วันศุกร์, ธันวาคม 02, 2554

ปัญหาการทุจริตฉ้อราษฏร์บังหลวง - มุมมองใหม่

วันนี้ได้อ่านบทความ "ไทยติดอันดับ ๘๐ คอรับชั่นโลก" จากไทยโพสต์ ฉบับวันศุกร์ที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๔ แล้วลองคิด ๆ ดูได้พบมุมใหม่ขึ้นมาประการหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้สังคมไทยพ้นไปจากสภาพ "เรื่องโกงเป็นเรื่องธรรมชาติ" ได้


มุมมองใหม่ที่ว่านี้เกิดจากความคิดที่ว่า 
คนเหมือนกัน ทำไมบางประเทศจึงมีการฉ้อราษฏร์บังหลวงน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ?
เป็นไปได้หรือไม่ว่าแต่เดิม มุมมองที่เรามีต่อการฉ้อราษฏร์บังหลวงและวิธีที่เราพยายามใช้แก้ไขพฤติกรรมการฉ้อราษฏร์บังหลวงนั้นมาจากมิติที่ไม่รอบด้านเพียงพอ เมื่อมองจากมุมที่จำกัดจึงไม่เห็นสาเหตุที่แท้จริง เมื่อไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงจึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้

ที่คิดอย่างนี้เพราะผมไม่อาจทำใจเชื่อได้ว่าคนต่างชาติจะมีศีลธรรมสูงกว่าคนไทย (และไม่เชื่อว่าคนไทยจะมีศีลธรรมสูงกว่าคนต่างชาติ) ในแง่ของความเป็นมนุษย์ผมคิดว่า คนไม่ต่างกัน แต่อะไรล่ะที่ทำให้สังคมของคนในแต่ละที่มันถึงได้ต่างกัน

มุมมองเดิมคืออะไร? มุมมองเดิมก็คือการฉ้อราษฏร์บังหลวงเกิดขึ้นเพราะคนมันเลว ดังนั้นวิธีแก้คือทำให้คนมันกลายเป็นคนดีซะ!!?? ซึ่งผมว่ามันตื้นมาก ตื้นเกินไป ตื้นขนาดที่มีโฆษณารณรงค์ให้เป็นคนดีแบบแปลก ๆ เช่นมีโฆษณาวิทยุอยู่โฆษณาหนึ่ง เป็นฉากสอบสัมภาษณ์สมัครงานซึ่งมีดังนี้

ผู้สัมภาษณ์: พิมพ์ดีดเป็นไหม
ผู้สมัคร: ไม่เป็นครับ
ผู้สัมภาษณ์: ใช้คอมพิวเตอร์เป็นไหม
ผู้สมัคร: ไม่เป็นครับ
ผู้สัมภาษณ์: เอ้า! แล้วเป็นอะไรมั่งเนี่ย
ผู้สมัคร: เป็นคนดีครับ
ผู้สัมภาษณ์: โอเค...รับเลย

ผมคิดว่าถ้ารับคนดีแบบนี้เข้าไปทำงาน ผู้ใช้บริการหน่วยงานอาจจะเป็นฝ่ายเสียหายมากกว่า แล้วมันก็ไม่ใช่การทำดีตรงไหน การส่งเสริมคนดีที่เป็นอย่างนี้ในระยะยาวแล้วอาจสร้างคนเลวอื่น ๆ ขึ้นได้มาก สรุปแล้วจะเสียมากกว่าดี

ด้วยการที่เรามองว่าความเลวเป็นเหตุแห่งการฉ้อราษฏร์บังหลวง เมื่อจะดับที่เหตุก็เลยดับที่ความเลวโดยทำให้มันดีซะ ซึ่งจากข่าวไทยโพสต์วันนี้แสดงให้เห็นเองแล้วว่ามันไม่ได้ผล (หรืออย่างน้อย แก้ไขที่ประเด็นนี้เพียงประเด็นเดียวมันไม่ได้ผล)

งั้นเราเอาใหม่ ลองตั้งสมมติฐานว่าคนเราจะ ดี-เลว ในแต่ละสังคมไม่น่าจะต่างกันมากนักหรอก ดังนั้นจะ ดี หรือ เลว อาจไม่ใช่สาเหตุของการฉ้อราษฏร์บังหลวงโดยตรง สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้มีการโกงเกิดขึ้นน่าจะมีอะไรได้อีกบ้าง...


ประเด็นหนึ่งที่น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การฉ้อราษฏร์บังหลวงกลายเป็นเรื่องที่คนธรรมดายอมรับได้ก็คือ ระบบงานมันไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าลองนึกถึงสมัยที่องค์การโทรศัพท์ยังเป็นผู้ให้บริการคู่สายโทรศัพท์เพียงรายเดียวในประเทศไทยอยู่ การขอคู่สายโทรศัพท์เป็นเรื่องที่ยาก ใช้เวลานาน ราคาแพงและความช้าเร็วในการรอคิวขึ้นอยู่กับเงินพิเศษที่อาจต้องจ่ายเพิ่ม

คนยอมจ่ายเพราะระบบมันไร้ประสิทธิภาพ

ปัจจุบันมีผู้ให้บริการหลายเจ้า แต่ละเจ้าแข่งขันกันในด้านประสิทธิภาพการให้บริการ เมื่อระบบงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้อง "ยอมจ่าย" อีกต่อไป ถ้ามีเจ้าพนักงานเรียกเงินเพิ่ม ผู้ใช้บริการก็จะรับไม่ได้ และไม่ยอมจ่ายในที่สุด

บางครั้ง ปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้คนไม่มีฉวยโอกาสฉ้อราษฏร์บังหลวงได้ก็เพราะคนธรรมดา หาข้ออ้างให้ตัวเองทำผิดระเบียบได้โดยไม่รู้สึกผิด ตัวอย่างเช่น ผมเคยสังเกตนักศึกษาที่ซื้ออาหารจากโรงอาหาร ในยุคหนึ่งไม่ค่อยพบว่าจะมีการเข้าคิวเท่าไร ใครแทรกเก่ง หน้าด้าน ก็จะได้สั่งอาหารก่อน นักศึกษากลุ่มเดียวกันเวลาไปซื้อตั๋วหนังที่ SF หรือ EGV กลับสามารถเข้าคิวต่อแถวกันได้อย่างเป็นระเบียบ

คนกลุ่มเดียวกันแท้ ๆ

นี่ยิ่งยืนยันกับผมต่อไปว่า ถ้าระบบดีมีประสิทธิภาพ ไม่มีคนธรรมดาคนไหนอยากจะเอาเปรียบคนอื่น ไม่อยากจะลัดคิว ไม่อยากจะผิดระเบียบ แต่เนื่องจากระบบมันไม่มีประสิทธิภาพ คนธรรมดาไม่อยากจะเสียเปรียบใครก็เลยมีข้ออ้างให้ตัวเองต้องยอมทำผิดระเบียบ แล้วก็เลยต้องพึ่งพาคนไม่ดีที่มีอำนาจ เป็นจุดเริ่มต้นของวงจรอุบาทว์ของการฉ้อราษฏร์บังหลวงของประเทศชาติต่อไป

ดังนั้นการแก้ไขปัญหาการฉ้อราษฏร์บังหลวงที่น่าจะได้ผลดีกว่าการโฆษณารณรงค์ให้คนเป็นคนดี ก็คือการปรับปรุงประสิทธิภาพในงานต่าง ๆ ให้สูงขึ้น และนั่นทำให้ขยายความต่อไปได้อีกว่า การที่เรายอมให้มีความไร้ประสิทธิภาพในงานของเราก็เท่ากับเราส่งเสริมการฉ้อราษฏร์บังหลวงและเป็นส่วนหนึ่งของมันนั่นเอง

วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 17, 2554

การเมือง - เกมแห่งอำนาจ

ขอเดาว่า เรื่องวุ่น ๆ ทางการเมืองช่วงนี้ ว่าด้วยเรื่องการอภัยโทษ
ดูไปดูมา อาจจะเป็นเพียงละครการเมืองเท่านั้นของผู้เล่นหนึ่งตัวเท่านั้น

สำนวนที่ว่า เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล ใช้ได้กับผู้นำที่ปราศจากธรรม
แต่ขุนพลรู้จักเกมแห่งอำนาจ คงไม่ยอมให้ศึกจบง่าย ๆ
ถ้าศึกจบ ขุนพลก็หมดความหมาย
แต่ถ้าแพ้ศึก ขุนพลก็หมดความหมายเหมือนกัน

ถ้าศึกยืดเยื้อล่ะ?
ชนะแต่ไม่เด็ดขาด เพลี่ยงพล้ำแต่ไม่ยับเยิน
มึงต้องใช้กูไปเรื่อย ๆ นี่แหละ อย่ามาสะเออะหายใจเอง

หักเหลี่ยม เฉือนคมกันแบบเนียน ๆ
ไม่รู้ว่ามีคนกระอักเลือดหรือยัง
...น่าจะยัง เพราะมันอาจไม่ใช่เกม
...น่าจะยัง เพราะถ้าเป็นเกม มันก็ยังไม่จบง่าย ๆ
...น่าจะยัง เพราะคนเล่นคงวางหมากไว้หลายชั้น นี่แค่ชั้นแรก ๆ


หรืออาจจะไม่มีการกระอักเลือดเลยก็ได้เพราะผมคิดผิด (และผมก็ผิดบ่อย ๆ)
มันอาจจะเป็นของมันอย่างนั้นแหละไม่ใช่เกมเกิมอะไรสักหน่อย
คิดมากไปได้ เหอ เหอ เหอ


เอาเถอะครับ ชอบผู้บริหารแบบนี้ คราวหน้าอยากเลือกอีกก็เอาเถอะครับ สิทธิ์ใครสิทธิ์มัน
Action and Consequence ช่วยกันรับผิดชอบ ตอบคำถามลูกหลานด้วยก็แล้วกัน



วันศุกร์, ตุลาคม 28, 2554

น้ำท่วม / ตุลาคม 2554

สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ปีนี้เข้าสู่การรับรู้ของผมทีละน้อย ๆ ตั้งแต่ต้นเดือนเป็นต้นมา ทั้งนี้เนื่องจากช่วงปลายเดือนกันยายน - ต้นเดือนตุลาคมของปีนี้มีอะไรเป็นพิเศษอยู่ นั่นคือมีงานที่มีกำหนดส่งในช่วงนี้เป็นจำนวนมาก ทั้งเรื่องหลักสูตร ซึ่ง...คงจะเขียนได้อีกเรื่องหนึ่ง เรื่องแผนงบประมาณ แผนครุภัณฑ์ (ที่สุดแล้วก็ไม่ทัน) ตรวจข้อสอบ ส่งเกรด ส่งบทความวิจัย ทำหนังสือเดินทาง ทำวีซ่า ทั้งหมดนี้กระจุกอยู่ในช่วงเวลาไม่เกิน 3 สัปดาห์ เหตุผลน่ะเหรอ....เชื่อไหมว่ามันก็เหตุผลเดียวกับเรื่องน้ำท่วมกรุงเทพฯ นั่นแหละ

ในช่วงนั้นก็ทำงานตลอด กลับบ้านก็ไม่ได้หยุด แม้เปิดทีวีดูข่าวก็ไม่ได้ดูเต็ม ๆ คือทำงานไปด้วยฟังเสียงทีวีไปด้วย พอรู้ตัวอีกที น้ำก็ท่วมกรุงเทพซะแล้ว
ภาพจากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ออนไลน์ ฉบับวันที่ 28 ตุลาคม 2554
ณ เวลานี้ผมทำงานอยู่ที่ขอนแก่น นึกไม่ออกว่าที่บ้านที่กรุงเทพฯ จะเป็นยังไง มันจะกระทบชีวิตคนในครอบครัวขนาดไหน ทั้ง ๆ ที่ในชีวิตผมผ่านน้ำท่วมกรุงเทพฯ มาแล้วหลายครั้ง จนมีช่วงหนึ่งในชีวิตที่คิดว่ามันคือกิจวัตรประจำปีด้วยซ้ำ แต่ทำไมครั้งนี้ดูจะเป็นเรื่องใหญ่ยิ่งกว่าครั้งใด ๆ ที่เคยเจอมาก่อนก็ไม่รู้เหมือนกัน

เกี่ยวกับเรื่องน้ำท่วมนี้ คิด ๆ ดูแล้วผมพบว่าในใจผมมีความโกรธอยู่ ดวงเล็ก ๆ แต่ท่าทางจะดับยาก ความโกรธนี้พุ่งเป้าไปที่คนที่มีส่วนรับผิดชอบโดยตรงและโดยอ้อมทุกคน ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว อารมณ์ประมาณว่า แม่ง เรื่องแค่นี้จะตั้งใจทำให้ดีก็ไม่ได้

ใครอยู่หน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นงานอะไรระดับไหนก็ตาม ลองใตร่ตรองดูนะครับว่า ประสิทธิภาพของหน่วยงานของท่านยังดีอยู่หรือ เอาที่ตาผมเห็นนะ ผมอาจจะเห็นไม่หมด ผมไม่ค่อยพบว่าภาครัฐมีการวางแผนเป็นกิจลักษณะ ถูกต้องตามหลักวิชา และถี่ถ้วนตามลำดับชั้น

แน่นอนว่ามีการวางแผน แต่ว่าเป็นการวางแผนตามพิธีกรรม คือทำตาม ๆ เขา และข้อกำหนดก็ไม่ถี่ถ้วน ไม่ได้ทำตามหลักสามัญสำนึกอะไร การวางแผนถึงทำจนมีกระดาษเรื่องแผนเป็นปึก ๆ ก็เหมือนไม่ได้วางแผนนั่นแหละ

นั่น!

คือสาเหตุที่ทำให้น้ำท่วม

ย้อนกลับไปอ่านย่อหน้าแรกนะครับ ว่าผมเจออะไรในที่ทำงาน ผมไม่กล้าว่าคนอื่นนักหรอก เพราะผมเองก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบนั้นเหมือนกัน

สิ่งที่ผมขอเสนอก็คือ ไม่ว่าพิธีกรรมทางเอกสารจะมีตัวอย่างมาอย่างไร ขอให้พวกเราทำงานโดยมีหลักสามัญสำนึกธรรมดา ๆ รองรับไว้เสมอ ไม่เช่นนั้นแล้ว หลักวิชา หรือพิธีกรรมใด ๆ ที่ไปเลียนแบบเขามาก็คงทำให้เราเป็นได้เพียงลิงใส่ชฏาเท่านั้น หาได้เป็นเทวดาตามอาภรณ์ที่สวมใส่ไม่

และเรื่องนี้ ตัวเรานี่แหละจะรู้ตัวเองดีที่สุด หลอกตัวเองไม่ได้หรอก

วันศุกร์, กันยายน 09, 2554

วิธีการสอนในเทอมนี้ ดูเหมือนจะได้ผลดี

จากที่เคยบ่น ๆ ไว้เรื่องคำพูดของ George Bernard Shaw เมื่อสักพักใหญ่ ๆ มาแล้ว ก็อย่างที่บอก ไม่ใช่ทุกคนที่สอนได้ อันนี้ไม่ใช่หยิ่ง จองหองนะ มันเหมือน ๆ กับว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะทำอาหารอร่อยนั่นแหละ ดังนั้นคนที่ทำอาหารอร่อยควรจะภูมิใจฉันใด คนที่สอนได้และโดยเฉพาะที่สอนได้ดี ก็ควรจะภูมิใจด้วยเช่นกันฉันนั้น

ในภาคเรียนนี้ (๑/๒๕๕๔) ผมได้ประมวลความบกพร่องในการสอนจากภาคเรียนก่อน ๆ เข้าด้วยกันพบว่า ความบกพร่องของผมก็คือ
  • ให้เวลาน้อยเกินไปกับคนที่ตั้งใจเรียน อยากเรียน อยากรู้
  • ให้เวลามากเกินไปกับคนที่ไม่ตั้งใจเรียน ไม่ได้อยากเรียน ไม่ได้อยากรู้
  • เอาเรื่องพื้นฐานที่ควรให้นักเรียนขบคิดเอง ไปสอนอย่างละเอียดในห้องเรียน ส่งผลให้คนที่เรียนได้เร็วจะเบื่อ ในขณะที่คนที่เรียนได้ช้าก็จะงง
ภาคเรียนนี้เลยคิดอีกวิธีหนึ่งออกมา ก็คือ ในส่วนคะแนนเก็บ ผมไม่เช็คชื่อแล้ว แต่ผมจะกำหนดชั่วโมงเข้าพบไว้ ทำเป็นตารางแน่นอนไว้สัปดาห์ละ ๓ ชั่วโมง ในภาคเรียนนี้นักศึกษาจะต้องมาพบผมเพื่อถามคำถาม ๘ ครั้งตาม ๘ หัวข้อในบทเรียนภายในเวลาที่กำหนด

นั่นหมายความว่า หากไปถามข้างทาง จะไม่ได้รับการเช็คชื่อ ถามนอกเวลาที่กำหนดให้ถามจะไม่ได้รับการเช็คชื่อ ถามเกินได้ แต่ไม่เช็คชื่อเกินให้ เช็คชื่อให้แค่ บทละ ๑ ครั้งเท่านั้น และผมให้สามารถเข้ามาตั้งคำถามได้พร้อม ๆ กันครั้งละ ๔ - ๕ คน คำถามเดียวก็ได้จะเช็คชื่อให้ทุกคน

ผลตอบรับที่ได้นับว่าดี กล่าวคือ
  • คนที่ต้องการถาม มีเวลาแน่นอนที่จะเข้ามาถามผม ไม่ต้องรอดูว่าผมอยู่ที่ห้องทำงานหรือเปล่า
  • คนที่ไม่เคยถามเลย มีจำนวนหนึ่งที่ครั้งแรก ๆ มาถามตามเพื่อนเฉย ๆ (คือไม่ได้ตั้งคำถามเอง) พออยู่ในบรรยากาศการซักถามของเพื่อน ๆ สักพักจะเริ่มสนุกกับการถาม และครั้งต่อ ๆ มาก็สามารถตั้งคำถามเองได้ และได้เรียนรู้คุณค่าของการถาม
  • เนื้อหาที่สอนในห้องเรียน แม้จะเพียงพอกับการสอบ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่อยากถ่ายทอด มีนักศึกษาที่เรียนรู้ได้เร็วจำนวนหนึ่งมาเรียนรู้เพิ่มเติมในชั่วโมงที่เปิดให้ถาม
  • สุดท้ายตัวผมเองก็ได้เรียนรู้จากคำถามของนักเรียนเช่นกัน ทั้งในแง่ของตัววิชาเอง และในแง่ของการสอนว่าในชั่วโมงที่ผ่านมานั้นการสอนพลาดประเด็นสำคัญอะไรไปหรือไม่ มันจะสะท้อนออกมาในคำถามของนักศึกษานั่นเอง
จุดอ่อนของภาคเรียนนี้ก็คือการสั่งงานเขียนโปรแกรมที่ที่สุดแล้วก็ตรวจและให้ Feedback กับนักเรียนไม่ทันการณ์ ซึ่งต้องหาทางปรับปรุงต่อไปในอนาคต ใจอยากให้ทำเป็นโครงงานเล็ก ๆ มากกว่าให้โจทย์ แต่ไม่มั่นใจว่าจะดูแลนักศึกษาได้ทั่วถึง และเนื้อหาของโครงงานก็อาจไม่ครอบคลุม หากนักศึกษาได้มาอ่านและมีข้อเสนอแนะใด ๆ ก็ขอให้ทิ้งข้อความไว้ก็แล้วกันครับ ยังไง ๆ ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับรุ่นน้องต่อไป

ความพ่ายแพ้ที่มาในคราบของชัยชนะ

ในสัปดาห์นี้มีข่าว (น่าจะ) ดีสำหรับครอบครัวอยู่อย่างหนึ่ง คือผมได้รับตำแหน่งวิชาการแล้ว

เป็นเรื่องที่หัวเราะไม่ออก ร้องไห้ไม่ได้ เพราะจิตใจออกจะสับสนอยู่บ้างว่าอันที่จริงแล้วมันเป็นข่าวดีหรือข่าวร้ายกันแน่ เหตุผลที่ผมสับสนก็เพราะอันที่จริงแล้ว การที่ผมขอตำแหน่งวิชาการนี้ก็เพราะมหาวิทยาลัย "บังคับ" ให้พนักงานมหาวิทยาลัยทุกคนขอตำแหน่งวิชาการภายในเวลา ๗ - ๘ ปี หลังจากการบรรจุ มิฉะนั้นจะไม่ต่อสัญญา สิ่งที่ผมคิดไม่ออกก็คือการมีผู้ช่วยศาสตราจารย์เยอะ ๆ หรือรองศาสตราจารย์เยอะ ๆ หรือศาสตราจารย์เยอะ ๆ มันทำให้มหาวิทยาลัยดีขึ้นอย่างไรจึงทำถึงขนาดต้องบังคับกัน

พูดง่าย ๆ ก็คือผมไม่ชอบถูกบังคับให้ขอตำแหน่ง พอ ๆ กับที่ผมเชื่อว่านักศึกษาไม่ชอบถูกบังคับให้ทำกิจกรรมนั่นแหละ

ผมมีอคติกับวิธีคิด และกระบวนการในการขอตำแหน่งเกือบทุกขั้นตอน ตั้งแต่นโยบายการวัดระดับของมหาวิทยาลัยด้วยจำนวนผู้ดำรงตำแหน่งวิชาการ การเขียนระเบียบที่คลุมเครือ ไม่รัดกุม การตีความไม่สมเหตุสมผลในการระบุประเภทและองค์ประกอบของผลงาน ที่มาของการตัดสินผลงานว่าจะรับประเมินผลงานแบบไหน เกณฑ์ที่เกินเกณฑ์ (Over Spec.) ความไม่ชัดเจนในเรื่องเกณฑ์คุณภาพผลงาน ต้องทำไปแบบเดาใจผู้ประเมิน ซึ่งจะเป็นใครก็ไม่รู้ จะใช้เกณฑ์อะไรก็ไม่รู้ ฯลฯ ผมไม่พอใจกับขั้นตอนไหน ๆ ของมันแม้แต่ขั้นตอนเดียว

แม้จะมีอคติกับมันขนาดไหน แม้จะไร้สาระ ไม่สมเหตุสมผลสักเพียงใด ที่สุดแล้วผมก็ต้องยอมทำตามมันไปจนสิ้นสุดกระบวนการตามระเบียบเสร็จสิ้นและได้ตำแหน่งวิชาการนี้มา

ความสำเร็จ (?) ครั้งนี้ ในทางหนึ่งก็เป็นความสบายใจว่าไม่ต้องกังวลเรื่องต่อสัญญาแล้ว ในอีกทางหนึ่งตำแหน่งนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งการยอมแพ้ต่อสิ่งที่เราไม่เชื่อมั่น ไม่เห็นประโยชน์ ไม่เห็นด้วย ไม่ได้แตกต่างไปจากคนอื่น ๆ ที่เราดูแคลน นับเป็นความอัปยศในใจอย่างหนึ่ง

อาจยิ่งแย่กว่าด้วยซ้ำ เพราะเรามองเห็นและเชื่อว่าว่ามีสิ่งไม่ถูกต้อง ไม่สมเหตุสมผล เกิดขึ้นในระบบ แต่เราก็ยอมแพ้ต่อมันเพื่อเอาตัวรอด เราจะยังกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นครูบาอาจารย์อยู่อีกหรือ?

อย่างไรก็ตามก็ต้องขอขอบคุณผู้สนับสนุนทุก ๆ ท่าน ที่ให้ความช่วยเหลือ กำลังใจและคำแนะนำตลอดกระบวนการ ผมซาบซึ้งจากใจจริงในความหวังดีและเป็นห่วงของทุกท่านครับ

วันอังคาร, กันยายน 06, 2554

เรียนรู้จากการตรวจข้อสอบ

ผ่านไปแป๊บเดียวถึงฤดูกาลตรวจข้อสอบอีกแล้ว รอบนี้ตรวจง่าย จากการตรวจข้อสอบพบว่ามีนักศึกษาอยู่ 4 กลุ่ม คือ
  1. กลุ่มที่รู้ว่าต้องทำอะไร และทำสิ่งนั้นได้
  2. กลุ่มที่รู้ว่าต้องทำอะไร แต่ทำสิ่งนั้นไม่ได้
  3. กลุ่มที่จะให้ทำอะไรก็ทำได้ แต่กลับไม่รู้ว่าต้องทำอะไร
  4. กลุ่มที่ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ทำไม่ได้ และไม่รู้ด้วยว่าต้องทำอะไร
สำหรับผมแล้ว กลุ่มที่ 1 ไม่น่าห่วง เพราะเขาเตรียมตัวมาดีแล้ว
กลุ่มที่ 2 ไม่น่าห่วง เพราะถ้าจำเป็นเขาสามารถหาข้อมูลประกอบมาช่วยแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง อย่างน้อยเขาก็รู้ว่าปัญหาคืออะไร และควรจะแก้ไขอย่างไร
กลุ่มที่ 4 ก็ยังไม่ห่วง เพราะเขาอาจจะไม่เหมาะกับสายงานนี้แต่แรก แต่อาจจะไปได้ดีในสายงานอื่น ๆ ซึ่งอาจพบในภายหลัง

กลุ่มที่ผมเป็นห่วงมากที่สุดกลับเป็นกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มคนที่รู้ว่าวิธี ก. ทำอย่างไร วิธี ข. ทำอย่างไร แต่ไม่รู้อย่างลึกซึ้งถึงธรรมชาติของกรรมวิธี ทำให้เมื่อประสบปัญหาแล้วไม่รู้ว่าเมื่อใดจะต้องใช้วิธี ก. และเมื่อใดจะต้องใช้วิธี ข. และกรรมวิธีต่าง ๆ เหล่านี้จะเชื่อมโยงกันเพื่อแก้ปัญหาโดยรวมได้อย่างไร

ถ้าบอกว่า ให้ทำวิธี ก. ซิ เขาก็จะทำได้ ถ้าบอกว่าให้ทำวิธี ข. ซิ เขาก็จะทำได้ แต่ถ้ามีปัญหามาให้และให้แก้ปัญหา ด้วยความที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจธรรมชาติของปัญหารวมทั้งธรรมชาติของการแก้ปัญหาอย่างลึกซึ้ง จึงไม่สามารถเลือกใช้กรรมวิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ ไปตามลำดับอย่างที่ควรจะเป็นได้

ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญที่สุด

ดังนั้นการสอนต่อจากนี้ไป จะเป็นการฝึกฝนให้นักศึกษารู้ว่าต้องทำอะไร และรู้ว่าสิ่งที่ต้องทำนั้น ทำอย่างไร และการสอบต่อจากนี้ไปจะเป็นการประเมินเพื่อจำแนกว่านักศึกษาแต่ละคน ๆ ที่เข้าสอบนั้นเป็นนักศึกษากลุ่มใด สำหรับผมแล้ว กลุ่ม 1 คือ A กลุ่ม 2 คือ B กลุ่ม 3 คือ C และกลุ่ม 4 คือ F

ส่วนข้อสอบจะยากขึ้นหรือง่ายลงนั้นก็แล้วแต่ความคิดของแต่ละคน ว่าที่ปรับปรุงแล้วนี้จะถือว่ายากขึ้นหรือว่าง่ายลง

วันอาทิตย์, กรกฎาคม 10, 2554

ประเทศไหนเจริญ ประเทศไหนไม่เจริญ ดูตรงไหน?

ผมเกิดความสงสัยมานานตั้งแต่เด็กแล้วว่า ที่เขาเรียกประเทศไทยว่าประเทศกำลังพัฒนานั้น เขาดูจากอะไร คือผมคิดว่าประเทศไทยมันก็ไม่ใช่ว่าเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ตั้งประเทศ มันก็มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ มีอะไรดี ๆ เกิดขึ้นตั้งเยอะแยะ และแน่นอนว่ามีอะไรแย่ ๆ เกิดขึ้นใหม่อีกเยอะแยะเช่นเดียวกัน

เมื่อยี่สิบปีก่อนเราไม่มีรถไฟฟ้า เดี๋ยวนี้เรามีรถไฟฟ้า เมื่อสามสิบปีก่อนเราไม่มีเคเบิลทีวี เดี๋ยวนี้เราก็มีเคเบิลทีวี เมื่อสิบห้าปีก่อนอินเตอร์เนตมีขีดความสามารถต่ำ ปัจจุบันก็ได้ขยายขีดความสามารถขึ้นไปสูงกว่าเดิมไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยเท่า

ทำอะไรต่อมิอะไรมาตั้งเยอะ เรายังพัฒนากันไม่เสร็จอีกหรือยังไง แล้วไอ้ที่เรียกกันว่าพัฒนาแล้ว มันพัฒนาเสร็จแล้วมันก็หยุดพัฒนาหรือยังไง

จนกระทั่งขับรถผ่านเข้าไปในเมืองจึงพอจะได้คำตอบสำหรับตนเองอยู่ว่า ที่เรียกว่าพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนานั้น ข้อแตกต่างน่าจะอยู่ที่ "คน" ในประเทศนั้น ๆ นั่นกระมัง คนในเมืองจอดรถซ้อนคันได้หน้าตาเฉย แม้กระทั่งนักศึกษา/อาจารย์/บุคลากรในมหาวิทยาลัย ก็สามารถจอดรถในที่ที่ขวางทางคนอื่นได้โดยไม่ได้รู้สึกละอายใจอะไร (หน้าศูนย์คอมเพลกซ์ตอนเย็น ๆ / สามแยกกังสดาล / หน้า 7-11 สโมสรอาจารย์ ฯลฯ) บางคนรู้สึกเขิน ๆ นิด ๆ หน่อย ๆ ก็ใช้วิธีเปิดกระโปรงรถทิ้งไว้ แสร้งว่ารถเสีย ซื้อของทำธุระเสร็จกลับมาที่รถก็ปิดกระโปรงรถขับรถออกไปหน้าตาเฉย

การที่คนไทยเรารู้สึกว่าการเห็นแก่ตัวเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา ใคร ๆ ก็ทำกัน ถือเป็นเรื่องน่ากลัว เพราะหลายคนก็คิดว่าคนไทยซื่อสัตย์กว่าฝรั่ง ใจดีกว่าต่างชาติ เอื้อเฟื้อกว่าเขา แต่ในความเป็นจริงหากสังเกตในชีวิตประจำวันแล้วผมกลับมองไม่เห็นอย่างนั้น

ผมคิดว่าประเทศไทยนั้น ปัจเจกมีความเอื้อเฟื้อ แต่ปัจเจกจะไม่ยอมให้ระบบเอื้อเฟื้อหรือเป็นธรรม เพราะมันทำให้เขาหมดอำนาจ (ระบบการเงินราชการไทย มีหลายอย่างที่ต้องซื้อแต่เบิกไม่ได้ เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยคือคนที่ต้องจ่ายเงินจำนวนนั้นเพื่อให้งานเดินไปได้ - ไม่มีใครที่เกี่ยวข้องสนใจจะแก้ระบบนี้ตราบใดที่ระบบไม่ได้มาละเมิดเงินในกระเป๋าตัวเอง)

ในขณะที่ในต่างประเทศนั้น ปัจเจกจะรักษาสิทธิ์ของตนเองทำให้ดูเหมือนเห็นแก่ตัว แต่ปัจเจกจะไม่ยอมให้ระบบเอารัดเอาเปรียบปัจเจกคนอื่น ๆ เช่นเดียวกัน กล่าวคือปัจเจกจะร่วมกันสร้างระบบที่เอื้อเฟื้อและเป็นธรรม เพราะทุกคนรู้ว่านั่นคือระบบที่ยั่งยืน

ย้อนกลับมาที่พฤติกรรมเห็นแก่ตัวของคนไทย ผมคิดว่าคนทำเช่นนั้นเพราะคิดแค่ว่าเขา ละเมิดกฏ แต่เขาคิดไปไม่ถึงว่าเขาได้ ละเมิดสิทธิ์คนอื่น เขาจะรู้สึกว่าถ้าเขาทำผิด เขาก็แค่ผิดต่อกฏ ไม่มีใครเดือดร้อน จะอะไรกันนักกันหนา แต่ถ้าเขาคิดได้ว่าที่เขาทำนั้นคือการละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น บางทีเรื่องแบบนี้อาจจะลดลง

หาไม่แล้ว ต่อให้เรามีเครือข่ายอินเตอร์เนตความเร็วสูง รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า มีบทความวิจัย เปเปอร์ อันดับหนึ่งของโลก มี ผศ. รศ. ดร. เดินชนกันเต็มบ้านเต็มเมือง ก็ไม่อาจทำให้ประเทศไทยของเรากลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วไปได้เลย

วันจันทร์, มิถุนายน 27, 2554

ถ้าผมเป็นนักการเมือง

เมื่อสักครู่นี้ผมเขียนบันทึกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้นึกออกว่า ถ้าผมเป็นนักการเมืองผมจะทำอะไร ผมอยากแก้ปัญหาเกษตรกรครับ เพราะผมคิดว่าปัญหาอื่น ๆ ของประเทศเริ่มต้นที่นี่

จากประสบการณ์การให้คำปรึกษานักศึกษาที่มาจากครอบครัวเกษตรกรจำนวนมาก ทำให้ทราบว่าปัญหาหลักของเกษตรกรก็คือ
  1. หนี้สิน
  2. ภัยธรรมชาติ
ถ้าแก้สองปัญหานี้ได้ ปัญหาของเกษตรกรคงจะลดลงมาก ผมคิดว่าภัยธรรมชาติคงแก้ไม่ได้ (แต่ควรบรรเทาได้) ก็จะบันทึกไว้เฉพาะเรื่องหนี้สินก่อน ซึ่งการแก้ปัญหาควรพิจารณาโดยหลักดังนี้
ปัญหา เกษตรกรเป็นหนี้ ยิ่งทำนายิ่งเป็นหนี้ พอกพูนเข้าไปทุกปี ๆ จนกระทั่งสูญเสียที่นาในที่สุด
เหตุของปัญหา เกษตรกรเป็นหนี้เพราะ
  1. ไม่มีเงินออม
  2. เกิดภัยธรรมชาติทำให้ผลผลิตเสียหาย เงินที่ควรได้จากการขายผลผลิตจึงไม่มี และไม่มีเงินไปลงทุนเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป
  3. ใช้เงินมากกว่าที่หาได้ ตรงนี้เองที่ยิ่งทำ ยิ่งเป็นหนี้
  4. รายรับน้อยกว่าที่ควรเพราะถูกกดราคา
  5. ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนขนาดเล็ก ระยะสั้นได้ ดอกเบี้ยถูกได้ จึงต้องไปต้องไปกู้แหล่งทุนดอกเบี้ยแพง จากปากคำของนักศึกษา แหล่งทุนที่ผู้ปกครองเข้าถึงได้บางรายคิดดอกเบี้ยสูงถึง 10% ต่อเดือน! ที่น่าเจ็บปวดใจมากที่สุดก็คือคนที่ปล่อยกู้คือภรรยาของนายอำเภอเป็นคนทำเสียเอง ทั้ง ๆ ที่นายอำเภอเองนั้นก็เรียนจบมาได้ก็ด้วยภาษีของประชาชนแท้ ๆ
เราต้องการให้
  1. เกษตรกรมีเงินออมเพียงพอ
  2. เกษตรกรจะต้องรู้ตัวล่วงหน้าหากจะมีภัยธรรมชาติเกิดขึ้น และควรมีหลักประกันหากมีความเสียหายเกิดขึ้น
  3. เกษตรกรควรใช้เงินให้น้อยกว่าที่หาได้
  4. เกษตรกรควรมีรายรับที่เป็นธรรม
  5. เกษตรกรควรเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยถูกได้ เมื่อจำเป็น
วิธีการ
  1. ให้ความรู้ด้านการออมที่ถูกต้องและเหมาะสมแก่เกษตรกร นักวิชาการทั้งประเทศควรคำนวณได้ว่า ครอบครัวขนาดเท่านี้คน มีที่ดินเท่านี้ไร่ เพาะปลูกสิ่งนี้ ควรมีเงินออมเป็นทุนสำรองเพื่อการเพาะปลูกสักเท่าใด เงินออมเพื่อสุขภาพสักเท่าใด เงินออมเพื่อการศึกษาสักเท่าใด การศึกษาด้านนี้อาจทำผ่านลูกหลานของเกษตรกรที่เข้ามาในระบบการศึกษาก็ได้
  2. ทำระบบเตือนภัยธรรมชาติให้ทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็น หากระบบทำงานไม่ได้หรือทำงานผิดพลาด จะต้องมีคนรับผิดชอบ และสร้างระบบประกันรายได้เกษตรกร (รูปแบบใด ของพรรคใดก็แล้วแต่ เอาสักอย่าง)
  3. ให้ความรู้ด้านการบัญชี และการจัดการระบบไร่นาแก่เกษตรกร การใช้เงินเกินกว่าที่หาได้ ไม่ใช่เพราะความฟุ่มเฟือยเสมอไป แต่เป็นเพราะทำบัญชีไม่เป็น จนกระทั่งคำนวณต้นทุนการเพาะปลูกที่แท้จริงไม่ได้ นอกจากนี้ยังควรควบคุมราคาปุ๋ยและยาฆ่าแมลงให้สอดคล้องกับราคาผลผลิตด้วย
  4. เมื่อรู้ต้นทุนที่แท้จริงแล้ว ควรกำหนดได้ว่าราคาขายของผลผลิตที่เป็นธรรมควรเป็นเท่าใด สามารถช่วยเกษตรกรเพิ่มผลผลิตได้ด้วยการให้ความรู้ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มผลผลิต ลดรายจ่าย
  5. นำแหล่งทุนของเกษตรกรคืนให้เกษตรกร ผมเข้าใจว่าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์นั้นเดิมตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์นี้ จึงควรระลึกถึงวัตถุประสงค์นี้ให้ได้ และปรับกลไก ขั้นตอน ระเบียบต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์นี้ ขอแค่ธนาคารนี้ได้หวนระลึกถึงเจตจำนงค์ดั้งเดิมที่ทางราชการได้อุตส่าห์ตั้งธนาคารนี้ขึ้นมา ก็ควรเพียงพอแก่การแก้ปัญหาแล้ว เรื่องนี้อาจเป็นไปได้ ถ้าให้คนในธนาคารได้รับการอบรมแบบเกษตรกรเสียก่อน อาจต้องจับไปดำนา เกี่ยวข้าวสักเดือนครึ่งเดือน คือให้คิดแบบเกษตรกรให้ได้ ไม่ใช่คิดแบบนายธนาคารอย่างเดียว
นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะทำ หากผมเป็นนักการเมือง

วันอาทิตย์, มิถุนายน 26, 2554

การเลือกตั้งใกล้เข้ามาแล้ว ผมยังสับสนอยู่เลย

การเลือกตั้งใกล้เข้ามาแล้ว ผมยังสับสนอยู่เลยว่า โดยหลักการพื้นฐานที่ทำให้ประชาธิปไตยเติบโตขึ้นมาได้นั้น เราควรจะมีหลักการเลือกแบบไหน ระหว่าง
  1. เลือกบนพื้นฐานของความชอบ (หมายความรวมถึงความชอบในนโยบายของพรรคด้วย) กล่าวคือ ชอบใคร ก็ให้เลือกคนนั้น พรรคนั้น อย่าไปคิดมาก
  2. เลือกบนพื้นฐานของความไม่ชอบ (หมายความรวมถึงความไม่ชอบในนโยบายของพรรคด้วย) กล่าวคือ ถ้าคิดว่าใครหรือพรรคใด น่าจะชนะพรรคที่เราไม่ชอบได้ในพื้นที่นั้น ๆ ให้เลือกคนนั้น พรรคนั้น ถึงแม้ว่าคนนั้น พรรคนั้นจะไม่ใช่คนหรือพรรคที่เราชอบมากที่สุดก็ตาม
เพียงเท่านี้ก็เป็นเรื่องที่คิดไม่ตกแล้ว ผมมีคนที่ชอบ มีพรรคที่มีนโยบายตรงใจ แต่ถ้าเลือกคนนี้ พรรคนี้ ในพื้นที่นี้ มันก็ไม่ชนะอยู่ดี ถ้าต้องการกันไม่ให้คนนั้น พรรคนั้นชนะเลือกตั้งในพื้นที่นี้ ผมก็ต้องเลือกคนและพรรคที่สามารถล้มคนนั้น พรรคนั้นได้ แต่ก็ต้องแลกกับการไม่ได้เลือกนโยบายที่เราถูกใจ

ทางเลือกใดจึงจะเป็นทางเลือกที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของหลักการประชาธิปไตยมากที่สุด อันที่จริงเขียนมาถึงบรรทัดนี้ชักจะสงสัยแล้วเหมือนกันว่า ที่เรียกว่าประชาธิปไตยนั้นแท้จริงแล้วคืออะไรกันแน่??

นอกจากนี้แม้แต่นโยบายทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจที่พรรคการเมืองต่าง ๆ นำมาโฆษณานี้ เรียกว่านโยบายได้จริง ๆ หรือเปล่า

เพราะผมกลับคิดว่าสิ่งที่เรียกว่านโยบาย มันจะต้องไม่มีรายละเอียด มันน่าจะบอกเพียงเป้าหมายว่านโยบายนี้จะนำไปสู่อะไร ด้วยเส้นทางแบบไหน เช่น
  • นโยบายแก้ปัญหาที่ดินทำกิน ด้วยหลักการภาษีที่ดิน หรือ
  • แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจด้วยนโยบายภาษีมรดก
  • แก้ปัญหาคุณภาพการศึกษา ด้วยการยกเครื่องการประเมินอาจารย์และสถาบันการศึกษา
  • แก้ปัญหาคุณภาพการศึกษา ด้วยการให้เกียรติทุกวิชาชีพเท่าเทียมกัน (ยกเลิกเงินค่าวิชาชีพ - ใครจะกล้า? ฮ่า ฮ่า ฮ่า)
ไม่ใช่ขึ้นเงินเดือนเท่านั้นเท่านี้ จะสร้างนั่นสร้างนี้ อย่างการสร้างท่อส่งน้ำในภาคอีสาน ก็ไม่น่าจะเรียกว่านโยบาย ต้องเป็นการพัฒนาการจัดการทรัพยากรน้ำในภาคอีสานต่างหากจึงจะเรียกว่านโยบาย เพราะการพัฒนาการจัดการทรัพยากรน้ำน่าจะทำได้หลายวิธี ไม่ใช่แค่โครงการสร้างท่อส่งน้ำราคาเป็นหมื่น ๆ ล้านเพียงวิธีเดียว ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ แล้วนั่นมันก็แค่รายละเอียดการปฏิบัติ จริง ๆ ผมยังสงสัยเหมือนกันว่า ด้วยรายละเอียดการปฏิบัติแบบนี้แบบนั้นที่โฆษณากันนี่มันตั้งอยู่บนนโยบายแบบไหน มีเป้าหมายอย่างไร ด้วยช่องทางใด เป็นไปได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ (เพราะถ้าคิดแค่ว่าเป็นไปได้ แจกคอมพ์ทุกบ้านก็เป็นไปได้ครับ) และถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ เรื่องนี้ต้องเปรียบเทียบกับลายเซนต์อาจารย์ที่ปรึกษา ที่นักศึกษาจำนวนมากคิดว่า ก็เซนต์ ๆ ไป ไม่น่าเรื่องมาก แต่การสักแต่ว่าเซนต์ ๆ ไปนั้นอันที่จริงไม่ถูกต้องชอบธรรมตามหลักการเข้าพบเพื่อขอลายเซนต์อาจารย์ที่ปรึกษา

นโยบายที่เขียน ๆ กันมาเยอะแยะนี่ สุดท้ายทำได้ทั้งหมดหรือเปล่า มีอะไรโดดเด่นเร่งด่วนจริงหรือเปล่า เพราะเรียนมาว่า ถ้าทุกอย่างสำคัญหมด แสดงว่าไม่มีอะไรสำคัญเลย

ที่โฆษณากันเยอะ ๆ นี่ ผมดูใบประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งแล้ว มีเพียงพรรคเดียวที่มีนโยบายสั้นที่สุด มีความจำเป็นต่อรัฐสภา และสามารถทำได้จริง ใครสงสัยลองไปหาดูว่าพรรคไหนก็แล้วกัน

วันศุกร์, พฤษภาคม 20, 2554

ถ้าอยากรู้จักใคร ให้ทำงานร่วมกับเขาดู

เคยมีนักเขียนนิยมไพรคนหนึ่ง ผมจำไม่ได้จริง ๆ ว่าเป็นคุณหมอบุญส่ง หรือคุณครูมาลัย (หรือว่าจะเป็นคนอื่น?) เขียนไว้ว่า
ถ้าอยากรู้จักนิสัยใคร ให้ไปเที่ยวป่าด้วยกัน
แล้วท่านก็ขยายความต่อไปว่าชีวิตในป่ามันลำบาก และต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจกันฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อในการอยู่ในป่าเป็นไปได้โดยปรกติสุข ไม่ขาดนั้น ขาดอาหาร ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย และไม่ได้รับอันตรายจากภัยต่าง ๆ ในป่า

เมื่อต้องอยู่ด้วยกันในสิ่งแวดล้อมปิดที่มีอันตรายเป็นเวลานาน คนเราก็มักจะเผยนิสัยที่แท้จริงออกมา เราจะรู้จักได้ว่าใครพึ่งพาได้ ใครไว้วางใจได้ ใครเห็นแก่ตัว ใครโอบอ้อมอารี ใครคิดมาก

ผมเองไม่เคยเที่ยวป่าแบบโบราณ ส่วนการเที่ยวป่าแบบปัจจุบันก็ไม่ได้ไปมานานแล้ว แต่นอกเหนือจากการเที่ยวป่าแล้ว การร่วมงานกันซึ่งผมหมายถึงรับผิดชอบงานร่วมกัน ไม่ใช่ทำงานในที่ทำงานเดียวกันเฉย ๆ ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่เราสามารถทำความรู้จักคนที่ทำงานร่วมกับเราได้

หากสังเกตดี ๆ เราจะได้เห็นคนหลายแบบในงานที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันนี้ ทั้งคนที่เอาธุระ คนที่ไม่เอาธุระ คนที่รอบคอบ คนที่คิดมาก คนที่มักง่าย คนที่พึ่งพาได้ คนที่พึ่งพาไม่ได้ ในบางครั้งหากเจอคนที่ไม่พึงประสงค์ เราอาจจะคิดว่าโชคร้าย แต่หากคิดในแง่ดีไว้ เราก็ต้องบอกว่าโชคดีที่ได้รู้จักตัวจริงกันตอนนี้ ดีกว่าที่ต้องร่วมงานกันในงานที่ใหญ่กว่านี้ ต้องการความรับผิดชอบมากกว่านี้

หากคิดในแง่ดียิ่งขึ้น เราจะพบว่าคนที่ไม่พึงประสงค์ จริง ๆ แล้วมีเพียงจำนวนน้อย เพื่อนร่วมงานอีกจำนวนมากที่ร่วมแรงร่วมใจกันฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ด้วยกันเพื่อให้งานลุล่วงไป เราควรยินดีที่เราได้มีโอากาสร่วมงานกับเพื่อนร่วมงานที่ยอดเยี่ยมเหล่านี้

ความคิดที่ว่าการทำงานร่วมกันทำให้รู้จักกันนี้ เกิดขึ้นเมื่อผมได้มีโอกาสร่วมงานกับเพื่อนร่วมงานกลุ่มหนึ่ง ในกลุ่มนี้มีคนที่ผมมีอคติเดิมอยู่ด้วยหนึ่งคน และคนที่ผมรู้จักแบบไกล ๆ อีกหนึ่งคน

เมื่อเสร็จงาน เราได้รู้จักเพื่อนทั้งสองนี้มากขึ้นว่าเป็นเพื่อนร่วมงานที่ไว้ใจได้ พึ่งพาได้ อคติเดิมนั้นสลายสิ้นไป พร้อมกับเกิดความรู้สึกยินดีที่ได้รู้จักเพื่อนทั้งสองนี้จริง ๆ เป็นครั้งแรก
.
.
.
ยินดีที่ได้รู้จักครับ ;)

วันเสาร์, พฤษภาคม 14, 2554

ความหมายที่อาจจะซ่อนอยู่ในตำนานอ่าวพระนาง

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปเที่ยวกระบี่เป็นครั้งที่สอง แม้จะเป็นการเที่ยวแบบโฉบไปโฉบมาตามโปรแกรมของบริษัททัวร์ ก็ยังประทับใจไม่น้อย สิ่งแรกที่สะดุดหูตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยินเลยก็คือคำขวัญประจำจังหวัดกระบี่ครับ
กระบี่เมืองน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก
สั้นโดนใจดีไหมครับ แม้จะผิดวัตถุประสงค์ของคำขวัญไปบ้าง แต่คำขวัญประจำจังหวัดหลาย ๆ จังหวัดก็ยืดยาวเกินไปจนน่าหมั่นไส้ เจอคำขวัญสั้น ๆ ที่เน้นความสำคัญของ "คน" บ้างก็กระตุกให้เราได้คิดอะไรบ้างเหมือนกัน
ในการเที่ยวครั้งนี้ ทางบริษัทก็ได้พาไปไหว้ศาลพระนางที่อ่าวพระนางด้วยครับ มัคคุเทศก์ที่นำไปก็เล่าตำนานอ่าวพระนางให้ฟังกันโดยสังเขปดังนี้ครับ
ในสมัยโบราณมีตายายคู่หนึ่งอยู่กินกันมานานไม่มีลูก จึงไปบนบานศาลกล่าวกับพญานาค พญานาคมีเงื่อนไขว่าหากลูกที่เกิดมาเป็นลูกสาว ตากับยายจะต้องยกลูกสาวให้เป็นภรรยาของพญานาค ตากับยายก็รับคำ
ในเวลาต่อมายายก็ตั้งท้องและคลอดลูกออกมาเป็นเพศหญิงให้ชื่อว่านาง เมื่อนางเติบโตขึ้นเป็นสาวก็มีชายหนุ่มมาขอแต่งงาน ตากับยายลืมคำสัญญาที่ให้ไว้กับพญานาคจึงยกลูกสาวให้
ชายหนุ่มจึงจัดขบวนขันหมากมาใหญ่โตมารับหญิงสาว ขบวนขันหมากผ่านชายหาดเสียงดังครึกครื้น พญานาคจึงขึ้นมาดูและรู้ว่าตากับยายผิดสัญญา จึงขึ้นมาแย่งชิงเจ้าสาว ข้างมนุษย์ก็ไม่ยอมง่าย ๆ จึงต่อสู้กันวุ่นวาย
ในบริเวณนั้นมีฤษีที่บำเพ็ญตบะอยู่ ได้ยินเสียงวุ่นวายจึงออกมาห้าม แต่ก็ไม่มีใครฟัง ฤษีจึงสาปให้ทุกคนกลายเป็นหิน คนที่หนีไม่ทันและข้าวของที่กระจัดกระจายตอนต่อสู้กันจึงกลายเป็นถ้ำ เป็นเกาะต่าง ๆ เช่นเรือนหอกลายเป็นถ้ำพระนาง พญานาคเองหนีไม่ทันหมดโดนสาปที่ปลายหางกลายเป็นหินซึ่งชาวบ้านเรียกว่าหงอนนาคเป็นต้น
นางนางก็เสียใจที่เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายดังนี้ขึ้น จึงปวารณาตัวที่จะบำเพ็ญให้คนสมหวัง ชาวบ้านจึงนิยมมาบนบานศาลกล่าวกับศาลพระนางที่บริเวณหน้าถ้ำพระนางนี่เอง เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์โดยเฉพาะหากใครมาขอลูกมักจะสมหวัง
ใครที่สนใจตำนานโดยละเอียดและพิศดาร สามารถอ่านได้จาก http://andamanthai.blogspot.com/2008/04/blog-post_01.html ครับ


ในการเที่ยวครั้งนี้ผมได้พกหนังสือไปด้วย 2 - 3 เล่ม หนึ่งในนั้นคือ ฝรั่งคลั่งผี เขียนโดย ไมเคิล ไรท์ สำนักพิมพ์มติชน ซึ่งเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้จะเกี่ยวกับ การเชื่อมโยงตำนานกับมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ การแปลงสัญลักษณ์เมื่อเกิดศาสนาใหม่ขึ้นมาในประวัติศาสตร์และการตีความตำนานโบราณ การศึกษาการแปลงสัญลักษณ์โบราณเพื่อซ่อนความหมายดั้งเดิมนี้เรียกว่า Iconology หรือ Iconography ครับ

Suspense Thrillers Books)

อันที่จริงศาสตร์นี้อาจจะฟังแปลกหูนะครับ แต่ว่าคนจำนวนมากได้รู้จักศาสตร์นี้แล้วผ่านนิยายและภาพยนตร์เรื่อง The Da Vinci Code ของ แดน บราว์ ไงครับ เมื่ออ่านแล้วพอฟังตำนานเรื่องอ่าวพระนาง ก็นึกอยากจะลองตีความตำนานนี้ดูเหมือนกันว่าเล่าเรื่องอะไร ซ่อนเรื่องอะไร (ออกตัวไว้ก่อนว่าอ่านหนังสือเล่มเดียว จะแปลถูกนั้นคงยาก ถือว่าหัดดูก็แล้วกัน)

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่าตำนานคือเรื่องเล่าขานกันมาแต่โบราณหลายชั่วรุ่นคน ดังนั้นเนื้อเรื่องต้นฉบับโดยละเอียดนั้นไม่มีแน่นอน แต่โครงเรื่องจะไม่
เปลี่ยน โครงเรื่องของตำนานเรื่องนี้คือ
ตายายขอลูกกับพญานาค พญานาคให้ตายายมีลูกสาวสมใจแต่พญานาคจะขอไปเป็นเมียเมื่อโตขึ้น พอสาวเจ้าโตขึ้นตายายไปยกให้คนอื่น พญานาคมาทวงก็เลยสู้กันวุ่นวาย ฤษีมาเตือนก็ไม่ฟังเลยสาปให้เป็นหินให้หมด
โครงเรื่องมีเท่านี้เองครับ ถ้าใครอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นบ่อย ๆ ก็จะเจอตำนานคล้าย ๆ กันแต่เปลี่ยนพญานาคเป็นกัปปะ ตอนจบต่างกันนิดหน่อย โครงเรื่องแบบนี้ลองตีความดูก็อาจจะได้ดังต่อไปนี้ครับ

ในสมัยโบราณมนุษย์ยังนับถือผีอยู่ ในบางพื้นที่อาจมีการบูชายัญ โดยเฉพาะพื้นที่ริมทะเล ซึ่งจะมีตำนานลักษณะคล้าย ๆ กันทั่วโลก เช่นการบูชายัญนางอันโดรเมดราเป็นต้น ในพื้นที่จังหวัดกระบี่โบราณอาจจะไม่ต่างกัน และในกรณีนี้ผู้ถูกบูชายัญน่าจะเป็นหญิงสาวบริสุทธิ์ การบูชายัญนี้ก็เพื่อให้ไม่เกิดภัยพิบัติ ให้คลื่นลมสงบ ให้การประมงบริบูรณ์ การบูชายัญอาจกระทำโดยการโยนลงทะเล ตรงหน้าผาตรงอ่าวพระนาง ถ้ำพระนางนั่นแหละครับ คลื่นลมแรงมิใช่น้อย

เป็นธรรมดาที่ไม่มีใครอยากจะตาย ไม่มีใครอยากจะเสียลูก ดังนั้นก็น่าจะมีเจ้าพิธีและคนในชุมชนสุ่มเลือกกันตามรอบเวลา อาจเป็นทุกปี หรือทุก 12 ปี ก็ไม่รู้ ลูกสาวของตากับยายก็โดนเลือก แต่ตากับยายตั้งใจว่าจะจับให้ลูกสาวแต่งงานไปเสียก่อน จะได้ไม่เป็นสาวบริสุทธิ์ สิ้นคุณสมบัติการเป็นเหยื่อบูชายัญเสีย แต่ทางเจ้าพิธี (ตัวแทนพญานาค) รู้แกวเสียก่อนจึงยกพวกมาชิงตัวเจ้าสาว พิธีจึงระงับไป

อันนี้อยากจะขยายความเล็กน้อยว่า หากเป็นคนในชุมชนเดียวกัน ย่อมมีความเชื่อไม่ต่างกัน ดังนั้นคนที่จะมาแต่งงานกับเจ้าสาวคงจะเป็นต่างชุมชน และคงจะต่างศาสนาด้วย อาจเป็นฮินดู ซึ่งสังเกตจากชื่อของชายหนุ่มชื่อ "บุญ" (ศาสนาใหม่?) พ่อชื่อ "ตาวาปราบ" (คนของรัฐ?) แม่ชื่อ "บามัย" (แขก?) อาจเป็นไปได้ด้วยว่าศาสนาใหม่กำลังปะทะกับศาสนาเก่าอยู่ ณ เวลานี้

อาจเป็นเคราะห์ร้าย ในเวลานั้น (หรือในช่วงเวลาที่ใกล้ ๆ กัน) เกิดภัยพิบัติอาจจะเป็นคลื่นยักษ์ (พญานาคสะบัดหาง) อาจจะเป็นพายุใหญ่ หรืออาจจะเป็นแผ่นดินไหวขึ้นแก่หมู่บ้าน เกิดผู้คนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก หญิงสาวเสียใจเพราะคิดว่าตนเองเป็นต้นเหตุ จึงกระโดดจากหน้าผาบูชายัญตนเอง ณ ที่นั้น

แม้หลังจากนั้นศาสนาใหม่อาจเข้าสู่ชุมชน ชักนำให้คนเลิกบูชายัญเป็นผลสำเร็จ (หลายชั่วคน) แต่ชาวบ้านก็ยังบูชาหญิงสาวอยู่ ไม่ใช่เพราะการบูชายัญแต่เพราะความเสียสละประกอบกับเรื่องมันเศร้ากินใจ จึงให้ความเคารพบูชา และเล่าเรื่องต่อ ๆ กันมาก็เป็นไป

สนุกไหมครับ การตีความตำนานพื้นบ้าน ขอย้ำว่าเป็นการหัดตีความจากการอ่านหนังสือเล่มเดียวเท่านั้นนะครับ ไม่ถูกหลักวิชา ขออย่ายึดถือเป็นจริงเป็นจังไป

วันศุกร์, มีนาคม 04, 2554

ปัญหาของระบบการศึกษาของเรา

บอกกันก่อน ว่านี่คือความคิดเห็นส่วนตัวของผม แลกเปลี่ยนกันได้ แบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์กันได้ เมื่อผมรู้อะไร ๆ มากขึ้น ความคิดผมก็อาจเปลี่ยนได้ ผมไม่ดื้อหรอกครับ เฮอะ เฮอะ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เรื่องของเรื่องก็คือเมื่อสักสัปดาห์ที่แล้วได้พูดคุยกับรุ่นพี่ที่เคารพท่านหนึ่งเกี่ยวกับระบบการศึกษาของเรา หลังจากนั้นก็นำมาคิดต่อและได้ข้อสรุปในใจที่อยากจะบันทึกไว้ ผมคิดว่าปัญหาของการศึกษาของเราเกิดจากสาเหตุไม่กี่ประการ ได้แก่
  1. ผู้มีความรู้ และมีอำนาจ ท่านมีความสามารถระบุสาเหตุของปัญหาได้ถูกต้อง แต่เวลาจะแก้ปัญหาไม่แก้ที่ต้นเหตุ คอยแต่จะออกกฏออกระเบียบต่าง ๆ มาแก้ที่ปลายเหตุ
  2. ขาดความเป็นตัวของตัวเองในการแก้ปัญหา
  3. ใคร ๆ ก็อยากทำงานใหญ่ ๆ ไม่มีใครใส่ใจกับงานเล็ก ๆ ที่มีความจำเป็นอย่างแท้จริง
  4. คิดว่ากรุงเทพฯ คือประเทศไทย ประเทศไทยคือกรุงเทพฯ 
  5. ดื้อ
ผมอยากจะระบายความรู้สึกในประเด็นต่าง ๆ ข้างต้นดังต่อไปนี้

การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุโดยใช้อำนาจ
ผู้บริหารในระบบการศึกษาเท่าที่ผมได้รับผลกระทบโดยตรง (จากรัฐบาล จากกระทรวงศึกษา จาก กพร. จาก สกอ. จากสภาวิศวกร จากมหาวิทยาลัย จากคณะฯ และจากภาควิชาฯ) มักจะมองปัญหาเล็ก ๆ เป็นเรื่องใหญ่เกินจริง ยินดีใช้เวลาและทรัพยากรไปกับการออกกฏระเบียบมาเพื่อ "กลบฝัง" สิ่งที่ท่าน ๆ ทั้งหลายไม่ต้องการจะเห็น เช่น
  • ไม่อยากจะเห็นนักศึกษาเอาแต่เรียน จึงออกระเบียบมาบังคับให้นักศึกษาต้องทำกิจกรรม บางมหาวิทยาลัยบังคับให้ทำกิจกรรมไม่ได้ จะเป็นเพราะนักศึกษาไม่ยอมหรือท่านอายเองก็เหลือจะเดา ท่านก็เลยแอบเอาไปไว้ในหลักสูตรเป็นวิชาหนึ่งไปเสียเลย ท่านแน่ใจหรือครับว่าท่านแก้ปัญหาที่ต้นเหตุแล้ว?
  • ไม่อยากจะเห็นนักศึกษาเรียนและรู้แต่เฉพาะวิชาชีพของตน อยากให้นักศึกษามีความรู้รอบตัวกว้างขวาง จึงออกระเบียบให้ต่อไปนี้เป็นต้นไป ทุกหลักสูตรจะต้องมีรายวิชาศึกษาทั่วไปรวม 30 หน่วยกิต เบียดรายวิชาชีพไป 1 ภาคการศึกษา ท่านแน่ใจหรือครับว่าท่านแก้ปัญหาที่ต้นเหตุแล้ว? (อยากจะถามด้วยซ้ำไปว่าท่านแน่ใจหรือครับว่าท่านไม่ได้สร้างปัญหาอื่นขึ้นมาอีก)
  • สภาวิชาชีพเป็นห่วงว่าจะมีสถาบันการศึกษา ลักไก่ขออนุมัติหลักสูตรที่สถาบันไม่พร้อมจะสอน ท่านเลยเพิ่มระเบียบให้เข้มข้นขึ้นคือเพิ่มวิชาบังคับมันซะเลย เอ๊ะ!!?? ไอ้ที่มันลักไก่อยู่ได้นี่เพราะระเบียบมันไม่เข้มข้นเหรอครับ คนตรวจสถาบันก็ตัวท่านเองนะครับ ท่านไม่อยากให้ลักไก่ท่านก็ตรวจดี ๆ ซิครับ ท่านแน่ใจหรือครับว่าท่านแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุแล้ว?
  • อาจารย์มีตำแหน่งวิชาการจำนวนน้อย อยากจะเพิ่มจำนวน ผศ. รศ. สนับสนุนมันยากครับ บังคับกันง่ายกว่า ใครที่เป็นพนักงาน ถ้าไม่ทำให้เรียบร้อยภายใน 8 ปี จะไม่ต่อสัญญา ผมมองเห็นความหวังดีอยู่ แต่ว่าการที่อาจารย์ไม่ได้ขอตำแหน่งวิชาการนี่มีสาเหตุจากอะไรกันแน่ครับ แล้วไอ้การออกเป็นกฏออกมานี่มันแก้อะไรที่ต้นเหตุบ้างหรือเปล่า อันนี้ก็ยังสงสัยอยู่ครับ
ถ้ามองในแง่ดีนะครับ ก็มองว่าคณะผู้มีอำนาจอาจยังไม่ทราบว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไรและเหตุของมันคืออะไร ถ้ามองในแง่ร้าย ก็มองได้ว่าอันที่จริงอะไรเป็นอะไรนั้นทราบดีอยู่ แต่ท่าน ๆ มีวาระซ่อนเร้น มีผลประโยชน์แอบแฝง จึงทำเป็นมองไม่เห็นว่า กฏ ระเบียบ ที่ออกมาบังคับใช้นั้น มันไม่ได้แก้ปัญหา แต่มันสร้างปัญหาเพิ่ม ท่านครับ คนเราเกิดมาเดี๋ยวก็ตายแล้ว ท่านปู้ยี่ปู้ยำกับระบบการศึกษาของประเทศโดยมีวาระซ่อนเร้น มีเด็ก ๆ ได้รับผลกระทบมากมาย บางอย่างมีผลกับอนาคตของเขาอย่างมาก ท่านไม่กลัวบาปกลัวกรรมหรือครับ?
 
ขาดความเป็นตัวของตัวเอง
ผู้บริหารในระบบการศึกษาเท่าที่ผมได้รับผลกระทบโดยตรง (จากรัฐบาล จากกระทรวงศึกษา จาก กพร. จาก สกอ. จากสภาวิศวกร จากมหาวิทยาลัย จากคณะฯ และจากภาควิชาฯ) มักจะนิยมใช้เครื่องมือตามสมัยนิยม (จากต่างประเทศ) โดยไม่ใตร่ตรองว่ามันใช้การได้จริงในวัฒนธรรมการทำงานของสังคมของเราหรือไม่ เช่น
  • ท่านเห็นว่านักศึกษาอ่อนภาษาอังกฤษ ท่านอยากให้นักศึกษาเก่งภาษาอังกฤษขึ้น ท่านเลยจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ทั้ง ๆ ที่หลักสูตรไม่ใช่หลักสูตรในภาษาอังกฤษ ท่านแน่ใจหรือครับว่านักศึกษาของเราอ่อนภาษาอังกฤษ?

ผมคิดว่านักศึกษาไม่ได้อ่อนแต่เฉพาะภาษาอังกฤษครับท่าน นักศึกษาของเราอ่อนภาษาไทยด้วย ถ้านักศึกษาไม่สามารถอ่านภาษาไทยและจับใจความสำคัญให้ได้ ไม่สามารถเรียบเรียงประโยคภาษาไทยได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล เราไปให้เขาขนเรียนภาษาอังกฤษไป 9 หน่วย 12 หน่วย จะมีประโยชน์อันใดครับ?
ผมคิดว่าก่อนจะเป็นบัณฑิตที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีนั้น เขาจะต้องเป็นบัณฑิตที่ใช้ภาษาคนให้ได้ดีก่อนครับ ดังนั้นผมจึงขอเสนอว่าถ้าจะบังคับเรียนภาษาอังกฤษ สู้บังคับเรียนภาษาไทยดีกว่า เหมือนที่เวลาท่าน ๆ ทั้งหลายไปเรียนเมืองนอกแล้วก็ต้องเรียนภาษาอังกฤษเพื่อการเขียนนั่นแหละครับ ฝรั่งเขาก็มาเรียนกับท่านด้วยใช่ไหมเล่า
  • ท่านเห็นว่าเดี๋ยวนี้มี e-Learning ใช้กัน ท่านก็เลยอยากให้อาจารย์ใช้ e-Learning กันมั่ง โชคยังดีว่าตอนนี้แค่ "สนับสนุน" ให้ใช้ แต่เผลอ ๆ จากประสบการณ์ เดี๋ยวก็บังคับกันจนได้ว่าทุกวิชา "ต้อง" มี e-Learning ไม่ว่ามันจะจำเป็นหรือไม่ มีประสิทธิผลหรือไม่ เหมาะสมกับแนวทางการสอนของอาจารย์หรือไม่
ผมคิดว่าจะ e-Learning จะ Social Media จะ Student Center จะ Project Based จะ Problem Based จะ KPI จะวิจัยในชั้นเรียน สุดท้ายมันก็แค่เครื่องมือครับ ไม่มากไปกว่านั้น ไม่น้อยไปกว่านั้น

ผมได้มีโอกาสอ่านประวัติคณาจารย์รุ่นเก่าหลาย ๆ ท่านที่เกษียณอายุราชการไป แล้วลูกศิษย์ลูกหาก็ช่วยกันทำหนังสือที่ระลึกให้อาจารย์ สิ่งที่ท่านลงมือทำมาตั้ง 30 - 40 ปีมาก่อน สอดคล้องกับแนวทางการศึกษาสมัยใหม่ทุกประการ แต่ท่านก็ใช้เครื่องมือตามยุคสมัย ตามความพร้อม ตามความเหมาะสม และที่สำคัญคือ ทำด้วยหัวใจและวิญญาณของคนเป็นครู ไม่ใช่ว่าพอมีอะไรใหม่เข้ามาปั๊บ จะต้องกระโดดใส่ทันที กระโดดใส่คนเดียวไม่พอ ยังต้องบังคับให้คนอื่นทำเหมือน ๆ กันด้วย (ฉันจะได้เป็นผู้นำ?)

ผมคิดว่าการกะเกณฑ์ให้ใครต่อใครมาเดินตามเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งเส้นทางเดียว มันกัดกร่อนจิตใจและวิญญาณของครูลงไป เพราะอิสระมันไม่มี มันก็กัดกร่อนจนหมด หมดแล้วก็กลับมาตำหนิครูอีก ว่าไม่มีวิญญาณความเป็นครู ไม่ทุ่มเทการสอน ... โอ้โหเพ่ ดูมั่งเด่ะ ว่าให้อิสระเขาในการสอนขนาดไหน ขนอะไรที่เขาไม่รู้จัก ไม่ชิน ไม่เหมาะ ไปให้เขาทำมั่งล่ะ ถ้าไม่ทำก็จะเสียโอกาส

ถึงบรรทัดนี้ บางคนอาจนึกแย้งในใจว่า เอ๊ะ เขาก็ไม่ได้บังคับนี่นา ผมมีอคติเกินไปหรือเปล่า อืม...อาจจะใช่ก็ได้ครับ คือว่าผมน่ะมีความคิดอย่างนี้ครับ
  • ตอนนี้ไม่บังคับ รอสักพัก เผลอ ๆ เดี๋ยวก็บังคับ
  • ตอนนี้ไม่บังคับทางตรง แต่ก็ถือว่าบังคับทางอ้อม เช่น คนที่ไม่ได้ใช้เครื่องมือตามนี้ ๆ (เช่น e-Learning) เวลาถูกประเมิน ก็จะได้คะแนนต่ำกว่าคนที่มี ส่วนคนที่ไม่มี เขาจะใช้แนวทางอื่น หรือเครื่องมืออื่น ก็อาจจะได้รับน้ำหนักน้อย หรือไม่มีน้ำหนักเลยก็ได้ อย่างนี้ไม่บังคับก็เหมือนบังคับ เพราะถ้าไม่ทำตาม ก็จะได้รับโอกาสน้อยกว่าคนอื่น ๆ
เครื่องมือก็คือเครื่องมือ ผมคิดว่าครูบาอาจารย์ท่านน่าจะได้รับอิสระที่จะเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับแนวทางการเรียนการสอนของท่าน โดยไม่สูญเสียโอกาสอันเนื่องจากการไม่เลือกเครื่องมือที่กำหนด เพื่อให้จิตวิญญาณของครูไม่ถูกกัดกร่อนไปด้วยระบบการประเมินที่คับแคบ ไม่รอบด้าน ไม่เป็นธรรม และขาดความเป็นตัวของตัวเอง
  • มีบทความวิจัยน้อย เลยกำหนดมันซะเลยว่าจะจบโทต้องมีกี่เปเปอร์ จะจบเอกต้องมีกี่เปเปอร์ เอาเปเปอร์เป็นตัวตั้ง
เรื่องตลกก็คือพอมหาวิทยาลัยมันเยอะขึ้น สนามที่จะให้เปเปอร์ออกมันไม่พอ ก็เลยจัดพิมพ์วารสารขึ้นมาเอง จัดงานประชุมวิชาการขึ้นมากันเองซะเลย จะดันออกนอกประเทศก็ไม่ได้เพราะคุณภาพมันเท่าเดิม ก็เลยมีวารสารวิชาการ ประชุมวิชาการเยอะแยะไปหมด
  • ซ้ำร้าย การประเมินมหาวิทยาลัย ก็มีหัวข้อว่าด้วยการจัดประชุมวิชาการระดับชาติและระดับนานาชาติมาเป็นตัววัดเพิ่มเข้าไปอีก (ไม่มีไม่ได้...อายเค้า)
เราก็เลยมีประชุมวิชาการระดับชาติและระดับนานาชาติเกิดขึ้นเยอะแยะไปหมด เรามีมหาวิทยาลัยเป็นร้อยมหาวิทยาลัย ทุกมหาวิทยาลัยก็อยากได้ผลประเมินสูง ๆ ทุกคนก็เลยจัดกันคนละงานสองงานเป็นประจำทุกปี ดู ๆ ไปแล้วก็ครึกครื้นดีนะครับ

งานเล็ก ๆ ไม่ งานใหญ่ ๆ เอา
ด้วยวิธีการประเมินแบบที่ผมวิจารณ์ไว้ข้างต้น เราได้สร้างบุคลากรอีกประเภทหนึ่งขึ้นมา ก็คือบุคลากรที่คอยมองว่า ประเด็นหรือหัวข้อการประเมินคืออะไร แล้วก็จะ ทำตามที่เขาจะประเมิน บุคลากรส่วนนี้ก็จะไม่ยินดีทำงานที่จำเป็นต้องมีคนทำ (แต่ไม่เกี่ยวกับการประเมิน)
  • ถ้าการประเมินเน้นวิจัย ท่านก็จะไปวิจัย
  • ถ้าการประเมินบอกว่าต้องมี e-Learning ท่านก็จะสร้าง e-Learning
  • การประเมินไม่ได้บอกว่าท่านต้องจัดกิจกรรมให้เด็ก ๆ (ซึ่งถูกมหาวิทยาลัยบังคับให้ทำตามกำหนด) ท่านก็จะปฏิเสธงานกิจกรรม
  • การประเมินไม่ได้บอกว่าท่านต้องช่วยงานอื่น ๆ ของคณะ เช่นกรรมการดูงาน กรรมการฝึกงาน กรรมการซ้อมบัณฑิต กรรมการพิจารณาทุนการศึกษา อาจารย์ที่ปรึกษาชมรม ท่านก็จะปฏิเสธงานเหล่านั้น
ผมคิดว่าองค์กรทั้งหลาย จะตั้งดำรงอยู่ได้และจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน งานทั้งเล็กและใหญ่ล้วนสำคัญทั้งสิ้น ผมคิดว่า ใด ๆ แตกต่างกันด้วยรายละเอียด คิดโปรเจ็คพันสองร้อยล้านมันไม่ยากหรอกครับ มันยากตอนทำจริง ๆ และต้องแก้ปัญหาในรายละเอียดนั่นแหละ แต่รายละเอียดพวกนี้มันงานเล็กครับ ถ้าท่าน ๆ มาทำเองมันคงจะเสียเวลาท่านสินะครับ

กรุงเทพฯ คือประเทศไทย
ตามนั้นเลยครับ
  • คิดว่าเด็ก ๆ ทุกคนเข้าถึงอินเตอร์เนตได้โดยสะดวก เชิญมาต่างจังหวัดบ้างนะครับ
  • คิดว่าโรงเรียนมีความพร้อมเหมือนโรงเรียนในเมือง ผมเคยไปเยี่ยมโรงเรียนหนึ่ง ทั้งโรงเรียนมีครูอยู่ 7 คน ผมจำไม่ได้ว่าสอนกี่ชั้น แต่ครูทุกคนต้องช่วยกันทำทุกอย่าง ตั้งแต่บัญชีครุภัณฑ์ รายรับรายจ่าย ประกันคุณภาพ กิจกรรมนักเรียน อาหารกลางวัน ดูแลห้องคอมพ์ (บริจาค) ฯลฯ มีอยู่วันหนึ่งนั่งดูรายการโทรทัศน์ นักวิชาการการศึกษามาพูด "สับ" ครูในห้องส่งว่า ครูมักง่าย สอนแบบขนมชั้น จบไปเป็นแถว ๆ ไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ใช้ศักยภาพของตนเองเต็มที่ ผมยังนึก ๆ  อยู่ว่าคนพูดนี่เคยออกมาสอนนอกกรุงเทพฯ บ้างหรือเปล่า ออกมาแล้วไม่ต้องไปถึงโรงเรียนชนบทไกล ๆ หรอก เอาแค่โรงเรียนประจำอำเภอเล็ก ๆ ก็ได้ อย่าไปโรงเรียนดัง ๆ หรือโรงเรียนประจำจังหวัด แล้วท่านจะได้รู้ว่ามันเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ท่านทั้งหลายเป็นคนกำหนดให้ครูเขาเองนี่แหละ
ดื้อ
ถ้าได้ลองเลือกให้ทำอะไรลงไปแล้ว ต่อให้มันเห็นชัดขนาดไหนว่าไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ก็ไม่เลิกง่าย ๆ ครับ ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม อันนี้เป็นสิ่งที่ผมรู้สึกนะครับ

แล้วผมคิดยังไง?
ผมคิดว่าการเรียนการสอนของเรามันผิดเพี้ยนบิดเบี้ยวไปหมด มันควรจะเหมือนปิระมิด คือ
  • ระดับต้น สอนให้รู้ถูกผิดดีชั่ว ให้รู้จักสังคม ให้รู้พื้นฐานกว้าง ๆ
  • ระดับกลาง เปิดโอกาสให้เขาได้ทดลองในทุก ๆ อย่าง พอปลาย ๆ ก็ให้เขาพัฒนาตนเองตามความถนัด จากนั้นค่อยไปเลือกในระดับสูง
  • ระดับสูง เข้มข้นที่เนื้อหาเฉพาะด้าน เพื่อพัฒนาในสิ่งที่เขาเลือกแล้วให้ดีที่สุด
แต่จากมุมมองของผม ผมกลับเห็นว่าเราทำกันอีกแบบ เหมือนกับนาฬิกาทรายคือ
  • ระดับต้น สอนให้รู้ถูกผิดดีชั่ว ให้รู้จักสังคม ให้รู้พื้นฐานกว้าง ๆ (ดีแล้วครับ) แต่ใช้ปัญหาระดับทดสอบไอคิวมาใช้ ผมเคยเจอการบ้านเด็ก ป. 5 หลังมหาวิทยาลัยมีเรื่องลำดับและอนุกรมแล้วนะครับ อันนี้เจอกับตัวเลย ทั้งกว้าง ทั้งลึก นึกไม่ออกว่าจะสอนยังไง พ่อแม่ขายข้าวแกงก็ช่วยไม่ได้ นี่ใช่ผลที่คาดหวังเวลาเอาเรื่องพวกนี้มาสอนหรือเปล่า
  • ระดับกลาง แยกสายวิทย์ สายศิลป์ เหมือนจะตีกรอบมาให้ค่อนข้างแคบในด้านการเรียนการสอน แต่พอประเมินก็มาใช้ทางกว้างอีก
  • ระดับสูง อยากให้เขาเรียนรู้ชีวิตครบทุกอย่าง สายวิทย์ต้องเรียนศึกษาทั่วไปของสายศิลป์ สายศิลป์ต้องสอบวัดระดับความรู้คอมพิวเตอร์ของสายวิทย์ กว้างออกมาอีก
ผมคิดว่าเด็กจะเรียนตามที่เราประเมินเขา
  • สำหรับนักเรียนแล้ว คนที่จะประเมินเขาในปลายทางสุดท้ายคือ เงินเดือนจากผู้ประกอบการครับ ถ้าเราแก้ปัญหาช่องว่างอัตราเงินเดือนระหว่างวิชาชีพไม่ได้ ถ้าเด็กเลือกได้เขาก็จะไหลไปเลือกเรียนวิชาชีพที่ให้เงินเดือนสูง ไม่เกี่ยวกับความชอบหรือความถนัดของเขาเลย ผลก็คือเราจะได้สังคมขาดความสมดุลในวิชาชีพ
  • ที่วิชาชีพปลายทางเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมการเรียนของเด็ก ๆ ก็เพราะว่า เด็ก ๆ จะไปประกอบวิชาชีพปลายทางที่ต้องการได้ ก็ต้องสอบเข้าให้ได้ในคณะที่ต้องการ
  • ถ้าช่องว่างรายได้ระหว่างวิชาชีพลดลง อัตราการแข่งขันเพื่อสอบเข้าคณะยอดนิยมจะลดลง ความตึงเครียดจะลดลง และสัดส่วนเด็กที่เลือกเข้าคณะต่าง ๆ ก็จะสมดุลกัน เด็กจะได้เลือกเรียนในสิ่งที่ชอบมากขึ้น การเรียนของเด็ก ๆ ก็จะมีความสมดุลและสอดคล้องกับบุคลิกภาพของเขามากขึ้น
  • ปัญหาพฤติกรรมการเลือกเรียน การเน้นกวดวิชาในบางวิชาจนการเรียนรู้เสียสมดุลย์ก็น่าจะลดน้อยลงไปในที่สุด
ในทำนองเดียวกัน ผมคิดว่าครู-อาจารย์จะสอนอย่างที่เราประเมินเขา นั่นคือผมคิดว่าสิ่งสำคัญสำหรับคนที่เลือกวิชาชีพครู ก็คือการสอน ส่วนเครื่องมือนั้นจะใช้อะไรก็ได้ ดังนั้นการประเมินจึงควรประเมินประสิทธิผลการสอนเป็นหลัก โดยไม่น่าจะต้องไปสนใจว่ามีเครื่องมืออะไรหรือไม่แม้แต่น้อย

และการประเมินประสิทธิผลการสอน ก็คือการประเมินนักเรียนนั่นแหละ เล็งกันที่วัตถุประสงค์การเรียนรู้ในแต่ละหัวข้อก็พอ ว่าสอนได้ตามที่กำหนดหรือเปล่า ว่ากันเป็นจุด ๆ ไปทีละจุด ๆ ไม่ควรจะต้องไปสนใจว่าเด็กสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้หรือไม่ เพราะนั่นไม่ใช่เป้าหมายของการศึกษา

อยากให้ย้อนกลับมาดูเป้าหมายการศึกษา แล้วประเมินตามนั้น อย่าเอาเรื่องที่ไม่ใช่เป้าหมายทางการศึกษาอย่างแท้จริงเข้ามาปะปนให้มันวุ่นวายจนละเลยเป้าหมายการศึกษาที่แท้จริงเลย

แน่นอนว่าผมก็เห็นด้วยว่ามันไม่ง่ายเลย แต่ผมเชื่อว่ามันทำได้ถ้าเรา
  • เลิกใช้อำนาจกลบปัญหาในปลายทาง แต่ใช้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุต้นทางอย่างแท้จริง
  • มีความเป็นตัวของตัวเองในการแก้ปัญหา เครื่องมือก็เป็นแค่เครื่องมือ ไม่มากไปกว่านั้น ไม่น้อยไปกว่านั้น
แล้วก็ระดมสมองจากบุคลากรด้านการศึกษาทุกระดับ ทุกด้าน มาช่วยกันคิด ช่วยกันหาทางออก และจัดให้มีการปรับปรุงระบบอย่างสม่ำเสมอ (คืออย่าดื้อครับ ถ้ามันใช้ไม่ได้ก็อย่าดื้อ) ผมว่ามันน่าจะค่อย ๆ ดีขึ้นเองครับ

วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 21, 2554

วิธีการตรวจรายงานวิชาปฏิบัติการของอาจารย์

ตรวจข้อสอบวิชาปฏิบัติการ (Lab) แล้วสงสัยว่าทำไมนักศึกษาได้คะแนนน้อยเกินความคาดหวัง ก็เลยหารือกับคณาจารย์และนักศึกษาที่รู้จัก ได้ความว่า

นักศึกษาไม่เชื่อว่าอาจารย์ตรวจรายงานวิชาปฏิบัติการจริง เชื่อว่าอาจารย์ไม่ได้ตรวจแล้วก็สุ่ม ๆ คะแนนเอา (สมัยผมเรียนเราเรียกว่า "ปาเป้า") ก็เลยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับวิชานี้เท่าใด ลองดูจากผลการตรวจรายงานของผม พบว่าไม่น่าแปลกใจที่นักศึกษาคิดอย่างนั้น เพราะรายงานของบางคนดูดีมีสกุลมาก แต่ได้คะแนนปานกลาง รายงานของอีกคนดูสกปรกไม่เรียบร้อย ก็ได้คะแนนปานกลาง บางคนได้คะแนนมากกว่าด้วยซ้ำ นักศึกษาไม่เข้าใจวิธีการตรวจงานของผมอาจเข้าใจเอาเองว่าผมปาเป้าให้คะแนน ซึ่งไม่เป็นความจริง

เพื่อปรับความเข้าใจให้ถูกต้อง ผมจะอธิบายวิธีการตรวจรายงานปฏิบัติการของผมกัน

ผมแบ่งคะแนนออกเป็น 4 ส่วนคือ
1. รูปแบบ - องค์ประกอบ ความครบถ้วนเรียบร้อย 2 คะแนน
2. รายงานก่อนเข้าปฏิบัติการ (Preliminary Report) 3 คะแนน
3. ผลการทดลอง 2 คะแนน
4. สรุปและอภิปราย 3 คะแนน

ลองดูกรณีตัวอย่างต่อไปนี้
  • คนที่ทำงานเรียบร้อย ส่ง Prelim ไม่ครบ ผลการทดลองครบ สรุปผิด จะได้คะแนน 2+1.5+2+1 = 6.5 คะแนน
  • คนที่ทำงานไม่เรียบร้อย ส่ง Prelim ครบ ผลการทดลองไม่ครบ สรุปพอใช้ได้ จะได้คะแนน 1.5+3+1+1.5 = 7 คะแนน
  • คนที่ทำงานเรียบร้อย ส่ง Prelim ครบ ผลการทดลองครบ แต่ลอกสรุปจากคนอื่นมา จะได้คะแนน 2+3+2+0 = 7 คะแนน
  • คนที่ทำงานเรียบร้อย ส่ง Prelim ครบ ถ่ายเอกสารผลการทดลองมาส่ง สรุปดี จะได้คะแนน 2+3+0+3 = 0 คะแนน กรณีนี้น่าเสียดายมาก ๆ

จะเห็นได้ว่าผลงานต่างกัน แต่ได้คะแนนเท่ากันก็มี เนื่องจากทำดีคนละด้าน และแต่ละด้านก็มีคะแนนของมัน

ในรุ่นก่อนมีคนได้ 10 แต้มเต็ม แต่ในรุ่นนี้ ยังไม่มีใครได้ 10 แต้ม ทุกคนเท่าที่ตรวจมาจะมีข้อบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่งในต่อไปนี้คือ
  1. ผิดรูปแบบ (เช่นขูดลบขีดฆ่าไม่เรียบร้อยอย่างเห็นได้ชัดบนหน้าปก หรือขาดองค์ประกอบที่จำเป็นต้องมี)
  2. ส่ง Prelim ไม่ครบ (Prelim มี 3 วงจร 6 การคำนวณ หลายคนทำมาแค่ 3 การคำนวณ)
  3. ผลการทดลองไม่ครบ เช่นใน Section มี 15 กลุ่ม แต่ส่งผลการทดลองมาแค่ 13 กลุ่มโดยไม่มีคำชี้แจงใด ๆ หรือที่เลวร้ายกว่านั้นคือถ่ายสำเนาผลการทดลองมาส่ง ในกรณีหลังนี้จะได้ศูนย์คะแนนโดยไม่ต้องตรวจเรื่องอื่น
  4. สรุปผิดยังได้ 1 แต้ม แต่ลอกสรุปจากคนอื่นผมให้ศูนย์แต้ม
ผมอยากให้นักศึกษาเข้าใจว่าการตรวจรายงานเป็นภาระหน้าที่ที่สำคัญ ไม่มีใครปาเป้าตรวจงานหรอก แต่เกณฑ์การตรวจอาจไม่เหมือนกัน ในรายวิชาอื่น ๆ และอาจารย์ท่านอื่น ท่านก็คงมีแนวทางการตรวจงานต่าง ๆ กันไป ผมคงพูดแทนไม่ได้ แต่ว่ารายงานการทดลองนั้นองค์ประกอบสำคัญก็มีเพียง 3 ประการคือ
  1. แสดงวิธีการทดลอง - ทำอะไร
  2. แสดงผลการทดลอง - ได้อะไร
  3. การตีความผลการทดลอง - หมายความว่าอะไร
ถ้าเราอ่านออกว่าความหมายที่แท้จริงของการทดลองนั้น ๆ คืออะไร ออกแบบมาเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้อะไร นักศึกษาก็สามารถจะเขียนรายงานการทดลองที่ดีได้ไม่อยาก

ผมหวังว่าการชี้แจงของผมนี้จะเป็นประโยชน์กับนักศึกษา เพื่อที่จะเป็นแนวทางในการเขียนรายงานวิชาปฏิบัติการที่ดีต่อไป