วันอาทิตย์, กรกฎาคม 10, 2554

ประเทศไหนเจริญ ประเทศไหนไม่เจริญ ดูตรงไหน?

ผมเกิดความสงสัยมานานตั้งแต่เด็กแล้วว่า ที่เขาเรียกประเทศไทยว่าประเทศกำลังพัฒนานั้น เขาดูจากอะไร คือผมคิดว่าประเทศไทยมันก็ไม่ใช่ว่าเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ตั้งประเทศ มันก็มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ มีอะไรดี ๆ เกิดขึ้นตั้งเยอะแยะ และแน่นอนว่ามีอะไรแย่ ๆ เกิดขึ้นใหม่อีกเยอะแยะเช่นเดียวกัน

เมื่อยี่สิบปีก่อนเราไม่มีรถไฟฟ้า เดี๋ยวนี้เรามีรถไฟฟ้า เมื่อสามสิบปีก่อนเราไม่มีเคเบิลทีวี เดี๋ยวนี้เราก็มีเคเบิลทีวี เมื่อสิบห้าปีก่อนอินเตอร์เนตมีขีดความสามารถต่ำ ปัจจุบันก็ได้ขยายขีดความสามารถขึ้นไปสูงกว่าเดิมไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยเท่า

ทำอะไรต่อมิอะไรมาตั้งเยอะ เรายังพัฒนากันไม่เสร็จอีกหรือยังไง แล้วไอ้ที่เรียกกันว่าพัฒนาแล้ว มันพัฒนาเสร็จแล้วมันก็หยุดพัฒนาหรือยังไง

จนกระทั่งขับรถผ่านเข้าไปในเมืองจึงพอจะได้คำตอบสำหรับตนเองอยู่ว่า ที่เรียกว่าพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนานั้น ข้อแตกต่างน่าจะอยู่ที่ "คน" ในประเทศนั้น ๆ นั่นกระมัง คนในเมืองจอดรถซ้อนคันได้หน้าตาเฉย แม้กระทั่งนักศึกษา/อาจารย์/บุคลากรในมหาวิทยาลัย ก็สามารถจอดรถในที่ที่ขวางทางคนอื่นได้โดยไม่ได้รู้สึกละอายใจอะไร (หน้าศูนย์คอมเพลกซ์ตอนเย็น ๆ / สามแยกกังสดาล / หน้า 7-11 สโมสรอาจารย์ ฯลฯ) บางคนรู้สึกเขิน ๆ นิด ๆ หน่อย ๆ ก็ใช้วิธีเปิดกระโปรงรถทิ้งไว้ แสร้งว่ารถเสีย ซื้อของทำธุระเสร็จกลับมาที่รถก็ปิดกระโปรงรถขับรถออกไปหน้าตาเฉย

การที่คนไทยเรารู้สึกว่าการเห็นแก่ตัวเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา ใคร ๆ ก็ทำกัน ถือเป็นเรื่องน่ากลัว เพราะหลายคนก็คิดว่าคนไทยซื่อสัตย์กว่าฝรั่ง ใจดีกว่าต่างชาติ เอื้อเฟื้อกว่าเขา แต่ในความเป็นจริงหากสังเกตในชีวิตประจำวันแล้วผมกลับมองไม่เห็นอย่างนั้น

ผมคิดว่าประเทศไทยนั้น ปัจเจกมีความเอื้อเฟื้อ แต่ปัจเจกจะไม่ยอมให้ระบบเอื้อเฟื้อหรือเป็นธรรม เพราะมันทำให้เขาหมดอำนาจ (ระบบการเงินราชการไทย มีหลายอย่างที่ต้องซื้อแต่เบิกไม่ได้ เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยคือคนที่ต้องจ่ายเงินจำนวนนั้นเพื่อให้งานเดินไปได้ - ไม่มีใครที่เกี่ยวข้องสนใจจะแก้ระบบนี้ตราบใดที่ระบบไม่ได้มาละเมิดเงินในกระเป๋าตัวเอง)

ในขณะที่ในต่างประเทศนั้น ปัจเจกจะรักษาสิทธิ์ของตนเองทำให้ดูเหมือนเห็นแก่ตัว แต่ปัจเจกจะไม่ยอมให้ระบบเอารัดเอาเปรียบปัจเจกคนอื่น ๆ เช่นเดียวกัน กล่าวคือปัจเจกจะร่วมกันสร้างระบบที่เอื้อเฟื้อและเป็นธรรม เพราะทุกคนรู้ว่านั่นคือระบบที่ยั่งยืน

ย้อนกลับมาที่พฤติกรรมเห็นแก่ตัวของคนไทย ผมคิดว่าคนทำเช่นนั้นเพราะคิดแค่ว่าเขา ละเมิดกฏ แต่เขาคิดไปไม่ถึงว่าเขาได้ ละเมิดสิทธิ์คนอื่น เขาจะรู้สึกว่าถ้าเขาทำผิด เขาก็แค่ผิดต่อกฏ ไม่มีใครเดือดร้อน จะอะไรกันนักกันหนา แต่ถ้าเขาคิดได้ว่าที่เขาทำนั้นคือการละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น บางทีเรื่องแบบนี้อาจจะลดลง

หาไม่แล้ว ต่อให้เรามีเครือข่ายอินเตอร์เนตความเร็วสูง รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า มีบทความวิจัย เปเปอร์ อันดับหนึ่งของโลก มี ผศ. รศ. ดร. เดินชนกันเต็มบ้านเต็มเมือง ก็ไม่อาจทำให้ประเทศไทยของเรากลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วไปได้เลย