วันจันทร์, พฤษภาคม 17, 2553

นี้คือจุดจบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ประเทศไทยของเราวันนี้น่าเศร้านะครับ

ผมไม่ดีใจที่ทหารต้องบุก ผมไม่ดีใจที่ผู้ชุมนุมเสียชีวิต แต่ผมจะไม่ว่าทหารเลย และผมจะไม่ว่ารัฐบาลเลย เพราะนี่คือสิ่งที่จะต้องเป็นไป ตามเส้นทางที่มีคนขีดไว้ให้เดิน ผมไม่เห็นว่ารัฐบาลจะมีทางอย่างอื่นอีก นอกจากทางที่กำลังเป็นไปอยู่ ณ ขณะนี้ แต่คนที่ต้องรับผิดชอบก็คือแกนนำ เพราะมันเห็นได้ชัดว่านี่คือสิ่งที่เขาต้องการ

ผมอยากแสดงความเห็นและคำถามเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของการชุมนุมทีละเรื่องดังต่อไปนี้
ลำดับที่ 1 ข้อเรียกร้อง
ข้อเรียกร้อง คือ ให้ยุบสภา (ภายใน 15 วัน)
เหตุผล เพราะ นายกเข้าสู่ตำแหน่งโดยไม่ชอบธรรม (นัยว่าไม่ใช่พรรคอันดับหนึ่ง จึงไม่ควรมีสิทธิ์)
ผมขอถามว่า หากผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีในสภามีจำนวน 100 คน พรรค ก. มี ส.ส. อยู่ 34 คน พรรค ข. มี ส.ส. อยู่ 33 คน พรรค ค. มี ส.ส. อยู่ 33 คน และพรรค ข. ทำงานกับพรรค ก. ไม่ได้ จึงออกเสียงให้ พรรค ค. รวมได้ 66 เสียง ต่อ 34 เสียง
จะถือว่านายกรัฐมนตรีเข้าสู่ตำแหน่งอย่างชอบธรรมไหม?
หรือควรจะเป็นคนของ พรรค ก. ซึ่งได้รับเลือกเป็นอันดับหนึ่งคือ 34 เสียง?
หรือคนของพรรค ข. ไม่มีสิทธิ์ เลือกคนอื่นนอกจากคนของพรรค ก.
หรือว่าเราใช้วิธีเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงแล้ว โดยที่ไม่มีใครมาบอกผม!!??

ลำดับที่ 2 ข้อเรียกร้อง
ข้อเรียกร้อง คือ ให้ยุบสภา (ภายใน 15 วัน)
เหตุผล เพราะ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ชอบธรรม เป็นรัฐธรรมนูญฉบับทหาร
ผมขอชี้ให้เห็นว่า
  1. รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติมาแล้ว
  2. พรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ได้เป็นรัฐบาลในรัฐธรรมนูญอันนี้มาแล้ว ถ้าคิดว่ายุบสภามันแก้ปัญหาได้ น่าจะยุบสภาเสียแต่ตอนนั้นแล้ว เออนะ ตอนนั้นทำไมไม่ยุบสภาล่ะ
  3. ถ้าจะคุยกันเรื่องความชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรม อันเนื่องมาจากการรัฐประหาร เราจะตีกรอบไหม ว่าให้คุยย้อนเวลาได้ถึงไหน จะเอาให้ถึงเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เลยไหม จะย้อนไปได้หรือไม่ได้ จะใช้หลักเกณฑ์อะไร ผมเองเป็นคนธรรมดา ไม่ใช่นักรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์อะไร แต่ผมก็อยากรู้
ลำดับที่ 3 การเจรจา 1
ผู้ชุมนุม ยุบสภา
รัฐบาล ไม่ยุบสภา
ผู้ชุมนุม ยุบสภา
รัฐบาล โอเค งั้นยุบสภาใน 9 เดือน
ผู้ชุมนุม ยุบสภาภายใน 15 วัน
ปิดโต๊ะรอบที่หนึ่ง

ย้อนกลับไปที่ความต้องการของผู้ชุมนุมอีกครั้ง
ผู้ชุมนุมต้องการอะไรล่ะครับ คราวนี้ ไอ้ 15 วันที่ว่าตอนแรกมันก็เลยมาแล้วด้วย (And so what?) แล้วนอกจากเรื่องนี้ก็ไม่เคยเห็นจะแสดงความต้องการอื่น ๆ ว่าต้องการให้รัฐบาลทำอะไร หรือแก้ปัญหาอะไรให้

ลำดับที่ 4 เสรีภาพของสื่อ
ข้อเรียกร้อง คือ ให้สื่อมีเสรีภาพ
เหตุผล คือ สื่อต้องมีเสรีภาพจึงจะนำไปสู่สังคมที่มีปัญญาและเป็นสุข
เรื่องนี้มีคำถาม 2 ข้อ และประเด็นปลีกย่อยอีก 1 ข้อคือ
  1. สื่อที่โกหก ควรมีเสรีในการโกหกหรือไม่ ประเด็นเรื่องโกหกที่ชัดเจนที่สุด ก็คือคลิปเสียงนายกฯ ซึ่งฟังแล้วก็รู้ได้ว่าตัดต่อ ผู้เชี่ยวชาญก็ยืนยันแล้ว และก็เข้าสู่กระบวนการของศาลไปแล้ว ยังเอามาพูดซ้ำ ๆ อยู่อีก
  2. สื่อที่สร้างความเกลียดชัง ควรมีเสรีในการสร้างความเกลียดชังแก่กันหรือไม่
  3. สื่อที่ละเมิดสิ่งสักการะของปวงชน ควรมีเสรีภาพในการละเมิดสิ่งสักการะของปวงชนหรือไม่ อย่าว่าแต่การละเมิดนั้นสร้างมาจากเรื่องโกหก เลื่อนลอย ซึ่งแม้แต่จะกระทำกับคนธรรมดา ๆ ก็ถือว่าละเมิดสิทธิส่วนบุคคลตามกฏหมายสากลแล้ว (หมิ่นประมาท)
ผมเองอาจเพราะเป็นครู จึงคิดว่าอำนาจ (และเสรีภาพ) จะมีโดยปราศจากความรับผิดชอบไม่ได้ นี่คือเรื่องพื้นฐานที่มักจะถูกจงใจมองข้ามกันบ่อยที่สุดเท่าที่เคยอ่านเคยเห็นในอินเตอร์เนตมา

ลำดับที่ 4 ความรุนแรง
ใครบ้างที่ใช้ความรุนแรง ผมไม่ได้ทำถึงขนาดไปค้นมาทุกรายการ แค่แสดงเท่าที่จำได้ก็ไม่น้อยแล้ว
  • ละเลงเลือดสถานที่ราชการ (เอาล่ะ หากคิดว่าเป็นการแสดงออกแบบหนึ่ง ไม่ว่ากันก็ได้)
  • ละเลงเลือดบ้านนายก! (มันจะไม่ละเมิดสิทธิของบุคคล ๆ หนึ่งมากไปหน่อยหรือครับ)
  • บุกสถานีไทยคม
  • บุกเข้ารัฐสภา
  • ปิดถนน ตรวจค้นผู้คนที่สัญจรไปมา (ชักจะเหมือนปฏิวัติแล้วนะครับ เกลียดกันนัก ทำเองซะเลย)
  • หยุดรถไฟ (เจ๋งมากครับ ไม่มีอาวุธ แต่หยุดรถไฟทหารได้ ไม่มีทหารประเทศไหนใจดีเท่านี้อีกแล้วมั้งครับ)
นี่ยังไม่นับรวมความรุนแรงอื่น ๆ ที่ไม่เห็นคนทำนะครับเช่น
  • ระเบิดฐานเสาไฟฟ้าแรงสูง
  • ระเบิด M79 ตามสถานที่ราชการและที่ชุมชนต่าง ๆ

จะทำไปทำไมครับเนี่ย

ลำดับที่ 5 การสลายการชุมนุม 1
สั้น ๆ ง่าย ๆ พลิกทุกทฤษฏีการควบคุมฝูงชนก็คือ ในกลุ่มผู้ชุมนุม มีอาวุธ!
ประชาชนเสียชีวิต ทหารเสียชีวิต นักการเมืองสบายดี แกนนำสบายดี
พี่เอก คุณปริญญา เคยจัดกิจกรรมจำลองสถานการณ์การเมืองไทยมีผู้ชุมนุม ตอนที่เรียนอยู่เยอรมันนี ก็หลายปีแล้ว ผมไปไม่ทันกิจกรรมที่ว่า แต่ได้ยินว่าสนุกดี แต่จำได้ว่าการจัดการกับการชุมนุมแบบนั้นผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธนะครับพี่เอก

ลำดับที่ 6 การเจรจา 2
รัฐบาล เลือกตั้งใหม่ 14 พ.ย
ผู้ชุมนุม ให้ระบุวันยุบสภาชัด ๆ
รัฐบาล ระบุไม่ได้ ขอใช้กรอบเวลา 45 - 60 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง รวม 15 วัน เป็น Buffer Time เพื่อสะสางงานราชการที่อาจคั่งค้าง
ผู้ชุมนุม งั้นให้นายสุเทพมอบตัว
รัฐบาล เอ้า นายสุภาพไปรายงานตัวกับ DSI ผู้รับผิดชอบคดี
ผู้ชุมนุม ไม่ได้ ให้นายสุเทพไปมอบตัวกับตำรวจ
รัฐบาล ไม่ได้
ผู้ชุมนุม ไม่ได้ (ทั้ง ๆ ที่เกือบจะได้แล้ว)
ปิดโต๊ะรอบที่ 2

ผมสงสัยว่าในห้วงเวลานั้น จริง ๆ แล้วแกนนำต้องการอะไร ผู้ชุมนุมต้องการอะไร จริง ๆ แล้วหวังผลอะไร

ลำดับที่ 7 การสลายการชุมนุม 2
ไม่ติดตามข่าวแล้วครับ มันเครียด แล้วมันก็เศร้าด้วย

แต่ดูภาพรวมเอาพอจะเดาได้ไหมครับ
ว่าไอ้ที่มันเกิดขึ้นอยู่ตอนนี้น่ะ
ใครกันแน่ ที่อยากให้มันเกิด

ผมชอบโคนัน ปัวโรต์ และนักสืบอีกหลายคน คิดแบบนักสืบให้คิดเรื่องแรงจูงใจและผลประโยชน์
เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น ผลคือจบงานนี้ อภิสิทธิ์ เป็นนายกฯ ต่อไม่ได้แล้วครับ ผมเดาใจท่านว่าท่านลาออกแน่นอนหลังจากสลายผู้ชุมนุมเสร็จ อาจไม่ยุบสภา แต่คงจะลาออก

คิดว่าใครเกลียดคุณอภิสิทธิ์ครับ? ใครยอมให้คุณอภิสิทธิ์เป็นนายกฯไม่ได้? ใครจะได้ประโยชน์หากคุณอภิสิทธิ์ไม่ได้เป็นนายกต่อไป? ใครจะเสียประโยชน์หากคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกฯต่อไป?

มันอาจตอบคำถามได้ว่าสิ่งที่แกนนำต้องการจริง ๆ นั้นคืออะไร มันอาจอธิบายได้ว่าทำไมแกนนำถึงทำอย่างที่ทำลงไป และมันอาจอธิบายได้ว่าสิ่งที่ทำนั้น ทำเพื่อใคร

จะเป็นใครก็แล้วแต่ แต่ผมไม่คิดว่าเขาจะทำเพื่อประชาชนอย่างแน่นอน

3 ความคิดเห็น:

watdiy กล่าวว่า...

ดูเหมือนว่าจะยุติ (ชั่วคราว )แต่ก็ยังดีกว่าที่ยังต้องอึ้มครึม จริง ๆ มันก็ต้องแลก สิ่งดี ๆ ใหม่ ๆ มันก็ต้องแลกการสูญเสีย
ก็ได้แต่หวังว่าต่อแต่นี้ไป เมือไทยของเราคงมีพัฒนาการไปในทางที่ดีกว่าแต่ก่อน...( หลายท่านอยากให้กลับเป็นเหมือนเดิมในด้านดี ) แต่สำหรับผม ถ้าเป็นไปในแนวทางที่ดีที่ถูกที่ควร ไม่จำเป็นต้องเหมือนเดิมก็ได้ครับ

jark กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ
แต่เดิมผมอาจมองโลกในแง่ร้ายกว่านิดหน่อยในลักษณะที่ว่า

เราคงกลับไปเป็นเหมือนเดิมไม่ได้อีกแล้ว

แต่มันก็จริงอย่าที่คุณ watdiy ว่า ที่เราไม่จำเป็นต้องกลับไปเหมือนเดิมนี่นา

เราก็ทำให้มันดีขึ้นก็ได้

jark กล่าวว่า...

เรื่องนี้ผมทายผิด
คุณอภิสิทธิ์ไม่ยุบสภา
แต่ปรับ ค.ร.ม แทน

อาจมีบางอย่างที่ผมไม่รู้
หรือไม่ก็ถือเสียว่า ผมตีค่าคุณอภิสิทธิ์สูงไปนิดหนึ่งก็ได้