วันเสาร์, พฤษภาคม 25, 2556

คนมีการศึกษาต้องเรียนจบชั้นไหน?

มีคนถาม อ. วิระยา ว่า คนที่เรียกว่ามีการศึกษาต้องจบชั้นไหน?

เป็นคำถามที่ดีมาก ๆ เพราะเวลาพูดกันเรื่องนี้ถ้าไม่นิยามกันให้ชัด ๆ ว่าขอบเขตอยู่ตรงไหนกันแน่ คุยกันไปมากลายเป็นการดูหมิ่นคนจบน้อย คนละเรื่องกันไปคุยกันไม่ได้ใจความ

อ. วิริยา ท่านก็มีคำตอบของท่านว่า
แฟนเพจถามมา คนมีการศึกษา นั้นต้องจบชั้นอะไร............
คนมีการศึกษา สำหรับผม คือ.........
คนที่ ใช้เหตุผล มากกว่าใช้กำลัง
นิยมการ รับฟังและหาทางออกที่ดี มากกว่า การใช้อำนาจบังคับ
รู้สึกรังเกียจ ต่อการละเมิดกฏหมาย
อายต่อการเอาเปรียบผู้อื่น
เรียนอะไร จบชั้นไหน ผมก็นับว่าเป็นผู้มีการศึกษา ครับ
ก็เป็นคำตอบที่ผมยอมรับได้ ผมเองก็มีความเห็นคล้าย ๆ กัน แต่ว่าเขียนให้อยู่ในอีกรูปแบบหนึ่งได้ว่า ก็คือมันไม่สำคัญหรอกว่าจะเรียนจบชั้นไหน แต่ต้องไม่มีคุณสมบัติของผู้ไร้การศึกษาดังต่อไปนี้

เป็นคนหูเบา

คนหูเบามีคนบอกอะไรมาก็เชื่อไปหมด ผมเองยึดหลัก "ไม่ได้เห็นกับตา ไม่ได้ยินกับหู ยังไม่ปักใจเชื่อ" ผมขีดเส้นใต้คำว่า ไม่ปักใจเชื่อ เพราะไม่ได้แนะนำว่าห้ามเชื่อ แต่ก่อนจะเชื่อจะต้องใตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน การใตร่ตรองให้รอบคอบก่อนที่จะปักใจเป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งของผู้มีการศึกษา

อคติแรงจัด

อคติมี 4 ประเภทคือ
  • ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรัก หากมีฉันทาคติกับใครมาก เวลาคน ๆ นั้นพูดอะไรก็มักจะเชื่อเขาง่าย ๆ ปิดประตูที่จะได้รับข้อมูลจากมุมอื่น ๆ
  • โทสาคติ ลำเอียงเพราะเกลียด หากเกลียดใครมาก เวลาคน ๆ นั้นพูดอะไรก็จะไม่ฟัง ไม่เอามาคิด ปิดประตูที่จะได้รับทราบข้อมูลจากมุมอื่น ๆ ยิ่งคนอยู่ในสังคมแบ่งฝักแบ่งฝ่าย หากชอบพอกับคนหนึ่ง ก็มักจะต้องเกลียดอีกคนหนึ่งไปด้วยเสมอ อคติทั้ง 2 นี้ก็เลยมักจะโผล่มาพร้อม ๆ กัน
  • โมหาคติ ลำเอียงเพราะโง่ หลงงมงายกับเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล เช่นงมงายกับลัทธิ แนวปฏิบัติ บางอย่างโดยปราศจากการคิดอย่างถี่ถ้วน ผมเคยเห็นว่าอาการแบบนี้ คนจบสูง ๆ บางคนก็เป็น คือไปเจอเครื่องไม้เครื่องมือ หรือวิธีการ หรือกระบวนการที่ตนเองประทับใจ ก็ปักใจคิดว่าเครื่องไม้เครื่องมือแบบนี้ วิธีการแบบนี้ กระบวนการแบบนี้ เท่านั้น คือคำตอบสุดท้ายของทุกเรื่อง ทำให้การตัดสินใจผิดพลาด
  • ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว กลัวอำนาจเหนือกว่าเลยสยบยอมแบบราบคาบ กลัวคนว่าไม่รู้เลยทำเป็นรู้ ออกแนว ๆ พระราชาสวมผ้าทิพย์ โดนหลอกเอาง่าย ๆ
ผมไม่ได้ว่าคนจะต้องปราศจากอคติ อันที่จริงถ้ามองจากมุมมองในระดับอุดมคติแล้วเราก็อยากให้ทุก ๆ คนปราศจากอคติ แต่มันเป็นไปได้ยากและถ้าเป็นได้จริงโลกนี้คงไม่มีความวุ่นวายแล้ว แต่เพราะเรากำลังคุยกันเรื่องปุถุชนจึงเรียกร้องเพียงแค่ให้รู้ทันอคติของตนเอง อคติจะได้ไม่แรงจัดเท่านั้น

คนที่มีอคติแรงจัดทำให้การคิดใคร่ครวญไม่ถี่ถ้วนรอบคอบ ปักใจเชื่ออะไรง่าย ๆ ทำให้การตัดสินใจผิดพลาด ถ้ายังไม่ตระหนักว่าตนมีอคติ 4 อยู่ รู้ไม่ทันอคติของตนเองและไม่พยายามลดอคติทั้ง 4 ลงให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่ระดับของตนจะทำได้ก็นับได้ว่ายังไม่มีการศึกษา

ไม่มีเหตุไม่มีผล

ไม่มีการเรียบเรียงความคิดจากเหตุไปหาผล ดังนั้นจึงไม่สามารถทำความเข้าใจเหตุผลได้ และคนดี ๆ ก็ไม่สามารถคุยด้วยโดยใช้เหตุผลได้ ความมีเหตุมีผลนี้ต้องอยู่กับโลกของความเป็นจริง การเป็นเหตุเป็นผลในโลกอื่น ๆ เช่น เกม การ์ตูน นิยาย ไม่นับ ความไม่มีเหตุผลแบบหนึ่งที่พบบ่อยในหมู่คนไร้การศึกษาก็คือการคิดเข้าข้างตนเอง ทำให้เกิดความไม่รอบคอบ และสร้างปัญหานานาประการให้กับชีวิตของตนเอง

ไม่รับผิดชอบ

คืออาจเป็นเพราะไม่เข้าใจถึงผลของการกระทำอย่างถ่องแท้ จึงไม่รู้สึกว่าต้องรับผิดชอบต่อการกระทำนั้น ๆ ความไม่รับผิดชอบอาจแสดงออกมาได้หลายทาง เช่นชุ่ย มักง่าย ไม่รอบคอบ คิดทางเดียว (คือไม่มีการคิดเผื่อความผิดพลาด) หรือที่เลวร้ายที่สุดก็คือไม่ขวนขวายใส่ใจทำแม้แต่งานของตนเอง รวมทั้งหมดลงได้ที่ความไม่รับผิดชอบทั้งสิ้น

หากบุคคลใดก็ตาม
  1. หูเบา
  2. อคติจัด
  3. ไม่มีเหตุผล
  4. ขาดความรับผิดชอบ
ถึงจะเสียเวลาเล่าเรียนไปหลายปีก็น่าเสียดายว่าเวลาเหล่านั้นสูญเปล่า เพราะเป้าหมายของการศึกษาทุกระดับคือให้บุคคล
  1. ไม่ปักใจเชื่ออะไรง่าย
  2. วินิจฉัยสิ่งต่าง ๆ โดยปราศจากอคติ
  3. มีเหตุมีผล และ
  4. มีความรับผิดชอบในงาน
หากแม้ไม่เคยเข้าโรงเรียนเลย แต่ได้เรียนรู้จากโลกจนกระทั่งมีคุณสมบัติทั้ง 4 ข้อที่กล่าวมานี้ ก็นับได้ว่าเป็นผู้มีการศึกษาอย่างแท้จริง และจะไม่สร้างปัญหาให้กับชีวิตของตนเองเกินว่าที่มันจะมีโดยธรรมชาติของชีวิต

ทั้ง 4 ข้อเป็นส่วนเสริมซึ่งกันและกันได้อย่างดี นั่นคือ คนที่รับผิดชอบต่อตนเองก็จะรอบคอบ คนที่รอบคอบ ย่อมไม่หูเบา เมื่อไม่หูเบาย่อมมีอคติน้อย เมื่อมีอคติน้อยก็มีเหตุผลมาก เมื่อมีเหตุผลมากก็จะรู้ว่าต้องรับผิดชอบ เมื่อรับผิดชอบก็รอบคอบ...

ในทางกลับกัน คนที่ไม่รับผิดชอบต่อตนเองย่อมไม่รอบคอบ คนที่ไม่รอบคอบย่อมหูเบา เมื่อหูเบาอคติก็เข้ามาได้ง่าย เมื่อมีอคติจัดย่อมกลายเป็นคนไร้เหตุผล เมื่อขาดเหตุผลก็ไม่รับผิดชอบ เมื่อไม่รับผิดชอบก็ไม่รอบคอบ...

เกณฑ์ 4 ข้อที่กล่าวมานี้ไม่เกี่ยวกับการเป็นคนดีหรือคนไม่ดี เพราะเราสามารถจินตนาการถึงคนที่มีคุณสมบัติของผู้มีการศึกษา 4 ข้อนี้ครบ แต่เอารัดเอาเปรียบคนอื่นได้

ผมเห็นต่างจาก อ. วิริยา ตรงที่ผมไม่คิดว่าเราจะเรียกคนเอารัดเอาเปรียบคนอื่นว่าไร้การศึกษา (แม้ว่าคนทำชั่วล้วนโง่ก็ตาม) เราเรียกคนพวกนี้ว่าคนชั่ว หรือคนไม่ดี ไม่น่าจะเรียกว่าเป็นคนไร้การศึกษาให้สับสนกัน เพราะปัญหาคนไร้การศึกษาแก้ได้ด้วยคุณธรรมชุดหนึ่ง ส่วนปัญหาคนชั่วต้องแก้ด้วยคุณธรรมอีกชุดหนึ่ง หากเอามาปนกันเวลาแก้ปัญหามันจะยุ่ง

ผมพบว่าการได้คิดในเรื่องเช่นนี้สนุกและมีประโยชน์มากทีเดียว หวังว่าข้อสรุปความคิดนี้คงจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน ขอขอบคุณผู้ตั้งคำถามด้วยใจจริงที่เปิดโอกาสให้มีโอกาสคิดในเรื่องนี้ ผมเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองต่อไปอย่างแน่นอน

[แก้ไข]

ผมขยายความจากหัวข้อรอบคอบให้กลายเป็นรับผิดชอบ เพราะรับผิดชอบกินความครอบคลุมมากกว่า

วันจันทร์, มกราคม 14, 2556

เส้นทางแห่งการปรองดอง

ช่วงสัปดาห์นี้ได้มีโอกาสไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุที่มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น ทำให้จิตใจมันน้อมเข้าสู่คำสอนของพระพุทธเจ้ามากกว่าปกติจนถึงขั้นขวนขวายไปหาธรรมบรรยายมาฟัง

ระหว่างที่ค้นหาก็ได้พบบรรยายธรรมเกี่ยวกับพระสูตรอยู่ 2 บทคือ การบรรยายธรรมเรื่องสาราณียธรรมสูตร และ การบรรยายธรรมเรื่องสิงคาลกสูตร เนื้อหาก็มีเยอะแต่ที่จับได้ตามกำลังสติ ปัญญา และสมาธิ ก็คือพระสูตรแรกว่าด้วยเรื่องความสามัคคี และพระสูตรหลังว่าด้วยธรรมะสำหรับฆราวาส ฟังแล้วก็ได้คิดว่าถ้านำไปใช้ในเรื่องการเมือง ประเทศไทยคงสงบสุขเร็วขึ้น

ในบรรยายธรรมเรื่องสาราณียธรรมสูตรนั้นท่านว่าเหตุแห่งความสามัคคีนั้นก็คือ
  1. บุคคลในหมู่คณะต้องมีศีลเสมอกัน ท่านขยายความว่าทุกคนต้องมีสิทธิ์เท่า ๆ กันตามสมควรแห่งฐานานุรูป
  2. อีกข้อหนึ่งก็คือบุคคลในหมู่คณะต้องมีทิฏฐิเสมอกัน จากที่ท่านขยายความผมก็เข้าใจว่าคล้าย ๆ อุดมการณ์เดียวกันนั่นแหละ คือหวังผลปลายทางไว้อย่างเดียวกัน
ถ้าอย่างนั้นเหตุแห่งการแตกสามัคคีก็ตรงกันข้ามก็คือ
  1. ศีลไม่เสมอกัน คือคนกลุ่มหนึ่งได้รับข้อยกเว้นบางอย่าง คนอีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้รับข้อยกเว้นโดยไม่มีเหตุแห่งการยกเว้น คนกลุ่มหนึ่งมีสิทธิบางอย่างเหนือกว่าคนอีกกลุ่มหนึ่งโดยไม่มีเหตุแห่งการมีอภิสิทธิ์ หรือเหตุดังกล่าวไม่สมเหตุสมผล ก็เรียกว่าศีลไม่เสมอกัน การระงับเหตุแห่งการมีศีลไม่เสมอกันในระดับประเทศก็คือการบังคับใช้กฏหมายต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
  2. ทิฏฐิไม่เสมอกัน คือมีความเห็นในด้านอุดมคติเป้าหมายปลายทางที่แตกต่างกันมาก
อันที่จริงเรื่องนี้ก็มีข้อโต้แย้งอยู่เหมือนกัน คือในส่วนของกฏหมายที่ให้บังคับใช้ต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกันนั้น เอาเข้าจริงก็ไม่สามารถทำให้ทุกคนเท่ากันได้เป๊ะ ๆ เอาง่าย ๆ ว่าคนรายได้มากก็ต้องเสียภาษีในสัดส่วนที่สูงกว่าคนที่มีรายได้น้อย คนที่มีรายได้น้อยมาก ๆ ก็ได้รับสิทธิ์ไม่ต้องเสียภาษี

เรื่องนี้คงต้องทำความเข้าใจกันจริง ๆ จัง ๆ ว่าคำว่าภายใต้กฏหมายเท่าเทียมกันนั้น มันไม่ต้องเท่ากันเป๊ะ ๆ ทุกคน เรียกว่าให้เสมอกันตามฐานานุรูปก็น่าจะได้ ทั้งนี้เพราะแต่ละคนก็ล้วนมีบทบาทหน้าที่ต่าง ๆ กัน แม้แต่ในโรงเรียน นักเรียนคุยในห้องเรียนก็ถูกตัดคะแนน ครูคุยในห้องเรียนก็ไม่มีคะแนนจะตัด แต่มีโทษอย่างอื่นแทน เช่นถูกครูใหญ่ตำหนิ ตักเตือน ตัดเงินเดือน ฯลฯ นี้แสดงให้เห็นว่า สิทธิเท่าเทียมมันไม่ได้เท่ากันเป๊ะ ๆ แบบเหมือนกันทุกประการ แต่มันจะมีหลักการอันสมเหตุสมผลรองรับให้เหมาะให้ควรแก่บทบาทหน้าที่ของแต่ละคน

การยกให้ใครเหนือกฏหมายโดยสิ้นเชิงหรือการพยายามกดให้ทุกคนอยู่ในกฏแบบเท่ากันเป๊ะ ๆ ผมจึงคิดว่าเป็นเรื่องผิดธรรมชาติและเป็นเหตุแห่งความแตกแยกเอามาก ๆ

อีกประเด็นที่ว่าทิฏฐิควรเสมอกัน ที่ผมแปลว่าอุดมการณ์ไปในทางเดียวกันก็มีข้อโต้แย้งได้ว่า คนเราจะคิดเหมือนกันได้อย่างไร หรือที่ร้ายกว่าคือจะไปควบคุมให้ทุก ๆ คนคิดเหมือนกันได้อย่างไร

ผมคิดว่าภายใต้ความแตกต่างกันในทางการเมืองนั้น ทุกคน (ควรจะ) มีอุดมการณ์ปลายทางอย่างเดียวกัน ก็คือความสุขความเจริญของประเทศชาติ (ชาติก็คือประชาชน) ความสงบสันติ ไม่ว่าจะเชื่อลัทธิการเมืองแบบใดก็ควรมีความคาดหวังเช่นนี้ไว้เป็นปลายทาง ถ้าเรามองเรื่องนี้ให้ชัด ๆ เราก็ควรจะเห็นได้ว่าทุกคนในประเทศ (ที่เป็นปรกติ) น่าจะถือได้ว่ามีทิฏฐิเสมอกันทั้งนั้น แต่จะไปยึดติดแบ่งเขาแบ่งเราด้วยหลักอุดมการณ์ที่ตื้นกว่าอยู่หรือเปล่า

ถ้าเมื่อใดก็ตามที่เรามีการโต้แย้งกันทางการเมือง ทางสังคม แล้วเราย้อนกลับมาคิดถึงศีลเสมอกัน และทิฏฐิเสมอกัน เราก็สามารถที่จะถกเถียงได้อย่างสร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ ความเกลียดชังกัน การเหน็บแนมเสียดสีกันก็น่าจะลดลง

การโต้แย้งใดที่ไม่เอื้อต่อการทำความเข้าใจกัน โดยอาศัยสองหลักที่ว่าข้างต้น ก็น่าที่จะถูกตั้งคำถามจากประชาชนว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องหรือไม่

การสร้างสรรค์สังคมที่จะตระหนักถึงการทำให้ศีลเสมอกันและทิฏฐิเสมอกันได้นั้น บุคคล 2 กลุ่มเป็นอย่างน้อยควรตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนเองที่จะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม นั่นก็คือ
  1. นักวิชาการและ
  2. สื่อสารมวลชน
ผมเองคาดหวังว่านักวิชาการควรชี้ทางสว่างให้แก่สังคมได้ และสื่อสารมวลชนควรให้การศึกษาแก่ประชาชนได้ นอกจากนี้สื่อสารมวลชนยังต้องรับภาระด้านการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่สังคมอีกด้วย ในบรรยายธรรมเรื่องสิงคาลกสูตรท่านก็พูดถึงคุณธรรมอันสำคัญข้อหนึ่งคือการปราศจากอคติ 4 ผมคิดว่าคนสองกลุ่มนี้ควรอย่างยิ่งที่จะต้องปราศจากอคติ 4 คือความลำเอียง 4 ประการซึ่งประกอบด้วย
  1. ฉันทาคติ คือลำเอียงเพราะชอบ
  2. โทสาคติ คือลำเอียงเพราะชัง
  3. โมหาคติ คือลำเอียงเพราะหลง
  4. ภยาคติ คือลำเอียงเพราะกลัว
ถ้านักวิชาการและสื่อสารมวลชนของประเทศไทยไม่สามารถสลัดอคติ 4 ออกไปได้ มัวแต่สร้างหลักการ ให้ความเห็น เสนอข่าว ปลุกระดม กันด้วยอคติ 4 แล้วภาวะที่ศีลจะเสมอกัน ทิฏฐิจะเสมอกันได้มันก็ไม่เกิด ถ้าสภาพความเสมอกันนี้ไม่เกิดขึ้น สามัคคีมันก็ไม่เกิด ความสุขความเจริญในประเทศชาติมันก็ไม่เกิด

หากการแสดงหลักการ แสดงความเห็น เสนอข่าวและข้อมูลต่าง ๆ กระทำกันแบบตรงไปตรงมาโดยปราศจากอคติ 4 ประชาชนก็จะได้เรียนรู้ และเมื่อประชาชนได้เรียนรู้ก็จะเกิดความเข้าใจในสภาพศีลเสมอกัน ทิฏฐิเสมอกัน เมื่อเข้าใจและปฏิบัติได้ สามัคคีก็เกิด ความเจริญก้าวหน้าก็เกิด

ผมคิดว่าเราไม่ต้องไปหวังอะไรจากนักการเมือง เจ้าลัทธิ นักปลุกระดม แต่เราควรคาดหวังได้จากนักวิชาการและสื่อสารมวลชนธรรมดา ๆ นี่แหละ ถ้าเราคาดหวังอะไรจากนักวิชาการและสื่อสารมวลชนไม่ได้ ไม่ว่าหลักการสวยหรูใด ๆ ก็ไม่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์อันใดแก่ประเทศไทย ประชาชนชาวไทย และสังคมไทยทั้งสิ้น

ถ้าพวกเราจะรู้ทันนักการเมือง เจ้าลัทธิ และนักปลุกระดมได้ ประเทศไทยน่าจะเจริญกว่านี้ สงบสุขกว่านี้ และน่าอยู่กว่านี้มากทีเดียว

อ้างอิง
บรรยายธรรมที่ผมได้รับฟังนี้เป็นบรรยายธรรมเรื่องพระสูตรของท่านพระธรรมเมธาภรณ์ (ระแบบ ฐิตญาโณ) เป็นพระสูตรแผ่นที่หนึ่ง ลำดับที่ 2 และลำดับที่ 14 - 17 ตามลำดับ

วันอาทิตย์, มกราคม 06, 2556

คำถามที่ตรรก (เท่าที่ผมมีปัญญาอยู่) ตอบไม่ได้

คำถามที่ตรรก (เท่าที่ผมมีปัญญาอยู่) ตอบไม่ได้มีดังต่อไปนี้
  1. ภาษาที่มีคนใช้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เรียกว่าภาษามีชีวิต แล้วทำไมต้องเคร่งครัดกับการเขียนภาษาไทยให้ถูกต้องด้วย
  2. มนุษยชาติใหญ่กว่าชาติ และความคลั่งชาติก็สร้างปัญหาให้มนุษยชาติมากมาย ทำไมต้องรักชาติของตนมากกว่าชาติอื่น ๆ ด้วย
  3. มารยาทเป็นเพียงการแสดงออก บอกไม่ได้ด้วยซ้ำว่าจริงใจหรือไม่ ทำไมต้องมีมารยาทด้วย
  4. ความดี-ความชั่ว เป็นเรื่องสัมพัทธ์ จะดีหรือชั่วขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ ณ ขณะนั้น ๆ สถานที่นั้น ๆ มันไม่ได้มีอยู่จริง แล้วทำไมจะต้องไปใส่ใจมากมายกับ ความดี-ความชั่ว โดยเฉพาะยิ่งกับสิ่งที่เรียกว่า จริยธรรม-ศีลธรรม ยิ่งน่าสงสัยด้วยซ้ำไปว่ามันคืออะไร มีจริงหรือไม่
  5. การเลี้ยงดูบุตรของพ่อแม่ การสั่งสอนศิษย์ของครูอาจารย์ การช่วยชีวิตคนของหมอ ทหาร ตำรวจ อาสาสมัคร ล้วนเป็นการทำงานในหน้าที่ตามปกติ ทำไมต้องเป็นบุญคุณกัน ทำไมต้องมีความกตัญญูเป็นคุณธรรมด้วย
  6. คน ๆ หนึ่งทำให้สิ่งของของอีกคนหนึ่งเสียหายโดยไม่ได้ตั้งใจ ยินดีรับผิดชอบความเสียหายทั้งหมด แต่ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องก้มหัวเอ่ยคำขอโทษ ในเมื่อไม่ได้เจตนา ในเมื่อยินดีรับผิดชอบความเสียหาย ทำไมต้องขอโทษด้วย
  7. การซื้อขายประเวณี หากเป็นการเต็มใจของผู้ขายและผู้ซื้อ ทั้งสองฝ่ายยังไม่มีพันธะครอบครัว ถือว่าผิดศีล 5 หรือไม่ และถือว่าผิดคุณธรรมใดหรือไม่ ทำไมการค้าประเวณีจึงได้ชื่อว่าเป็นการค้ามนุษย์?
ก่อนจบ ขอชี้แจงว่าผมไม่ได้สงสัยเอง แต่ผมไม่สามารถตอบคำถามนักเรียน-นักศึกษาให้สิ้นสงสัยไปได้ด้วยตรรก

ผมมีความปรารถนาจะตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ด้วยตรรก จึงมาบันทึกคำถามเหล่านี้ไว้เพื่อให้คนมาช่วยเหลือครับ คำตอบที่ได้ผมจะนำไปเรียบเรียงและใช้ตอบคำถามนักเรียนในโอกาสที่จำเป็นต่อไป

ผมคิดว่าหากเราไม่พยายามตอบคำถามทำนองนี้ด้วยความเข้าอกเข้าใจในผู้ถาม สักแต่ว่าติเตียนถ่ายเดียว การเรียนรู้อย่างแท้จริงของเยาวชนก็จะไม่เกิด และจะกลายเป็นระเบิดเวลากลับมาทำร้ายสังคมของเราเองได้ในอนาคต