วันอังคาร, มีนาคม 30, 2553

ขอเอาใจช่วยคุณอภิสิทธิ์

ผมเห็นใจท่านนายกฯ มาก สงสารท่านแต่ไม่รู้จะช่วยยังไง ได้แต่เอาใจช่วย

ท่านคงหนักใจและเหนื่อยใจมากกับปัญหาของประเทศในวันนี้

คนดี ทำดีได้ง่าย ทำชั่วได้ยาก
คนชั่ว ทำชั่วได้ง่าย ทำดีได้ยาก

และในท้ายที่สุดผมเชื่อมั่นว่า ความดีจะคุ้มครองคนที่ทำดีอย่างแน่นอน

แล้วอย่างไรจึงจะเรียกว่าคนดี... ในมุมหนึ่ง คนดีของใครก็ของมัน ในอีกมุมหนึ่ง คนดีดูได้จากการกระทำที่เขาทำเพื่อสังคม ซึ่งต่างคนก็อาจเห็นไม่เหมือนกัน

หากสังคมไทย นิยมชมชอบการทำงานอย่างอภิสิทธิ์ เห็นว่าเขาเป็นคนดี สนับสนุนให้เขาทำงาน ผมเชื่อว่าเราจะได้ ส.ส. อย่างอภิสิทธิ์มากขึ้น
หากสังคมไทย นิยมชมชอบการทำงานอย่างจตุพร เห็นว่าเขาเป็นคนดี สนับสนุนให้เขาทำงาน ผมเชื่อว่าเราจะได้ ส.ส. อย่างจตุพรมากขึ้น

เราคงไม่ได้มีทางเลือกเพียงเท่านี้ แต่บางทีมันก็เหมือนกับการขายพ่วง ไม่ได้อยากได้ บางทีก็ติดมาด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้

สังคมไทยอยู่ในมือของพวกเราทุกคน ชอบอย่างไร เชื่ออย่างไร ก็เลือกอย่างนั้น
สังคมก็จะเป็นไปอย่างที่เราเลือกนั่นแหละ

วันอาทิตย์, มีนาคม 21, 2553

อยากทำหรือว่าอยากเป็น

ปัญหาอย่างหนึ่งในการสอน คือผู้เรียนไม่มีใจอยากเรียนรู้ ในที่นี้ขอเน้นคำว่าเรียนรู้ (Learn) นะครับ ไม่ใช่เรียนเอาเกรด หรือว่าเรียนไปสอบ (Study)

คำถามคาใจอาจารย์คือ
  • ทำไมผู้เรียนไม่อยากเรียนรู้? หรือแปลอีกอย่างหนึ่งคือ
  • ถ้าไม่อยากเรียนรู้เรื่องในแนวทางนี้ เลือกเรียนสาขานี้ทำไม?
ได้สังเกตผู้เรียนหลาย ๆ รุ่น พบว่ามีนักศึกษาจำนวนมากไม่รู้ว่าเรียนจบไปแล้วเขาจะมีหน้าที่ทำอะไร คือรุ่นพี่ก็ไม่ได้อธิบายให้เขาฟังแบบจริง ๆ จัง ๆ ว่าจบไปแล้วมีหน้าที่ต้องทำอะไรบ้าง ส่วนมากแล้วชอบเล่าให้กันฟังถึงผลที่ได้จากหน้าที่ มากกว่าตัวหน้าที่เอง เช่น ได้เงินเดือนเท่าไร ได้โบนัสเท่าไร ส่วนเรื่องต้องตรากตรำขนาดไหน ต้องทำอะไรบ้าง นี่มักจะไม่ค่อยเล่าสู่กันฟังเท่าไร

เรื่องนี้มีรุ่นพี่เท่านั้นที่ช่วยได้ เพราะอาจารย์จะรู้จริงเฉพาะที่ประสบกับตนเองเท่านั้น

ทำให้คิดได้ว่า อันที่จริงเด็ก ๆ บอกว่าตนเองอยากเป็นหมอ หรือว่าอยากเป็นวิศวกร หรือว่าอยากเป็นนักกฏหมาย หรือว่าอยากเป็นทหาร ตำรวจ ฯลฯ เขาแค่อยากแปะฉลากตัวเอง ด้วยยี่ห้อเหล่านั้น มากกว่าจะอยากทำงานในหน้าที่เหล่านั้นจริง ๆ
  • เด็กบางคนบอกว่าอยากเป็นนักเขียน แต่กลับพบว่าตัวเขาไม่ได้ชอบการเขียน (บางคนไม่ได้ชอบอ่านด้วยซ้ำ) แต่ชอบชื่อเสียงที่ได้จากการเป็นนักเขียน
  • เด็กบางคนบอกว่าอยากเป็นหมอ แต่กลับพบว่าตัวเขาไม่ได้ชอบรักษาคนไข้ แต่ชอบ ลาภ ยศ สรรเสริญ อันเนื่องมาจากฉลากคำว่าหมอ ที่แปะที่หน้าผากเขาเท่านั้น
  • เด็กบางคนบอกว่าอยากเป็นวิศวกร แต่กลับพบว่าตัวเขาไม่ได้ชอบแก้ปัญหาเชิงช่าง ไม่ต้องพูดถึงการไม่ชอบวิชาวิทยาศาสตร์และวิชาคำนวณ เขาแค่คิดว่าการเป็นวิศวกรมันน่าจะเท่ และมีเงินเดือนดี โดยไม่นึกถึงว่าหน้าที่ของวิศวกรคืออะไร
สำหรับเด็กเล็ก ๆ ก็ไม่เป็นไร การชื่นชอบผลลัพธ์ของหน้าที่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เช่นตอนเด็ก ๆ ไปเจอคุณหมอสวย ๆ ใจดี น่ารัก และอยากเป็นอย่างคุณหมอคนนั้นบ้าง ก็เป็นจุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจของเด็ก ๆ ได้

แต่กับเด็กโต คือตั้งแต่ระดับมัธยมต้นขึ้นไป น่าจะได้รับคำถามว่า
โตขึ้นหนูอยากทำอะไร
มากกว่าคำถามว่า
โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร
 คนที่ชอบเล่นดนตรีจริง ๆ จัง ๆ จะได้ไปเรียนดนตรี คนที่ชอบการวิเคราะห์ตรรกะและธรรมศาสตร์จะได้ไปเรียนรัฐศาสตร์และกฏหมาย คนที่รักความยุติธรรมอาจจะเลือกเรียนตำรวจ คนที่ชื่นชอบเทคโนโลยีและการแก้ปัญหาเชิงช่าง จะได้เรียนวิศวกรรมศาสตร์ คนที่ชื่นชอบการวิเคราะห์ วิจัย จะได้เรียนวิทยาศาสตร์ คนที่ชอบบริการ ใจดี อาจเลือกเีรียนด้านงานบริการ หรืองานพยาบาล ฯลฯ เด็ก ๆ จะได้ค้นพบตัวเองโดยเร็วและไม่สูญเสียพรสวรรค์ของตนเองและเวลาในห้องเรียนระดับอุดมศึกษาถึง 4 ปี

ถามตนเองว่า อยากทำอะไรเพื่อเลี้ยงชีพ จะตอบตนเองได้ว่าควรจะเรียนอะไร เพื่อให้การเรียนในระดับสูงส่งเสริมความชอบและพรสวรรค์ของตนเองให้สูงที่สุด

ก่อนเข้ามาเรียน ต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ ว่าที่ว่าอยากเป็นวิศวกรนั้น อยากทำงานวิศวกรรม หรือแค่อยากมีป้ายชื่อว่าเป็นวิศวกรเฉย ๆ