วันอาทิตย์, มิถุนายน 26, 2554

การเลือกตั้งใกล้เข้ามาแล้ว ผมยังสับสนอยู่เลย

การเลือกตั้งใกล้เข้ามาแล้ว ผมยังสับสนอยู่เลยว่า โดยหลักการพื้นฐานที่ทำให้ประชาธิปไตยเติบโตขึ้นมาได้นั้น เราควรจะมีหลักการเลือกแบบไหน ระหว่าง
  1. เลือกบนพื้นฐานของความชอบ (หมายความรวมถึงความชอบในนโยบายของพรรคด้วย) กล่าวคือ ชอบใคร ก็ให้เลือกคนนั้น พรรคนั้น อย่าไปคิดมาก
  2. เลือกบนพื้นฐานของความไม่ชอบ (หมายความรวมถึงความไม่ชอบในนโยบายของพรรคด้วย) กล่าวคือ ถ้าคิดว่าใครหรือพรรคใด น่าจะชนะพรรคที่เราไม่ชอบได้ในพื้นที่นั้น ๆ ให้เลือกคนนั้น พรรคนั้น ถึงแม้ว่าคนนั้น พรรคนั้นจะไม่ใช่คนหรือพรรคที่เราชอบมากที่สุดก็ตาม
เพียงเท่านี้ก็เป็นเรื่องที่คิดไม่ตกแล้ว ผมมีคนที่ชอบ มีพรรคที่มีนโยบายตรงใจ แต่ถ้าเลือกคนนี้ พรรคนี้ ในพื้นที่นี้ มันก็ไม่ชนะอยู่ดี ถ้าต้องการกันไม่ให้คนนั้น พรรคนั้นชนะเลือกตั้งในพื้นที่นี้ ผมก็ต้องเลือกคนและพรรคที่สามารถล้มคนนั้น พรรคนั้นได้ แต่ก็ต้องแลกกับการไม่ได้เลือกนโยบายที่เราถูกใจ

ทางเลือกใดจึงจะเป็นทางเลือกที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของหลักการประชาธิปไตยมากที่สุด อันที่จริงเขียนมาถึงบรรทัดนี้ชักจะสงสัยแล้วเหมือนกันว่า ที่เรียกว่าประชาธิปไตยนั้นแท้จริงแล้วคืออะไรกันแน่??

นอกจากนี้แม้แต่นโยบายทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจที่พรรคการเมืองต่าง ๆ นำมาโฆษณานี้ เรียกว่านโยบายได้จริง ๆ หรือเปล่า

เพราะผมกลับคิดว่าสิ่งที่เรียกว่านโยบาย มันจะต้องไม่มีรายละเอียด มันน่าจะบอกเพียงเป้าหมายว่านโยบายนี้จะนำไปสู่อะไร ด้วยเส้นทางแบบไหน เช่น
  • นโยบายแก้ปัญหาที่ดินทำกิน ด้วยหลักการภาษีที่ดิน หรือ
  • แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจด้วยนโยบายภาษีมรดก
  • แก้ปัญหาคุณภาพการศึกษา ด้วยการยกเครื่องการประเมินอาจารย์และสถาบันการศึกษา
  • แก้ปัญหาคุณภาพการศึกษา ด้วยการให้เกียรติทุกวิชาชีพเท่าเทียมกัน (ยกเลิกเงินค่าวิชาชีพ - ใครจะกล้า? ฮ่า ฮ่า ฮ่า)
ไม่ใช่ขึ้นเงินเดือนเท่านั้นเท่านี้ จะสร้างนั่นสร้างนี้ อย่างการสร้างท่อส่งน้ำในภาคอีสาน ก็ไม่น่าจะเรียกว่านโยบาย ต้องเป็นการพัฒนาการจัดการทรัพยากรน้ำในภาคอีสานต่างหากจึงจะเรียกว่านโยบาย เพราะการพัฒนาการจัดการทรัพยากรน้ำน่าจะทำได้หลายวิธี ไม่ใช่แค่โครงการสร้างท่อส่งน้ำราคาเป็นหมื่น ๆ ล้านเพียงวิธีเดียว ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ แล้วนั่นมันก็แค่รายละเอียดการปฏิบัติ จริง ๆ ผมยังสงสัยเหมือนกันว่า ด้วยรายละเอียดการปฏิบัติแบบนี้แบบนั้นที่โฆษณากันนี่มันตั้งอยู่บนนโยบายแบบไหน มีเป้าหมายอย่างไร ด้วยช่องทางใด เป็นไปได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ (เพราะถ้าคิดแค่ว่าเป็นไปได้ แจกคอมพ์ทุกบ้านก็เป็นไปได้ครับ) และถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ เรื่องนี้ต้องเปรียบเทียบกับลายเซนต์อาจารย์ที่ปรึกษา ที่นักศึกษาจำนวนมากคิดว่า ก็เซนต์ ๆ ไป ไม่น่าเรื่องมาก แต่การสักแต่ว่าเซนต์ ๆ ไปนั้นอันที่จริงไม่ถูกต้องชอบธรรมตามหลักการเข้าพบเพื่อขอลายเซนต์อาจารย์ที่ปรึกษา

นโยบายที่เขียน ๆ กันมาเยอะแยะนี่ สุดท้ายทำได้ทั้งหมดหรือเปล่า มีอะไรโดดเด่นเร่งด่วนจริงหรือเปล่า เพราะเรียนมาว่า ถ้าทุกอย่างสำคัญหมด แสดงว่าไม่มีอะไรสำคัญเลย

ที่โฆษณากันเยอะ ๆ นี่ ผมดูใบประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งแล้ว มีเพียงพรรคเดียวที่มีนโยบายสั้นที่สุด มีความจำเป็นต่อรัฐสภา และสามารถทำได้จริง ใครสงสัยลองไปหาดูว่าพรรคไหนก็แล้วกัน

ไม่มีความคิดเห็น: