วันจันทร์, มิถุนายน 28, 2553

ว่าด้วยเรื่องเหตุและผล

ผมได้เขียนไว้ต่างกรรมต่างวาระ ว่าที่สุดแล้ว
เหตุผลเป็นได้เพียงอาภรณ์ของอารมณ์เท่านั้น
หมายความว่า สำหรับคนที่เก่ง ทุกคนสามารถ
หาเหตุผลมารองรับความต้องการของตนเองได้
ทั้งหมด (จึงป่วยการที่จะต้องไปเถียงกันคน
เก่ง ๆ ที่ไม่มีคุณธรรม)

อันนี้ก็เป็นความเชื่อของผม ไม่ใช่ข้อเท็จจริง
และผมคิดว่าไม่มีใครรู้หรอกว่าข้อเท็จจริงที่เป็น
ความจริงสัมบูรณ์ในเรื่องนี้มันคืออะไร

ถ้าไม่คิดเรื่องนี้ คือให้เชื่อไว้ก่อนว่า เหตุผลมัน
มีอยู่จริง ผมก็พบความจริงอีกอย่างหนึ่งว่า
เวลาคนเราถกเถียงกัน มันไม่ใช่ว่าคนหนึ่ง
มีเหตุผล แล้วอีกคนหนึ่งไม่มีเหตุผล ในหลาย
กรณีผมพบว่าคนทุกคนมีเหตุผลทั้งหมด เพียง
แต่ว่า คนเรานั้นให้น้ำหนักความสำคัญต่อสิ่ง
ต่าง ๆ ไม่เท่ากัน

เช่นการซื้อของ ถ้าเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับราคาถูก
เขาก็จะเห็นได้ว่า คนที่ซื้อของราคาแพง เป็นคนไร้
เหตุผล ในทางกลับกัน คนที่ให้ความสำคัญกับความ
มั่นใจในการใช้งานสินค้า (ประกัน บำรุงรักษา ทนทาน
ฯลฯ) ก็จะมองได้ว่า คนที่เลือกซื้อของถูกเป็นคนไร้เหตุผล

เวลามาคุยกัน อย่าคุยว่าราคาถูก มันดีหรือแย่กว่าความ
มั่นใจในสินค้า แต่น่าจะคุยกันได้ว่า เราจะให้ความสำคัญ
กับอะไร ขนาดไหน และจะดีมากขึ้นหากเราสามารถ
ตี "ราคา" ของน้ำหนักที่เราให้ความสำคัญ ให้มองเห็น
จากมุมมองของอีกฝ่ายได้ เช่น หากเราให้น้ำหนักกับ
ความมั่นใจในการใช้สินค้า เราอาจจะอธิบายให้เพื่อนฟัง
ได้ว่า หากซื้อมาแล้วเสีย จะมีมูลค่าความเสียหาย ค่า
เสียโอกาส ฯลฯ เป็นเท่าใด เพื่อให้เพื่อนเรามองเห็นได้
ว่าเหตุใด เราจึงเลือกเช่นนี้ เป็นต้น

แต่ถ้าตั้งต้นด้วยความเชื่อว่าอีกฝ่ายเป็นคนไม่มีเหตุผล
และปักหลักอธิบายเพียงจากมุมมองของตนเองเท่านั้น
มันก็ไม่มีวันจะคุยกันรู้เรื่องได้

เวลาผู้ใหญ่สอนเด็ก มักจะอ้างว่าสอนด้วยเหตุผล
แต่ที่ผมเคยเจอ เหตุผลที่ผู้ใหญ่สอน กลับทำให้เด็ก
สับสน เพราะการให้น้ำหนักความสำคัญของเด็ก
กับผู้ใหญ่ ไม่เหมือนกัน และเด็กอาจไม่เคยเข้าใจ
การให้น้ำหนักความสำคัญของผู้ใหญ่เลย และเสีย
โอกาสในการพัฒนาทักษะการให้น้ำหนักความสำคัญ
ของสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตด้วยตนเองได้

เช่นการซื้อของข้างต้น เมื่อเด็กมาถึงทางที่จะต้องเลือก
เขาจะไม่รู้เลยว่า เลือกทางใด จึงจะถูกใจผู้ใหญ่
เพราะหากซื้อของถูก อาจถูกตำหนิได้ว่า ไม่รู้จักซื้อของดี คุ้มค่ากว่าเป็นไหน ๆ
หากซื้อของแพง อาจถูกตำหนิได้เช่นกันว่า ไม่รู้จักประหยัด
ที่สุดแล้วก็จะตัดสินใจเองไม่ได้
เมื่อตัดสินใจเองไม่ได้ ผู้ใหญ่ผู้มีเหตุผล ก็จะหงุดหงิด
รำคาญใจที่เด็กไม่รู้จักตัดสินใจเองอีก โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง

หากเป็นเช่นนี้ สิ่งที่เรียกว่าเหตุผลของเด็กคนนี้
ก็จะเป็นเพียงการมองหน้าผู้ใหญ่ ว่าท่านพอใจ
หรือไม่เท่านั้น ซึ่งมันน่าเสียใจและน่าเสียดาย
ศักยภาพของเด็ก เป็นอย่างมาก

3 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เหตุและผล........เหตุผล
ไม่รู้สิ...นานแล้ว ผู้ใหญ่สอนให้ผมมีเหตุผล
ไม่รู้สิ...ความคิดเห็นส่วนตัวของผมน่ะ เมื่อนั่งคิดๆๆ คิดเรื่องเหตุผลแล้ว ผมพบว่า ไม่มีสิ่งใดมีเหตุผล

ในความคิดส่วนตัวผม เหตุผลมันถูกคิดขึ้นมารองรับอารมย์ เพื่อให้ตนเองดูดี

เช่น
เมื่อผมจบวิศวะแล้ว แม่อยากให้รับราชการ---เหตุผลคือ มั่นคง เบิกได้ หลักๆคือมันมั่นคง---โดยส่วนตัวคือ แม่กลัว กลัวลูกลำบาก ถ้าไปอยู่บริษัท กลัวเขาไล่ออกแล้วตกงาน ผมหมายถึง

แม่ให้เงินน้อย ---เหตุผล จะได้รู้จักประหยัด --- กลัวลูกใช้เงินเปลืองมากกว่า

อยากได้กางเกงยีนส์ ---เหตุผล คู่เดิมเก่าแล้ว ---เกิดจากอารมย์อยากได้(จริงๆแล้ว ถ้าไม่ซื้อกางเกงยีนส์ใหม่ ตัวที่กำลังใส่อยู่คงไม่เก่าหรอก(ผมหมายถึง ทุกครั้งที่ผมได้กางเกงยีนส์ตัวใหม่ ตัวที่เคยมีมันดูเก่าไปเลย))

***เรื่องการเปรียบเทียบการซื้อของจากบทความ ผมคิดว่า เหตุผลนั้นเกิดจากความสบายใจ คนหนึ่งสบายใจเมื่อได้ซื้อของถูก อีกคนสบายใจเมื่อได้ของมีคุณภาพ

บรรดาเหตุผลต่างๆที่พ่อแม่ใช้กับลูก ผมว่าเกิดจากอารมย์กลัวซ่ะส่วนใหญ่

Little Bird กล่าวว่า...

คนเราใช้คำพูดทีสิ้นเปลืองหรือสวยหรู(เหมือนที่ผมกำลังใช้อยู่นี่รึเปล่า) เพื่อที่จะทำให้ผู้อื่นเข้าใจในตัวตนของตนเอง

อาจจะเป็นการสร้างกำแพงแถมหอคอยสูงนับโยชน์เพื่อประกาศสักดิ์ดาตัวเองซะมากกว่า เพราะเท่าที่เห็นๆ กันผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราที่ออกจะหัวโบราณนั้น ล้วนเชื่อว่าคำพูดของตนนั้นสำคัญและควรค่าแก่การเคารพรับฟัง หากจะมีผู้ใดที่คัดค้านต้านทาน ก็คงจะต้องเป็นอายุ หรือตำแหน่งที่เท่ากัน สูงกว่า

หากเด็กน้อย ด้อยวัยวุฒิกล้าอ้าปาก ออกความคิดเห็น เด็กน้อยผู็นั้นก็จะกลายเป็นเด็กที่ไม่เคารพต่อผู้ใหญ่ไปในทันที ถูกต่อว่าต่างๆ นาๆ รู้สึกว่าจะเริ่มออกทะเลไปแล้ว

เหตุผลๆๆๆๆ เป็นสิ่งที่คนในสมัยนี้ใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อ อะไรๆ ก็เรียกหาเหตุผล ไฟดับ น้ำไม่ไหล อะไรๆ ก็ถามหาเหตุผล เหตุผลเต็มไปหมดทุกซอกมุมของสังคม

แต่สิ่งหนึ่งผมกลับแปลกใจก็คือในเมื่อมีเหุผล แต่ทำไมบางทียังคุยกันไม่รู้เรื่องซักที บางทีการใช้เหตุผล นั้นอาจเป็นแค่ฉากบังหน้าก็ได้ ถ้าถามผมร้อยละล้าน ใช่ทั้งหมด ใช้เหตุผลเพื่อ ทำให้ตนดูดีกว่าผู้อื่น

แล้วเพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้นส่วนตัวผมคิดว่า ก็เราเป็นมนุษย์นี่ครับ มันก็เลยเป็นเรื่องธรรมดา เพราะทุกเหตุและผล ล้วนมาจากกิเลสสอดแทรกเข้ามาทั้งนั้น แต่หากเราใช้วิธีตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ผมคิดว่าจะทำให้เราใช้คำว่า "เหตุผล" ลดลง และมองตัวเราเองมากขึ้น

jark กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นครับ ขอเสริมนิดหนึ่ง

แม้ผมจะไม่ค่อยศรัทธาเหตุผลสักเท่าไร ด้วยเหตุผล (ฮา) ที่กล่าวไปแล้ว

แต่มันก็ยังเป็นเครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีวิตในสังคมอยู่ดี ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม (ถ้าไม่เชื่อให้ย้อนไปดูย่อหน้าที่สอง)

ดังนั้นอย่าเพิ่งปฏิเสธเหตุผลไปเสียทั้งหมดเลยครับ แต่ต้อง รู้ให้ทันสิ่งที่เรียกว่าเหตุผล แค่นี้ก็น่าจะพอมั้งครับ