วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 30, 2553

He who can, does. He who cannot, teaches.

He who can, does. He who cannot, teaches.
George Bernard Shaw
1856 - 1950
ครั้งแรกที่ได้เห็นประโยคนี้จากเว็บบอร์ดรู้สึกโกรธคนเขียนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นคำที่ดูแคลนวิชาชีพครูอย่างรุนแรง ยิ่งทราบว่าคนเขียนก็เป็นครู ก็ยิ่งโมโห เรียกว่าขนาดวิชาชีพตนเองยังไม่นับถือ มันจะไปสอนดีได้อย่างไร เดี๋ยวนี้ก็ยังไม่ได้ชอบประโยคนี้มากขึ้นเท่าไร

หลังจากค้นคว้าข้อมูลเล็กน้อยทำให้ทราบว่า คนที่เขียนประโยคนี้ขึ้นมาครั้งแรกคือ George Bernard Shaw เป็นนักเขียนบทละคร(เวที?) และอาจเขียนอย่างอื่นด้วย ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1925 แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกดีขึ้นกับประโยคนี้ขึ้นมาแม้แต่น้อย

สิ่งที่ Shaw พูด น่าจะสะท้อนอคติที่มีต่อระบบการศึกษาสมัยใหม่เนื่องจากเขามีชีวิตอยู่ในรอยต่อแห่งยุคสมัย (1856 - 1950) ซึ่งคนรุ่นเขาคงจะเรียนรู้ทุกสิ่งจากการทำงาน ใช้เวลาในโรงเรียนไม่มาก และเขาอาจจะคิดว่าคนรุ่นหลังเขาใช้เวลาในโรงเรียนมากเกินไป ทั้ง ๆ ที่จบมหาวิทยาลัยแต่ก็ยังทำอะไรไม่เป็นก็เป็นได้ (หากตัดประเด็นดูแคลนวิชาชีพครูไปแล้ว ผมก็คล้อยตามทัศนคติต่อ "ระบบ" การศึกษาของเขาเหมือนกัน)

อย่างไรก็ตามในงานพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตร ผมได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบด้านซ้อมและจัดแถวบัณฑิต ในงานนี้ผมพบคำตอบที่ทำให้ผมไม่จำเป็นต้องสนใจคำพูดของ Shaw อีก นั่นก็คือเมื่อเห็นแถวบัณฑิตเดินขึ้นบันไดเข้าไปสู่อาคารกาญจนาภิเษก ภาพนั้นทำให้ผมได้ตระหนักว่า ผลงานของครูไม่ใช่สิ่งของ ไม่ใช่ตำรา ไม่ใช่หนังสือ แต่เป็นศิษย์ต่างหาก ดังนั้นมันจึงไม่สำคัญเลยว่าเรา can do หรือ cannot do เรามีศิษย์ เป็นผลงานของเราเพราะเรา can teach ต่างหาก และไม่ใช่ทุกคนที่จะ can teach ได้ 

ดังนั้น Shaw ก็ Shaw เหอะ ... ไม่แคร์ (เฟ้ย)

วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 09, 2553

พันธะสัญญา

จู่ ๆ ก็นึกถึงคำว่า Commitment ขึ้นมา...
เหตุนั้นยาวสักหน่อย ซึ่งก็คือ
วันนี้ต้องทำบางอย่างที่ไม่ได้อยากทำ แต่รับปากไว้แล้วก็ถือว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ พอใจคิดถึงจุดนั้นก็เลยคิดไปถึงว่าเคยมีคนบอกว่าคนเราสร้างสมาธิได้ 4 ทางคือ
  1. ฉันทสมาธิ - คือสมาธิที่มีความพึงพอใจรักในงานนั้น ๆ เป็นตัวนำ พอใจมันจมลงไปกับงานแล้ว มันก็เกิดสมาธิขึ้น
  2. วิริยสมาธิ - คือสมาธิที่มีความพากเพียรในงานนั้น ๆ เป็นตัวนำ (ข้อนี้ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไร)
  3. จิตตสมาธิ - คือสมาธิที่มีความตั้งใจในงานนั้น ๆ เป็นตัวนำ งานนี้อาจไม่ใช่งานที่ชอบก็ได้ แต่เป็นงานที่ได้รับมอบหมาย และบุคคลมีใจมุ่งมั่นว่าจะต้องทำให้สำเร็จ
  4. วิมังสาสมาธิ - คือสมาธิที่มีปัญญา ความรู้ ความเข้าใจในงานนั้น ๆ ความคิดที่จะพัฒนางานนั้น ๆ และมองเห็นว่าจะพัฒนาอย่างไรเป็นตัวนำ หรืออธิบายง่าย ๆ ตามความเข้าใจของผมก็คือ พอคนมันรู้ว่าจะทำได้อย่างไร ก็ถือว่ามีปัญญา ถ้าคน ๆ นั้นมีความรู้สึกอยากลงมือทำตามความคิด ก็ถือว่าถ้าทำไปจนจมลงไปกับงาน ก็น่าจะนับว่าเป็นวิมังสาสมาธิได้
ท่านว่าการสร้างสมาธิไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับ 1-2-3-4 ใครมีนิสัยอย่างไร ทำอย่างนั้น ที่เหลือจะตามมาเอง เช่นคนที่ยึดมั่นถือมั่นกับงานที่ได้รับมอบหมาย ต้องใช้วิริยะทำงาน ทำ ๆ ไป ก็เกิดปัญญาเห็นประโยชน์ของงาน เป็นลู่ทางในการแก้ปัญหาในการทำงาน ก็จะเกิดความพึงพอใจในการทำงานและในผลงานได้ เป็นต้น

อาจเป็นเคยได้ยินเรื่องนี้มา และเราปักใจคิดว่าเราเป็นพวกจิตตสมาธิ ก็เลยยึดมั่นถือมั่นกับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างมาก (แต่ไม่ใช่ว่าทำได้ดีทุกอย่าง งานหลายอย่าง เสร็จ แต่ไม่สำเร็จ) พอยึดติดมาก ๆ ก็เลยกลายเป็นนิสัย

เช่นวันนี้ไปสอน ไม่มีนักเรียนมา ก็นั่งรอ ถ้าเป็นสมัยก่อน (ตอนที่ยังบ้า ๆ อยู่) สอนผีไปแล้ว ตอนนี้ใจเย็นลง ก็นั่งรอ อันที่จริงจะไม่ต้องรอก็ได้ แต่ก็ยึดติดว่าได้รับมอบหมายมาให้สอนห้องนี้ ไม่มาก็ต้องรอ เมื่อเดือนก่อน รับปากเขาว่าจะเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยส่งให้ ก็ต้องเขียน อันที่จริงก็ไม่ใช่สาขาที่เชี่ยวชาญอะไร เมื่อรับปากไปแล้ว จู่ ๆ จะไม่ทำมันก็กระไรอยู่

แต่จากที่ร่วมงานกับนักศึกษามาผมสังเกตดู หลาย ๆ งานเป็นนักศึกษาเสนอเองว่าอยากจะทำ พอทำ ๆ ไปสักพักก็เลิก ก็หาย ถ้าผมไม่บังคับให้ทำ หมายถึงปล่อยให้คิดเองทำเอง เลือกเอง จะมีส่วนน้อยที่เลือกที่จะทำงานนั้น ๆ จนสำเร็จ เราก็รู้สึกว่านักศึกษาขาดความยึดมั่นถือมั่นในงานที่รับผิดชอบไปสักหน่อย เวลาผ่านมาพอสมควร คือสอนมาหลายปีแล้ว ต่อไปก็คงจะต้องคัดกรองอย่างมากเวลาจะร่วมงานกับนักศึกษา

เวลาเรียกมันว่าความยึดมั่นถือมั่นในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมันดูไม่ดีเนอะ ถ้าเรียกใหม่ว่า พันธะสัญญา หรือ Commitment ล่ะ ผมว่า Commitment นี่เป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งที่คนทำงานพึงมีเลยนะ คือ Commit ไปแล้ว รับปากไปแล้ว ต้องทำ จะเลิกง่าย ๆ ไม่ได้ ยกเว้นคอขาดบาดตายจริง ๆ

ที่เขียนมาก็ไม่ใช่ว่าตนเองจะดีเลิศอันใด ในสมัยเรียน น่าจะสักปี 2 ได้ ก็เคยทิ้งงานเหมือนกัน ตอนนั้นไม่รู้สึกผิดอะไร ก็คิดว่ามันจำเป็นอย่างนั้น-อย่างนี้ พอเวลาผ่านไปก็เริ่มรู้สึกผิดขึ้นมา ที่แย่คือดันลืมไม่ได้และวก็ย้อนเวลาไม่ได้ ก็เลยต้องรู้สึกผิดไปเรื่อย ๆ

ข้อดีของมันคือทำให้โกรธ-เกลียดคนอื่นได้น้อยลงอยู่ เพราะคิดซะว่าเราเคยทำอย่างนี้กับคนอื่น ตอนนี้ก็ถึงเวลาต้องใช้กรรม ก็รับกรรมไปซะ มันก็เครียดน้อยลง


ผมว่ามันเป็นคุณธรรมของคนที่จะเป็นผู้ใหญ่เลยนะ คือโตแล้ว พูดไปแล้วก็ต้องพยายามทำให้ได้ ติดขัดหรือต้องการความช่วยเหลืออะไร ลดขนาดงาน หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็คุยกัน หาทางออก แต่ทิ้งไปเฉย ๆ ไม่ได้ เพราะเมื่อเราได้ตกปากรับคำไปแล้ว ก็จะมีคนอื่น ๆ อีกมากที่จะได้ร่วมเดินทางกับเราด้วย บางคนอาจไม่ได้อยากเดินทางแต่แรก แต่ก็ร่วมทางมาเพราะเชื่อถือ/เชื่อมั่นในตัวเราหรือแม้แต่เพราะเราขอร้องเขามา แล้ววันหนึ่ง เราก็หยุดเดินไปเฉย ๆ วันนั้นเราจะตอบเพื่อนร่วมทางของเราทั้งหลายอย่างไร?