เหตุนั้นยาวสักหน่อย ซึ่งก็คือ
วันนี้ต้องทำบางอย่างที่ไม่ได้อยากทำ แต่รับปากไว้แล้วก็ถือว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ พอใจคิดถึงจุดนั้นก็เลยคิดไปถึงว่าเคยมีคนบอกว่าคนเราสร้างสมาธิได้ 4 ทางคือ
- ฉันทสมาธิ - คือสมาธิที่มีความพึงพอใจรักในงานนั้น ๆ เป็นตัวนำ พอใจมันจมลงไปกับงานแล้ว มันก็เกิดสมาธิขึ้น
- วิริยสมาธิ - คือสมาธิที่มีความพากเพียรในงานนั้น ๆ เป็นตัวนำ (ข้อนี้ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไร)
- จิตตสมาธิ - คือสมาธิที่มีความตั้งใจในงานนั้น ๆ เป็นตัวนำ งานนี้อาจไม่ใช่งานที่ชอบก็ได้ แต่เป็นงานที่ได้รับมอบหมาย และบุคคลมีใจมุ่งมั่นว่าจะต้องทำให้สำเร็จ
- วิมังสาสมาธิ - คือสมาธิที่มีปัญญา ความรู้ ความเข้าใจในงานนั้น ๆ ความคิดที่จะพัฒนางานนั้น ๆ และมองเห็นว่าจะพัฒนาอย่างไรเป็นตัวนำ หรืออธิบายง่าย ๆ ตามความเข้าใจของผมก็คือ พอคนมันรู้ว่าจะทำได้อย่างไร ก็ถือว่ามีปัญญา ถ้าคน ๆ นั้นมีความรู้สึกอยากลงมือทำตามความคิด ก็ถือว่าถ้าทำไปจนจมลงไปกับงาน ก็น่าจะนับว่าเป็นวิมังสาสมาธิได้
อาจเป็นเคยได้ยินเรื่องนี้มา และเราปักใจคิดว่าเราเป็นพวกจิตตสมาธิ ก็เลยยึดมั่นถือมั่นกับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างมาก (แต่ไม่ใช่ว่าทำได้ดีทุกอย่าง งานหลายอย่าง เสร็จ แต่ไม่สำเร็จ) พอยึดติดมาก ๆ ก็เลยกลายเป็นนิสัย
เช่นวันนี้ไปสอน ไม่มีนักเรียนมา ก็นั่งรอ ถ้าเป็นสมัยก่อน (ตอนที่ยังบ้า ๆ อยู่) สอนผีไปแล้ว ตอนนี้ใจเย็นลง ก็นั่งรอ อันที่จริงจะไม่ต้องรอก็ได้ แต่ก็ยึดติดว่าได้รับมอบหมายมาให้สอนห้องนี้ ไม่มาก็ต้องรอ เมื่อเดือนก่อน รับปากเขาว่าจะเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยส่งให้ ก็ต้องเขียน อันที่จริงก็ไม่ใช่สาขาที่เชี่ยวชาญอะไร เมื่อรับปากไปแล้ว จู่ ๆ จะไม่ทำมันก็กระไรอยู่
แต่จากที่ร่วมงานกับนักศึกษามาผมสังเกตดู หลาย ๆ งานเป็นนักศึกษาเสนอเองว่าอยากจะทำ พอทำ ๆ ไปสักพักก็เลิก ก็หาย ถ้าผมไม่บังคับให้ทำ หมายถึงปล่อยให้คิดเองทำเอง เลือกเอง จะมีส่วนน้อยที่เลือกที่จะทำงานนั้น ๆ จนสำเร็จ เราก็รู้สึกว่านักศึกษาขาดความยึดมั่นถือมั่นในงานที่รับผิดชอบไปสักหน่อย เวลาผ่านมาพอสมควร คือสอนมาหลายปีแล้ว ต่อไปก็คงจะต้องคัดกรองอย่างมากเวลาจะร่วมงานกับนักศึกษา
เวลาเรียกมันว่าความยึดมั่นถือมั่นในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมันดูไม่ดีเนอะ ถ้าเรียกใหม่ว่า พันธะสัญญา หรือ Commitment ล่ะ ผมว่า Commitment นี่เป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งที่คนทำงานพึงมีเลยนะ คือ Commit ไปแล้ว รับปากไปแล้ว ต้องทำ จะเลิกง่าย ๆ ไม่ได้ ยกเว้นคอขาดบาดตายจริง ๆ
ที่เขียนมาก็ไม่ใช่ว่าตนเองจะดีเลิศอันใด ในสมัยเรียน น่าจะสักปี 2 ได้ ก็เคยทิ้งงานเหมือนกัน ตอนนั้นไม่รู้สึกผิดอะไร ก็คิดว่ามันจำเป็นอย่างนั้น-อย่างนี้ พอเวลาผ่านไปก็เริ่มรู้สึกผิดขึ้นมา ที่แย่คือดันลืมไม่ได้และวก็ย้อนเวลาไม่ได้ ก็เลยต้องรู้สึกผิดไปเรื่อย ๆ
ข้อดีของมันคือทำให้โกรธ-เกลียดคนอื่นได้น้อยลงอยู่ เพราะคิดซะว่าเราเคยทำอย่างนี้กับคนอื่น ตอนนี้ก็ถึงเวลาต้องใช้กรรม ก็รับกรรมไปซะ มันก็เครียดน้อยลง
ผมว่ามันเป็นคุณธรรมของคนที่จะเป็นผู้ใหญ่เลยนะ คือโตแล้ว พูดไปแล้วก็ต้องพยายามทำให้ได้ ติดขัดหรือต้องการความช่วยเหลืออะไร ลดขนาดงาน หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็คุยกัน หาทางออก แต่ทิ้งไปเฉย ๆ ไม่ได้ เพราะเมื่อเราได้ตกปากรับคำไปแล้ว ก็จะมีคนอื่น ๆ อีกมากที่จะได้ร่วมเดินทางกับเราด้วย บางคนอาจไม่ได้อยากเดินทางแต่แรก แต่ก็ร่วมทางมาเพราะเชื่อถือ/เชื่อมั่นในตัวเราหรือแม้แต่เพราะเราขอร้องเขามา แล้ววันหนึ่ง เราก็หยุดเดินไปเฉย ๆ วันนั้นเราจะตอบเพื่อนร่วมทางของเราทั้งหลายอย่างไร?
2 ความคิดเห็น:
ผมเคยลองทางเลือกที่ 1 ครับ
ผมจมลงไปกับโจทย์คณิตศาสตร์ สิ่งที่เกิดขึ้นกับผมก็คือ ผมจมจริงๆ ไม่มีสิ่งใดโผล่แม้เพียงเงาคำตอบ(ฮา)
อ่านๆความคิดเห็นของผมไปอาจฮา แต่จมโจทย์ตอบสอบนิ ไม่ฮาน่ะ (ฮา)
คุณ Civil จมกับงานผิดเวลาครับ :)
ต้องจมตอนซ้อมทำโจทย์
เปรียบเสมือนทุ่มเทการซ้อมรบ พอจะรบจริง ๆ ก็สบาย
ไม่ใช่ไปรอจนสอบค่อยจม
เปรียบเสมือนไม่ซ้อมรบ แต่ออกรบเลย เวลาเจอปัญหาเฉพาะหน้าก็ไม่สามารถเอาประสบการณ์ที่ไหน มาช่วยได้
แสดงความคิดเห็น