วันเสาร์, พฤษภาคม 25, 2556

คนมีการศึกษาต้องเรียนจบชั้นไหน?

มีคนถาม อ. วิระยา ว่า คนที่เรียกว่ามีการศึกษาต้องจบชั้นไหน?

เป็นคำถามที่ดีมาก ๆ เพราะเวลาพูดกันเรื่องนี้ถ้าไม่นิยามกันให้ชัด ๆ ว่าขอบเขตอยู่ตรงไหนกันแน่ คุยกันไปมากลายเป็นการดูหมิ่นคนจบน้อย คนละเรื่องกันไปคุยกันไม่ได้ใจความ

อ. วิริยา ท่านก็มีคำตอบของท่านว่า
แฟนเพจถามมา คนมีการศึกษา นั้นต้องจบชั้นอะไร............
คนมีการศึกษา สำหรับผม คือ.........
คนที่ ใช้เหตุผล มากกว่าใช้กำลัง
นิยมการ รับฟังและหาทางออกที่ดี มากกว่า การใช้อำนาจบังคับ
รู้สึกรังเกียจ ต่อการละเมิดกฏหมาย
อายต่อการเอาเปรียบผู้อื่น
เรียนอะไร จบชั้นไหน ผมก็นับว่าเป็นผู้มีการศึกษา ครับ
ก็เป็นคำตอบที่ผมยอมรับได้ ผมเองก็มีความเห็นคล้าย ๆ กัน แต่ว่าเขียนให้อยู่ในอีกรูปแบบหนึ่งได้ว่า ก็คือมันไม่สำคัญหรอกว่าจะเรียนจบชั้นไหน แต่ต้องไม่มีคุณสมบัติของผู้ไร้การศึกษาดังต่อไปนี้

เป็นคนหูเบา

คนหูเบามีคนบอกอะไรมาก็เชื่อไปหมด ผมเองยึดหลัก "ไม่ได้เห็นกับตา ไม่ได้ยินกับหู ยังไม่ปักใจเชื่อ" ผมขีดเส้นใต้คำว่า ไม่ปักใจเชื่อ เพราะไม่ได้แนะนำว่าห้ามเชื่อ แต่ก่อนจะเชื่อจะต้องใตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน การใตร่ตรองให้รอบคอบก่อนที่จะปักใจเป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งของผู้มีการศึกษา

อคติแรงจัด

อคติมี 4 ประเภทคือ
  • ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรัก หากมีฉันทาคติกับใครมาก เวลาคน ๆ นั้นพูดอะไรก็มักจะเชื่อเขาง่าย ๆ ปิดประตูที่จะได้รับข้อมูลจากมุมอื่น ๆ
  • โทสาคติ ลำเอียงเพราะเกลียด หากเกลียดใครมาก เวลาคน ๆ นั้นพูดอะไรก็จะไม่ฟัง ไม่เอามาคิด ปิดประตูที่จะได้รับทราบข้อมูลจากมุมอื่น ๆ ยิ่งคนอยู่ในสังคมแบ่งฝักแบ่งฝ่าย หากชอบพอกับคนหนึ่ง ก็มักจะต้องเกลียดอีกคนหนึ่งไปด้วยเสมอ อคติทั้ง 2 นี้ก็เลยมักจะโผล่มาพร้อม ๆ กัน
  • โมหาคติ ลำเอียงเพราะโง่ หลงงมงายกับเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล เช่นงมงายกับลัทธิ แนวปฏิบัติ บางอย่างโดยปราศจากการคิดอย่างถี่ถ้วน ผมเคยเห็นว่าอาการแบบนี้ คนจบสูง ๆ บางคนก็เป็น คือไปเจอเครื่องไม้เครื่องมือ หรือวิธีการ หรือกระบวนการที่ตนเองประทับใจ ก็ปักใจคิดว่าเครื่องไม้เครื่องมือแบบนี้ วิธีการแบบนี้ กระบวนการแบบนี้ เท่านั้น คือคำตอบสุดท้ายของทุกเรื่อง ทำให้การตัดสินใจผิดพลาด
  • ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว กลัวอำนาจเหนือกว่าเลยสยบยอมแบบราบคาบ กลัวคนว่าไม่รู้เลยทำเป็นรู้ ออกแนว ๆ พระราชาสวมผ้าทิพย์ โดนหลอกเอาง่าย ๆ
ผมไม่ได้ว่าคนจะต้องปราศจากอคติ อันที่จริงถ้ามองจากมุมมองในระดับอุดมคติแล้วเราก็อยากให้ทุก ๆ คนปราศจากอคติ แต่มันเป็นไปได้ยากและถ้าเป็นได้จริงโลกนี้คงไม่มีความวุ่นวายแล้ว แต่เพราะเรากำลังคุยกันเรื่องปุถุชนจึงเรียกร้องเพียงแค่ให้รู้ทันอคติของตนเอง อคติจะได้ไม่แรงจัดเท่านั้น

คนที่มีอคติแรงจัดทำให้การคิดใคร่ครวญไม่ถี่ถ้วนรอบคอบ ปักใจเชื่ออะไรง่าย ๆ ทำให้การตัดสินใจผิดพลาด ถ้ายังไม่ตระหนักว่าตนมีอคติ 4 อยู่ รู้ไม่ทันอคติของตนเองและไม่พยายามลดอคติทั้ง 4 ลงให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่ระดับของตนจะทำได้ก็นับได้ว่ายังไม่มีการศึกษา

ไม่มีเหตุไม่มีผล

ไม่มีการเรียบเรียงความคิดจากเหตุไปหาผล ดังนั้นจึงไม่สามารถทำความเข้าใจเหตุผลได้ และคนดี ๆ ก็ไม่สามารถคุยด้วยโดยใช้เหตุผลได้ ความมีเหตุมีผลนี้ต้องอยู่กับโลกของความเป็นจริง การเป็นเหตุเป็นผลในโลกอื่น ๆ เช่น เกม การ์ตูน นิยาย ไม่นับ ความไม่มีเหตุผลแบบหนึ่งที่พบบ่อยในหมู่คนไร้การศึกษาก็คือการคิดเข้าข้างตนเอง ทำให้เกิดความไม่รอบคอบ และสร้างปัญหานานาประการให้กับชีวิตของตนเอง

ไม่รับผิดชอบ

คืออาจเป็นเพราะไม่เข้าใจถึงผลของการกระทำอย่างถ่องแท้ จึงไม่รู้สึกว่าต้องรับผิดชอบต่อการกระทำนั้น ๆ ความไม่รับผิดชอบอาจแสดงออกมาได้หลายทาง เช่นชุ่ย มักง่าย ไม่รอบคอบ คิดทางเดียว (คือไม่มีการคิดเผื่อความผิดพลาด) หรือที่เลวร้ายที่สุดก็คือไม่ขวนขวายใส่ใจทำแม้แต่งานของตนเอง รวมทั้งหมดลงได้ที่ความไม่รับผิดชอบทั้งสิ้น

หากบุคคลใดก็ตาม
  1. หูเบา
  2. อคติจัด
  3. ไม่มีเหตุผล
  4. ขาดความรับผิดชอบ
ถึงจะเสียเวลาเล่าเรียนไปหลายปีก็น่าเสียดายว่าเวลาเหล่านั้นสูญเปล่า เพราะเป้าหมายของการศึกษาทุกระดับคือให้บุคคล
  1. ไม่ปักใจเชื่ออะไรง่าย
  2. วินิจฉัยสิ่งต่าง ๆ โดยปราศจากอคติ
  3. มีเหตุมีผล และ
  4. มีความรับผิดชอบในงาน
หากแม้ไม่เคยเข้าโรงเรียนเลย แต่ได้เรียนรู้จากโลกจนกระทั่งมีคุณสมบัติทั้ง 4 ข้อที่กล่าวมานี้ ก็นับได้ว่าเป็นผู้มีการศึกษาอย่างแท้จริง และจะไม่สร้างปัญหาให้กับชีวิตของตนเองเกินว่าที่มันจะมีโดยธรรมชาติของชีวิต

ทั้ง 4 ข้อเป็นส่วนเสริมซึ่งกันและกันได้อย่างดี นั่นคือ คนที่รับผิดชอบต่อตนเองก็จะรอบคอบ คนที่รอบคอบ ย่อมไม่หูเบา เมื่อไม่หูเบาย่อมมีอคติน้อย เมื่อมีอคติน้อยก็มีเหตุผลมาก เมื่อมีเหตุผลมากก็จะรู้ว่าต้องรับผิดชอบ เมื่อรับผิดชอบก็รอบคอบ...

ในทางกลับกัน คนที่ไม่รับผิดชอบต่อตนเองย่อมไม่รอบคอบ คนที่ไม่รอบคอบย่อมหูเบา เมื่อหูเบาอคติก็เข้ามาได้ง่าย เมื่อมีอคติจัดย่อมกลายเป็นคนไร้เหตุผล เมื่อขาดเหตุผลก็ไม่รับผิดชอบ เมื่อไม่รับผิดชอบก็ไม่รอบคอบ...

เกณฑ์ 4 ข้อที่กล่าวมานี้ไม่เกี่ยวกับการเป็นคนดีหรือคนไม่ดี เพราะเราสามารถจินตนาการถึงคนที่มีคุณสมบัติของผู้มีการศึกษา 4 ข้อนี้ครบ แต่เอารัดเอาเปรียบคนอื่นได้

ผมเห็นต่างจาก อ. วิริยา ตรงที่ผมไม่คิดว่าเราจะเรียกคนเอารัดเอาเปรียบคนอื่นว่าไร้การศึกษา (แม้ว่าคนทำชั่วล้วนโง่ก็ตาม) เราเรียกคนพวกนี้ว่าคนชั่ว หรือคนไม่ดี ไม่น่าจะเรียกว่าเป็นคนไร้การศึกษาให้สับสนกัน เพราะปัญหาคนไร้การศึกษาแก้ได้ด้วยคุณธรรมชุดหนึ่ง ส่วนปัญหาคนชั่วต้องแก้ด้วยคุณธรรมอีกชุดหนึ่ง หากเอามาปนกันเวลาแก้ปัญหามันจะยุ่ง

ผมพบว่าการได้คิดในเรื่องเช่นนี้สนุกและมีประโยชน์มากทีเดียว หวังว่าข้อสรุปความคิดนี้คงจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน ขอขอบคุณผู้ตั้งคำถามด้วยใจจริงที่เปิดโอกาสให้มีโอกาสคิดในเรื่องนี้ ผมเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองต่อไปอย่างแน่นอน

[แก้ไข]

ผมขยายความจากหัวข้อรอบคอบให้กลายเป็นรับผิดชอบ เพราะรับผิดชอบกินความครอบคลุมมากกว่า

3 ความคิดเห็น:

Thep กล่าวว่า...

การแยกแยะคนไร้การศึกษากับคนชั่วออกจากกัน คงหมายถึง "ความรู้" กับ "คุณธรรม" ซึ่งการศึกษาควรจะบ่มเพาะทั้งสองอย่างควบคู่กัน (อาจจะโดยใช้คุณธรรมคนละชุดก็ตาม)

jark กล่าวว่า...

จริง ๆ แล้วอยากจะกล่าวรวมกันไว้ที่เดียวครับ แต่เกรงว่าโลกย์จะเหมาเป็นเรื่องจริยธรรม แล้วละเลยประเด็นเรื่องระดับของความคิดไป แล้วไปจับประเด็นเรื่องจริยธรรมมาแทน ก็กลายเป็นเรื่องคุยสนุก แต่ทำอะไรไม่ได้มาก

ผมคิดว่าคุณธรรมข้อสำคัญที่ละไว้ก็คือ หิริโอตัปปะ นั้น จะเกิดขึ้นได้เองหากเป็นคนไม่หูเบา ปราศจากอคติ มีเหตุผล และรอบคอบ

ตอนนี้คนเราสอนกันไม่ค่อยได้ คุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะ หูเบา อคติจัด ไม่มีเหตุผล และไม่รอบคอบ นี่แหละครับ เรื่องจะไปหวังถึง หิริโอตัปปะ แม้จะมีธาตุดีอยู่ แต่ลงมีอคติบังตาเสียมิดแล้วก็จบกัน

ผมเลยตั้งสมมติฐานว่า หิริโอตัปปะ เป็นผลที่จะงอกออกมาเองจากคนที่มีคุณธรรมพอสมควร ที่มีการศึกษาแล้วน่ะครับ

jark กล่าวว่า...

เสริมอีกนิดว่า ผมกลั่นแนวคิดนี้ออกมาจาก http://drama-addict.com/ ครับ

ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วกลายเป็นดราม่า เกิดจาก 4 สาเหตุหลักนี่แหละครับ