เป็นบันทึก 3 เรื่องที่ไม่เกี่ยวกันเลย พอดีไม่ได้เขียนบล๊อกนาน เลยเขียนรวดเดียว 3 เรื่อง
โครงการ M-150 Ideology
ช่วง 3 สัปดาห์นี้ ได้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษานักศึกษาที่สนใจจะเข้าแข่งขันรายการ M-150 Ideology พบว่าทีมนักศึกษากลุ่มนี้ มีความกระตือรือร้นสูง และมีใจรักในงาน ไม่เรื่องมาก และไม่เอาแต่ได้ (คือไม่มีคำถามว่า ทำแล้วจะได้อะไรบ้าง ทำเพราะอยากทำแท้ ๆ จากใจ)
นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนอาจารย์รุ่นพี่ คือพี่โหน่ง และความช่วยเหลือจากเพื่อนของพี่โหน่งคืออาจารย์หนุ่ย (สถาปัตย์ฯ) ปัจจัยบวกเยอะมาก ถือว่าเป็นโครงการที่ลุ้นได้ หวังว่าจะได้ผ่านรอบแรกไปลุ้นในรอบลงมือปฏิบัติต่อไป
การบังคับนักศึกษาให้ทำกิจกรรม
จะบังคับไปทำไม (ฟะ) ผมเองได้รับการปลูกฝังมาว่า กิจกรรมนักศึกษา คือสิ่งที่นักศึกษาเลือกทำตามใจสมัคร เป็นอิสระสิ่งหนึ่งที่สมัยเรียนมัธยมไม่มี ใครเป็นคนธรรมมะธรรมโม ก็เลือกชุมนุมพุทธ ใครชอบเที่ยวอาจเลือกชุมนุมถ่ายภาพ บางคนอินกับการทำเพื่อมวลชน ก็ไปออกค่ายกับชมรมอาสาฯ บางคนชอบทำกิจกรรมมาก ก็อยู่หลายชมรม
ผมเองสมัยเรียน ผมไม่สนอะไร ผมสนแต่การประดิษฐ์วงจรและแข่งขันหุ่นยนต์ ผมและเพื่อนก็ตั้งชมรมสำหรับการนี้ขึ้นมา ทุ่มเทเวลานอกเหนือจากเรียน (ซึ่งหนักมากอยู่แล้ว) ให้กิจกรรมในชุมนุมได้เต็มที่ สนุกสนานและได้เรียนรู้จากชุมนุมเยอะ และเป็นธรรมชาติ
ปัจจุบันผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองกลัวเด็กไม่ทำกิจกรรม ทางแก้คือ บังคับมันซะเลย
ไม่รู้ว่ารู้กันหรือเปล่าว่าเดี๋ยวนี้มีคนถามแล้วนะครับ เวลานำเสนอให้ทำกิจกรรมกัน เขาจะถามกันแล้วว่า งานนี้นับกี่กิจกรรม นัยว่าถ้าไม่ได้ หรือได้น้อย อาจจะไม่ทำ บางคนก็แอบ ๆ มาเซ็นชื่อร่วมกิจกรรมเพื่อนับกิจกรรม แล้วก็หนีกลับก่อน ไม่ได้ช่วยงาน ... เฮ้ย ! นี่เรากำลังสร้างเยาวชนของชาติแบบไหนกันวะเนี่ย
ไม่รู้ว่าแก้ถูกจุดไหม แม้แต่คำถามว่าทำไมเด็กถึงไม่ทำกิจกรรม ก็ไม่รู้ว่าได้ถามตัวเองบ้างหรือเปล่า เป็นการแก้ปัญหาแบบสู้บริษัทผลิตรถยนต์ก็ไม่ได้ (โตโยต้า เวลามีปัญหาจะต้องถาม "ทำไม" 5 ชั้น เพื่อหาต้นตอปัญหาที่แท้จริง)
น่าสงสัยเหมือนกันว่า การออกกำหนดแบบนี้ออกมา มันจะแก้ปัญหาอะไรได้จริง ๆ จัง ๆ และตรงจุดจริง ๆ หรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ การได้ออกกำหนดอะไรแบบนี้ออกมา เขาถือเขานับกันว่าเป็นผลงาน เอาไปใส่ CV ได้ เอาไปประกอบการประเมินเอาโบนัสได้ อันนีใช้ได้แน่ ๆ
กรรมมันก็ตกอยู่ที่เด็กนี่แหละ ไอ้ที่จะมาทุ่มเทให้กับกิจกรรมที่ตนรักตนชอบจริง ๆ ตามธรรมชาติที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล มันก็จะค่อย ๆ หายไป อย่าว่าแต่เด็กบางคนมีเงื่อนไขจำเป็นเฉพาะตัว อาจทำกิจกรรมไม่ได้ก็ต้องถูกบังคับให้ทำเหมือน ๆ กันทั้งหมด
ต่อไปก็ถึงคิวอาจารย์ละครับ จะต้องจัดต้องหากิจกรรมให้เด็กทำด้วย ไม่งั้นไม่ครบ ที่เดิมเรียกกันว่ากิจกรรมนักศึกษา ต่อไปสงสัยจะต้องเรียกว่ากิจกรรมอาจารย์ (แล้วเด็กก็เป็นผู้เข้าร่วม แล้วก็นับกิจกรรมไป)
แม้แต่จะให้เขาตัดสินใจเองว่าจะทำหรือจะไม่ทำกิจกรรมยังไม่ให้เขาเลย แล้วก็บ่นมันเข้าไปนะครับ ว่าเด็กไทยไม่โต ทำกิจกรรมกันไม่เป็น
การรักษาเมืองเชียงคานกับสิทธิพลเมือง
ได้ชมรายการข่าว 3 มิติ คุณกิตติ ไปเชียงคานและทำรายงานพิเศษเกี่ยวกับการรักษาสภาพเมืองเชียงคานไว้ กล่าวถึงการที่เมืองเชียงคาน (ไม่แน่ใจว่าโดยชุมชน หรือโดยรัฐ) กำหนดให้บ้านเรือนในเขต มีสีและแบบที่สอดคล้องกันทางภูมิสถาปัตย์ ให้ดูงดงามเหมือนเดิม
สงสัยว่าการรักษาเมืองให้เหมือนเดิม ด้วยการจำกัดแบบบ้าน และสีบ้าน นี่ นักวิชาการเขาจะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิพลเมือง เป็นเผด็จการหรือเปล่า
อย่างเมืองหลวงพระบางในลาว ซึ่งเป็นมรดกโลก ถ้าจำกัดแบบบ้าน สีบ้าน ไม่ให้เปลี่ยนหรือสร้างใหม่ มันถูก (คือรักษาศิลปวัฒนธรรม) หรือมันผิด (คือละเมิดสิทธิพลเมืองในการกำหนดที่อยู่ของตัวเอง)
สมมติว่าไม่ต้องพูดถึงเรื่องกฏหมาย หรือ Authority ใด ๆ เอาอีกที่หนึ่งก็ได้ ถนนอะไรสักถนนหนึ่งในภูเก็ต ซึ่งมีสภาพคล้ายเดิมเมื่อหลายสิบปีที่แล้วมากเสียจน ใคร ๆ ก็อยากไปเที่ยว และผู้ผลิตภาพยนตร์ก็ใช้ "โลเกชั่น" นี้บ่อย ๆ
เกิดมีบ้านหนึ่งในนั้น บอกว่าเขาไม่อยากให้บ้านมีหน้าตาแบบนี้ ขอเปลี่ยนแปลง แต่ผลของมันจะทำให้สภาพภูมิสถาปัตย์ของย่านนั้นเสียหายไป ทำให้บริษัทถ่ายหนังเขาไม่มาใช้โลเกชั่น ส่งผลให้ชุมชนขาดรายได้ เขามีสิทธิ์ที่จะทำหรือไม่?
ถ้ารัฐเข้ามายุ่ง รับรองโดนแน่ ว่าเป็นเผด็จการ แต่ถ้ารัฐไม่เข้ามายุ่ง ความงามเฉพาะตัวในชุมชนหายไป ถือว่ารัฐละเลยไหม หรือจะถือว่าคน ๆ นั้น เห็นแก่ตัวหรือเปล่า (อย่าลืมว่าบ้านเป็นบ้านของเขานะ เขาไม่ได้ไปยุ่งกับบ้านคนอื่น)
หรือจริง ๆ แล้ว เวลาเราพูดถึงสิทธิมนุษยชน หลักการว่าด้วยเรื่องสิทธิเฉพาะตนในปัจจุบันนี้ยังไม่ควรจะถือว่าถึงที่สุดใช้การได้แล้ว หลักการนี้อาจต้องการการปรับปรุงและพัฒนาต่อไปเหมือนที่มันพัฒนามา เพราะที่สุดแล้ว คนทุกคนเกี่ยวข้องกัน และการกระทำของคน ๆ หนึ่ง ย่อมกระทบต่อคนอื่นและได้รับผลกระทบจากคนอื่นแน่ ๆ
คำถามท้าทาย
ท่านอ่านดู คงพอทราบว่า ผมไม่เห็นด้วยกับการบังคับทำกิจกรรม แต่ผมเห็นด้วยกับการบังคับแบบบ้านในชุมชนที่อาศัยประโยชน์ร่วมกันจากภูมิสถาปัตย์ของชุมชน ผมเป็นพวกสองมาตรฐานหรือไม่
2 ความคิดเห็น:
ไม่มั่นใจว่าโพสครั้งแรกได้ไหมเพราะระบบล่ม ถ้าซ้ำซ้อนยังไงก็ขออภัยด้วย
ชันเจนว่าสองมาตรฐาน แต่คนเราผมว่ามันก็สองมาตรฐานทั้งนั้นนะ่ครับ แล้วแต่ว่าเราจะทำใจเอนเอียงเข้าข้างที่คิดว่าถูก อย่างผมอ่านเรื่องกิจกรรม กับเรื่องของเชียงคาน พอผมอ่านอย่างละเอียดก็ใช้วิจารณญาณในแบบของผมเลือกข้าง พอได้ข้างปุ๊บ เหตุผล(อีกแล้ว) ก็ผุดขึ้นมาสนับสนุนสิ่งที่ผมเลือก และในทางกลับกันก็สร้างแง่ให้กับสิ่งที่ผมไม่ชอบ ซักพักหลังการรบของเหตุผล ( -_- ) ก็ออกมาเป็นมาตรฐานในแบบผม
เรื่องกิจกรรมผมว่าบังคับไปก็เท่านั้น คนถ้ามันจะทำจริงไม่ต้องไปบังคับหรอก ส่วนไอ่คนที่มันจะไม่ทำเค้นคอให้ตายมันก็หาทางเลี่ยงได้เหมือนเดิม กำหนดให้ นศ. ต้องทำกิจกรรมหลากหลาย บางที่มันอาจจะเยอะเกิน ให้เลือกที่ชอบ มันจะดีต่อตัว นศ. เอง
ส่วนเชียงคาน(นาธาน) มันคล้องจ้องกันนะครับ พูดถึงเชียงคานที่ไร นึกถึงนาธานทุก ว่าแต่นี่ผมกำลังจะออกทะเลออกแล้วรึนี่ กลับเข้าเรื่องครับ ผมเห็นด้วยกับการบังคับแบบบ้าน ถ้าคนทั้งชุมชนเห็นด้วย แต่มีคนไม่เห็นด้วยแค่คนเดียว หรือน้อยมากการคัดค้านของคนข้างน้อยก็คงจะแพ้ แต่ถ้าหากยังฝืนมติของชุมชน เปลี่ยนแบบ้านใหม่จนเกิดความเสียหายต่อชุมชน ชุมชนเสียประโยชน์ แล้วแบบนี้มันไม่เป็นการละเมิดสิทธิของคนทั้งชุมชนหรอก หรือผมว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนอีกเยอะสำหรับกฎหมายประเภทนี้ เพราะการปกป้องสิทธิของตนนั้น ก็ต้องไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่นด้วย
เรื่องของเชียงคาน อย่าเพิ่งปักใจครับเพราะข้อมูลที่ผมได้มา มันก็แค่ฟังมาจากสกู๊ปข่าว ซึ่งผมอาจจะฟังไม่ได้ศัพท์ก็ได้
ข้อเท็จจริง ให้ถือว่ายังทราบไม่หมดก็แล้วกัน
แต่เรื่องสนุก บริหารสมองได้ก็คือเอาโจทย์นี้มาตั้งเป็นตุ๊กตาดูว่า ถ้ามันเกิดขึ้นเช่นนี้ ไม่ต้องเป็นที่เชียงคานก็ได้เอาเป็นที่หลวงพระบาง มรดกโลก ก็แล้วกัน ด้วยหลักคิดเช่นนี้ เราจะยอมรับมันได้หรือไม่
แล้วผลของมันบางทีก็เตือนตัวเตือนใจเราเหมือนกันว่า อันที่จริงแล้ว เราเป็นคนแบบไหนกัน และอาจเตือนเราด้วยว่า หลักคิดปัจจุบัน มันก็แค่ก้าว ๆ หนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษย์ ไม่ใช่ ความจริงสูงสุด สักหน่อย
แสดงความคิดเห็น