วันจันทร์, พฤษภาคม 21, 2550

ความคาดหวังจากภาคธุรกิจต่อมหาวิทยาลัย -- มากไปไหม?

เมื่อสักหลายเดือนที่ผ่านมา ได้มีโอกาสคุยกับตัวแทนของภาครัฐที่มีหน้าที่ส่งเสริมเศรษฐกิจท่านหนึ่ง โดยที่ท่านเป็นผู้ที่เคยทำงานในภาคธุรกิจมาก่อน

ท่านบอกว่ามหาวิทยาลัยต้องผลิตบัณฑิตที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ ซึ่งเราเองก็ไม่ขัดข้องคัดค้านท่านในประเด็นนี้

แต่ดูเหมือนท่านคาดหวังว่านักศึกษาจบใหม่ ๆ จะต้องสามารถทำงานได้ทันที รู้จักเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในโรงงานทันที ไม่ต้องให้มีคนสอน ผมก็ว่าท่านคาดหวังผิด และคาดหวังสูงไปสักหน่อย

ที่ว่าผิดคือผมคิดว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้มีหน้าที่ รับใช้ ภาคธุรกิจ พอโรงงานของท่านใช้โปรแกรม ก. ไก่ นักศึกษาของเราก็ต้องใช้โปรแกรม ก. ไก่ เป็น พอโรงงานของท่านใช้โปรแกรม ข. ไข่ นักศึกษาของเราก็ต้องใช้โปรแกรม ข. ไข่ เป็น ไม่ต้องพูดถึงว่าภาคธุรกิจของท่านเคยตอบแทนอะไรให้สังคม หรือแม้แต่แบ่งปันอะไรให้มหาวิทยาลัยบ้าง

ผมเชื่อว่ามหาวิทยาลัยมีหน้าที่ รับใช้สังคม เราต้องการผลิตบัณฑิตที่ คิดเป็น มากกว่าบัณฑิตที่ใช้โปรแกรมนั้น โปรแกรมนี้เป็น เพราะผมเชื่อว่าหากบัณฑิตมีพื้นฐานที่ดีแล้ว และคิดเป็นแล้ว ไม่ว่าโรงงานจะใช้โปรแกรมอะไรทำงาน บัณฑิตของเราก็สามารถเรียนรู้และทำงานกับระบบนั้น ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

ผมลองนึกย้อนดูว่า สมัยผมเรียนวิชา Computer Programming ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานสมัยผมเรียนระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเขาใช้ภาษา Fortran สอน ปัจจุบันงานของผมใช้ PHP เป็นหลักซึ่งไม่ได้มีสอนในสมัยนั้น ผมก็สามารถเรียนรู้ได้ เพราะหลักการใหญ่ ๆ มันเหมือนกัน แล้วการเรียนรู้ PHP ที่ว่านี้ก็เกิดขึ้นในที่ทำงาน

บางท่านยกตัวอย่าง 7-11 ที่ผลิตบัณฑิตตรงตามความต้องการของตัวเอง ผมก็ต้องถามกลับเหมือนกันว่า ก็นั่น 7-11 ลงทุนเอง มันก็ไม่แปลกตรงไหน แต่หากฝ่ายธุรกิจอื่นต้องการบัณฑิตสำเร็จรูปขนาดนั้น ต้องถามกลับไปด้วยว่า แล้วท่านให้อะไรกับฝ่ายการศึกษาบ้างถึงได้คาดหวังผลสำเร็จรูปสูงขนาดนั้น

แต่ก็เป็นความเห็นของผมคนเดียว ผมคิดว่ามันคงพิลึกดีที่จะต้องสอนนักศึกษาถึง ระบบใดระบบหนึ่งให้เชี่ยวชาญเป็นการเฉพาะ เพื่อตอบสนองบริษัทบางบริษัท ทั้ง ๆ ที่ในตลาดมีให้เลือกหลายระบบ และในประวัติศาสตร์ก็มีวิวัฒนาการมาหลายระบบ แทนที่จะสอนให้นักศึกษารู้จัก และเข้าใจหลักการใหญ่ของระบบ ประเภท นั้น ๆ แล้วมีศักยภาพที่จะไปเรียนรู้ระบบใด ๆ ในประเภทนั้น ๆ ก็ได้