอก แต่มันได้ผล อย่างน้อยก็กับผมและเพื่อนร่วมรุ่นทุกคน

ถ้าใครจะไปผมก็ขออนุโมทนาด้วยครับ - สวัสดี

วันพุธ, กุมภาพันธ์ 19, 2557

ความชั่วร้ายทั้งหลายล้วนมีรากฐานจากความไม่รับผิดชอบ

ผมสอนหนังสือมาเกือบจะสิบปีแล้ว เท่าที่สอนมาก็ไม่เคยพบว่ามีนักศึกษาคนใดโง่ แม้ผลการเรียนจะแตกต่างกันไปตั้งแต่ A ยัน F แต่คนที่ได้ F ก็ไม่ใช่คนโง่

การได้ F อาจมีเหตุปัจจัยได้หลายเหตุ แต่เหตุหนึ่งที่มักจะละเลยกันก็คือการขาดความรับผิดชอบต่อตนเอง บางคนได้ F เพราะไม่เข้าเรียนก็เลยหมดสิทธิ์สอบ บางคนได้ F เพราะไม่ได้มาสอบ ลืมวันสอบ บางคนได้ F เพราะไม่ทำการบ้านด้วยตนเอง (ข้อสอบมันก็มาจากการบ้านนั่นแหละ)

================================================

ในอีกทางหนึ่ง ในชีวิตผมเองก็ไม่เคยพบปะกับคนที่เลวจากกมลสันดาน หมายถึงเลวแบบไม่มีเหตุผล ทุกคนก็ล้วนต้องคิดว่าตนเองเป็นคนดีกันทั้งนั้น เป็นเรื่องปกติจริง ๆ ที่ทุก ๆ คนจะคิดว่าตนเองเป็นคนดี คำถามมีอยู่ว่าถ้าทุกคนคิดว่าตนเองเป็นคนดีแล้ว คนเลวอยู่ที่ไหนกัน? ความขัดแย้งเกิดขึ้นได้อย่างไรกัน? คนเราจะทะเลาะไปทำไมกัน?

หลังจากที่อยู่ระหว่างความขัดแย้งทางความคิดอย่างรุนแรงของคนในสังคมมาได้สักพัก ได้เห็น ได้อ่าน ได้ทำความเข้าใจความคิดของเพื่อนหลาย ๆ สี ก็เกิดการตกผลึกทางความคิดขึ้นมาอย่างหนึ่งว่า

เอาเข้าจริงแล้ว คนเลวทั้งหลายอาจจะไม่มีอยู่จริงหรอก มีก็เพียงคนที่รับผิดชอบ กับคนที่ไม่รับผิดชอบเท่านั้น เพราะความ (ต้อง) รับผิดชอบต่อการกระทำใด ๆ ของตน ก็จะทำให้เกิดความอายในสิ่งที่ทำถ้ามีคนรู้ว่าเรา ก็จะทำให้เกิดความกลัวต่อโทษเนื่องจากสิ่งที่เราทำ เรียกว่าทำให้เกิดหิริโอตัปปะ

จึงพอสังเกตได้ว่าคนที่เราคิดว่าเขาไม่ดี ลึก ๆ แล้วเขาอาจไม่ใช่คนไม่ดีอะไร เพียงแต่เขาไม่แสดงความรับผิดชอบในบทบาทของตัวเองตามที่เราคาดหวัง เพื่อนต่างสีกัน เห็นต่างกัน เพราะคาดหวังต่างกัน ต่างฝ่ายต่างคิดว่าคนของฝ่ายตนรับผิดชอบดีแล้ว และคาดหวังให้อีกฝ่ายรับผิดชอบอย่างที่ตนคาดหวัง แต่ต่างคนก็ต่างคาดหวังไปคนละอย่าง

แทนที่จะเถียงกันเรื่องคนดี/คนไม่ดี ซึ่งตัดสินได้ยาก เราน่าจะมาคุยกันเรื่องความรับผิดชอบดีกว่า น่าจะหาจุดที่เห็นตรงกันได้ง่ายกว่า

================================================

ถ้าคน ๆ หนึ่งถูกตัดวงจรความรับผิดชอบของตนเองออกไปจากการกระทำทั้งหลายของตนแล้ว จะคาดหวังให้คน ๆ นั้นกระทำสิ่งใด ๆ โดยมีหิริโอตัปปะกำกับนั้นเป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง

อันว่าการแสดงความรับผิดชอบของคนหนึ่ง ๆ นั้น จะถูกเคี่ยวกรำให้เติบโตขึ้นตามขั้นตอนธรรมชาติของภารกิจที่ได้รับมอบหมาย จากงานเล็ก ๆ ไปสู่งานที่ใหญ่กว่า คนที่กระโดดไปรับงานใหญ่ ๆ เลยจะพัฒนาสำนึกความรับผิดชอบได้ไม่ทัน ก็จะแสดงความรับผิดชอบที่เหมาะสมออกมาไม่ได้ อนึ่งควรบันทึกไว้ด้วยว่าการเติบโตของสำนึกรับผิดชอบของแต่ละคนมีอัตราไม่เท่ากัน ที่เรียกว่าคนเก่ง แท้จริงแล้วสำนึกความรับผิดชอบเขาเติบโตเร็วกว่า ที่เรียกว่าไม่เก่ง แท้จริงแล้วสำนึกความรับผิดชอบเขาเติบโตช้ากว่าเท่านั้น

การไม่รับผิดชอบก็มีหลายแบบ คือ
  1. ไม่รู้ว่าต้องรับผิดชอบ (ไม่รู้หน้าที่)
  2. ไม่รู้ว่าจะรับผิดชอบอย่างไร (ไม่รู้วิธี)
  3. ไม่ต้องการรับผิดชอบ (ไม่รู้สำนึก)

สังเกตดูคนที่ไม่อยากรับผิดชอบ แต่อยากใหญ่ พวกนี้จะไม่ค่อย ๆ พัฒนาสำนึกความรับผิดชอบของตนขึ้นมาจากงาน จะด้วยความด้อยสามารถหรือจะด้วยความขี้เกียจก็แล้วแต่ เส้นทางที่จะเติบโตขึ้นของคนเหล่านี้อาจจะมาจากเส้นสาย อาจจะมาจากการสร้างภาพ หรืออื่น ๆ แต่เราจะดูคนพวกนี้ออกก็ตอนที่เกิดวิกฤติในงาน

คนที่พัฒนาสำนึกความรับผิดชอบมาตามปกติก็จะแสดงความรับผิดชอบตามความเหมาะควรออกมาได้ และด้วยความเข้าใจของเขาว่าทุกสิ่งที่เขาทำ เขาก็ต้องรับผิดชอบ ทำให้เขาทำไม่ดีได้ยาก

ส่วนคนที่พัฒนาการของสำนึกความรับผิดชอบ โตไม่ทันกับงานที่รับผิดชอบ ก็จะสามารถทำอะไรแปลก ๆ ได้หลายอย่าง เพราะไม่ได้คิดไว้ว่าตนเองต้องรับผิดชอบอะไร หรือไม่คิดว่าสิ่งที่ตนทำจะส่งผล ดี/เสียหาย มากน้อยขนาดไหน ก็จะไม่ได้แสดงความรับผิดชอบที่เหมาะควรขึ้นมา

================================================

จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คนในสังคมที่มีศักยภาพจริง จะปล่อยให้คนที่ขาดศักยภาพเติบโตขึ้นไปรับผิดชอบงานสำคัญของสังคมไม่ได้ เพราะคนพวกนี้รับผิดชอบไม่ได้และทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาทำ ก็จะกระทบคนในสังคมทั้งหมด

สุดท้ายแล้ว การที่เราปล่อยให้คนที่ไม่เก่ง ไม่พร้อม ไม่รู้ ขึ้นไปรับผิดชอบงานสำคัญ ๆ ของสังคมที่เราอยู่ได้ไม่ว่าระดับไหนก็ตาม ก็ถือว่าเป็นความไม่รับผิดชอบต่อสังคมของเราเองเช่นกัน

และพวกเราก็ล้วนต้องรับผลของความไม่รับผิดชอบนั้นทั่วกันทุกคน

วันเสาร์, พฤษภาคม 25, 2556

คนมีการศึกษาต้องเรียนจบชั้นไหน?

มีคนถาม อ. วิระยา ว่า คนที่เรียกว่ามีการศึกษาต้องจบชั้นไหน?

เป็นคำถามที่ดีมาก ๆ เพราะเวลาพูดกันเรื่องนี้ถ้าไม่นิยามกันให้ชัด ๆ ว่าขอบเขตอยู่ตรงไหนกันแน่ คุยกันไปมากลายเป็นการดูหมิ่นคนจบน้อย คนละเรื่องกันไปคุยกันไม่ได้ใจความ

อ. วิริยา ท่านก็มีคำตอบของท่านว่า
แฟนเพจถามมา คนมีการศึกษา นั้นต้องจบชั้นอะไร............
คนมีการศึกษา สำหรับผม คือ.........
คนที่ ใช้เหตุผล มากกว่าใช้กำลัง
นิยมการ รับฟังและหาทางออกที่ดี มากกว่า การใช้อำนาจบังคับ
รู้สึกรังเกียจ ต่อการละเมิดกฏหมาย
อายต่อการเอาเปรียบผู้อื่น
เรียนอะไร จบชั้นไหน ผมก็นับว่าเป็นผู้มีการศึกษา ครับ
ก็เป็นคำตอบที่ผมยอมรับได้ ผมเองก็มีความเห็นคล้าย ๆ กัน แต่ว่าเขียนให้อยู่ในอีกรูปแบบหนึ่งได้ว่า ก็คือมันไม่สำคัญหรอกว่าจะเรียนจบชั้นไหน แต่ต้องไม่มีคุณสมบัติของผู้ไร้การศึกษาดังต่อไปนี้

เป็นคนหูเบา

คนหูเบามีคนบอกอะไรมาก็เชื่อไปหมด ผมเองยึดหลัก "ไม่ได้เห็นกับตา ไม่ได้ยินกับหู ยังไม่ปักใจเชื่อ" ผมขีดเส้นใต้คำว่า ไม่ปักใจเชื่อ เพราะไม่ได้แนะนำว่าห้ามเชื่อ แต่ก่อนจะเชื่อจะต้องใตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน การใตร่ตรองให้รอบคอบก่อนที่จะปักใจเป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งของผู้มีการศึกษา

อคติแรงจัด

อคติมี 4 ประเภทคือ
  • ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรัก หากมีฉันทาคติกับใครมาก เวลาคน ๆ นั้นพูดอะไรก็มักจะเชื่อเขาง่าย ๆ ปิดประตูที่จะได้รับข้อมูลจากมุมอื่น ๆ
  • โทสาคติ ลำเอียงเพราะเกลียด หากเกลียดใครมาก เวลาคน ๆ นั้นพูดอะไรก็จะไม่ฟัง ไม่เอามาคิด ปิดประตูที่จะได้รับทราบข้อมูลจากมุมอื่น ๆ ยิ่งคนอยู่ในสังคมแบ่งฝักแบ่งฝ่าย หากชอบพอกับคนหนึ่ง ก็มักจะต้องเกลียดอีกคนหนึ่งไปด้วยเสมอ อคติทั้ง 2 นี้ก็เลยมักจะโผล่มาพร้อม ๆ กัน
  • โมหาคติ ลำเอียงเพราะโง่ หลงงมงายกับเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล เช่นงมงายกับลัทธิ แนวปฏิบัติ บางอย่างโดยปราศจากการคิดอย่างถี่ถ้วน ผมเคยเห็นว่าอาการแบบนี้ คนจบสูง ๆ บางคนก็เป็น คือไปเจอเครื่องไม้เครื่องมือ หรือวิธีการ หรือกระบวนการที่ตนเองประทับใจ ก็ปักใจคิดว่าเครื่องไม้เครื่องมือแบบนี้ วิธีการแบบนี้ กระบวนการแบบนี้ เท่านั้น คือคำตอบสุดท้ายของทุกเรื่อง ทำให้การตัดสินใจผิดพลาด
  • ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว กลัวอำนาจเหนือกว่าเลยสยบยอมแบบราบคาบ กลัวคนว่าไม่รู้เลยทำเป็นรู้ ออกแนว ๆ พระราชาสวมผ้าทิพย์ โดนหลอกเอาง่าย ๆ
ผมไม่ได้ว่าคนจะต้องปราศจากอคติ อันที่จริงถ้ามองจากมุมมองในระดับอุดมคติแล้วเราก็อยากให้ทุก ๆ คนปราศจากอคติ แต่มันเป็นไปได้ยากและถ้าเป็นได้จริงโลกนี้คงไม่มีความวุ่นวายแล้ว แต่เพราะเรากำลังคุยกันเรื่องปุถุชนจึงเรียกร้องเพียงแค่ให้รู้ทันอคติของตนเอง อคติจะได้ไม่แรงจัดเท่านั้น

คนที่มีอคติแรงจัดทำให้การคิดใคร่ครวญไม่ถี่ถ้วนรอบคอบ ปักใจเชื่ออะไรง่าย ๆ ทำให้การตัดสินใจผิดพลาด ถ้ายังไม่ตระหนักว่าตนมีอคติ 4 อยู่ รู้ไม่ทันอคติของตนเองและไม่พยายามลดอคติทั้ง 4 ลงให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่ระดับของตนจะทำได้ก็นับได้ว่ายังไม่มีการศึกษา

ไม่มีเหตุไม่มีผล

ไม่มีการเรียบเรียงความคิดจากเหตุไปหาผล ดังนั้นจึงไม่สามารถทำความเข้าใจเหตุผลได้ และคนดี ๆ ก็ไม่สามารถคุยด้วยโดยใช้เหตุผลได้ ความมีเหตุมีผลนี้ต้องอยู่กับโลกของความเป็นจริง การเป็นเหตุเป็นผลในโลกอื่น ๆ เช่น เกม การ์ตูน นิยาย ไม่นับ ความไม่มีเหตุผลแบบหนึ่งที่พบบ่อยในหมู่คนไร้การศึกษาก็คือการคิดเข้าข้างตนเอง ทำให้เกิดความไม่รอบคอบ และสร้างปัญหานานาประการให้กับชีวิตของตนเอง

ไม่รับผิดชอบ

คืออาจเป็นเพราะไม่เข้าใจถึงผลของการกระทำอย่างถ่องแท้ จึงไม่รู้สึกว่าต้องรับผิดชอบต่อการกระทำนั้น ๆ ความไม่รับผิดชอบอาจแสดงออกมาได้หลายทาง เช่นชุ่ย มักง่าย ไม่รอบคอบ คิดทางเดียว (คือไม่มีการคิดเผื่อความผิดพลาด) หรือที่เลวร้ายที่สุดก็คือไม่ขวนขวายใส่ใจทำแม้แต่งานของตนเอง รวมทั้งหมดลงได้ที่ความไม่รับผิดชอบทั้งสิ้น

หากบุคคลใดก็ตาม
  1. หูเบา
  2. อคติจัด
  3. ไม่มีเหตุผล
  4. ขาดความรับผิดชอบ
ถึงจะเสียเวลาเล่าเรียนไปหลายปีก็น่าเสียดายว่าเวลาเหล่านั้นสูญเปล่า เพราะเป้าหมายของการศึกษาทุกระดับคือให้บุคคล
  1. ไม่ปักใจเชื่ออะไรง่าย
  2. วินิจฉัยสิ่งต่าง ๆ โดยปราศจากอคติ
  3. มีเหตุมีผล และ
  4. มีความรับผิดชอบในงาน
หากแม้ไม่เคยเข้าโรงเรียนเลย แต่ได้เรียนรู้จากโลกจนกระทั่งมีคุณสมบัติทั้ง 4 ข้อที่กล่าวมานี้ ก็นับได้ว่าเป็นผู้มีการศึกษาอย่างแท้จริง และจะไม่สร้างปัญหาให้กับชีวิตของตนเองเกินว่าที่มันจะมีโดยธรรมชาติของชีวิต

ทั้ง 4 ข้อเป็นส่วนเสริมซึ่งกันและกันได้อย่างดี นั่นคือ คนที่รับผิดชอบต่อตนเองก็จะรอบคอบ คนที่รอบคอบ ย่อมไม่หูเบา เมื่อไม่หูเบาย่อมมีอคติน้อย เมื่อมีอคติน้อยก็มีเหตุผลมาก เมื่อมีเหตุผลมากก็จะรู้ว่าต้องรับผิดชอบ เมื่อรับผิดชอบก็รอบคอบ...

ในทางกลับกัน คนที่ไม่รับผิดชอบต่อตนเองย่อมไม่รอบคอบ คนที่ไม่รอบคอบย่อมหูเบา เมื่อหูเบาอคติก็เข้ามาได้ง่าย เมื่อมีอคติจัดย่อมกลายเป็นคนไร้เหตุผล เมื่อขาดเหตุผลก็ไม่รับผิดชอบ เมื่อไม่รับผิดชอบก็ไม่รอบคอบ...

เกณฑ์ 4 ข้อที่กล่าวมานี้ไม่เกี่ยวกับการเป็นคนดีหรือคนไม่ดี เพราะเราสามารถจินตนาการถึงคนที่มีคุณสมบัติของผู้มีการศึกษา 4 ข้อนี้ครบ แต่เอารัดเอาเปรียบคนอื่นได้

ผมเห็นต่างจาก อ. วิริยา ตรงที่ผมไม่คิดว่าเราจะเรียกคนเอารัดเอาเปรียบคนอื่นว่าไร้การศึกษา (แม้ว่าคนทำชั่วล้วนโง่ก็ตาม) เราเรียกคนพวกนี้ว่าคนชั่ว หรือคนไม่ดี ไม่น่าจะเรียกว่าเป็นคนไร้การศึกษาให้สับสนกัน เพราะปัญหาคนไร้การศึกษาแก้ได้ด้วยคุณธรรมชุดหนึ่ง ส่วนปัญหาคนชั่วต้องแก้ด้วยคุณธรรมอีกชุดหนึ่ง หากเอามาปนกันเวลาแก้ปัญหามันจะยุ่ง

ผมพบว่าการได้คิดในเรื่องเช่นนี้สนุกและมีประโยชน์มากทีเดียว หวังว่าข้อสรุปความคิดนี้คงจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน ขอขอบคุณผู้ตั้งคำถามด้วยใจจริงที่เปิดโอกาสให้มีโอกาสคิดในเรื่องนี้ ผมเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองต่อไปอย่างแน่นอน

[แก้ไข]

ผมขยายความจากหัวข้อรอบคอบให้กลายเป็นรับผิดชอบ เพราะรับผิดชอบกินความครอบคลุมมากกว่า

วันจันทร์, มกราคม 14, 2556

เส้นทางแห่งการปรองดอง

ช่วงสัปดาห์นี้ได้มีโอกาสไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุที่มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น ทำให้จิตใจมันน้อมเข้าสู่คำสอนของพระพุทธเจ้ามากกว่าปกติจนถึงขั้นขวนขวายไปหาธรรมบรรยายมาฟัง

ระหว่างที่ค้นหาก็ได้พบบรรยายธรรมเกี่ยวกับพระสูตรอยู่ 2 บทคือ การบรรยายธรรมเรื่องสาราณียธรรมสูตร และ การบรรยายธรรมเรื่องสิงคาลกสูตร เนื้อหาก็มีเยอะแต่ที่จับได้ตามกำลังสติ ปัญญา และสมาธิ ก็คือพระสูตรแรกว่าด้วยเรื่องความสามัคคี และพระสูตรหลังว่าด้วยธรรมะสำหรับฆราวาส ฟังแล้วก็ได้คิดว่าถ้านำไปใช้ในเรื่องการเมือง ประเทศไทยคงสงบสุขเร็วขึ้น

ในบรรยายธรรมเรื่องสาราณียธรรมสูตรนั้นท่านว่าเหตุแห่งความสามัคคีนั้นก็คือ
  1. บุคคลในหมู่คณะต้องมีศีลเสมอกัน ท่านขยายความว่าทุกคนต้องมีสิทธิ์เท่า ๆ กันตามสมควรแห่งฐานานุรูป
  2. อีกข้อหนึ่งก็คือบุคคลในหมู่คณะต้องมีทิฏฐิเสมอกัน จากที่ท่านขยายความผมก็เข้าใจว่าคล้าย ๆ อุดมการณ์เดียวกันนั่นแหละ คือหวังผลปลายทางไว้อย่างเดียวกัน
ถ้าอย่างนั้นเหตุแห่งการแตกสามัคคีก็ตรงกันข้ามก็คือ
  1. ศีลไม่เสมอกัน คือคนกลุ่มหนึ่งได้รับข้อยกเว้นบางอย่าง คนอีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้รับข้อยกเว้นโดยไม่มีเหตุแห่งการยกเว้น คนกลุ่มหนึ่งมีสิทธิบางอย่างเหนือกว่าคนอีกกลุ่มหนึ่งโดยไม่มีเหตุแห่งการมีอภิสิทธิ์ หรือเหตุดังกล่าวไม่สมเหตุสมผล ก็เรียกว่าศีลไม่เสมอกัน การระงับเหตุแห่งการมีศีลไม่เสมอกันในระดับประเทศก็คือการบังคับใช้กฏหมายต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
  2. ทิฏฐิไม่เสมอกัน คือมีความเห็นในด้านอุดมคติเป้าหมายปลายทางที่แตกต่างกันมาก
อันที่จริงเรื่องนี้ก็มีข้อโต้แย้งอยู่เหมือนกัน คือในส่วนของกฏหมายที่ให้บังคับใช้ต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกันนั้น เอาเข้าจริงก็ไม่สามารถทำให้ทุกคนเท่ากันได้เป๊ะ ๆ เอาง่าย ๆ ว่าคนรายได้มากก็ต้องเสียภาษีในสัดส่วนที่สูงกว่าคนที่มีรายได้น้อย คนที่มีรายได้น้อยมาก ๆ ก็ได้รับสิทธิ์ไม่ต้องเสียภาษี

เรื่องนี้คงต้องทำความเข้าใจกันจริง ๆ จัง ๆ ว่าคำว่าภายใต้กฏหมายเท่าเทียมกันนั้น มันไม่ต้องเท่ากันเป๊ะ ๆ ทุกคน เรียกว่าให้เสมอกันตามฐานานุรูปก็น่าจะได้ ทั้งนี้เพราะแต่ละคนก็ล้วนมีบทบาทหน้าที่ต่าง ๆ กัน แม้แต่ในโรงเรียน นักเรียนคุยในห้องเรียนก็ถูกตัดคะแนน ครูคุยในห้องเรียนก็ไม่มีคะแนนจะตัด แต่มีโทษอย่างอื่นแทน เช่นถูกครูใหญ่ตำหนิ ตักเตือน ตัดเงินเดือน ฯลฯ นี้แสดงให้เห็นว่า สิทธิเท่าเทียมมันไม่ได้เท่ากันเป๊ะ ๆ แบบเหมือนกันทุกประการ แต่มันจะมีหลักการอันสมเหตุสมผลรองรับให้เหมาะให้ควรแก่บทบาทหน้าที่ของแต่ละคน

การยกให้ใครเหนือกฏหมายโดยสิ้นเชิงหรือการพยายามกดให้ทุกคนอยู่ในกฏแบบเท่ากันเป๊ะ ๆ ผมจึงคิดว่าเป็นเรื่องผิดธรรมชาติและเป็นเหตุแห่งความแตกแยกเอามาก ๆ

อีกประเด็นที่ว่าทิฏฐิควรเสมอกัน ที่ผมแปลว่าอุดมการณ์ไปในทางเดียวกันก็มีข้อโต้แย้งได้ว่า คนเราจะคิดเหมือนกันได้อย่างไร หรือที่ร้ายกว่าคือจะไปควบคุมให้ทุก ๆ คนคิดเหมือนกันได้อย่างไร

ผมคิดว่าภายใต้ความแตกต่างกันในทางการเมืองนั้น ทุกคน (ควรจะ) มีอุดมการณ์ปลายทางอย่างเดียวกัน ก็คือความสุขความเจริญของประเทศชาติ (ชาติก็คือประชาชน) ความสงบสันติ ไม่ว่าจะเชื่อลัทธิการเมืองแบบใดก็ควรมีความคาดหวังเช่นนี้ไว้เป็นปลายทาง ถ้าเรามองเรื่องนี้ให้ชัด ๆ เราก็ควรจะเห็นได้ว่าทุกคนในประเทศ (ที่เป็นปรกติ) น่าจะถือได้ว่ามีทิฏฐิเสมอกันทั้งนั้น แต่จะไปยึดติดแบ่งเขาแบ่งเราด้วยหลักอุดมการณ์ที่ตื้นกว่าอยู่หรือเปล่า

ถ้าเมื่อใดก็ตามที่เรามีการโต้แย้งกันทางการเมือง ทางสังคม แล้วเราย้อนกลับมาคิดถึงศีลเสมอกัน และทิฏฐิเสมอกัน เราก็สามารถที่จะถกเถียงได้อย่างสร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ ความเกลียดชังกัน การเหน็บแนมเสียดสีกันก็น่าจะลดลง

การโต้แย้งใดที่ไม่เอื้อต่อการทำความเข้าใจกัน โดยอาศัยสองหลักที่ว่าข้างต้น ก็น่าที่จะถูกตั้งคำถามจากประชาชนว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องหรือไม่

การสร้างสรรค์สังคมที่จะตระหนักถึงการทำให้ศีลเสมอกันและทิฏฐิเสมอกันได้นั้น บุคคล 2 กลุ่มเป็นอย่างน้อยควรตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนเองที่จะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม นั่นก็คือ
  1. นักวิชาการและ
  2. สื่อสารมวลชน
ผมเองคาดหวังว่านักวิชาการควรชี้ทางสว่างให้แก่สังคมได้ และสื่อสารมวลชนควรให้การศึกษาแก่ประชาชนได้ นอกจากนี้สื่อสารมวลชนยังต้องรับภาระด้านการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่สังคมอีกด้วย ในบรรยายธรรมเรื่องสิงคาลกสูตรท่านก็พูดถึงคุณธรรมอันสำคัญข้อหนึ่งคือการปราศจากอคติ 4 ผมคิดว่าคนสองกลุ่มนี้ควรอย่างยิ่งที่จะต้องปราศจากอคติ 4 คือความลำเอียง 4 ประการซึ่งประกอบด้วย
  1. ฉันทาคติ คือลำเอียงเพราะชอบ
  2. โทสาคติ คือลำเอียงเพราะชัง
  3. โมหาคติ คือลำเอียงเพราะหลง
  4. ภยาคติ คือลำเอียงเพราะกลัว
ถ้านักวิชาการและสื่อสารมวลชนของประเทศไทยไม่สามารถสลัดอคติ 4 ออกไปได้ มัวแต่สร้างหลักการ ให้ความเห็น เสนอข่าว ปลุกระดม กันด้วยอคติ 4 แล้วภาวะที่ศีลจะเสมอกัน ทิฏฐิจะเสมอกันได้มันก็ไม่เกิด ถ้าสภาพความเสมอกันนี้ไม่เกิดขึ้น สามัคคีมันก็ไม่เกิด ความสุขความเจริญในประเทศชาติมันก็ไม่เกิด

หากการแสดงหลักการ แสดงความเห็น เสนอข่าวและข้อมูลต่าง ๆ กระทำกันแบบตรงไปตรงมาโดยปราศจากอคติ 4 ประชาชนก็จะได้เรียนรู้ และเมื่อประชาชนได้เรียนรู้ก็จะเกิดความเข้าใจในสภาพศีลเสมอกัน ทิฏฐิเสมอกัน เมื่อเข้าใจและปฏิบัติได้ สามัคคีก็เกิด ความเจริญก้าวหน้าก็เกิด

ผมคิดว่าเราไม่ต้องไปหวังอะไรจากนักการเมือง เจ้าลัทธิ นักปลุกระดม แต่เราควรคาดหวังได้จากนักวิชาการและสื่อสารมวลชนธรรมดา ๆ นี่แหละ ถ้าเราคาดหวังอะไรจากนักวิชาการและสื่อสารมวลชนไม่ได้ ไม่ว่าหลักการสวยหรูใด ๆ ก็ไม่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์อันใดแก่ประเทศไทย ประชาชนชาวไทย และสังคมไทยทั้งสิ้น

ถ้าพวกเราจะรู้ทันนักการเมือง เจ้าลัทธิ และนักปลุกระดมได้ ประเทศไทยน่าจะเจริญกว่านี้ สงบสุขกว่านี้ และน่าอยู่กว่านี้มากทีเดียว

อ้างอิง
บรรยายธรรมที่ผมได้รับฟังนี้เป็นบรรยายธรรมเรื่องพระสูตรของท่านพระธรรมเมธาภรณ์ (ระแบบ ฐิตญาโณ) เป็นพระสูตรแผ่นที่หนึ่ง ลำดับที่ 2 และลำดับที่ 14 - 17 ตามลำดับ

วันอาทิตย์, มกราคม 06, 2556

คำถามที่ตรรก (เท่าที่ผมมีปัญญาอยู่) ตอบไม่ได้

คำถามที่ตรรก (เท่าที่ผมมีปัญญาอยู่) ตอบไม่ได้มีดังต่อไปนี้
  1. ภาษาที่มีคนใช้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เรียกว่าภาษามีชีวิต แล้วทำไมต้องเคร่งครัดกับการเขียนภาษาไทยให้ถูกต้องด้วย
  2. มนุษยชาติใหญ่กว่าชาติ และความคลั่งชาติก็สร้างปัญหาให้มนุษยชาติมากมาย ทำไมต้องรักชาติของตนมากกว่าชาติอื่น ๆ ด้วย
  3. มารยาทเป็นเพียงการแสดงออก บอกไม่ได้ด้วยซ้ำว่าจริงใจหรือไม่ ทำไมต้องมีมารยาทด้วย
  4. ความดี-ความชั่ว เป็นเรื่องสัมพัทธ์ จะดีหรือชั่วขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ ณ ขณะนั้น ๆ สถานที่นั้น ๆ มันไม่ได้มีอยู่จริง แล้วทำไมจะต้องไปใส่ใจมากมายกับ ความดี-ความชั่ว โดยเฉพาะยิ่งกับสิ่งที่เรียกว่า จริยธรรม-ศีลธรรม ยิ่งน่าสงสัยด้วยซ้ำไปว่ามันคืออะไร มีจริงหรือไม่
  5. การเลี้ยงดูบุตรของพ่อแม่ การสั่งสอนศิษย์ของครูอาจารย์ การช่วยชีวิตคนของหมอ ทหาร ตำรวจ อาสาสมัคร ล้วนเป็นการทำงานในหน้าที่ตามปกติ ทำไมต้องเป็นบุญคุณกัน ทำไมต้องมีความกตัญญูเป็นคุณธรรมด้วย
  6. คน ๆ หนึ่งทำให้สิ่งของของอีกคนหนึ่งเสียหายโดยไม่ได้ตั้งใจ ยินดีรับผิดชอบความเสียหายทั้งหมด แต่ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องก้มหัวเอ่ยคำขอโทษ ในเมื่อไม่ได้เจตนา ในเมื่อยินดีรับผิดชอบความเสียหาย ทำไมต้องขอโทษด้วย
  7. การซื้อขายประเวณี หากเป็นการเต็มใจของผู้ขายและผู้ซื้อ ทั้งสองฝ่ายยังไม่มีพันธะครอบครัว ถือว่าผิดศีล 5 หรือไม่ และถือว่าผิดคุณธรรมใดหรือไม่ ทำไมการค้าประเวณีจึงได้ชื่อว่าเป็นการค้ามนุษย์?
ก่อนจบ ขอชี้แจงว่าผมไม่ได้สงสัยเอง แต่ผมไม่สามารถตอบคำถามนักเรียน-นักศึกษาให้สิ้นสงสัยไปได้ด้วยตรรก

ผมมีความปรารถนาจะตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ด้วยตรรก จึงมาบันทึกคำถามเหล่านี้ไว้เพื่อให้คนมาช่วยเหลือครับ คำตอบที่ได้ผมจะนำไปเรียบเรียงและใช้ตอบคำถามนักเรียนในโอกาสที่จำเป็นต่อไป

ผมคิดว่าหากเราไม่พยายามตอบคำถามทำนองนี้ด้วยความเข้าอกเข้าใจในผู้ถาม สักแต่ว่าติเตียนถ่ายเดียว การเรียนรู้อย่างแท้จริงของเยาวชนก็จะไม่เกิด และจะกลายเป็นระเบิดเวลากลับมาทำร้ายสังคมของเราเองได้ในอนาคต

วันอาทิตย์, ตุลาคม 14, 2555

ความรู้คืออะไร?

มีนักศึกษาถามใน Facebook ว่าความรู้คืออะไร? เนื่องจากว่าคำตอบมันยาวเลยเอามาเขียนในบล๊อกดีกว่า จะได้อ่านง่ายและเก็บไว้ตอบนักศึกษารุ่นต่อ ๆ ไปได้ด้วย

ความรู้นั้นมีหลายระดับต่าง ๆ กันไป การศึกษาในแต่ละระดับก็คาดหวังผลสัมฤทธิ์เป็นความรู้ในระดับที่ต่าง ๆ กันด้วย จากประสบการณ์ + ความรู้ (ทั้งจากการอ่าน ความจำ การสังเกต การเก็บข้อมูล การคิดวิเคราะห์ การตีความ ฯลฯ) จะสาธายายได้ว่าความรู้มีหลายระดับดังต่อไปนี้

รู้แบบจำได้ คือเคยเห็น จำได้ เรียกว่ารู้แล้ว เช่นรู้ว่าอำเภอชนบทอยู่ในจังหวัดขอนแก่น เป็นต้น ความรู้เช่นนี้ต้องมีแหล่งความรู้ภายนอก เช่นอ่านหนังสือหรือแผนที่แล้วรู้ มีคนบอกแล้วรู้ ความรู้แบบนี้เป็นความรู้แบบรู้ข้อมูล ทั่ว ๆ ไปก็ใช้ความจำเป็นหลัก คนธรรมดาก็จะมีกลไกในการจำสิ่งที่สำคัญสำหรับตนเองเพียงพออยู่แล้ว

โดยปรกติแล้วความรู้ในระดับนี้มีมากก็นับได้ว่ารู้มาก แต่ไม่ได้แปลว่าเก่ง ถ้าเก่งก็ถือว่าเก่งเรื่องจำแม่นเท่านั้น

รู้แบบรู้จัก บ้างก็เรียกรู้จำ คล้าย ๆ กับรู้แบบจำได้ แต่ว่าการจำนั้นจะจำแบบลึกว่าการจำธรรมดา เช่นการเห็นหน้าเพื่อนแล้วรู้จักว่านี่คือเพื่อนเรา ไม่เคยต้องเอามาท่องแต่ก็จำได้ รู้แบบรู้จักนี้หากแม้นว่าหน้าเพื่อนจะเปลี่ยนไปบ้าง เช่นแก่ลง อ้วนขึ้น ไม่เหมือนเดิม เราก็ยังรู้จัก ความรู้ทางเทคนิคที่ใช้ความรู้แบบนี้ผมจัดหมวดหมู่ไว้ในกลุ่มความรู้พื้นฐาน เช่นกฏของโอห์มนี้คนที่เรียนวิศวกรรมไฟฟ้าไม่ควรจะต้องเอามาท่อง มันควรจะรู้แบบรู้จักแล้ว คือฝังลงไปในเส้นเลือดในไขสันหลังแล้ว สามารถหยิบมาใช้ได้แบบไม่รู้ตัวกันเลยทีเดียว ความรู้ในระดับนี้จะได้มาก็ด้วยการใช้ความจำบ่อย ๆ จนกระทั่งจำได้ลึกซึ้ง บางทีผมจะเรียกความรู้ในระดับนี้ว่าทักษะ

ความรู้ระดับนี้มีมากก็นับได้ว่ารู้มาก ยังไม่เรียกว่าเก่ง แต่เรียกได้ว่าเป็นคนคล่องแคล่วว่องไวในงาน และจะช่วยให้เรียนรู้ได้เร็ว เพราะจะทำอะไรก็ไม่เสียเวลาเปิดคู่มือ เปิดตำรา สามารถหยิบใช้ความรู้นี้ได้ทันที

รู้แบบเข้าใจ ภาษาไทยนี้ตรงตัวที่สุด คือมันเข้าไปในใจเลย เปรียบเหมือนจอมยุทธ์ที่ฝึกท่าร่างมาดีแล้ว เมื่อต่อสู้จริงจะใช้กระบวนท่าออกมาได้โดยไม่ต้องท่อง ไม่ต้องคิดถึงคำภีร์หรือตำราอะไร เพราะทุกสิ่งทุกอย่างนั้นอยู่ในใจอย่างสมบูรณ์แล้ว จะถึงขั้นนี้ได้ข้อมูลทุกอย่างที่รู้ หรือจำได้จะต้องเชื่อมโยงกันตามหลักเหตุและผล ความรู้แบบเข้าใจนี้เมื่อมีแล้วสามารถทำนายผลลัพธ์ของปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ได้จากความรู้เดิม ๆ เช่นเรารู้ว่า อำเภอเมืองชุมพร อยู่จังหวัดชุมพร ดังนั้นอำเภอเมืองขอนแก่นก็ย่อมจะต้องอยู่ในจังหวัดขอนแก่น ไม่ต้องรอให้ใครมาบอก ไม่ต้องรออ่านจากตำรา แต่รู้ได้เพราะเข้าใจกลไกการตั้งชื่ออำเภอเมืองนั่นเอง

รู้ระดับนี้หากมีมากก็นับได้ว่ารู้มาก แต่ก็ยังไม่เรียกว่าเก่ง เพียงเรียกได้ว่าเป็นคนหัวไวเท่านั้น

ความรู้ทั้ง 3 ระดับนี้ส่งเสริมและพึ่งพาซึ่งกันและกันเสมอ ขาดระดับใดระดับหนึ่งไปไม่ได้ เปรียบดังหินเส้าไฟซึ่งต้องมีพร้อม 3 เส้าไม่อย่างนั้นก็ตั้งเตาไม่ได้

คนที่หัวไว แต่จำเรื่องพื้นฐานไม่ได้จะเรียนในระดับสูงได้ยาก เพราะจำอะไรไม่ใคร่ได้
คนที่มีทักษะเพราะทำมาก แต่หัวไม่ไวนักก็จะเรียนระดับสูงก็ต้องใช้เวลานาน เพราะเชื่อมโยงกลไกระดับลึกซึ้งไม่ได้
คนที่มีความจำดี แต่ไม่ค่อยซ้อมก็จะขาดทักษะ เหมือนช่างมีเครื่องมือเยอะในกล่องแต่ไม่รู้ว่าอะไรอยู่ที่ไหนในกล่อง


กลไกการส่งเสริมกันของความรู้ทั้ง 3 ระดับจะเป็นเช่นนี้คือ
  • เริ่มต้นเรียนรู้ด้วยการทำความรู้จัก ชื่อ ของสิ่งต่าง ๆ ที่เราสนใจให้ได้มากที่สุดก่อน เช่นชื่อของอุปกรณ์ ชื่อของสารเคมี ชื่อของกระบวนการ ฯลฯ ผมเชื่อว่าหากเรารู้จักชื่อของมันเราจะควบคุมมันได้ จึงสำคัญที่เราจะต้องรู้จักชื่อของสิ่งต่าง ๆ ในแวดวงที่เราสนใจอย่างถูกต้อง นี่เป็นเรื่องความจำ
  • ในบรรดาชื่อทั้งหลาย เราย่อมสังเกตได้ว่ามีบางชื่อปรากฏอยู่บ่อยกว่าชื่ออื่น แสดงว่านั่นเป็นชื่อที่สำคัญ หัวข้อที่เราสนใจจะต้องเกี่ยวกับชื่อนี้มาก ให้มองหา เนื้อเรื่อง (Story) ในหัวข้อนั้น ๆ ว่าหัวข้อนี้ต้องการบอกอะไรเรา อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล และส่วนต่าง ๆ ในหัวข้อนี้มันเชื่อมโยงกันอย่างไร นี่เป็นเรื่องความเข้าใจ ขอย้ำว่าให้มองหาเนื้อเรื่องไม่ใช่สมการ นักเรียนที่เรียนด้วยการจำสมการไปทั้งดุ้นมักจะมีปัญหากับการเรียนในวิชาระดับสูงเสมอ
  • เมื่อเข้าใจเนื้อเรื่องแล้วจึงค่อยวิเคราะห์สูตร ว่ามันสนับสนุนเนื้อเรื่องของเราอย่างไร นี่ก็ยังเป็นเรื่องความเข้าใจ เพียงแต่ขั้นตอนนี้เราเชื่อมเนื้อเรื่องของเราเข้ากับสมการคณิตศาสตร์เพื่อพร้อมใช้งาน
  • เมื่อเข้าใจแล้วก็ทดลองแก้ปัญหาเพื่อพัฒนาทักษะ ในกระบวนการนี้เราจะเจอทั้ง ชื่อ กลไก สัญลักษณ์และสมการบางอย่างซ้ำ ๆ กันแต่พลิกไปพลิกมาอยู่ในรูปต่าง ๆ กัน การพัฒนาทักษะเช่นนี้จะช่วยให้เรารู้จักสิ่งต่าง ๆ ในรูปแบบที่แปลกไปจากที่ปรากฏในตำราได้ (คือปลอมตัวมาก็หลอกเราไม่ได้เพราะเรารู้จักมันแล้ว) นี่เป็นเรื่องทักษะ
  • ทุกขั้นตอนไม่มีลำดับชัดเจน จะเรียงกลับไปกลับมาอย่างไรก็ได้ 
อยากจะเน้นย้ำว่าการเรียนรู้จะต้องเดินผ่านกระบวนการเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกว่าจะเกิดการทะลุขึ้นในหัว (ร้องอ๋อ) ซึ่งนักศึกษาจะได้มาจากการใคร่ครวญปัญหาด้วยตนเองเท่านั้น คนอื่นไม่สามารถช่วยได้เลย สิ่งที่คนอื่นบอกเราได้เป็นเพียงข้อมูล (Information) เท่านั้น แต่ความรู้ (Knowledge) จะต้องเกิดขึ้นมาในหัวเราด้วยตัวเราเองเท่านั้น

หวังว่าบันทึกเรื่องนี้คงจะเป็นประโยชน์สำหรับนักศึกษาที่กำลังหลงทางและเรียนแบบผิดวิธีอยู่ (จำสูตรไปสอบ)

อ้อ ลืมไป ในตอนต้นได้บอกไปว่ารู้ทั้ง 3 ระดับยังไม่เรียกว่าเก่งแล้วอย่างไรจึงจะเรียกว่าเก่ง สำหรับผมแล้วคนที่จะเรียกว่าเก่งได้ก็คือคนที่สามารถประสานความรู้ทั้ง 3 ระดับและสามารถนำความรู้นั้นมาใช้ทำงานได้ ใช้แก้ปัญหาได้ ใช้สร้างสรรค์ผลงานจริง ๆ ออกมาได้ นั่นจึงจะเรียกได้ว่าเก่งจริงครับ