เมื่อวานนี้ (25 พ.ย. 2552) ได้ชมรายการราตรีสโมสร มีการสัมภาษณ์คุณคริส หอวัง นางเอกภาพยนตร์เรื่องรถไฟฟ้ามาหานะเธอ มีตอนหนึ่งที่ผมสนใจมากคือตอนที่พิธีกรให้คุณคริสเล่าให้ฟังเรื่องการเรียน
คุณคริสเล่าว่า ตอนจบ ม.3 พ่อแม่ก็พยายามให้ลูกได้เรียน ม.4 ในโรงเรียนที่ดี ก็เลยให้เรียนพิเศษเยอะแยะมากมาย แต่คุณคริสแกบอกพิธีกรว่า มันไม่รุ่ง คือเรียนพิเศษยังไง ๆ ก็ไม่รู้เรื่อง ผลการเรียนไม่ดีขึ้น แต่ที่ไปเรียนเต้นน่ะ สอบทีไรก็ได้ที่หนึ่งที่สอง มีประกวดแข่งขันทีไร ก็ได้ที่หนึ่งที่สองทุกที
คุณพ่อกับคุณแม่ก็เลยปรึกษากันว่า ถ้าอย่างนั้นก็น่าจะให้ไปเรียนเต้นเสียให้เป็นเรื่องเป็นราวไปเลย ก็เลยส่งคุณคริสไปเรียนที่โรงเรียนที่มีการสอนเต้นและสอนวิชาสามัญไปด้วยแทนที่จะเรียนวิชาสามัญอย่างเดียว (ผมฟังจากรายการจับใจความได้ประมาณนี้)
ผลก็คือ ผู้หญิงคนนี้กลายเป็นนักเต้นมืออาชีพ มีความรู้ด้านงานในวงการบันเทิงที่ไม่มีสอนในโรงเรียนสายสามัญเยอะแยะ และทำงานที่เป็นที่ใฝ่ฝันของเด็ก ๆ หลายคน เช่นการเป็นนักแสดง นักจัดรายการ นางแบบ
ผมเลยนึกดูเล่น ๆ ว่าถ้าพ่อแม่ไม่มีความเข้าใจในความชอบและความถนัดของลูก และเคี่ยวเข็ญบังคับให้คุณคริสเรียนต่อ ม. 4 5 6 เพื่อไปสอบเอ็นทรานซ์ตามแบบแผนปกติ คุณคริสจะเรียนคณะอะไร และวันนี้คุณคริสน่าจะกำลังประกอบอาชีพอะไรอยู่?
คงฟังดูแปลก ๆ ที่คนที่เป็นครูมาเขียนความคิดเหมือนกับว่าไม่สนับสนุนให้เด็กเรียน จริง ๆ ก็ไม่ใช่อย่างนั้น เพียงแต่ผมคิดว่าการเรียน มันไม่จำเป็นต้องเป็นสายสามัญ ม. 4 5 6 แล้วต่อด้วยมหาวิทยาลัยจนจบ ป. ตรี โท เอก คณะยอดนิยมเสมอไป การเรียนสายวิชาชีพก็เป็นการเรียน การเรียนศิลปะก็เป็นการเรียน การเรียนคณะที่คนไม่นิยมเรียน (แต่ตนเองมีความชื่นชอบ) ก็เป็นการเรียน
หากเราตั้งใจจริงจนเป็นที่หนึ่งในสิ่งที่เราชอบ สนใจ และมีความถนัดแล้ว มันก็มีโอกาสก้าวหน้า มีโอกาสได้ทำงานที่ท้าทาย และมีความสุขกับงานนั้น ๆ ได้
ผมไม่อยากเห็นพรสวรรค์ของใครมาถูกฆ่าทิ้งในห้องเรียน อย่างที่เห็นอยู่เรื่อย ๆ ถ้านักศึกษารู้เร็วว่าตนเองสนใจอะไร ชอบอะไร และถนัดอะไร ถ้ามุ่งมั่นศึกษาไปในเส้นทางนั้น ก็น่าจะประสบความสำเร็จได้มากกว่าการเรียนตาม ๆ กันไป หรือเรียนเพราะไม่รู้จะไปทำอะไรดีมากกว่า
อยากให้ย้อนไปดูชีวิตของคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตหลาย ๆ คนบ้าง เขาไม่ได้ประสบความสำเร็จเพราะเรียนคณะยอดนิยม เขาไม่ได้ประสบความสำเร็จเพราะผลการเรียนดีเลิศ เขาไม่ได้ประสบความสำเร็จเพราะเขาเรียนสูง
แต่เขาประสบความสำเร็จเพราะความมุ่งมั่น ตั้งใจจริง และไม่ยอมแพ้ต่างหาก
3 ความคิดเห็น:
ผมเห็นด้วย ครับ....
ทุกคนล้วนมีพรสวรรค์ในตัวเองทั้งสิ้น เพียงแต่จะค้นพบมันรึป่าวเท่านั้นเอง
มันขึ้นอยู่ที่มุมมองชีวิต และวิธีทางที่เลือกเอง
ปล. ดีครับ
เห็นด้วยครับ แต่มันก็ยากที่จะรู้ว่าเราชอบอะไรหรือถนัดด้านใด
ผมคิดว่าน่าจะมีกิจกรรมที่สามารถให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เค้าสนใจ หรืออาชีพที่จะทำเ จบไปแล้วทำงานยังไง เรียนอะไรบ้าง (ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ)ที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน
ปล.น่าจะลดปัญหาการรีไทล์ได้ระดับหนึ่ง
ถ้าแยกสายหลัก ๆ คือ
- วิทยาศาสตร์
- มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
- ศิลปกรรมศาสตร์
การเลือกสายหลักควรทำก่อนเข้ามหาวิทยาลัยครับ เมื่อเข้ามาอยู่ในสายหลักแล้ว มันเรียนรู้ศึกษาข้ามสายกันภายในได้ไม่ยาก เช่นเรียนวิทยาศาสตร์ แล้วก็มาศึกษาต่อด้านวิศวกรรม เรียนวิศวกรรมแล้วไปต่อแพทย์ พวกนี้ผมเคยเห็นมาบ้าง
แต่การเลือกสายหลัก ยังไง ๆ ผมก็คิดว่าต้องทำก่อนเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยครับ
ส่วนในสายย่อย องค์กรนักศึกษาสามารถช่วยเพื่อนนักศึกษาได้ เช่นเวลาเราจัดงานเลี้ยงรับพี่บัณฑิต นอกจากจะให้สนุกสนานกันเฉย ๆ แล้ว หากไม่พี่ ๆ มาเล่าประสบการณ์การทำงานให้น้อง ๆ ฟัง ก็น่าจะช่วยในจุดนี้ได้ครับ
แสดงความคิดเห็น