เอาเรื่องข้อสอบก่อน ข้อสอบที่ตะลุยตรวจช่วงนี้คือข้อสอบวิชาคณิตศาสตร์วิศวกรรม 4 เรื่องน่าชื่นใจคือ แม้จะมีบางข้อ ยุ่ง (โปรดสังเกตว่าไม่ได้ใช้คำว่ายาก) เป็นพิเศษ แต่ก็มีคนทำได้ถูกต้องครบถ้วนและได้คะแนนเต็ม 40 คะแนนในส่วนที่ผมรับผิดชอบอยู่เป็นสิบ ๆ คน และด้วยเหตุผลที่ว่ามันค่อนข้างยุ่ง คนอื่น ๆ จึงได้แสดงเพียงหลักการคิด และคำตอบบางส่วนไว้ ซึ่งถ้าถูกต้องผมก็ให้คะแนนไปตามสัดส่วน
เรื่องที่น่าผิดหวังก็คือ ในบรรดาข้อสอบที่ผมรับผิดชอบนั้น จะมีอยู่อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งง่ายเป็นพิเศษ และไม่ยุ่งด้วย คือถามตรง ๆ ตามกรรมวิธีที่ได้สอนในชั้นเรียนและนักศึกษาเกือบทุกคนทำได้ถูกต้อง แต่ก็ยังอุตส่าห์มีนักศึกษาที่ทำผิดหรือทำมั่วหรือไม่ทำเลย! ซึ่งอันที่จริง ก็เป็นเรื่องปรกติในชั้นเรียนอาจมีคนเรียนไม่ได้บ้าง ปรกติก็จะไม่คิดอะไร
แต่กับกลุ่มหนึ่งผมทราบว่านักศึกษารุ่นพี่ คือได้เรียนวิชานี้มาก่อนแล้ว และน่าจะหลายรอบแล้ว และที่พบนี้ก็ไม่ใช่คนเดียวแต่พบหลายคน ถ้าปัญหายุ่ง ๆ ทำไม่ได้ยังพอทำใจ แต่แม้แต่ปัญหาที่รุ่นน้อง ๆ ทำได้สบาย ๆ เสร็จใน 3 - 5 บรรทัดเกือบทุกคน (และในกลุ่มเรียนซ้ำด้วยกัน ก็มีคนทำได้) นักศึกษากลุ่มนี้ก็ยังทำไม่ได้ ปรากฏการณ์นี้ต้องมีความหมายพิเศษ
ความหมายก็คือ เรียนมาหลายรอบแล้วยังทำไม่ได้ มันแปลได้ไม่กี่อย่าง เช่น
- หัวสมองไม่เหมาะกับสาขาวิชาที่มีคำนวณเยอะอย่างนี้ อาจเหมาะกับสาขาวิชาอื่นที่ใช้ทักษะอื่นมากกว่าการคำนวณ เช่นทักษะการวินิจฉัยเหตุผลเชิงพรรณา ก็ไปเรียนกฏหมาย ทักษะงานฝีมือและศิลปก็ไปเรียนศิลปศาสตร์ ถ้ามีทักษะคำนวณที่จำเป็นได้บ้าง ก็เรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ ก็ไม่ควรมาเสียเวลากับสาขาวิชานี้ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าสายวิชาเหล่านี้ง่ายกว่า แต่ตั้งใจจะบอกว่า สาขาต่าง ๆ กันจำเป็นต้องใช้ทักษะที่ต่างกัน
- ไม่ตั้งใจเฉย ๆ คิดว่ามาเรียน ๆ แล้วก็ไหล ๆ ตาม ๆ กันไปเหมือนสมัยประถมศึกษา มัธยมศึกษา ไม่ต้องพยายามอะไร ไม่ต้องทุ่มเทอะไร หายใจทิ้งไปวัน ๆ เดี๋ยวก็จบการศึกษา ก็ไม่ควรมาเสียเวลากับสาขาวิชานี้หรือสาขาวิชาไหน ๆ ทั้งสิ้น ควรออกไปทำงานเลย เพราะอาจจะเหมาะกับการทำงานมากกว่า
- เรียนผิดวิธี ไม่เข้าใจว่าที่เขาสอนนั้น เขาสอนเหตุผล ที่มาที่ไป ประโยชน์ใช้สอย แล้วก็กรรมวิธี แต่ไปยึดติดกับกรรมวิธีอย่างเดียว คือท่องสูตรเยอะแยะ แต่ไม่เข้าใจที่มาที่ไป เหตุผลและประโยชน์ของมัน ทำให้จำสูตรไม่ได้ หรือท่องสูตรไปก็ใช้ไม่เป็น อย่างนี้ถ้าเป็นปีต้น ๆ ยังพอหัดได้โดยธรรมชาติ ถ้าปีท้าย ๆ แล้วยังเรียนไม่เป็นอย่างนี้ ถ้าจะฝึกจะหัด ต้องทุ่มเทมากกว่าคนอื่น ๆ หลายเท่า
- และมันก็แสดงด้วยว่าบางคนที่เรียนซ้ำ ๆ นี่ แทนที่จะซ้ำแล้วที่เคยไม่เข้าใจก็เข้าใจ ที่เคยสงสัยก็คลายสงสัย ก็เปล่า คือเรียนซ้ำ ๆ เป็นพิธีกรรมไปเฉย ๆ พอให้เปลืองเงินเล่น ๆ แต่ไม่ได้เรียนรู้อะไรจากความผิดพลาดแต่เดิมของตัวเองเลย
9 ความคิดเห็น:
ผมได้มีโอกาสเข้ามายังเวปบล็อกอันนี้ของอาจารย์เป็นครั้งแรก และได้เข้าอ่านหลายๆบทความของอาจารย์ ผมขออนุญาติแสดงความชื่นชมและคารวะอาจารย์ด้วยความจริงใจ อาจารย์เป็นอาจารย์ที่ให้ความสนใจในความเป็นไปของชีวิตนักศึกษาได้ดีในระดับที่เรียกว่าน้อยคนนักจะมาสนใจตรงจุดนี้
จากหัวข้อบทความนี้ ในช่วงที่ผมได้อ่านตั้งแต่เริ่มต้น จนกระทั่งจบ ทำให้ผมได้พบเห้นมุมมองหลายๆอย่างที่มีทั้งด้านที่เกิดคุณประโยชน์อย่างมากกับตัวบุตตลที่อาจารย์พยายามสื่อถึง และ อยากบอกกล่าวให้พวกเขาเหล่านั้นเกิด แรงกระตุ้น หรือ ความพยายาม ในการที่จะเรียนรู้และเข้าถึงเข้าใจสิ่งที่อาจารย์ได้พร่ำสอนในชั้นเรียน ได้อย่างถ่องแท้ และเป็นระบบ
ความหวังของคนสอนก็คือตัวของอาจารย์ ย่อมต้องมีอยู่แล้วด้วยเช่นกันว่าความสัมฤทธิ์ผลของการสอนโดยใช้ผลสอบของตัวนักศึกษาเป็นตัววัดว่า ผู้สอนทำการสอนได้สัมฤทธิ์ผลนั้นก็ไม่อาจจะกล่าวได้ว่าถูกต้องเสียหมดเพราะว่าความสัมฤทธิ์ผลนั้นมีองค์ประกอบหลายๆส่วนมาเกี่ยวข้อง ผู้สอนก็เป็นส่วนหนึ่ง นักศึกษาก็เป็นส่วนหนึ่ง สื่อการเรียนการสอนก็เป็นส่วนหนึ่ง เพื่อนร่วมชั้นเรียนก็เป็นส่วนหนึ่ง ห้องเรียนก็เป็นส่วนหนึ่ง เป็นต้น
วันนี้ขอแสดงความคิดเห็นเท่านี้ก่อนนะครับ
ขอขอบใจสำหรับความเห็นและกำลังใจครับ
และขอถือโอกาสให้คำแนะนำอะไรอีกนิดหน่อย ซึ่งอันที่จริงอาจไม่จำเป็นเพราะคุณอาจเข้าใจเรื่องนี้ดีอยู่แล้ว แต่ผมอยากเขียน (ฮา)
สิ่งที่อยากเขียนก็คือ ผมคิดว่าเราไม่อาจดูเข้าไปถึงตัวตนของคนได้ จากข้อเขียนของเขา เพราะงานเขียนมันกลั่นกรองได้ เขียนไปแล้วลบได้ ตกแต่งได้ เขียนใหม่ได้
เราจะรู้จักใครสักคนหนึ่ง ว่าเขาเป็นคนดีหรือไม่ สมควรเคารพหรือไม่ ผมคิดว่าให้ดูจากสิ่งที่เขาพูด และสิ่งที่เขาทำจะได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำมากกว่า เพราะคำพูดกลั่นกรองยาก ในหลายกรณี คำพูดมันมาจากพื้นฐานจิตใจของผู้พูด
สิ่งที่แสดงถึงตัวตนได้แม่นที่สุดย่อมเป็นการกระทำ เพราะคนเราเป็นแบบใด ก็กระทำตนแบบนั้น
ส่วนการเขียน ถ้าพูดภาษาวัยรุ่น คงต้องบอกว่า Fake ได้ ไม่ยาก
ใครจะไปรู้ครับ ไอ้ที่เขียน ๆ เนี่ย Fake หรือไม่ Fake
อันที่จริงผมยินดีนะ ที่มีคนอ่านความเห็น มีคนชื่นชม และมีคนให้กำลังใจ
แต่ลึก ๆ บางที บางเรื่อง บางครั้ง ผมก็ละอายใจเหมือนกัน สิ่งที่ผมเขียน อาจสะท้อนสิ่งที่ผมอยากเป็น แต่ตัวผมน่ะ เป็นได้อย่างที่ตัวเองเขียนหรือยัง ยังไม่รู้ (บางอันก็รู้แล้วว่าเป็นไม่ได้)
ก็ขอให้คอยสังเกตดูครับ จะชื่นชมหรือไม่ชื่นชม จะให้ความเคารพหรือไม่ให้ความเคารพ ก็ขอให้ดูที่การกระทำเป็นหลักก็แล้วกัน
อย่างไรก็ตาม ขอขอบใจอีกครั้งครับสำหรับความคิดเห็น กำลังใจ และคำแนะนำ
อ่านจบแล้วนี้ต้องตบเขาฉากเลยครับ เพราะตรงกับตัวเองมาก ผมก็เป็นคนที่ไม่ค่อยได้ตั้งใจเรียนเท่าไหร่ ปัญหาที่มีบ่อยก็น่าจะประมาณ
"ง่ายๆ เดี๋ยวไปอ่านเองก็เข้าใจ" พอใกล้ถึงตอนสอบกลับมาอ่านอีกทีก็มีมืดแปดด้าน แล้วที่สำคัญก็ดันมาอ่านเอาตอนอีกไม่กี่วันที่จะสอบ
ตอนนี้ผมเรียนมา 4 ปีแล้วผมว่าเรื่องการใช้ชีวิตให้เป็น แบ่งเวลาให้ถูก จะพูดว่ายังไงดี เหมือนยังเป็นเด็กที่มีความรับผิดชอบ แต่ก็ทำได้ในระดับหนึ่ง เหมือนยังไม่พอ ทำได้แค่ไปเรียนให้ทัน แต่ดันลืมเอาความใส่ใจไปด้วย
มันก็เลยกลายเป็นปัญหาอย่างที่คุณ ktphong เจอ แต่อย่างว่ามันก็เป็นธรรมดาของโลก
ปล. ผมเห็นด้วยกับ คุณ "ไม่ระบุชื่อ" นะครับในเรื่องการเอาใจใส่ต่อ นศ. เพราะการกระทำของ คุณ ktphong นั้นก็แสดงให้เห็นแล้วว่าพยายามอย่างที่สุดที่จะเข้าถึง นศ. (ผมเองก็เคยได้รับคำปรึกษา) ลำพังหน้าที่ อาจารย์ที่ทำ กับสารพัดงานเอกสาร เรื่องเงินๆ ทองๆ ของภาควิชา แค่นี้ผมว่าก็เหนื่อยแล้ว
ในความเห็นของผมคือคนที่ทำข้อสอบไม่ได้เกี่ยวข้องกับ
1.ความสามารถในการจดจำหรือการรับรู้ข้อมูลไม่ดี วิธีแก้ คนเหล่านี้จะความจำสั้นและระยะเวลาในการรับรู้ก็สั้นตามความจุความรู้ต่าง ๆก็น้อยฉนั้นต้องทำแบบฝึกหัดหลายๆรอบและให้เข้าใจเนื้อหาจริงๆ
2.หัวดีแต่ขาดความขยัน แก้ง่ายก็อ่านหนังสือเพิ่มขึ้นกินเหล้าให้น้อยลงรอกินทีเดียวตอนทำงานรับรองจะกินเท่าไหร่ก็ไม่มีใครว่า
3.อ่านหนังสือมาเยอะแต่พอทำไม่ได้แล้วเกิดอาการท้อแท้น้อยใจว่าทำไมเคยทำได้แต่ตอนนี้กลับลืม เขาจะแสดงออกด้วยการไม่ทำข้อสอบข้อนั้นไปเลยเกิดความรู้สึกเซ็ง อันนี้แก้ได้ยากหน่อยแต่ก็แก้ได้ด้วยการเปลี่ยนนิสัยครับถ้าเกิดมีอะไรค้างคาใจไม่เข้าใจอย่าปล่อยผ่านต้องเข้าใจเดี่ยวนั้นทันทีเร็วที่สุดยิ่งดีแล้วความมั่นใจจะกลับคืนมาผมหมายถึงทุก ๆ เรื่องในชีวิต
4.ประหม่า ใช่ครับประหม่าทำให้เกิดการลืม วิธีแก้หัดนั่งสมาธิทุกวัน ๆ สวดมนต์รับรองครับวิธีนี้แก้ได้ทุก ๆ ปัญหาที่ว่ามา ...โชคดีครับน้อง ๆ พี่รอ New generation ที่จะออกมาทำงานเป็นส่วนหนึ่งของฟันเฟืองในการขับเคลื่อนประเทศชาติครับ
ผมคิดได้อีกข้อหนึ่งก็คือ
กลุ่มที่เชื่อว่าตัวเองทำไม่ได้แน่ ๆ กลุ่มนี้ยังไง ๆ ก็ทำไม่ได้ ต่อให้ข้อสอบง่ายแค่ไหน เพราะตัวเองเชื่อไปเสียแล้วว่าทำไม่ได้ กลายเป็นติดอยู่ในกรงขังของตนเอง อันนี้บางคนแนะนำว่าถ้าได้คุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาหรืออาจารย์ผู้สอน อาจจะเปลี่ยนแปลงทัศนคติอันนี้ได้
ในแง่นี้ ผมเองก็มีปัญหาของผมเหมือนกัน
ครั้งแรกที่ผมได้อ่านบทความนี้ ผมมีความคิดเห้นครับ แต่ผมไม่คิดจะเขียนมัน เพราะมันอาจไม่ดี โปรดใช้วิจารณญาณน่ะครับ
ส่วนตัวผมเป็นคนชอบความคิด หมายถึง ผมอยากรู้ว่าใครคิดยังไง ผมถามเพื่อนหลายคนครับ จบไปจะทำงานอะไร คำตอบส่วนใหญ่ที่ผมได้รับคือ ไม่รู้ ดูก่อน เอาไม้นี้ให้รอดก่อน(ฮา) ผมกำลังพูดถึงคนๆหนึ่งที่เรียนแบบยังไม่รู้ว่าจะไปทำอะไร เลยไม่รู้จะเรียนไปทำไม ทุกวันนี้ผมว่าการเรียนมหาลัยนั้นง่ายน่ะ พูดไปก็ยาว ผมจะพูดหลักๆ
ผมขอยกตัวอย่างคนอีกบางประเภทครับ รวมถึงตัวผมเอง
ผมถูกบังคับเรียนในสาขาที่ผมไม่ชอบครับ แม่ผมให้จุดหมายมาคือ ต้องเรียนให้จบ ไม่... นั้นไม่ใช่จุดหมายผมในสาขานี้ หลายคนครับ...ที่พ่อแม่ให้เรียนคณะนี้ หลายคนครับ...ที่เรียนตามเพื่อน หลายคนครับ...เรียนเพราะคิดว่าเท่
จะพัฒนาผู้สอนให้ดียังไงก็ตาม หากปัญหาอยู่ที่ผู้เรียน มันก็แก้ปัญหาไม่ได้หรอกครับ
ส่วนตัวผมทนกับการเรียนสาขาที่ผมกำลังเรียนมากครับ ผมเสียใจครับ ที่เห็นอาจารย์ตั้งใจสอน แต่ผมไม่รับมัน เพราะมันไม่ใช่ แต่ที่ต้องทำท่ารับ ก็รอเวลาที่จะตกออกครับ บางทีผมก็ตั้งใจไม่เข้าสอบครับ เพราะผมทนกับมันไม่ได้ แต่ต้องเรียนให้พ่อแม่ กลายเป็นว่า ผมไม่ใช่ลูกที่ได้ดั่งใจแม่ ไม่ใช่นักศึกษาที่ได้ดั่งใจอาจารย์
ผมเสียใจครับ ที่เห็นอาจารย์หลายๆท่านสอนด้วยความตั้งใจ แต่ผมไม่สามารถทำหรือเป็นในสิ่งที่อาจารย์ทุกท่านได้หวังไว้ได้ เพราะมันไม่ใช่ทางของผม
สำหรับผมแล้ว การตกออกเป็นเพียงการเริ่มตั้นครับ
สวัสดีครับ
ลองอ่าน Blog ของผม 2 ชิ้นนี้ดูก่อน
- อยากทำหรือว่าอยากเป็น
- คติสอนใจจากคุณคริส หอวัง
ผมเห็นใจคุณ Civil อยู่ หากไม่ได้พูดคุยกันคงให้คำแนะนำลำบาก อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจาก Blog 2 ชิ้นข้างต้นแล้ว ผมยังเชื่อในเรื่อง Action and Consequence อีกด้วย กล่าวคือสิ่งที่เรากระทำ ล้วนเป็นสิ่งที่เราเลือกทั้งสิ้น ไม่ว่าเลือกที่จะเลือก หรือเลือกที่จะไม่เลือก เมื่อมันอยู่ในมือเราแล้วก็ต้องยอมรับผลที่ตามมาโดยดุษฏี อุทธรณ์ ฏีกา กับใครก็ไม่ได้ (บ่นได้ - ฮา ผมก็บ่นประจำ ผ่าน Blog นี่แหละ)
โดยหลักนี้ถ้าจะกล่าวโดยรวมสั้น ๆ ก็คือ
1. หากเราเลือกได้ จงเลือก
2. หากเราเลือกไม่ได้จริง ๆ จงสู้ คืออย่ายอมแพ้มัน
เราไม่ได้มีทางเลือกอื่นมากนัก ในชีวิตจริง คนเราก็ไม่ได้มีสิทธิ์เลือกไปหมดทุกอย่าง บางอย่างจึงอาจต้องจำใจยอมรับบ้าง เมื่อรับแล้วก็ต้องทำให้ดี
แต่ถ้าหากเราเลือกที่จะยอมแพ้ ห้ามโทษคนอื่น หรือโทษฟ้าโทษดิน
คนที่น่าสงสารที่สุด คือเลือกที่จะไม่เลือก แล้วปล่อยให้กระแสชีวิตพัดพาตนเองไปไหนก็ไม่รู้
ในชีวิต ช่วงเวลาหนุ่มสาว คือช่วงเวลาที่มีพลังชีวิตสูงอย่างเหลือเชื่อ คนที่ประสบความสำเร็จ ล้วนเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความสำเร็จไว้แต่ช่วงหนุ่มสาวทั้งสิ้น ผมไม่อยากให้ใคร ๆ ปล่อยให้เวลาในช่วงนี้ผ่านพ้นไปอย่างเปล่าประโยชน์
ในทางกลับกัน ด้วยพลังงานที่สูงที่ว่า ทำให้ความยั้งคิด ต่ำอย่างเหลือเชื่อเช่นกัน ความยั้งคิดที่ต่ำนี้ ก็ทำลายคนหนุ่มสาวมาแล้วไม่น้อย
คนที่ประสบความสำเร็จ จึงเป็นคนที่บาลานซ์ 2 สิ่งนี้ได้อย่างสมดุลย์ ใช้ชีวิตไม่ติดอยู่ในกรอบ ปลดปล่อยพลังมหาศาลออกมาสร้างสรรค์ชีวิตและผลงานของตนเอง และควบคุมสติตนเองได้ด้วยความยั้งคิด ที่รอบคอบ ไม่ประมาท หรือมองโลก ง่ายเกินกว่าที่มันเป็น
หากคุณ Civil มีปัญหา และต้องการพูดคุย เชิญได้ที่ภาคไฟฟ้า ชั้น 5 ที่ ๆ คุณเอาการบ้านมาส่งนั่นแหละครับ หากไม่พบ ฝากข้อความไว้ที่สารบรรณภาควิชาก็ได้ ยินดีรับฟังครับ
แสดงความคิดเห็น