-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เรื่องของเรื่องก็คือเมื่อสักสัปดาห์ที่แล้วได้พูดคุยกับรุ่นพี่ที่เคารพท่านหนึ่งเกี่ยวกับระบบการศึกษาของเรา หลังจากนั้นก็นำมาคิดต่อและได้ข้อสรุปในใจที่อยากจะบันทึกไว้ ผมคิดว่าปัญหาของการศึกษาของเราเกิดจากสาเหตุไม่กี่ประการ ได้แก่
- ผู้มีความรู้ และมีอำนาจ ท่านมีความสามารถระบุสาเหตุของปัญหาได้ถูกต้อง แต่เวลาจะแก้ปัญหาไม่แก้ที่ต้นเหตุ คอยแต่จะออกกฏออกระเบียบต่าง ๆ มาแก้ที่ปลายเหตุ
- ขาดความเป็นตัวของตัวเองในการแก้ปัญหา
- ใคร ๆ ก็อยากทำงานใหญ่ ๆ ไม่มีใครใส่ใจกับงานเล็ก ๆ ที่มีความจำเป็นอย่างแท้จริง
- คิดว่ากรุงเทพฯ คือประเทศไทย ประเทศไทยคือกรุงเทพฯ
- ดื้อ
การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุโดยใช้อำนาจ
ผู้บริหารในระบบการศึกษาเท่าที่ผมได้รับผลกระทบโดยตรง (จากรัฐบาล จากกระทรวงศึกษา จาก กพร. จาก สกอ. จากสภาวิศวกร จากมหาวิทยาลัย จากคณะฯ และจากภาควิชาฯ) มักจะมองปัญหาเล็ก ๆ เป็นเรื่องใหญ่เกินจริง ยินดีใช้เวลาและทรัพยากรไปกับการออกกฏระเบียบมาเพื่อ "กลบฝัง" สิ่งที่ท่าน ๆ ทั้งหลายไม่ต้องการจะเห็น เช่น
- ไม่อยากจะเห็นนักศึกษาเอาแต่เรียน จึงออกระเบียบมาบังคับให้นักศึกษาต้องทำกิจกรรม บางมหาวิทยาลัยบังคับให้ทำกิจกรรมไม่ได้ จะเป็นเพราะนักศึกษาไม่ยอมหรือท่านอายเองก็เหลือจะเดา ท่านก็เลยแอบเอาไปไว้ในหลักสูตรเป็นวิชาหนึ่งไปเสียเลย ท่านแน่ใจหรือครับว่าท่านแก้ปัญหาที่ต้นเหตุแล้ว?
- ไม่อยากจะเห็นนักศึกษาเรียนและรู้แต่เฉพาะวิชาชีพของตน อยากให้นักศึกษามีความรู้รอบตัวกว้างขวาง จึงออกระเบียบให้ต่อไปนี้เป็นต้นไป ทุกหลักสูตรจะต้องมีรายวิชาศึกษาทั่วไปรวม 30 หน่วยกิต เบียดรายวิชาชีพไป 1 ภาคการศึกษา ท่านแน่ใจหรือครับว่าท่านแก้ปัญหาที่ต้นเหตุแล้ว? (อยากจะถามด้วยซ้ำไปว่าท่านแน่ใจหรือครับว่าท่านไม่ได้สร้างปัญหาอื่นขึ้นมาอีก)
- สภาวิชาชีพเป็นห่วงว่าจะมีสถาบันการศึกษา ลักไก่ขออนุมัติหลักสูตรที่สถาบันไม่พร้อมจะสอน ท่านเลยเพิ่มระเบียบให้เข้มข้นขึ้นคือเพิ่มวิชาบังคับมันซะเลย เอ๊ะ!!?? ไอ้ที่มันลักไก่อยู่ได้นี่เพราะระเบียบมันไม่เข้มข้นเหรอครับ คนตรวจสถาบันก็ตัวท่านเองนะครับ ท่านไม่อยากให้ลักไก่ท่านก็ตรวจดี ๆ ซิครับ ท่านแน่ใจหรือครับว่าท่านแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุแล้ว?
- อาจารย์มีตำแหน่งวิชาการจำนวนน้อย อยากจะเพิ่มจำนวน ผศ. รศ. สนับสนุนมันยากครับ บังคับกันง่ายกว่า ใครที่เป็นพนักงาน ถ้าไม่ทำให้เรียบร้อยภายใน 8 ปี จะไม่ต่อสัญญา ผมมองเห็นความหวังดีอยู่ แต่ว่าการที่อาจารย์ไม่ได้ขอตำแหน่งวิชาการนี่มีสาเหตุจากอะไรกันแน่ครับ แล้วไอ้การออกเป็นกฏออกมานี่มันแก้อะไรที่ต้นเหตุบ้างหรือเปล่า อันนี้ก็ยังสงสัยอยู่ครับ
ขาดความเป็นตัวของตัวเอง
ผู้บริหารในระบบการศึกษาเท่าที่ผมได้รับผลกระทบโดยตรง (จากรัฐบาล จากกระทรวงศึกษา จาก กพร. จาก สกอ. จากสภาวิศวกร จากมหาวิทยาลัย จากคณะฯ และจากภาควิชาฯ) มักจะนิยมใช้เครื่องมือตามสมัยนิยม (จากต่างประเทศ) โดยไม่ใตร่ตรองว่ามันใช้การได้จริงในวัฒนธรรมการทำงานของสังคมของเราหรือไม่ เช่น
- ท่านเห็นว่านักศึกษาอ่อนภาษาอังกฤษ ท่านอยากให้นักศึกษาเก่งภาษาอังกฤษขึ้น ท่านเลยจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ทั้ง ๆ ที่หลักสูตรไม่ใช่หลักสูตรในภาษาอังกฤษ ท่านแน่ใจหรือครับว่านักศึกษาของเราอ่อนภาษาอังกฤษ?
ผมคิดว่านักศึกษาไม่ได้อ่อนแต่เฉพาะภาษาอังกฤษครับท่าน นักศึกษาของเราอ่อนภาษาไทยด้วย ถ้านักศึกษาไม่สามารถอ่านภาษาไทยและจับใจความสำคัญให้ได้ ไม่สามารถเรียบเรียงประโยคภาษาไทยได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล เราไปให้เขาขนเรียนภาษาอังกฤษไป 9 หน่วย 12 หน่วย จะมีประโยชน์อันใดครับ?
ผมคิดว่าก่อนจะเป็นบัณฑิตที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีนั้น เขาจะต้องเป็นบัณฑิตที่ใช้ภาษาคนให้ได้ดีก่อนครับ ดังนั้นผมจึงขอเสนอว่าถ้าจะบังคับเรียนภาษาอังกฤษ สู้บังคับเรียนภาษาไทยดีกว่า เหมือนที่เวลาท่าน ๆ ทั้งหลายไปเรียนเมืองนอกแล้วก็ต้องเรียนภาษาอังกฤษเพื่อการเขียนนั่นแหละครับ ฝรั่งเขาก็มาเรียนกับท่านด้วยใช่ไหมเล่า
- ท่านเห็นว่าเดี๋ยวนี้มี e-Learning ใช้กัน ท่านก็เลยอยากให้อาจารย์ใช้ e-Learning กันมั่ง โชคยังดีว่าตอนนี้แค่ "สนับสนุน" ให้ใช้ แต่เผลอ ๆ จากประสบการณ์ เดี๋ยวก็บังคับกันจนได้ว่าทุกวิชา "ต้อง" มี e-Learning ไม่ว่ามันจะจำเป็นหรือไม่ มีประสิทธิผลหรือไม่ เหมาะสมกับแนวทางการสอนของอาจารย์หรือไม่
ผมได้มีโอกาสอ่านประวัติคณาจารย์รุ่นเก่าหลาย ๆ ท่านที่เกษียณอายุราชการไป แล้วลูกศิษย์ลูกหาก็ช่วยกันทำหนังสือที่ระลึกให้อาจารย์ สิ่งที่ท่านลงมือทำมาตั้ง 30 - 40 ปีมาก่อน สอดคล้องกับแนวทางการศึกษาสมัยใหม่ทุกประการ แต่ท่านก็ใช้เครื่องมือตามยุคสมัย ตามความพร้อม ตามความเหมาะสม และที่สำคัญคือ ทำด้วยหัวใจและวิญญาณของคนเป็นครู ไม่ใช่ว่าพอมีอะไรใหม่เข้ามาปั๊บ จะต้องกระโดดใส่ทันที กระโดดใส่คนเดียวไม่พอ ยังต้องบังคับให้คนอื่นทำเหมือน ๆ กันด้วย (ฉันจะได้เป็นผู้นำ?)
ผมคิดว่าการกะเกณฑ์ให้ใครต่อใครมาเดินตามเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งเส้นทางเดียว มันกัดกร่อนจิตใจและวิญญาณของครูลงไป เพราะอิสระมันไม่มี มันก็กัดกร่อนจนหมด หมดแล้วก็กลับมาตำหนิครูอีก ว่าไม่มีวิญญาณความเป็นครู ไม่ทุ่มเทการสอน ... โอ้โหเพ่ ดูมั่งเด่ะ ว่าให้อิสระเขาในการสอนขนาดไหน ขนอะไรที่เขาไม่รู้จัก ไม่ชิน ไม่เหมาะ ไปให้เขาทำมั่งล่ะ ถ้าไม่ทำก็จะเสียโอกาส
ถึงบรรทัดนี้ บางคนอาจนึกแย้งในใจว่า เอ๊ะ เขาก็ไม่ได้บังคับนี่นา ผมมีอคติเกินไปหรือเปล่า อืม...อาจจะใช่ก็ได้ครับ คือว่าผมน่ะมีความคิดอย่างนี้ครับ
- ตอนนี้ไม่บังคับ รอสักพัก เผลอ ๆ เดี๋ยวก็บังคับ
- ตอนนี้ไม่บังคับทางตรง แต่ก็ถือว่าบังคับทางอ้อม เช่น คนที่ไม่ได้ใช้เครื่องมือตามนี้ ๆ (เช่น e-Learning) เวลาถูกประเมิน ก็จะได้คะแนนต่ำกว่าคนที่มี ส่วนคนที่ไม่มี เขาจะใช้แนวทางอื่น หรือเครื่องมืออื่น ก็อาจจะได้รับน้ำหนักน้อย หรือไม่มีน้ำหนักเลยก็ได้ อย่างนี้ไม่บังคับก็เหมือนบังคับ เพราะถ้าไม่ทำตาม ก็จะได้รับโอกาสน้อยกว่าคนอื่น ๆ
- มีบทความวิจัยน้อย เลยกำหนดมันซะเลยว่าจะจบโทต้องมีกี่เปเปอร์ จะจบเอกต้องมีกี่เปเปอร์ เอาเปเปอร์เป็นตัวตั้ง
- ซ้ำร้าย การประเมินมหาวิทยาลัย ก็มีหัวข้อว่าด้วยการจัดประชุมวิชาการระดับชาติและระดับนานาชาติมาเป็นตัววัดเพิ่มเข้าไปอีก (ไม่มีไม่ได้...อายเค้า)
งานเล็ก ๆ ไม่ งานใหญ่ ๆ เอา
ด้วยวิธีการประเมินแบบที่ผมวิจารณ์ไว้ข้างต้น เราได้สร้างบุคลากรอีกประเภทหนึ่งขึ้นมา ก็คือบุคลากรที่คอยมองว่า ประเด็นหรือหัวข้อการประเมินคืออะไร แล้วก็จะ ทำตามที่เขาจะประเมิน บุคลากรส่วนนี้ก็จะไม่ยินดีทำงานที่จำเป็นต้องมีคนทำ (แต่ไม่เกี่ยวกับการประเมิน)
- ถ้าการประเมินเน้นวิจัย ท่านก็จะไปวิจัย
- ถ้าการประเมินบอกว่าต้องมี e-Learning ท่านก็จะสร้าง e-Learning
- การประเมินไม่ได้บอกว่าท่านต้องจัดกิจกรรมให้เด็ก ๆ (ซึ่งถูกมหาวิทยาลัยบังคับให้ทำตามกำหนด) ท่านก็จะปฏิเสธงานกิจกรรม
- การประเมินไม่ได้บอกว่าท่านต้องช่วยงานอื่น ๆ ของคณะ เช่นกรรมการดูงาน กรรมการฝึกงาน กรรมการซ้อมบัณฑิต กรรมการพิจารณาทุนการศึกษา อาจารย์ที่ปรึกษาชมรม ท่านก็จะปฏิเสธงานเหล่านั้น
กรุงเทพฯ คือประเทศไทย
ตามนั้นเลยครับ
- คิดว่าเด็ก ๆ ทุกคนเข้าถึงอินเตอร์เนตได้โดยสะดวก เชิญมาต่างจังหวัดบ้างนะครับ
- คิดว่าโรงเรียนมีความพร้อมเหมือนโรงเรียนในเมือง ผมเคยไปเยี่ยมโรงเรียนหนึ่ง ทั้งโรงเรียนมีครูอยู่ 7 คน ผมจำไม่ได้ว่าสอนกี่ชั้น แต่ครูทุกคนต้องช่วยกันทำทุกอย่าง ตั้งแต่บัญชีครุภัณฑ์ รายรับรายจ่าย ประกันคุณภาพ กิจกรรมนักเรียน อาหารกลางวัน ดูแลห้องคอมพ์ (บริจาค) ฯลฯ มีอยู่วันหนึ่งนั่งดูรายการโทรทัศน์ นักวิชาการการศึกษามาพูด "สับ" ครูในห้องส่งว่า ครูมักง่าย สอนแบบขนมชั้น จบไปเป็นแถว ๆ ไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ใช้ศักยภาพของตนเองเต็มที่ ผมยังนึก ๆ อยู่ว่าคนพูดนี่เคยออกมาสอนนอกกรุงเทพฯ บ้างหรือเปล่า ออกมาแล้วไม่ต้องไปถึงโรงเรียนชนบทไกล ๆ หรอก เอาแค่โรงเรียนประจำอำเภอเล็ก ๆ ก็ได้ อย่าไปโรงเรียนดัง ๆ หรือโรงเรียนประจำจังหวัด แล้วท่านจะได้รู้ว่ามันเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ท่านทั้งหลายเป็นคนกำหนดให้ครูเขาเองนี่แหละ
ถ้าได้ลองเลือกให้ทำอะไรลงไปแล้ว ต่อให้มันเห็นชัดขนาดไหนว่าไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ก็ไม่เลิกง่าย ๆ ครับ ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม อันนี้เป็นสิ่งที่ผมรู้สึกนะครับ
แล้วผมคิดยังไง?
ผมคิดว่าการเรียนการสอนของเรามันผิดเพี้ยนบิดเบี้ยวไปหมด มันควรจะเหมือนปิระมิด คือ
- ระดับต้น สอนให้รู้ถูกผิดดีชั่ว ให้รู้จักสังคม ให้รู้พื้นฐานกว้าง ๆ
- ระดับกลาง เปิดโอกาสให้เขาได้ทดลองในทุก ๆ อย่าง พอปลาย ๆ ก็ให้เขาพัฒนาตนเองตามความถนัด จากนั้นค่อยไปเลือกในระดับสูง
- ระดับสูง เข้มข้นที่เนื้อหาเฉพาะด้าน เพื่อพัฒนาในสิ่งที่เขาเลือกแล้วให้ดีที่สุด
- ระดับต้น สอนให้รู้ถูกผิดดีชั่ว ให้รู้จักสังคม ให้รู้พื้นฐานกว้าง ๆ (ดีแล้วครับ) แต่ใช้ปัญหาระดับทดสอบไอคิวมาใช้ ผมเคยเจอการบ้านเด็ก ป. 5 หลังมหาวิทยาลัยมีเรื่องลำดับและอนุกรมแล้วนะครับ อันนี้เจอกับตัวเลย ทั้งกว้าง ทั้งลึก นึกไม่ออกว่าจะสอนยังไง พ่อแม่ขายข้าวแกงก็ช่วยไม่ได้ นี่ใช่ผลที่คาดหวังเวลาเอาเรื่องพวกนี้มาสอนหรือเปล่า
- ระดับกลาง แยกสายวิทย์ สายศิลป์ เหมือนจะตีกรอบมาให้ค่อนข้างแคบในด้านการเรียนการสอน แต่พอประเมินก็มาใช้ทางกว้างอีก
- ระดับสูง อยากให้เขาเรียนรู้ชีวิตครบทุกอย่าง สายวิทย์ต้องเรียนศึกษาทั่วไปของสายศิลป์ สายศิลป์ต้องสอบวัดระดับความรู้คอมพิวเตอร์ของสายวิทย์ กว้างออกมาอีก
- สำหรับนักเรียนแล้ว คนที่จะประเมินเขาในปลายทางสุดท้ายคือ เงินเดือนจากผู้ประกอบการครับ ถ้าเราแก้ปัญหาช่องว่างอัตราเงินเดือนระหว่างวิชาชีพไม่ได้ ถ้าเด็กเลือกได้เขาก็จะไหลไปเลือกเรียนวิชาชีพที่ให้เงินเดือนสูง ไม่เกี่ยวกับความชอบหรือความถนัดของเขาเลย ผลก็คือเราจะได้สังคมขาดความสมดุลในวิชาชีพ
- ที่วิชาชีพปลายทางเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมการเรียนของเด็ก ๆ ก็เพราะว่า เด็ก ๆ จะไปประกอบวิชาชีพปลายทางที่ต้องการได้ ก็ต้องสอบเข้าให้ได้ในคณะที่ต้องการ
- ถ้าช่องว่างรายได้ระหว่างวิชาชีพลดลง อัตราการแข่งขันเพื่อสอบเข้าคณะยอดนิยมจะลดลง ความตึงเครียดจะลดลง และสัดส่วนเด็กที่เลือกเข้าคณะต่าง ๆ ก็จะสมดุลกัน เด็กจะได้เลือกเรียนในสิ่งที่ชอบมากขึ้น การเรียนของเด็ก ๆ ก็จะมีความสมดุลและสอดคล้องกับบุคลิกภาพของเขามากขึ้น
- ปัญหาพฤติกรรมการเลือกเรียน การเน้นกวดวิชาในบางวิชาจนการเรียนรู้เสียสมดุลย์ก็น่าจะลดน้อยลงไปในที่สุด
และการประเมินประสิทธิผลการสอน ก็คือการประเมินนักเรียนนั่นแหละ เล็งกันที่วัตถุประสงค์การเรียนรู้ในแต่ละหัวข้อก็พอ ว่าสอนได้ตามที่กำหนดหรือเปล่า ว่ากันเป็นจุด ๆ ไปทีละจุด ๆ ไม่ควรจะต้องไปสนใจว่าเด็กสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้หรือไม่ เพราะนั่นไม่ใช่เป้าหมายของการศึกษา
อยากให้ย้อนกลับมาดูเป้าหมายการศึกษา แล้วประเมินตามนั้น อย่าเอาเรื่องที่ไม่ใช่เป้าหมายทางการศึกษาอย่างแท้จริงเข้ามาปะปนให้มันวุ่นวายจนละเลยเป้าหมายการศึกษาที่แท้จริงเลย
แน่นอนว่าผมก็เห็นด้วยว่ามันไม่ง่ายเลย แต่ผมเชื่อว่ามันทำได้ถ้าเรา
- เลิกใช้อำนาจกลบปัญหาในปลายทาง แต่ใช้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุต้นทางอย่างแท้จริง
- มีความเป็นตัวของตัวเองในการแก้ปัญหา เครื่องมือก็เป็นแค่เครื่องมือ ไม่มากไปกว่านั้น ไม่น้อยไปกว่านั้น
2 ความคิดเห็น:
ผมผมขอความคิดเห็นท่านสักหน่อยครับ
...ปีนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับพวก เชียร์เลิกเร็วกว่าปีก่อน แจกเสื้อShopเร็วกว่าปีก่อน กิจกรรมเลิกเร็วกว่าปีก่อน ผมว่ากิจกรรมเชียร์ฝึกคนให้อดทน...แต่ทำไมกลับได้ทำกิจกรรมนี้น้อยลง! นั้นคือประเด็น
ผมนั้งคิดทบทวน หามุมที่ผมคิดไม่ถึง ผมได้พบมุมๆหนึ่ง ซื่งผมเพิ่มนึกออก
กิจกรรมที่ส่งเสริมให้รุ่นพี่มีอำนาจเหนือรุ่นน้อง เช่น เชียร์... อาจทำให้รุ่นพี่บางคนเข้าใจว่าตัวเองถูกเสมอ และรุ่นน้องไม่สามารถปฏิเสษได้ พี่เหล่านั้นเข้าใจผิดที่คิดว่ารุ่นน้องนั้นเคารบพี่ ผมว่า เขาเคารพเสื้อรุ่นพี่มากกว่า เพราะถ้าเมื่อเราถอดเสื้อออก น้องก็ไม่สวัสดีเรา ตรงนี้เอง ที่ผมคิดได้ว่า ทำไมบางมหาลัย ยกเลิกเครื่องแบบนักศึกษา
มีกรณีอย่างงี้ ตอนนั้น อาจารย์ไม่มาสอน TAซึ่งเป็นรุ่นพี่ เขาจับไมล์ พูดความเก่งกาจของตัวเองให้ฟัง แล้วไม่ยอมปล่อยให้กลับ รอจนหมดเวลาไปเฉยๆ ก็มีเสียงบ่นว่า ปล่อยเถอะ ๆ ๆ แน่แหล่ะ ไม่มีใครกล้าลุกไปจากที่นั่ง ทำไมหล่ะ เพราะกลัวรุ่นพี่
ผมไม่ได้อยู่ในฐานะเด็กปี1 ผมรู้สึกว่าเด็กทุกวันนี้ไม่ยืนหยัดในความถูกต้อง ทำไมไม่มีใครลุกขึ้นมาสู้ว่า นั้น พี่ทำไม่ถูกต้อง
เราไม่ได้สอนให้เด็กอยู่บนความถูกต้องอย่างแท้จริง เราไม่ได้สอนให้เด็กมีความเคารพอย่างแท้จริง สิ่งที่เราทำเป็นเพียงการขู่ให้เด็กกลัวมากกว่า
ท่านอาจารย์...ท่านอาจไม่เห็น ทุกๆเย็นเด็กปี1ทำอะไร และเลิกตอนไหน? ท่านอาจไม่เห็น ตอนเช้าตรู่เด็กตื่นมาทำอะไร
สิ่งที่ผมอยากเห็น คืออยากเห็นน้องของผม ยืนด่าผมในสิ่งที่ผมทำไม่ถูกต้อง ผมอยากเห็นน้องยืนบนความถูกต้อง มากกว่าการไหว้
พี่และน้อง เราจะก้าวไปด้วยกัน บนความถูกต้องได้หรือไม่?
ท่านอาจารย์ ท่านมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำกิจกรรมอย่างไร ช่วยแนะนำมุมมองผมด้วย
ขอบคุณครับ
เกี่ยวกับกิจกรรมผมพอจะบอกความคิดของผมได้อยู่ ผมสนับสนุนกิจกรรม แต่ผมไม่สนับสนุนกิจกรรมจัดตั้งทุกชนิดครับ
ตัวอย่างเช่น ผมสนับสนุนให้คนที่อยากเล่นกีฬา ได้เล่นกีฬา แต่ผมไม่สนับสนุนให้มีการเกณฑ์คนมาเพื่อให้จัดงานกีฬาให้ได้
ส่วนเรื่องอื่น ๆ ผมขอให้เล่าเรื่องเต็ม ๆ ชัด ๆ ก่อนครับ เรื่องราวเพียงแค่บางส่วนคงให้ความเห็นไม่สะดวก
แสดงความคิดเห็น