วันจันทร์, มิถุนายน 27, 2554

ถ้าผมเป็นนักการเมือง

เมื่อสักครู่นี้ผมเขียนบันทึกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้นึกออกว่า ถ้าผมเป็นนักการเมืองผมจะทำอะไร ผมอยากแก้ปัญหาเกษตรกรครับ เพราะผมคิดว่าปัญหาอื่น ๆ ของประเทศเริ่มต้นที่นี่

จากประสบการณ์การให้คำปรึกษานักศึกษาที่มาจากครอบครัวเกษตรกรจำนวนมาก ทำให้ทราบว่าปัญหาหลักของเกษตรกรก็คือ
  1. หนี้สิน
  2. ภัยธรรมชาติ
ถ้าแก้สองปัญหานี้ได้ ปัญหาของเกษตรกรคงจะลดลงมาก ผมคิดว่าภัยธรรมชาติคงแก้ไม่ได้ (แต่ควรบรรเทาได้) ก็จะบันทึกไว้เฉพาะเรื่องหนี้สินก่อน ซึ่งการแก้ปัญหาควรพิจารณาโดยหลักดังนี้
ปัญหา เกษตรกรเป็นหนี้ ยิ่งทำนายิ่งเป็นหนี้ พอกพูนเข้าไปทุกปี ๆ จนกระทั่งสูญเสียที่นาในที่สุด
เหตุของปัญหา เกษตรกรเป็นหนี้เพราะ
  1. ไม่มีเงินออม
  2. เกิดภัยธรรมชาติทำให้ผลผลิตเสียหาย เงินที่ควรได้จากการขายผลผลิตจึงไม่มี และไม่มีเงินไปลงทุนเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป
  3. ใช้เงินมากกว่าที่หาได้ ตรงนี้เองที่ยิ่งทำ ยิ่งเป็นหนี้
  4. รายรับน้อยกว่าที่ควรเพราะถูกกดราคา
  5. ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนขนาดเล็ก ระยะสั้นได้ ดอกเบี้ยถูกได้ จึงต้องไปต้องไปกู้แหล่งทุนดอกเบี้ยแพง จากปากคำของนักศึกษา แหล่งทุนที่ผู้ปกครองเข้าถึงได้บางรายคิดดอกเบี้ยสูงถึง 10% ต่อเดือน! ที่น่าเจ็บปวดใจมากที่สุดก็คือคนที่ปล่อยกู้คือภรรยาของนายอำเภอเป็นคนทำเสียเอง ทั้ง ๆ ที่นายอำเภอเองนั้นก็เรียนจบมาได้ก็ด้วยภาษีของประชาชนแท้ ๆ
เราต้องการให้
  1. เกษตรกรมีเงินออมเพียงพอ
  2. เกษตรกรจะต้องรู้ตัวล่วงหน้าหากจะมีภัยธรรมชาติเกิดขึ้น และควรมีหลักประกันหากมีความเสียหายเกิดขึ้น
  3. เกษตรกรควรใช้เงินให้น้อยกว่าที่หาได้
  4. เกษตรกรควรมีรายรับที่เป็นธรรม
  5. เกษตรกรควรเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยถูกได้ เมื่อจำเป็น
วิธีการ
  1. ให้ความรู้ด้านการออมที่ถูกต้องและเหมาะสมแก่เกษตรกร นักวิชาการทั้งประเทศควรคำนวณได้ว่า ครอบครัวขนาดเท่านี้คน มีที่ดินเท่านี้ไร่ เพาะปลูกสิ่งนี้ ควรมีเงินออมเป็นทุนสำรองเพื่อการเพาะปลูกสักเท่าใด เงินออมเพื่อสุขภาพสักเท่าใด เงินออมเพื่อการศึกษาสักเท่าใด การศึกษาด้านนี้อาจทำผ่านลูกหลานของเกษตรกรที่เข้ามาในระบบการศึกษาก็ได้
  2. ทำระบบเตือนภัยธรรมชาติให้ทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็น หากระบบทำงานไม่ได้หรือทำงานผิดพลาด จะต้องมีคนรับผิดชอบ และสร้างระบบประกันรายได้เกษตรกร (รูปแบบใด ของพรรคใดก็แล้วแต่ เอาสักอย่าง)
  3. ให้ความรู้ด้านการบัญชี และการจัดการระบบไร่นาแก่เกษตรกร การใช้เงินเกินกว่าที่หาได้ ไม่ใช่เพราะความฟุ่มเฟือยเสมอไป แต่เป็นเพราะทำบัญชีไม่เป็น จนกระทั่งคำนวณต้นทุนการเพาะปลูกที่แท้จริงไม่ได้ นอกจากนี้ยังควรควบคุมราคาปุ๋ยและยาฆ่าแมลงให้สอดคล้องกับราคาผลผลิตด้วย
  4. เมื่อรู้ต้นทุนที่แท้จริงแล้ว ควรกำหนดได้ว่าราคาขายของผลผลิตที่เป็นธรรมควรเป็นเท่าใด สามารถช่วยเกษตรกรเพิ่มผลผลิตได้ด้วยการให้ความรู้ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มผลผลิต ลดรายจ่าย
  5. นำแหล่งทุนของเกษตรกรคืนให้เกษตรกร ผมเข้าใจว่าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์นั้นเดิมตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์นี้ จึงควรระลึกถึงวัตถุประสงค์นี้ให้ได้ และปรับกลไก ขั้นตอน ระเบียบต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์นี้ ขอแค่ธนาคารนี้ได้หวนระลึกถึงเจตจำนงค์ดั้งเดิมที่ทางราชการได้อุตส่าห์ตั้งธนาคารนี้ขึ้นมา ก็ควรเพียงพอแก่การแก้ปัญหาแล้ว เรื่องนี้อาจเป็นไปได้ ถ้าให้คนในธนาคารได้รับการอบรมแบบเกษตรกรเสียก่อน อาจต้องจับไปดำนา เกี่ยวข้าวสักเดือนครึ่งเดือน คือให้คิดแบบเกษตรกรให้ได้ ไม่ใช่คิดแบบนายธนาคารอย่างเดียว
นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะทำ หากผมเป็นนักการเมือง

วันอาทิตย์, มิถุนายน 26, 2554

การเลือกตั้งใกล้เข้ามาแล้ว ผมยังสับสนอยู่เลย

การเลือกตั้งใกล้เข้ามาแล้ว ผมยังสับสนอยู่เลยว่า โดยหลักการพื้นฐานที่ทำให้ประชาธิปไตยเติบโตขึ้นมาได้นั้น เราควรจะมีหลักการเลือกแบบไหน ระหว่าง
  1. เลือกบนพื้นฐานของความชอบ (หมายความรวมถึงความชอบในนโยบายของพรรคด้วย) กล่าวคือ ชอบใคร ก็ให้เลือกคนนั้น พรรคนั้น อย่าไปคิดมาก
  2. เลือกบนพื้นฐานของความไม่ชอบ (หมายความรวมถึงความไม่ชอบในนโยบายของพรรคด้วย) กล่าวคือ ถ้าคิดว่าใครหรือพรรคใด น่าจะชนะพรรคที่เราไม่ชอบได้ในพื้นที่นั้น ๆ ให้เลือกคนนั้น พรรคนั้น ถึงแม้ว่าคนนั้น พรรคนั้นจะไม่ใช่คนหรือพรรคที่เราชอบมากที่สุดก็ตาม
เพียงเท่านี้ก็เป็นเรื่องที่คิดไม่ตกแล้ว ผมมีคนที่ชอบ มีพรรคที่มีนโยบายตรงใจ แต่ถ้าเลือกคนนี้ พรรคนี้ ในพื้นที่นี้ มันก็ไม่ชนะอยู่ดี ถ้าต้องการกันไม่ให้คนนั้น พรรคนั้นชนะเลือกตั้งในพื้นที่นี้ ผมก็ต้องเลือกคนและพรรคที่สามารถล้มคนนั้น พรรคนั้นได้ แต่ก็ต้องแลกกับการไม่ได้เลือกนโยบายที่เราถูกใจ

ทางเลือกใดจึงจะเป็นทางเลือกที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของหลักการประชาธิปไตยมากที่สุด อันที่จริงเขียนมาถึงบรรทัดนี้ชักจะสงสัยแล้วเหมือนกันว่า ที่เรียกว่าประชาธิปไตยนั้นแท้จริงแล้วคืออะไรกันแน่??

นอกจากนี้แม้แต่นโยบายทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจที่พรรคการเมืองต่าง ๆ นำมาโฆษณานี้ เรียกว่านโยบายได้จริง ๆ หรือเปล่า

เพราะผมกลับคิดว่าสิ่งที่เรียกว่านโยบาย มันจะต้องไม่มีรายละเอียด มันน่าจะบอกเพียงเป้าหมายว่านโยบายนี้จะนำไปสู่อะไร ด้วยเส้นทางแบบไหน เช่น
  • นโยบายแก้ปัญหาที่ดินทำกิน ด้วยหลักการภาษีที่ดิน หรือ
  • แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจด้วยนโยบายภาษีมรดก
  • แก้ปัญหาคุณภาพการศึกษา ด้วยการยกเครื่องการประเมินอาจารย์และสถาบันการศึกษา
  • แก้ปัญหาคุณภาพการศึกษา ด้วยการให้เกียรติทุกวิชาชีพเท่าเทียมกัน (ยกเลิกเงินค่าวิชาชีพ - ใครจะกล้า? ฮ่า ฮ่า ฮ่า)
ไม่ใช่ขึ้นเงินเดือนเท่านั้นเท่านี้ จะสร้างนั่นสร้างนี้ อย่างการสร้างท่อส่งน้ำในภาคอีสาน ก็ไม่น่าจะเรียกว่านโยบาย ต้องเป็นการพัฒนาการจัดการทรัพยากรน้ำในภาคอีสานต่างหากจึงจะเรียกว่านโยบาย เพราะการพัฒนาการจัดการทรัพยากรน้ำน่าจะทำได้หลายวิธี ไม่ใช่แค่โครงการสร้างท่อส่งน้ำราคาเป็นหมื่น ๆ ล้านเพียงวิธีเดียว ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ แล้วนั่นมันก็แค่รายละเอียดการปฏิบัติ จริง ๆ ผมยังสงสัยเหมือนกันว่า ด้วยรายละเอียดการปฏิบัติแบบนี้แบบนั้นที่โฆษณากันนี่มันตั้งอยู่บนนโยบายแบบไหน มีเป้าหมายอย่างไร ด้วยช่องทางใด เป็นไปได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ (เพราะถ้าคิดแค่ว่าเป็นไปได้ แจกคอมพ์ทุกบ้านก็เป็นไปได้ครับ) และถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ เรื่องนี้ต้องเปรียบเทียบกับลายเซนต์อาจารย์ที่ปรึกษา ที่นักศึกษาจำนวนมากคิดว่า ก็เซนต์ ๆ ไป ไม่น่าเรื่องมาก แต่การสักแต่ว่าเซนต์ ๆ ไปนั้นอันที่จริงไม่ถูกต้องชอบธรรมตามหลักการเข้าพบเพื่อขอลายเซนต์อาจารย์ที่ปรึกษา

นโยบายที่เขียน ๆ กันมาเยอะแยะนี่ สุดท้ายทำได้ทั้งหมดหรือเปล่า มีอะไรโดดเด่นเร่งด่วนจริงหรือเปล่า เพราะเรียนมาว่า ถ้าทุกอย่างสำคัญหมด แสดงว่าไม่มีอะไรสำคัญเลย

ที่โฆษณากันเยอะ ๆ นี่ ผมดูใบประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งแล้ว มีเพียงพรรคเดียวที่มีนโยบายสั้นที่สุด มีความจำเป็นต่อรัฐสภา และสามารถทำได้จริง ใครสงสัยลองไปหาดูว่าพรรคไหนก็แล้วกัน