วันพุธ, กุมภาพันธ์ 19, 2557

ความชั่วร้ายทั้งหลายล้วนมีรากฐานจากความไม่รับผิดชอบ

ผมสอนหนังสือมาเกือบจะสิบปีแล้ว เท่าที่สอนมาก็ไม่เคยพบว่ามีนักศึกษาคนใดโง่ แม้ผลการเรียนจะแตกต่างกันไปตั้งแต่ A ยัน F แต่คนที่ได้ F ก็ไม่ใช่คนโง่

การได้ F อาจมีเหตุปัจจัยได้หลายเหตุ แต่เหตุหนึ่งที่มักจะละเลยกันก็คือการขาดความรับผิดชอบต่อตนเอง บางคนได้ F เพราะไม่เข้าเรียนก็เลยหมดสิทธิ์สอบ บางคนได้ F เพราะไม่ได้มาสอบ ลืมวันสอบ บางคนได้ F เพราะไม่ทำการบ้านด้วยตนเอง (ข้อสอบมันก็มาจากการบ้านนั่นแหละ)

================================================

ในอีกทางหนึ่ง ในชีวิตผมเองก็ไม่เคยพบปะกับคนที่เลวจากกมลสันดาน หมายถึงเลวแบบไม่มีเหตุผล ทุกคนก็ล้วนต้องคิดว่าตนเองเป็นคนดีกันทั้งนั้น เป็นเรื่องปกติจริง ๆ ที่ทุก ๆ คนจะคิดว่าตนเองเป็นคนดี คำถามมีอยู่ว่าถ้าทุกคนคิดว่าตนเองเป็นคนดีแล้ว คนเลวอยู่ที่ไหนกัน? ความขัดแย้งเกิดขึ้นได้อย่างไรกัน? คนเราจะทะเลาะไปทำไมกัน?

หลังจากที่อยู่ระหว่างความขัดแย้งทางความคิดอย่างรุนแรงของคนในสังคมมาได้สักพัก ได้เห็น ได้อ่าน ได้ทำความเข้าใจความคิดของเพื่อนหลาย ๆ สี ก็เกิดการตกผลึกทางความคิดขึ้นมาอย่างหนึ่งว่า

เอาเข้าจริงแล้ว คนเลวทั้งหลายอาจจะไม่มีอยู่จริงหรอก มีก็เพียงคนที่รับผิดชอบ กับคนที่ไม่รับผิดชอบเท่านั้น เพราะความ (ต้อง) รับผิดชอบต่อการกระทำใด ๆ ของตน ก็จะทำให้เกิดความอายในสิ่งที่ทำถ้ามีคนรู้ว่าเรา ก็จะทำให้เกิดความกลัวต่อโทษเนื่องจากสิ่งที่เราทำ เรียกว่าทำให้เกิดหิริโอตัปปะ

จึงพอสังเกตได้ว่าคนที่เราคิดว่าเขาไม่ดี ลึก ๆ แล้วเขาอาจไม่ใช่คนไม่ดีอะไร เพียงแต่เขาไม่แสดงความรับผิดชอบในบทบาทของตัวเองตามที่เราคาดหวัง เพื่อนต่างสีกัน เห็นต่างกัน เพราะคาดหวังต่างกัน ต่างฝ่ายต่างคิดว่าคนของฝ่ายตนรับผิดชอบดีแล้ว และคาดหวังให้อีกฝ่ายรับผิดชอบอย่างที่ตนคาดหวัง แต่ต่างคนก็ต่างคาดหวังไปคนละอย่าง

แทนที่จะเถียงกันเรื่องคนดี/คนไม่ดี ซึ่งตัดสินได้ยาก เราน่าจะมาคุยกันเรื่องความรับผิดชอบดีกว่า น่าจะหาจุดที่เห็นตรงกันได้ง่ายกว่า

================================================

ถ้าคน ๆ หนึ่งถูกตัดวงจรความรับผิดชอบของตนเองออกไปจากการกระทำทั้งหลายของตนแล้ว จะคาดหวังให้คน ๆ นั้นกระทำสิ่งใด ๆ โดยมีหิริโอตัปปะกำกับนั้นเป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง

อันว่าการแสดงความรับผิดชอบของคนหนึ่ง ๆ นั้น จะถูกเคี่ยวกรำให้เติบโตขึ้นตามขั้นตอนธรรมชาติของภารกิจที่ได้รับมอบหมาย จากงานเล็ก ๆ ไปสู่งานที่ใหญ่กว่า คนที่กระโดดไปรับงานใหญ่ ๆ เลยจะพัฒนาสำนึกความรับผิดชอบได้ไม่ทัน ก็จะแสดงความรับผิดชอบที่เหมาะสมออกมาไม่ได้ อนึ่งควรบันทึกไว้ด้วยว่าการเติบโตของสำนึกรับผิดชอบของแต่ละคนมีอัตราไม่เท่ากัน ที่เรียกว่าคนเก่ง แท้จริงแล้วสำนึกความรับผิดชอบเขาเติบโตเร็วกว่า ที่เรียกว่าไม่เก่ง แท้จริงแล้วสำนึกความรับผิดชอบเขาเติบโตช้ากว่าเท่านั้น

การไม่รับผิดชอบก็มีหลายแบบ คือ
  1. ไม่รู้ว่าต้องรับผิดชอบ (ไม่รู้หน้าที่)
  2. ไม่รู้ว่าจะรับผิดชอบอย่างไร (ไม่รู้วิธี)
  3. ไม่ต้องการรับผิดชอบ (ไม่รู้สำนึก)

สังเกตดูคนที่ไม่อยากรับผิดชอบ แต่อยากใหญ่ พวกนี้จะไม่ค่อย ๆ พัฒนาสำนึกความรับผิดชอบของตนขึ้นมาจากงาน จะด้วยความด้อยสามารถหรือจะด้วยความขี้เกียจก็แล้วแต่ เส้นทางที่จะเติบโตขึ้นของคนเหล่านี้อาจจะมาจากเส้นสาย อาจจะมาจากการสร้างภาพ หรืออื่น ๆ แต่เราจะดูคนพวกนี้ออกก็ตอนที่เกิดวิกฤติในงาน

คนที่พัฒนาสำนึกความรับผิดชอบมาตามปกติก็จะแสดงความรับผิดชอบตามความเหมาะควรออกมาได้ และด้วยความเข้าใจของเขาว่าทุกสิ่งที่เขาทำ เขาก็ต้องรับผิดชอบ ทำให้เขาทำไม่ดีได้ยาก

ส่วนคนที่พัฒนาการของสำนึกความรับผิดชอบ โตไม่ทันกับงานที่รับผิดชอบ ก็จะสามารถทำอะไรแปลก ๆ ได้หลายอย่าง เพราะไม่ได้คิดไว้ว่าตนเองต้องรับผิดชอบอะไร หรือไม่คิดว่าสิ่งที่ตนทำจะส่งผล ดี/เสียหาย มากน้อยขนาดไหน ก็จะไม่ได้แสดงความรับผิดชอบที่เหมาะควรขึ้นมา

================================================

จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คนในสังคมที่มีศักยภาพจริง จะปล่อยให้คนที่ขาดศักยภาพเติบโตขึ้นไปรับผิดชอบงานสำคัญของสังคมไม่ได้ เพราะคนพวกนี้รับผิดชอบไม่ได้และทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาทำ ก็จะกระทบคนในสังคมทั้งหมด

สุดท้ายแล้ว การที่เราปล่อยให้คนที่ไม่เก่ง ไม่พร้อม ไม่รู้ ขึ้นไปรับผิดชอบงานสำคัญ ๆ ของสังคมที่เราอยู่ได้ไม่ว่าระดับไหนก็ตาม ก็ถือว่าเป็นความไม่รับผิดชอบต่อสังคมของเราเองเช่นกัน

และพวกเราก็ล้วนต้องรับผลของความไม่รับผิดชอบนั้นทั่วกันทุกคน