วันเสาร์, พฤษภาคม 14, 2554

ความหมายที่อาจจะซ่อนอยู่ในตำนานอ่าวพระนาง

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปเที่ยวกระบี่เป็นครั้งที่สอง แม้จะเป็นการเที่ยวแบบโฉบไปโฉบมาตามโปรแกรมของบริษัททัวร์ ก็ยังประทับใจไม่น้อย สิ่งแรกที่สะดุดหูตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยินเลยก็คือคำขวัญประจำจังหวัดกระบี่ครับ
กระบี่เมืองน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก
สั้นโดนใจดีไหมครับ แม้จะผิดวัตถุประสงค์ของคำขวัญไปบ้าง แต่คำขวัญประจำจังหวัดหลาย ๆ จังหวัดก็ยืดยาวเกินไปจนน่าหมั่นไส้ เจอคำขวัญสั้น ๆ ที่เน้นความสำคัญของ "คน" บ้างก็กระตุกให้เราได้คิดอะไรบ้างเหมือนกัน
ในการเที่ยวครั้งนี้ ทางบริษัทก็ได้พาไปไหว้ศาลพระนางที่อ่าวพระนางด้วยครับ มัคคุเทศก์ที่นำไปก็เล่าตำนานอ่าวพระนางให้ฟังกันโดยสังเขปดังนี้ครับ
ในสมัยโบราณมีตายายคู่หนึ่งอยู่กินกันมานานไม่มีลูก จึงไปบนบานศาลกล่าวกับพญานาค พญานาคมีเงื่อนไขว่าหากลูกที่เกิดมาเป็นลูกสาว ตากับยายจะต้องยกลูกสาวให้เป็นภรรยาของพญานาค ตากับยายก็รับคำ
ในเวลาต่อมายายก็ตั้งท้องและคลอดลูกออกมาเป็นเพศหญิงให้ชื่อว่านาง เมื่อนางเติบโตขึ้นเป็นสาวก็มีชายหนุ่มมาขอแต่งงาน ตากับยายลืมคำสัญญาที่ให้ไว้กับพญานาคจึงยกลูกสาวให้
ชายหนุ่มจึงจัดขบวนขันหมากมาใหญ่โตมารับหญิงสาว ขบวนขันหมากผ่านชายหาดเสียงดังครึกครื้น พญานาคจึงขึ้นมาดูและรู้ว่าตากับยายผิดสัญญา จึงขึ้นมาแย่งชิงเจ้าสาว ข้างมนุษย์ก็ไม่ยอมง่าย ๆ จึงต่อสู้กันวุ่นวาย
ในบริเวณนั้นมีฤษีที่บำเพ็ญตบะอยู่ ได้ยินเสียงวุ่นวายจึงออกมาห้าม แต่ก็ไม่มีใครฟัง ฤษีจึงสาปให้ทุกคนกลายเป็นหิน คนที่หนีไม่ทันและข้าวของที่กระจัดกระจายตอนต่อสู้กันจึงกลายเป็นถ้ำ เป็นเกาะต่าง ๆ เช่นเรือนหอกลายเป็นถ้ำพระนาง พญานาคเองหนีไม่ทันหมดโดนสาปที่ปลายหางกลายเป็นหินซึ่งชาวบ้านเรียกว่าหงอนนาคเป็นต้น
นางนางก็เสียใจที่เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายดังนี้ขึ้น จึงปวารณาตัวที่จะบำเพ็ญให้คนสมหวัง ชาวบ้านจึงนิยมมาบนบานศาลกล่าวกับศาลพระนางที่บริเวณหน้าถ้ำพระนางนี่เอง เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์โดยเฉพาะหากใครมาขอลูกมักจะสมหวัง
ใครที่สนใจตำนานโดยละเอียดและพิศดาร สามารถอ่านได้จาก http://andamanthai.blogspot.com/2008/04/blog-post_01.html ครับ


ในการเที่ยวครั้งนี้ผมได้พกหนังสือไปด้วย 2 - 3 เล่ม หนึ่งในนั้นคือ ฝรั่งคลั่งผี เขียนโดย ไมเคิล ไรท์ สำนักพิมพ์มติชน ซึ่งเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้จะเกี่ยวกับ การเชื่อมโยงตำนานกับมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ การแปลงสัญลักษณ์เมื่อเกิดศาสนาใหม่ขึ้นมาในประวัติศาสตร์และการตีความตำนานโบราณ การศึกษาการแปลงสัญลักษณ์โบราณเพื่อซ่อนความหมายดั้งเดิมนี้เรียกว่า Iconology หรือ Iconography ครับ

Suspense Thrillers Books)

อันที่จริงศาสตร์นี้อาจจะฟังแปลกหูนะครับ แต่ว่าคนจำนวนมากได้รู้จักศาสตร์นี้แล้วผ่านนิยายและภาพยนตร์เรื่อง The Da Vinci Code ของ แดน บราว์ ไงครับ เมื่ออ่านแล้วพอฟังตำนานเรื่องอ่าวพระนาง ก็นึกอยากจะลองตีความตำนานนี้ดูเหมือนกันว่าเล่าเรื่องอะไร ซ่อนเรื่องอะไร (ออกตัวไว้ก่อนว่าอ่านหนังสือเล่มเดียว จะแปลถูกนั้นคงยาก ถือว่าหัดดูก็แล้วกัน)

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่าตำนานคือเรื่องเล่าขานกันมาแต่โบราณหลายชั่วรุ่นคน ดังนั้นเนื้อเรื่องต้นฉบับโดยละเอียดนั้นไม่มีแน่นอน แต่โครงเรื่องจะไม่
เปลี่ยน โครงเรื่องของตำนานเรื่องนี้คือ
ตายายขอลูกกับพญานาค พญานาคให้ตายายมีลูกสาวสมใจแต่พญานาคจะขอไปเป็นเมียเมื่อโตขึ้น พอสาวเจ้าโตขึ้นตายายไปยกให้คนอื่น พญานาคมาทวงก็เลยสู้กันวุ่นวาย ฤษีมาเตือนก็ไม่ฟังเลยสาปให้เป็นหินให้หมด
โครงเรื่องมีเท่านี้เองครับ ถ้าใครอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นบ่อย ๆ ก็จะเจอตำนานคล้าย ๆ กันแต่เปลี่ยนพญานาคเป็นกัปปะ ตอนจบต่างกันนิดหน่อย โครงเรื่องแบบนี้ลองตีความดูก็อาจจะได้ดังต่อไปนี้ครับ

ในสมัยโบราณมนุษย์ยังนับถือผีอยู่ ในบางพื้นที่อาจมีการบูชายัญ โดยเฉพาะพื้นที่ริมทะเล ซึ่งจะมีตำนานลักษณะคล้าย ๆ กันทั่วโลก เช่นการบูชายัญนางอันโดรเมดราเป็นต้น ในพื้นที่จังหวัดกระบี่โบราณอาจจะไม่ต่างกัน และในกรณีนี้ผู้ถูกบูชายัญน่าจะเป็นหญิงสาวบริสุทธิ์ การบูชายัญนี้ก็เพื่อให้ไม่เกิดภัยพิบัติ ให้คลื่นลมสงบ ให้การประมงบริบูรณ์ การบูชายัญอาจกระทำโดยการโยนลงทะเล ตรงหน้าผาตรงอ่าวพระนาง ถ้ำพระนางนั่นแหละครับ คลื่นลมแรงมิใช่น้อย

เป็นธรรมดาที่ไม่มีใครอยากจะตาย ไม่มีใครอยากจะเสียลูก ดังนั้นก็น่าจะมีเจ้าพิธีและคนในชุมชนสุ่มเลือกกันตามรอบเวลา อาจเป็นทุกปี หรือทุก 12 ปี ก็ไม่รู้ ลูกสาวของตากับยายก็โดนเลือก แต่ตากับยายตั้งใจว่าจะจับให้ลูกสาวแต่งงานไปเสียก่อน จะได้ไม่เป็นสาวบริสุทธิ์ สิ้นคุณสมบัติการเป็นเหยื่อบูชายัญเสีย แต่ทางเจ้าพิธี (ตัวแทนพญานาค) รู้แกวเสียก่อนจึงยกพวกมาชิงตัวเจ้าสาว พิธีจึงระงับไป

อันนี้อยากจะขยายความเล็กน้อยว่า หากเป็นคนในชุมชนเดียวกัน ย่อมมีความเชื่อไม่ต่างกัน ดังนั้นคนที่จะมาแต่งงานกับเจ้าสาวคงจะเป็นต่างชุมชน และคงจะต่างศาสนาด้วย อาจเป็นฮินดู ซึ่งสังเกตจากชื่อของชายหนุ่มชื่อ "บุญ" (ศาสนาใหม่?) พ่อชื่อ "ตาวาปราบ" (คนของรัฐ?) แม่ชื่อ "บามัย" (แขก?) อาจเป็นไปได้ด้วยว่าศาสนาใหม่กำลังปะทะกับศาสนาเก่าอยู่ ณ เวลานี้

อาจเป็นเคราะห์ร้าย ในเวลานั้น (หรือในช่วงเวลาที่ใกล้ ๆ กัน) เกิดภัยพิบัติอาจจะเป็นคลื่นยักษ์ (พญานาคสะบัดหาง) อาจจะเป็นพายุใหญ่ หรืออาจจะเป็นแผ่นดินไหวขึ้นแก่หมู่บ้าน เกิดผู้คนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก หญิงสาวเสียใจเพราะคิดว่าตนเองเป็นต้นเหตุ จึงกระโดดจากหน้าผาบูชายัญตนเอง ณ ที่นั้น

แม้หลังจากนั้นศาสนาใหม่อาจเข้าสู่ชุมชน ชักนำให้คนเลิกบูชายัญเป็นผลสำเร็จ (หลายชั่วคน) แต่ชาวบ้านก็ยังบูชาหญิงสาวอยู่ ไม่ใช่เพราะการบูชายัญแต่เพราะความเสียสละประกอบกับเรื่องมันเศร้ากินใจ จึงให้ความเคารพบูชา และเล่าเรื่องต่อ ๆ กันมาก็เป็นไป

สนุกไหมครับ การตีความตำนานพื้นบ้าน ขอย้ำว่าเป็นการหัดตีความจากการอ่านหนังสือเล่มเดียวเท่านั้นนะครับ ไม่ถูกหลักวิชา ขออย่ายึดถือเป็นจริงเป็นจังไป

ไม่มีความคิดเห็น: