จากประสบการณ์การให้คำปรึกษานักศึกษาที่มาจากครอบครัวเกษตรกรจำนวนมาก ทำให้ทราบว่าปัญหาหลักของเกษตรกรก็คือ
- หนี้สิน
- ภัยธรรมชาติ
ปัญหา เกษตรกรเป็นหนี้ ยิ่งทำนายิ่งเป็นหนี้ พอกพูนเข้าไปทุกปี ๆ จนกระทั่งสูญเสียที่นาในที่สุด
เหตุของปัญหา เกษตรกรเป็นหนี้เพราะ
- ไม่มีเงินออม
- เกิดภัยธรรมชาติทำให้ผลผลิตเสียหาย เงินที่ควรได้จากการขายผลผลิตจึงไม่มี และไม่มีเงินไปลงทุนเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป
- ใช้เงินมากกว่าที่หาได้ ตรงนี้เองที่ยิ่งทำ ยิ่งเป็นหนี้
- รายรับน้อยกว่าที่ควรเพราะถูกกดราคา
- ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนขนาดเล็ก ระยะสั้นได้ ดอกเบี้ยถูกได้ จึงต้องไปต้องไปกู้แหล่งทุนดอกเบี้ยแพง จากปากคำของนักศึกษา แหล่งทุนที่ผู้ปกครองเข้าถึงได้บางรายคิดดอกเบี้ยสูงถึง 10% ต่อเดือน! ที่น่าเจ็บปวดใจมากที่สุดก็คือคนที่ปล่อยกู้คือภรรยาของนายอำเภอเป็นคนทำเสียเอง ทั้ง ๆ ที่นายอำเภอเองนั้นก็เรียนจบมาได้ก็ด้วยภาษีของประชาชนแท้ ๆ
- เกษตรกรมีเงินออมเพียงพอ
- เกษตรกรจะต้องรู้ตัวล่วงหน้าหากจะมีภัยธรรมชาติเกิดขึ้น และควรมีหลักประกันหากมีความเสียหายเกิดขึ้น
- เกษตรกรควรใช้เงินให้น้อยกว่าที่หาได้
- เกษตรกรควรมีรายรับที่เป็นธรรม
- เกษตรกรควรเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยถูกได้ เมื่อจำเป็น
- ให้ความรู้ด้านการออมที่ถูกต้องและเหมาะสมแก่เกษตรกร นักวิชาการทั้งประเทศควรคำนวณได้ว่า ครอบครัวขนาดเท่านี้คน มีที่ดินเท่านี้ไร่ เพาะปลูกสิ่งนี้ ควรมีเงินออมเป็นทุนสำรองเพื่อการเพาะปลูกสักเท่าใด เงินออมเพื่อสุขภาพสักเท่าใด เงินออมเพื่อการศึกษาสักเท่าใด การศึกษาด้านนี้อาจทำผ่านลูกหลานของเกษตรกรที่เข้ามาในระบบการศึกษาก็ได้
- ทำระบบเตือนภัยธรรมชาติให้ทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็น หากระบบทำงานไม่ได้หรือทำงานผิดพลาด จะต้องมีคนรับผิดชอบ และสร้างระบบประกันรายได้เกษตรกร (รูปแบบใด ของพรรคใดก็แล้วแต่ เอาสักอย่าง)
- ให้ความรู้ด้านการบัญชี และการจัดการระบบไร่นาแก่เกษตรกร การใช้เงินเกินกว่าที่หาได้ ไม่ใช่เพราะความฟุ่มเฟือยเสมอไป แต่เป็นเพราะทำบัญชีไม่เป็น จนกระทั่งคำนวณต้นทุนการเพาะปลูกที่แท้จริงไม่ได้ นอกจากนี้ยังควรควบคุมราคาปุ๋ยและยาฆ่าแมลงให้สอดคล้องกับราคาผลผลิตด้วย
- เมื่อรู้ต้นทุนที่แท้จริงแล้ว ควรกำหนดได้ว่าราคาขายของผลผลิตที่เป็นธรรมควรเป็นเท่าใด สามารถช่วยเกษตรกรเพิ่มผลผลิตได้ด้วยการให้ความรู้ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มผลผลิต ลดรายจ่าย
- นำแหล่งทุนของเกษตรกรคืนให้เกษตรกร ผมเข้าใจว่าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์นั้นเดิมตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์นี้ จึงควรระลึกถึงวัตถุประสงค์นี้ให้ได้ และปรับกลไก ขั้นตอน ระเบียบต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์นี้ ขอแค่ธนาคารนี้ได้หวนระลึกถึงเจตจำนงค์ดั้งเดิมที่ทางราชการได้อุตส่าห์ตั้งธนาคารนี้ขึ้นมา ก็ควรเพียงพอแก่การแก้ปัญหาแล้ว เรื่องนี้อาจเป็นไปได้ ถ้าให้คนในธนาคารได้รับการอบรมแบบเกษตรกรเสียก่อน อาจต้องจับไปดำนา เกี่ยวข้าวสักเดือนครึ่งเดือน คือให้คิดแบบเกษตรกรให้ได้ ไม่ใช่คิดแบบนายธนาคารอย่างเดียว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น