วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 30, 2553

He who can, does. He who cannot, teaches.

He who can, does. He who cannot, teaches.
George Bernard Shaw
1856 - 1950
ครั้งแรกที่ได้เห็นประโยคนี้จากเว็บบอร์ดรู้สึกโกรธคนเขียนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นคำที่ดูแคลนวิชาชีพครูอย่างรุนแรง ยิ่งทราบว่าคนเขียนก็เป็นครู ก็ยิ่งโมโห เรียกว่าขนาดวิชาชีพตนเองยังไม่นับถือ มันจะไปสอนดีได้อย่างไร เดี๋ยวนี้ก็ยังไม่ได้ชอบประโยคนี้มากขึ้นเท่าไร

หลังจากค้นคว้าข้อมูลเล็กน้อยทำให้ทราบว่า คนที่เขียนประโยคนี้ขึ้นมาครั้งแรกคือ George Bernard Shaw เป็นนักเขียนบทละคร(เวที?) และอาจเขียนอย่างอื่นด้วย ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1925 แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกดีขึ้นกับประโยคนี้ขึ้นมาแม้แต่น้อย

สิ่งที่ Shaw พูด น่าจะสะท้อนอคติที่มีต่อระบบการศึกษาสมัยใหม่เนื่องจากเขามีชีวิตอยู่ในรอยต่อแห่งยุคสมัย (1856 - 1950) ซึ่งคนรุ่นเขาคงจะเรียนรู้ทุกสิ่งจากการทำงาน ใช้เวลาในโรงเรียนไม่มาก และเขาอาจจะคิดว่าคนรุ่นหลังเขาใช้เวลาในโรงเรียนมากเกินไป ทั้ง ๆ ที่จบมหาวิทยาลัยแต่ก็ยังทำอะไรไม่เป็นก็เป็นได้ (หากตัดประเด็นดูแคลนวิชาชีพครูไปแล้ว ผมก็คล้อยตามทัศนคติต่อ "ระบบ" การศึกษาของเขาเหมือนกัน)

อย่างไรก็ตามในงานพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตร ผมได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบด้านซ้อมและจัดแถวบัณฑิต ในงานนี้ผมพบคำตอบที่ทำให้ผมไม่จำเป็นต้องสนใจคำพูดของ Shaw อีก นั่นก็คือเมื่อเห็นแถวบัณฑิตเดินขึ้นบันไดเข้าไปสู่อาคารกาญจนาภิเษก ภาพนั้นทำให้ผมได้ตระหนักว่า ผลงานของครูไม่ใช่สิ่งของ ไม่ใช่ตำรา ไม่ใช่หนังสือ แต่เป็นศิษย์ต่างหาก ดังนั้นมันจึงไม่สำคัญเลยว่าเรา can do หรือ cannot do เรามีศิษย์ เป็นผลงานของเราเพราะเรา can teach ต่างหาก และไม่ใช่ทุกคนที่จะ can teach ได้ 

ดังนั้น Shaw ก็ Shaw เหอะ ... ไม่แคร์ (เฟ้ย)

ไม่มีความคิดเห็น: