วันเสาร์, พฤษภาคม 22, 2553

ความคับแค้นใจนั้นเป็นของจริง

ผมได้ดูภาพข่าวและการสัมภาษณ์ประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุม น.ป.ช. เมื่อวานนี้ ทั้งภาพความซึมเศร้า ทั้งการให้สัมภาษณ์ที่เห็นได้ชัดว่ามีความเสียใจจริง ๆ เมื่อการชุมนุมยุติ ตอกย้ำความเชื่อของผมอย่างหนึ่งว่า

คนเหล่านี้คือส่วนที่ไม่ได้ถูกจ้าง (ผมเชื่อว่ามีส่วนที่ถูกจ้างด้วย) เขามาด้วยใจ มาด้วยความรู้สึกคับแค้นจริง ๆ และเชื่อจริง ๆ ว่าสิ่งที่แกนนำจะพาเขาไปนั้น จะแก้ปัญหาให้เขาได้ (ซึ่งแน่นอน ผมเชื่อต่างไปจากเขาร้อยแปดสิบองศา)


ในทางกลับกัน เหตุการณ์ครั้งนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า ช่องว่างในสังคมไทยนั้น ไม่ได้มีเพียงช่องว่างทางรายได้
ข้อความต่าง ๆ ใน Facebook สะท้อนช่องว่างทางทัศนคติ
ข้อความต่าง ๆ ใน Facebook สะท้อนช่องว่างทางโอกาส
ข้อความต่าง ๆ ใน Facebook สะท้อนการไม่พยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน

นี่คือโจทย์ที่รัฐ (ไม่ใช่พรรคการเมือง) จะต้องมอง เอาใจใส่

ในทางหนึ่ง จะต้องสืบค้นต้นตอของปัญหาของผู้ร่วมชุมนุมให้ได้ว่ามันคืออะไร และจะต้องแก้ไขให้ถูกจุด (วางใจได้บ้างเมื่อได้เห็นคุณหญิงสุพัตรา ออกรายการคุณกนกเมื่อหลายวันก่อน)

ในอีกทางหนึ่งจะต้องให้ความรู้แก่ประชาชน ในเรื่องของการเคารพผู้อื่นในฐานะคนเท่าเทียมกัน ให้การดูหมิ่นคนด้วยชาติกำเนิด ด้วยฐานะ ด้วยการศึกษา เป็นเรื่องที่น่าอาย น่าดูถูก ให้ได้ (รวมทั้งในทางกลับกันด้วย เช่นการดูถูกคนรวยว่าจะต้องหยิ่งแน่ ๆ หรือเรียนเก่งแล้วจะต้องเห็นแก่ตัวแหง ๆ อะไรทำนองนี้ก็ไม่น่าจะยอมรับได้เช่นกันเป็นต้น)

ไม่เพียงรัฐเท่านั้น ผมคิดว่าประชาชนทุกคน หากตระหนักถึงปัญหานี้แล้ว ทุกท่านล้วนมีภาระหน้าที่เดียวกันนี้ทั้งสิ้น

มิเช่นนั้นแล้ว ความสงบหลังการชุมนุมยุติลงนั้น จะเป็นเพียงความสงบชั่วคราวที่ซ่อนรอยร้าวลึกไว้เบื้องหลัง

วันจันทร์, พฤษภาคม 17, 2553

นี้คือจุดจบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ประเทศไทยของเราวันนี้น่าเศร้านะครับ

ผมไม่ดีใจที่ทหารต้องบุก ผมไม่ดีใจที่ผู้ชุมนุมเสียชีวิต แต่ผมจะไม่ว่าทหารเลย และผมจะไม่ว่ารัฐบาลเลย เพราะนี่คือสิ่งที่จะต้องเป็นไป ตามเส้นทางที่มีคนขีดไว้ให้เดิน ผมไม่เห็นว่ารัฐบาลจะมีทางอย่างอื่นอีก นอกจากทางที่กำลังเป็นไปอยู่ ณ ขณะนี้ แต่คนที่ต้องรับผิดชอบก็คือแกนนำ เพราะมันเห็นได้ชัดว่านี่คือสิ่งที่เขาต้องการ

ผมอยากแสดงความเห็นและคำถามเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของการชุมนุมทีละเรื่องดังต่อไปนี้
ลำดับที่ 1 ข้อเรียกร้อง
ข้อเรียกร้อง คือ ให้ยุบสภา (ภายใน 15 วัน)
เหตุผล เพราะ นายกเข้าสู่ตำแหน่งโดยไม่ชอบธรรม (นัยว่าไม่ใช่พรรคอันดับหนึ่ง จึงไม่ควรมีสิทธิ์)
ผมขอถามว่า หากผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีในสภามีจำนวน 100 คน พรรค ก. มี ส.ส. อยู่ 34 คน พรรค ข. มี ส.ส. อยู่ 33 คน พรรค ค. มี ส.ส. อยู่ 33 คน และพรรค ข. ทำงานกับพรรค ก. ไม่ได้ จึงออกเสียงให้ พรรค ค. รวมได้ 66 เสียง ต่อ 34 เสียง
จะถือว่านายกรัฐมนตรีเข้าสู่ตำแหน่งอย่างชอบธรรมไหม?
หรือควรจะเป็นคนของ พรรค ก. ซึ่งได้รับเลือกเป็นอันดับหนึ่งคือ 34 เสียง?
หรือคนของพรรค ข. ไม่มีสิทธิ์ เลือกคนอื่นนอกจากคนของพรรค ก.
หรือว่าเราใช้วิธีเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงแล้ว โดยที่ไม่มีใครมาบอกผม!!??

ลำดับที่ 2 ข้อเรียกร้อง
ข้อเรียกร้อง คือ ให้ยุบสภา (ภายใน 15 วัน)
เหตุผล เพราะ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ชอบธรรม เป็นรัฐธรรมนูญฉบับทหาร
ผมขอชี้ให้เห็นว่า
  1. รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติมาแล้ว
  2. พรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ได้เป็นรัฐบาลในรัฐธรรมนูญอันนี้มาแล้ว ถ้าคิดว่ายุบสภามันแก้ปัญหาได้ น่าจะยุบสภาเสียแต่ตอนนั้นแล้ว เออนะ ตอนนั้นทำไมไม่ยุบสภาล่ะ
  3. ถ้าจะคุยกันเรื่องความชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรม อันเนื่องมาจากการรัฐประหาร เราจะตีกรอบไหม ว่าให้คุยย้อนเวลาได้ถึงไหน จะเอาให้ถึงเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เลยไหม จะย้อนไปได้หรือไม่ได้ จะใช้หลักเกณฑ์อะไร ผมเองเป็นคนธรรมดา ไม่ใช่นักรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์อะไร แต่ผมก็อยากรู้
ลำดับที่ 3 การเจรจา 1
ผู้ชุมนุม ยุบสภา
รัฐบาล ไม่ยุบสภา
ผู้ชุมนุม ยุบสภา
รัฐบาล โอเค งั้นยุบสภาใน 9 เดือน
ผู้ชุมนุม ยุบสภาภายใน 15 วัน
ปิดโต๊ะรอบที่หนึ่ง

ย้อนกลับไปที่ความต้องการของผู้ชุมนุมอีกครั้ง
ผู้ชุมนุมต้องการอะไรล่ะครับ คราวนี้ ไอ้ 15 วันที่ว่าตอนแรกมันก็เลยมาแล้วด้วย (And so what?) แล้วนอกจากเรื่องนี้ก็ไม่เคยเห็นจะแสดงความต้องการอื่น ๆ ว่าต้องการให้รัฐบาลทำอะไร หรือแก้ปัญหาอะไรให้

ลำดับที่ 4 เสรีภาพของสื่อ
ข้อเรียกร้อง คือ ให้สื่อมีเสรีภาพ
เหตุผล คือ สื่อต้องมีเสรีภาพจึงจะนำไปสู่สังคมที่มีปัญญาและเป็นสุข
เรื่องนี้มีคำถาม 2 ข้อ และประเด็นปลีกย่อยอีก 1 ข้อคือ
  1. สื่อที่โกหก ควรมีเสรีในการโกหกหรือไม่ ประเด็นเรื่องโกหกที่ชัดเจนที่สุด ก็คือคลิปเสียงนายกฯ ซึ่งฟังแล้วก็รู้ได้ว่าตัดต่อ ผู้เชี่ยวชาญก็ยืนยันแล้ว และก็เข้าสู่กระบวนการของศาลไปแล้ว ยังเอามาพูดซ้ำ ๆ อยู่อีก
  2. สื่อที่สร้างความเกลียดชัง ควรมีเสรีในการสร้างความเกลียดชังแก่กันหรือไม่
  3. สื่อที่ละเมิดสิ่งสักการะของปวงชน ควรมีเสรีภาพในการละเมิดสิ่งสักการะของปวงชนหรือไม่ อย่าว่าแต่การละเมิดนั้นสร้างมาจากเรื่องโกหก เลื่อนลอย ซึ่งแม้แต่จะกระทำกับคนธรรมดา ๆ ก็ถือว่าละเมิดสิทธิส่วนบุคคลตามกฏหมายสากลแล้ว (หมิ่นประมาท)
ผมเองอาจเพราะเป็นครู จึงคิดว่าอำนาจ (และเสรีภาพ) จะมีโดยปราศจากความรับผิดชอบไม่ได้ นี่คือเรื่องพื้นฐานที่มักจะถูกจงใจมองข้ามกันบ่อยที่สุดเท่าที่เคยอ่านเคยเห็นในอินเตอร์เนตมา

ลำดับที่ 4 ความรุนแรง
ใครบ้างที่ใช้ความรุนแรง ผมไม่ได้ทำถึงขนาดไปค้นมาทุกรายการ แค่แสดงเท่าที่จำได้ก็ไม่น้อยแล้ว
  • ละเลงเลือดสถานที่ราชการ (เอาล่ะ หากคิดว่าเป็นการแสดงออกแบบหนึ่ง ไม่ว่ากันก็ได้)
  • ละเลงเลือดบ้านนายก! (มันจะไม่ละเมิดสิทธิของบุคคล ๆ หนึ่งมากไปหน่อยหรือครับ)
  • บุกสถานีไทยคม
  • บุกเข้ารัฐสภา
  • ปิดถนน ตรวจค้นผู้คนที่สัญจรไปมา (ชักจะเหมือนปฏิวัติแล้วนะครับ เกลียดกันนัก ทำเองซะเลย)
  • หยุดรถไฟ (เจ๋งมากครับ ไม่มีอาวุธ แต่หยุดรถไฟทหารได้ ไม่มีทหารประเทศไหนใจดีเท่านี้อีกแล้วมั้งครับ)
นี่ยังไม่นับรวมความรุนแรงอื่น ๆ ที่ไม่เห็นคนทำนะครับเช่น
  • ระเบิดฐานเสาไฟฟ้าแรงสูง
  • ระเบิด M79 ตามสถานที่ราชการและที่ชุมชนต่าง ๆ

จะทำไปทำไมครับเนี่ย

ลำดับที่ 5 การสลายการชุมนุม 1
สั้น ๆ ง่าย ๆ พลิกทุกทฤษฏีการควบคุมฝูงชนก็คือ ในกลุ่มผู้ชุมนุม มีอาวุธ!
ประชาชนเสียชีวิต ทหารเสียชีวิต นักการเมืองสบายดี แกนนำสบายดี
พี่เอก คุณปริญญา เคยจัดกิจกรรมจำลองสถานการณ์การเมืองไทยมีผู้ชุมนุม ตอนที่เรียนอยู่เยอรมันนี ก็หลายปีแล้ว ผมไปไม่ทันกิจกรรมที่ว่า แต่ได้ยินว่าสนุกดี แต่จำได้ว่าการจัดการกับการชุมนุมแบบนั้นผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธนะครับพี่เอก

ลำดับที่ 6 การเจรจา 2
รัฐบาล เลือกตั้งใหม่ 14 พ.ย
ผู้ชุมนุม ให้ระบุวันยุบสภาชัด ๆ
รัฐบาล ระบุไม่ได้ ขอใช้กรอบเวลา 45 - 60 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง รวม 15 วัน เป็น Buffer Time เพื่อสะสางงานราชการที่อาจคั่งค้าง
ผู้ชุมนุม งั้นให้นายสุเทพมอบตัว
รัฐบาล เอ้า นายสุภาพไปรายงานตัวกับ DSI ผู้รับผิดชอบคดี
ผู้ชุมนุม ไม่ได้ ให้นายสุเทพไปมอบตัวกับตำรวจ
รัฐบาล ไม่ได้
ผู้ชุมนุม ไม่ได้ (ทั้ง ๆ ที่เกือบจะได้แล้ว)
ปิดโต๊ะรอบที่ 2

ผมสงสัยว่าในห้วงเวลานั้น จริง ๆ แล้วแกนนำต้องการอะไร ผู้ชุมนุมต้องการอะไร จริง ๆ แล้วหวังผลอะไร

ลำดับที่ 7 การสลายการชุมนุม 2
ไม่ติดตามข่าวแล้วครับ มันเครียด แล้วมันก็เศร้าด้วย

แต่ดูภาพรวมเอาพอจะเดาได้ไหมครับ
ว่าไอ้ที่มันเกิดขึ้นอยู่ตอนนี้น่ะ
ใครกันแน่ ที่อยากให้มันเกิด

ผมชอบโคนัน ปัวโรต์ และนักสืบอีกหลายคน คิดแบบนักสืบให้คิดเรื่องแรงจูงใจและผลประโยชน์
เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น ผลคือจบงานนี้ อภิสิทธิ์ เป็นนายกฯ ต่อไม่ได้แล้วครับ ผมเดาใจท่านว่าท่านลาออกแน่นอนหลังจากสลายผู้ชุมนุมเสร็จ อาจไม่ยุบสภา แต่คงจะลาออก

คิดว่าใครเกลียดคุณอภิสิทธิ์ครับ? ใครยอมให้คุณอภิสิทธิ์เป็นนายกฯไม่ได้? ใครจะได้ประโยชน์หากคุณอภิสิทธิ์ไม่ได้เป็นนายกต่อไป? ใครจะเสียประโยชน์หากคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกฯต่อไป?

มันอาจตอบคำถามได้ว่าสิ่งที่แกนนำต้องการจริง ๆ นั้นคืออะไร มันอาจอธิบายได้ว่าทำไมแกนนำถึงทำอย่างที่ทำลงไป และมันอาจอธิบายได้ว่าสิ่งที่ทำนั้น ทำเพื่อใคร

จะเป็นใครก็แล้วแต่ แต่ผมไม่คิดว่าเขาจะทำเพื่อประชาชนอย่างแน่นอน

วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 06, 2553

อริยสัจ 4 กับการเมือง

มีผู้รู้สอนให้ใช้อริยสัจ 4 ช่วยในการพิจารณาแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยแนะว่า
ทุกข์ คือปัญหา (สภาวะของปัญหา)
สมุทัย คือเหตุของปัญหา (นักศึกษามักใช้ทุกข์และสมุทัยสับสนปนเปกัน)
นิโรธ คือสภาวะสิ้นปัญหา (สภาพที่เราต้องการ)
มรรค คือเส้นทางที่จะนำไปสู่สภาวะสิ้นปัญหา (ทางแก้ปัญหา)



ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้น ทำให้ไม่เข้าใจหลายอย่าง ณ เวลานี้
ดูเหมือนทุกอย่างมันจะค่อย ๆ คลี่คลายออกแล้ว
แต่เรื่องที่ยังไม่เข้าใจ ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี

อย่างน้อย ๆ ตอนนี้ที่ไม่เข้าใจเลยมี 2 เรื่อง

เรื่องแรกคือการชุมนุมของคนเสื้อแดง ซึ่งมีข้อเรียกร้องที่เสียงดัง ฟังชัดที่สุดคือ
- ให้นายกรัฐมนตรียุบสภา (เดิมว่า ภายใน 15 วัน)

หากเราใช้อริยสัจสี่พิจารณา ก็พอจะจับได้ว่า คนเสื้อแดงเห็นว่าการยุบสภา เป็นการแก้ปัญหา ซึ่งก็คือ มรรค
ถามว่า หากตั้งคำตอบ ให้การยุบสภาเป็น มรรค
แล้วคำถามคือ ทุกข์ (ปัญหา) สมุทัย (เหตุของปัญหา) และ นิโรธ (ภาวะสิ้นปัญหา) ที่คนเสื้อแดงเขามีในใจมันคืออะไร? จริง ๆ เขาก็บอกมาหลายอย่าง แต่เราเชื่อมโยงไม่ได้สักทีว่า ยุบสภา มันจะเป็นมรรคของทุกข์เหล่านั้นได้อย่างไร

เรื่องที่สองคือข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งภายในวันที่ 14 พ.ย. 2553
ถ้ายุบสภาเลือกตั้งใหม่ตามกำหนด คือทางแก้ปัญหา หรือ มรรค ของท่านนายกรัฐมนตรี
ถามว่า ทุกข์ สมุทัย และนิโรธ ที่ท่านนายกรัฐมนตรีเห็นมันคืออะไร?

แล้วยิ่งย้อนกลับมาถามตัวเองด้วยว่า หากเรายอมรับการตัดสินใจยุบสภาของนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ยอมรับการเรียกร้องให้ยุบสภาของคนเสื้อแดง เหตุผลของเราคืออะไร?

...มีแต่คำถาม ไม่มีคำตอบ...

วันเสาร์, พฤษภาคม 01, 2553

หยุดให้ท้ายพันธมิตร

วลีนี้มีพลังอย่างมากในห้วงเวลานั้น

 หยุดให้ท้ายพันธมิตร!


ผมเห็นวลีนี้ครั้งแรกจากเพื่อนร่วมโลกไซเบอร์ และได้ตามไปอ่านบทความเต็มในมติชนสุดสัปดาห์

วันนี้ ผมอยากเห็นวลีนี้อีกครั้ง ต่อกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. โดยเฉพาะจากสำนักคิดเดิม เนื่องจากหากให้คนอื่นพูด ก็ไม่น่าจะมีพลังเพียงพอ หรือว่าพอวันนี้ เป็นอีกกลุ่มที่ชุมนุมกัน กระแสความคิดจะกลับกลายเป็นการพยายามทำความเข้าใจผู้ชุมนุม?

การทำความเข้าใจกับผู้ชุมนุมเป็นเรื่องที่ดี แต่ การที่ผู้ชุมนุมจะทำความเข้าใจกับระบบรัฐสภา ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำเหมือนกัน ไม่เช่นนั้น ความเข้าใจในลักษณะ
อู๊ยย...บ้านเมืองวุ่นวายร้อนร้าย ถ้าป้าทองเป็นรัฐบาล จะลาออก รู้ทั้งรู้ว่าประชาชนไม่ได้เลือกตัวเองมาเป็นรัฐบาลยังจะหน้าด้านอยู่ได้ เออ ถ้ายุบสภา เลือกตั้งใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ชนะ ป้าไม่ว่าซ๊ากคำ จะยอมรับเสียงคนที่เขาเลือกโดยดี แต่นี่อะไรไม่รู้ อยู่ ๆ ก็ขึ้นมาเป็นรัฐบาล สมควรแล้วที่จะโดนประชาชนขับไล่ จริงไหม
จากบทความ "นับแต่นี้ไปไม่เหมือนเดิม" โดย คำ ผกา
มติชนสุดสัปดาห์
ก็จะถูกนำไปขยายผล ทั้ง ๆ ที่ กลไกประชาธิปไตยของเรา ไม่มีการเลือกตั้ง ฝ่ายบริหาร โดยตรง มีแต่การเลือกฝ่ายนิติบัญญัติ แล้วให้ฝ่ายนิติบัญญัติ เลือกผู้บริหาร ข้อตกลงของเราเป็นอย่างนี้ ไม่ชอบก็ให้แก้รัฐธรรมนุญซะ ไม่ใช่ให้ยุบสภา แล้วใช้กติกาเดิม เพื่อตอบสนอง...อะไร??

สิทธิในการเลือกตัวแทนของประชาชน เข้าสู่รัฐสภา เป็นสิทธิของประชาชน
สิทธิในการเลือกฝ่ายบริหาร เข้าสู่ตำแหน่งบริหาร เป็นสิทธิของประชาชน ที่ฝากตัวแทนในรัฐสภามาใช้

ดังนั้น แม้จะไม่ใช่พรรคที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง หาก ตัวแทนของประชาชนในรัฐสภา ให้ความไว้วางใจให้ทำหน้าที่บริหาร ก็ไม่ได้ถือว่ามาเป็นผู้บริหารโดยไม่ชอบธรรมแต่อย่างใด

หรือว่าแม้ในวงวิชาการ วงการเสรีชน ก็มี สองมาตรฐาน!!??

หรือสิ่งที่เรียกว่าเหตุผล สุดท้ายก็เป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้สนองความต้องการของตน เท่านั้นเอง