- ภาษาที่มีคนใช้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เรียกว่าภาษามีชีวิต แล้วทำไมต้องเคร่งครัดกับการเขียนภาษาไทยให้ถูกต้องด้วย
- มนุษยชาติใหญ่กว่าชาติ และความคลั่งชาติก็สร้างปัญหาให้มนุษยชาติมากมาย ทำไมต้องรักชาติของตนมากกว่าชาติอื่น ๆ ด้วย
- มารยาทเป็นเพียงการแสดงออก บอกไม่ได้ด้วยซ้ำว่าจริงใจหรือไม่ ทำไมต้องมีมารยาทด้วย
- ความดี-ความชั่ว เป็นเรื่องสัมพัทธ์ จะดีหรือชั่วขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ ณ ขณะนั้น ๆ สถานที่นั้น ๆ มันไม่ได้มีอยู่จริง แล้วทำไมจะต้องไปใส่ใจมากมายกับ ความดี-ความชั่ว โดยเฉพาะยิ่งกับสิ่งที่เรียกว่า จริยธรรม-ศีลธรรม ยิ่งน่าสงสัยด้วยซ้ำไปว่ามันคืออะไร มีจริงหรือไม่
- การเลี้ยงดูบุตรของพ่อแม่ การสั่งสอนศิษย์ของครูอาจารย์ การช่วยชีวิตคนของหมอ ทหาร ตำรวจ อาสาสมัคร ล้วนเป็นการทำงานในหน้าที่ตามปกติ ทำไมต้องเป็นบุญคุณกัน ทำไมต้องมีความกตัญญูเป็นคุณธรรมด้วย
- คน ๆ หนึ่งทำให้สิ่งของของอีกคนหนึ่งเสียหายโดยไม่ได้ตั้งใจ ยินดีรับผิดชอบความเสียหายทั้งหมด แต่ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องก้มหัวเอ่ยคำขอโทษ ในเมื่อไม่ได้เจตนา ในเมื่อยินดีรับผิดชอบความเสียหาย ทำไมต้องขอโทษด้วย
- การซื้อขายประเวณี หากเป็นการเต็มใจของผู้ขายและผู้ซื้อ ทั้งสองฝ่ายยังไม่มีพันธะครอบครัว ถือว่าผิดศีล 5 หรือไม่ และถือว่าผิดคุณธรรมใดหรือไม่ ทำไมการค้าประเวณีจึงได้ชื่อว่าเป็นการค้ามนุษย์?
ผมมีความปรารถนาจะตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ด้วยตรรก จึงมาบันทึกคำถามเหล่านี้ไว้เพื่อให้คนมาช่วยเหลือครับ คำตอบที่ได้ผมจะนำไปเรียบเรียงและใช้ตอบคำถามนักเรียนในโอกาสที่จำเป็นต่อไป
ผมคิดว่าหากเราไม่พยายามตอบคำถามทำนองนี้ด้วยความเข้าอกเข้าใจในผู้ถาม สักแต่ว่าติเตียนถ่ายเดียว การเรียนรู้อย่างแท้จริงของเยาวชนก็จะไม่เกิด และจะกลายเป็นระเบิดเวลากลับมาทำร้ายสังคมของเราเองได้ในอนาคต
3 ความคิดเห็น:
ลองพยายามตอบดูนะครับ
โดยภาพรวม คิดว่าปัญหาอยู่ที่ความสุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสองด้าน ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว การยึดเอาเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งจะทำให้เกิดปัญหามากกว่า
เรื่องภาษา จริงครับที่ภาษามีวิวัฒนาการตามกาลเวลา แต่ก็ต้องเข้าใจให้ตรงกันว่ามันเป็นปรากฏการณ์ลักษณะไหน
ถ้าเป็นคำสแลงใหม่ ๆ ก็ต้องผ่านการทดสอบของมหาชนเสียก่อนจึงจะอยู่ได้ รวมถึงการจะอยู่คงทนหรือเปล่าด้วย
ถ้าเป็นเรื่องการสะกดคำ สเกลของเวลาจะยาวนานกว่านั้น จากรัชกาลหนึ่งถึงอีกรัชกาลหนึ่ง คงไม่ใช่ชนิดวันต่อวันอย่างที่ผู้กล่าวอ้างหมายความ
ในอีกทางหนึ่ง ผมมองว่าการที่ในอดีตมีความแปรปรวนของตัวสะกดสูงนั้น เป็นเพราะยังขาดแบบแผนในการเรียนการสอน รวมทั้งการสื่อสารก็ไม่ได้ใกล้ชิดเท่าปัจจุบัน ตำราต่าง ๆ จึงไม่มีการชำระให้ตรงกัน ต่างกับสมัยนี้ที่ภาษามีการพัฒนาระเบียบแบบแผนดีขึ้น เงื่อนไขจึงต่างไปแล้ว
ขออ้างถึงสถานการณ์ของภาษาลาวซึ่งในยุคหนึ่งมีปัญหาเรื่องเอกภาพของภาษาอย่างมาก มีระบบสะกดคำแตกต่างกันอย่างน้อย 3 ระบบใหญ่ ๆ (ดู วิกิพีเดีย) ยังไม่นับแบบย่อย ๆ ที่ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคน ผู้แต่งตำราก็จะมีปัญหาว่าควรสะกดคำอย่างไรดีจึงจะใช้ได้ทั่วประเทศ ดังปรากฏการออกตัวในคำนำของหนังสือลาวเล่มหนึ่งที่ผมเคยอ่าน และเรียกร้องให้รัฐบาลจัดระเบียบอักขรวิธีให้เป็นแบบแผนเดียวกันเสียที
แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าการมีระเบียบแบบแผนจะเป็นการฆ่าภาษาให้ตาย ภาษานั้นมีความต้องการอธิบายสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอเป็นปกติอยู่แล้ว คำใหม่ ๆ ย่อมเกิดได้ตลอดแม้จะมีระเบียบกำกับอยู่ครับ
นี่เพิ่งข้อแรกข้อเดียวเองใช่ไหมนี่
เรื่องของชาติ เป็นตัวอย่างที่ดีของปัญหาที่เกิดจากความสุดโต่งนะครับ
ในด้านหนึ่ง ประวัติศาสตร์ชาตินิยมได้หล่อหลอมวิธีคิดของคนในชาติให้รักชาติตัวเอง เกลียดชาติอื่น ซึ่งในขณะที่โลกยังอยู่ในยุคสงครามแย่งชิงอาณาเขตนั้น ทัศนะเช่นนี้เป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างชาติ แต่ในยุคที่โลกเริ่มเปลี่ยนสู่การพาณิชย์ สู่ความร่วมมือข้ามพรมแดน เรื่องนี้กลับกลายเป็นปัญหาที่ขัดขวางความเจริญ
ขณะเดียวกัน สิ่งที่น่ากลัวไม่แพ้กันคือขั้วตรงข้ามที่มุ่งปฏิเสธทัศนะเก่าแบบถอนรากถอนโคน ถึงขั้นทิ้งรากเหง้าโดยไม่แยกแยะส่วนดีส่วนเสียเลย
ปัญหาของความคลั่งชาติแบบแรกคือมันทำให้คนคุยกับเพื่อนบ้านไม่รู้เรื่อง ความร่วมมือไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ต้องมาสาละวนกับกรณีพิพาท
ส่วนการทิ้งรากเหง้านั้น ก็คือการทำลายความหลากหลายทางวัฒนธรรมของโลกรูปแบบหนึ่ง ตัวสังคมท้องถิ่นเองก็โตแบบขาดความต่อเนื่อง ขาดอัตลักษณ์ ขาดความมั่นคง
ถ้าปัญหาการทิ้งรากเหง้ายังไม่แจ่มชัดสำหรับคนที่มีแต่มุมมองแบบเศรษฐกิจ ก็ขอให้ดูกรณีอีสานเป็นตัวอย่าง อีสานถูกส่วนกลางแบ่งแยกมานาน ว่าไม่มีประวัติศาสตร์หรือวัฒนธรรมร่วมกับลุ่มเจ้าพระยา และมองว่าเป็นพวกล้าหลัง แต่เมื่อเริ่มเกิดปัญหาการแบ่งแยกดินแดนในสมัยคอมมิวนิสต์ รัฐบาลกลางกลับใช้การรณรงค์ให้เรียกคนอีสานว่าไทยอีสาน ไม่ใช่ลาว พร้อมกับล้างสมองคนอีสานให้ลืมรากของตัวเอง สรุปคือยังไงคนอีสานก็ถูกปลูกฝังให้ปฏิเสธรากเหง้าของตัวเองทั้งขึ้นทั้งล่อง มองว่าเมืองหลวงคืออุดมคติ สิ่งที่เกิดขึ้นคือค่านิยมละทิ้งถิ่นฐานของคนอีสาน ทิ้งไร่นาบ้านช่องให้ผู้เฒ่าดูแล เอาแรงงานและทรัพยากรทั้งหมดเข้าไปสร้างความเจริญ (และความแออัด) ให้เมืองหลวง ทิ้งบ้านเมืองตัวเองให้ขาดการพัฒนา บางส่วนก็ข้ามขั้นไปแต่งงานกับฝรั่งเสียเลย ปัญหานี้ไม่ค่อยเกิดกับภาคอื่นที่ยังคงรักษารากเหง้าของตัวเองไว้ได้
เมื่อพัฒนาไปในแนวนี้นานเข้า ก็เริ่มเห็นกันว่ามันยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างเมืองหลวงกับภูมิภาคห่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ เมืองหลวงเองก็ไม่ชอบปัญหาความแออัดและอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น
ถ้าขยายสเกลของกรณีอีสานให้เป็นประเทศ และเปลี่ยนเมืองหลวงเป็นประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายแทน ก็จะเห็นความคล้ายคลึงของอาการ "ขุดทอง" และ "สมองไหล" อยู่
ความจริงแล้ว ถ้ามองโลกทั้งระบบ กระแสโลกาภิวัตน์นั้นมีมาสองส่วน คือการแผ่ขยายวัฒนธรรมกลาง กับการปรับให้เข้ากับท้องถิ่น ดังจะเห็นจากแฟรนไชส์ข้ามชาติอย่างแมคโดนัลด์ ร้านพิซซ่า หรือไอศกรีมสเวนเซ่น ที่จะต้องมีเมนูที่ปรับสูตรเป็นอาหารท้องถิ่น ถ้าไปที่ญี่ปุ่นก็จะมีวาซาบิให้จิ้ม เป็นต้น ในโลกของซอฟต์แวร์ก็ยิ่งสะท้อนแนวคิดออกมาเด่นชัด เป็น internationalization กับ localization ซึ่งจะเห็นว่าโลกาภิวัตน์เองก็รู้ดีว่าต้องรักษาความหลากหลายในโลกที่เริ่มทำอะไรเหมือน ๆ กันเอาไว้
ความสุดโต่งทั้งสองขั้ว ไม่ว่าจะคลั่งชาติหรือทิ้งรากเหง้า จึงไม่เข้ากับความเป็นจริงของโลกปัจจุบันครับ ท่าทีที่เหมาะสมจึงควรเป็นการเรียนรู้กระแสโลกแล้วปรับให้เข้ากับอัตลักษณ์ของตัวเองให้เป็นธรรมชาติที่สุด ซึ่งก็น่าจะเป็นสิ่งที่วัฒนธรรมไทยถนัดอยู่แล้วในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา
เสียดาย กดไลค์ คอมเมนต์ใน Blogger ไม่ได้
แสดงความคิดเห็น