คำถามนี้เกิดขึ้นในใจหลังจากประสบปัญหาในการทำงานหลายประการ ปัญหาเกิดจากผมไม่สามารถให้เวลากับสิ่งที่ผมอยากทำได้เต็มที่ ด้วยติดภาระกิจอื่น ๆ ที่ไม่อยากทำ
แม้ว่าเราจะสอนนักเรียนเสมอว่า คำว่า "มืออาชีพ" มันหมายความว่าจะต้องรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย ไม่สำคัญว่าเราจะอยากทำหรือไม่อยากทำ หากเป็นหน้าที่ ก็ต้องทำให้ลุล่วง จะทำทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ไม่ได้ จะทำก็ต่อเมื่อมีผลตอบแทนไม่ได้ จะทำเฉพาะเวลาที่เราได้ประโยชน์ไม่ได้
แม้ว่าจะมีคำว่า "มืออาชีพ" ค้ำคออยู่ แต่เราก็ต้องกลับมาทบทวนเหมือนกันว่า งานที่ได้รับมอบหมาย ทั้งที่ได้รับมอบหมายโดยตรงจากผู้บังคับบัญชา ทั้งที่ได้รับจากการร้องขอจากผู้อื่น และรวมไปถึงที่ได้รับจากความไม่รับผิดชอบในงานของตนเองจากคนอื่น มันเหมาะสมกับหน้าที่หลักของเราหรือไม่
ในฐานะผู้บรรยาย (Lecturer) หน้าที่เราคืออะไร? ใช่การทำบัญชีพัสดุหรือไม่ ใช่การเตรียมรถตู้รับแขกต่างมหาวิทยาลัยหรือไม่ ใช่การทำบอร์ดหน้าภาควิชาฯ ใช่การเตรียมแผนงบประมาณ ใช่การคอยตรวจดูว่าลิฟต์ทำงานดีไหมหรือไม่ ใช่การคอยดูว่าห้องน้ำยังสะอาดดีอยู่ หรือไม่
นี่มหาวิทยาลัยส่งเราไปเรียนตั้งหลายปี เสียเงินไปหลายบาทเพื่อสิ่งเหล่านี้หรือ?
นี่เราตัดสินใจมาทำงานในมหาวิทยาลัย เพราะคิดจะมาทำงานพวกนี้หรือ?
ถ้ามันเล็กน้อย เป็นครั้งคราว และทุกคนร่วมแรงร่วมใจช่วยกัน มันก็คือส่วนหนึ่งของงาน
แต่ถ้ามันเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยที่ต้องทำงานเหล่านี้ ทั้ง ๆ ที่มหาวิทยาลัยก็จ้างคนอีกเยอะแยะเพื่อทำหน้าที่เหล่านี้โดยตรง แต่เขาไม่ทำหรือมิเช่นนั้นก็ไม่ได้รับความไว้วางใจให้ทำ ผมว่ามันต้องมีอะไรผิดพลาดแล้วล่ะ
บางคนมีความฝัน และหาทางบรรลุความฝันของตนเอง โดยการทิ้งงานอื่น ๆ ไว้เบื้องหลัง ให้คนอื่น ๆ คอยเก็บกวาด เราจะยอมทิ้งความฝันของตัวเอง เพื่อคอยเก็บกวาดสิ่งเหล่านี้หรือไม่
ทิ้งหรือไม่ทิ้ง ที่ต้องเก็บก็เก็บไปแล้ว ที่ต้องกวาดก็กวาดไปแล้ว เราก็ดูเป็นคนดีในสายตาคนอื่น แต่ความรับผิดชอบของตัวเราต่อตัวเราเองล่ะ ความรับผิดชอบของตัวเราต่อครอบครัวเราล่ะ? สำคัญไหม?
ปัจจุบัน ที่ต้องเก็บบางทีก็ไม่ได้เก็บ ที่ต้องกวาดบางทีก็ไม่ได้กวาด คิดเสียว่าอยู่กันได้ก็อยู่กันไป อยู่กันมาได้ตั้งนานแล้ว ทำให้ผมมีเวลาทำสิ่งที่อยากทำได้มากขึ้น เช่นเว็บไซต์สำหรับการสอน เช่นโครงงานวิจัย หรือโปรเจ็คเล็ก ๆ ที่จะใช้เป็นตัวอย่างให้นักศึกษา งานเล็ก ๆ ผมว่าพวกนี้ต่างหากที่เป็นความฝันของเรา นี่ต่างหากที่เป็นความรับผิดชอบของเราที่มีต่อนักศึกษา
ไม่จำเป็นต้องทิ้งความฝันของตนเองเพื่อความฝันของคนอื่นอีกต่อไป การไล่ตามความฝันของเรา ก็ถือว่าเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาเหมือนกัน เป็นประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าถ้าไม่ทำตามเขาแล้ว ถือว่าเราไม่ทำเพื่อนักศึกษา เราไม่ได้ทำเพื่อมหาวิทยาลัยสักหน่อย
เราแค่กลับมาทำหน้าที่ของเราเท่านั้นเอง
2 ความคิดเห็น:
อยากสอบถามว่า อ. คิดยังไงกับ ผลของคดียึดทรัพย์ กับ gt200 ครับ อ่านบทความ อ. แล้วชอบ อยากเห็นอีกแงุ่มุมของความคิด อ.
การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนไทยทุกคน
ผมขอใช้สิทธิ์นั้น และไม่ละเมิดสิทธิ์ผู้ใดครับ
ผมคิดว่าคำพิพากษาซึ่งยาวมากนั้นได้อธิบายที่มาที่ไปทุกอย่างโดยละเอียดแล้วครับ
สำหรับบุคคลทั่วไปมันอาจจะละเอียดไปจนงง
แต่ว่าเรื่องการออกนโยบายในนามรัฐบาลเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กิจการของตนเองนี้ชัดเจนศาลอธิบายละเอียดครับ ผมยกตัวอย่างเรื่องคล้าย ๆ กันก็แล้วกัน
เช่น หากผมเป็นอาจารย์ และผมเปิดร้านขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อยู่ แล้วผมออกนโยบายภาควิชาฯ ให้ซื้อของจากร้านของผมเท่านั้นจึงจะเบิกจ่ายได้สะดวก ถ้าซื้อจากร้านอื่น หรือไม่ซื้อมาเอง เบิกจ่ายได้ แต่จะช้ากว่า
นักศึกษาจะมองเห็นผมเป็นอาจารย์อยู่อีกหรือไม่ ผมออกนโยบายนั้นในฐานะอาจารย์ หรือว่าเจ้าของร้านกันแน่? และที่สำคัญ เป็นธรรมกับนักศึกษาหรือไม่ และเป็นธรรมกับร้านอื่น ๆ ที่ทำมาหากินโดยสุจริต แต่ไม่ได้เป็นอาจารย์หรือไม่มีพรรคพวกเป็นอาจารย์หรือไม่
อย่างนี้แหละครับ เรียกว่าฉ้อราษฏร์บังหลวงเชิงนโยบาย ชงเอง กินเองเสร็จ ไม่ต้องให้ใครมาจ่ายใต้โต๊ะเหมือนสมัยก่อน (ซึ่งแย่พอ ๆ กัน)
ส่วน GT200 ไม่มีเวลาติดตามข่าวโดยละเอียด จะพูดได้ก็ต้องทราบกระบวนการทดสอบโดยละเอียดก่อน แต่โดยพื้นฐานแล้ว คุณสมบัติของเครื่องตามที่โฆษณาไว้ เกินความเป็นไปได้ทางวิทยาการที่ผมรู้จักอยู่สักร้อยปีละมั้ง
แสดงความคิดเห็น