มุมมองใหม่ที่ว่านี้เกิดจากความคิดที่ว่า
เป็นไปได้หรือไม่ว่าแต่เดิม มุมมองที่เรามีต่อการฉ้อราษฏร์บังหลวงและวิธีที่เราพยายามใช้แก้ไขพฤติกรรมการฉ้อราษฏร์บังหลวงนั้นมาจากมิติที่ไม่รอบด้านเพียงพอ เมื่อมองจากมุมที่จำกัดจึงไม่เห็นสาเหตุที่แท้จริง เมื่อไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงจึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้คนเหมือนกัน ทำไมบางประเทศจึงมีการฉ้อราษฏร์บังหลวงน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ?
ที่คิดอย่างนี้เพราะผมไม่อาจทำใจเชื่อได้ว่าคนต่างชาติจะมีศีลธรรมสูงกว่าคนไทย (และไม่เชื่อว่าคนไทยจะมีศีลธรรมสูงกว่าคนต่างชาติ) ในแง่ของความเป็นมนุษย์ผมคิดว่า คนไม่ต่างกัน แต่อะไรล่ะที่ทำให้สังคมของคนในแต่ละที่มันถึงได้ต่างกัน
มุมมองเดิมคืออะไร? มุมมองเดิมก็คือการฉ้อราษฏร์บังหลวงเกิดขึ้นเพราะคนมันเลว ดังนั้นวิธีแก้คือทำให้คนมันกลายเป็นคนดีซะ!!?? ซึ่งผมว่ามันตื้นมาก ตื้นเกินไป ตื้นขนาดที่มีโฆษณารณรงค์ให้เป็นคนดีแบบแปลก ๆ เช่นมีโฆษณาวิทยุอยู่โฆษณาหนึ่ง เป็นฉากสอบสัมภาษณ์สมัครงานซึ่งมีดังนี้
ผู้สัมภาษณ์: พิมพ์ดีดเป็นไหม
ผู้สมัคร: ไม่เป็นครับ
ผู้สัมภาษณ์: ใช้คอมพิวเตอร์เป็นไหม
ผู้สมัคร: ไม่เป็นครับ
ผู้สัมภาษณ์: เอ้า! แล้วเป็นอะไรมั่งเนี่ย
ผู้สมัคร: เป็นคนดีครับ
ผู้สัมภาษณ์: โอเค...รับเลย
ผมคิดว่าถ้ารับคนดีแบบนี้เข้าไปทำงาน ผู้ใช้บริการหน่วยงานอาจจะเป็นฝ่ายเสียหายมากกว่า แล้วมันก็ไม่ใช่การทำดีตรงไหน การส่งเสริมคนดีที่เป็นอย่างนี้ในระยะยาวแล้วอาจสร้างคนเลวอื่น ๆ ขึ้นได้มาก สรุปแล้วจะเสียมากกว่าดี
ด้วยการที่เรามองว่าความเลวเป็นเหตุแห่งการฉ้อราษฏร์บังหลวง เมื่อจะดับที่เหตุก็เลยดับที่ความเลวโดยทำให้มันดีซะ ซึ่งจากข่าวไทยโพสต์วันนี้แสดงให้เห็นเองแล้วว่ามันไม่ได้ผล (หรืออย่างน้อย แก้ไขที่ประเด็นนี้เพียงประเด็นเดียวมันไม่ได้ผล)
งั้นเราเอาใหม่ ลองตั้งสมมติฐานว่าคนเราจะ ดี-เลว ในแต่ละสังคมไม่น่าจะต่างกันมากนักหรอก ดังนั้นจะ ดี หรือ เลว อาจไม่ใช่สาเหตุของการฉ้อราษฏร์บังหลวงโดยตรง สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้มีการโกงเกิดขึ้นน่าจะมีอะไรได้อีกบ้าง...
ประเด็นหนึ่งที่น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การฉ้อราษฏร์บังหลวงกลายเป็นเรื่องที่คนธรรมดายอมรับได้ก็คือ ระบบงานมันไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าลองนึกถึงสมัยที่องค์การโทรศัพท์ยังเป็นผู้ให้บริการคู่สายโทรศัพท์เพียงรายเดียวในประเทศไทยอยู่ การขอคู่สายโทรศัพท์เป็นเรื่องที่ยาก ใช้เวลานาน ราคาแพงและความช้าเร็วในการรอคิวขึ้นอยู่กับเงินพิเศษที่อาจต้องจ่ายเพิ่ม
คนยอมจ่ายเพราะระบบมันไร้ประสิทธิภาพ
ปัจจุบันมีผู้ให้บริการหลายเจ้า แต่ละเจ้าแข่งขันกันในด้านประสิทธิภาพการให้บริการ เมื่อระบบงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้อง "ยอมจ่าย" อีกต่อไป ถ้ามีเจ้าพนักงานเรียกเงินเพิ่ม ผู้ใช้บริการก็จะรับไม่ได้ และไม่ยอมจ่ายในที่สุด
บางครั้ง ปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้คนไม่มีฉวยโอกาสฉ้อราษฏร์บังหลวงได้ก็เพราะคนธรรมดา หาข้ออ้างให้ตัวเองทำผิดระเบียบได้โดยไม่รู้สึกผิด ตัวอย่างเช่น ผมเคยสังเกตนักศึกษาที่ซื้ออาหารจากโรงอาหาร ในยุคหนึ่งไม่ค่อยพบว่าจะมีการเข้าคิวเท่าไร ใครแทรกเก่ง หน้าด้าน ก็จะได้สั่งอาหารก่อน นักศึกษากลุ่มเดียวกันเวลาไปซื้อตั๋วหนังที่ SF หรือ EGV กลับสามารถเข้าคิวต่อแถวกันได้อย่างเป็นระเบียบ
คนกลุ่มเดียวกันแท้ ๆ
นี่ยิ่งยืนยันกับผมต่อไปว่า ถ้าระบบดีมีประสิทธิภาพ ไม่มีคนธรรมดาคนไหนอยากจะเอาเปรียบคนอื่น ไม่อยากจะลัดคิว ไม่อยากจะผิดระเบียบ แต่เนื่องจากระบบมันไม่มีประสิทธิภาพ คนธรรมดาไม่อยากจะเสียเปรียบใครก็เลยมีข้ออ้างให้ตัวเองต้องยอมทำผิดระเบียบ แล้วก็เลยต้องพึ่งพาคนไม่ดีที่มีอำนาจ เป็นจุดเริ่มต้นของวงจรอุบาทว์ของการฉ้อราษฏร์บังหลวงของประเทศชาติต่อไป
ดังนั้นการแก้ไขปัญหาการฉ้อราษฏร์บังหลวงที่น่าจะได้ผลดีกว่าการโฆษณารณรงค์ให้คนเป็นคนดี ก็คือการปรับปรุงประสิทธิภาพในงานต่าง ๆ ให้สูงขึ้น และนั่นทำให้ขยายความต่อไปได้อีกว่า การที่เรายอมให้มีความไร้ประสิทธิภาพในงานของเราก็เท่ากับเราส่งเสริมการฉ้อราษฏร์บังหลวงและเป็นส่วนหนึ่งของมันนั่นเอง