วันเสาร์, พฤษภาคม 25, 2556

คนมีการศึกษาต้องเรียนจบชั้นไหน?

มีคนถาม อ. วิระยา ว่า คนที่เรียกว่ามีการศึกษาต้องจบชั้นไหน?

เป็นคำถามที่ดีมาก ๆ เพราะเวลาพูดกันเรื่องนี้ถ้าไม่นิยามกันให้ชัด ๆ ว่าขอบเขตอยู่ตรงไหนกันแน่ คุยกันไปมากลายเป็นการดูหมิ่นคนจบน้อย คนละเรื่องกันไปคุยกันไม่ได้ใจความ

อ. วิริยา ท่านก็มีคำตอบของท่านว่า
แฟนเพจถามมา คนมีการศึกษา นั้นต้องจบชั้นอะไร............
คนมีการศึกษา สำหรับผม คือ.........
คนที่ ใช้เหตุผล มากกว่าใช้กำลัง
นิยมการ รับฟังและหาทางออกที่ดี มากกว่า การใช้อำนาจบังคับ
รู้สึกรังเกียจ ต่อการละเมิดกฏหมาย
อายต่อการเอาเปรียบผู้อื่น
เรียนอะไร จบชั้นไหน ผมก็นับว่าเป็นผู้มีการศึกษา ครับ
ก็เป็นคำตอบที่ผมยอมรับได้ ผมเองก็มีความเห็นคล้าย ๆ กัน แต่ว่าเขียนให้อยู่ในอีกรูปแบบหนึ่งได้ว่า ก็คือมันไม่สำคัญหรอกว่าจะเรียนจบชั้นไหน แต่ต้องไม่มีคุณสมบัติของผู้ไร้การศึกษาดังต่อไปนี้

เป็นคนหูเบา

คนหูเบามีคนบอกอะไรมาก็เชื่อไปหมด ผมเองยึดหลัก "ไม่ได้เห็นกับตา ไม่ได้ยินกับหู ยังไม่ปักใจเชื่อ" ผมขีดเส้นใต้คำว่า ไม่ปักใจเชื่อ เพราะไม่ได้แนะนำว่าห้ามเชื่อ แต่ก่อนจะเชื่อจะต้องใตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน การใตร่ตรองให้รอบคอบก่อนที่จะปักใจเป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งของผู้มีการศึกษา

อคติแรงจัด

อคติมี 4 ประเภทคือ
  • ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรัก หากมีฉันทาคติกับใครมาก เวลาคน ๆ นั้นพูดอะไรก็มักจะเชื่อเขาง่าย ๆ ปิดประตูที่จะได้รับข้อมูลจากมุมอื่น ๆ
  • โทสาคติ ลำเอียงเพราะเกลียด หากเกลียดใครมาก เวลาคน ๆ นั้นพูดอะไรก็จะไม่ฟัง ไม่เอามาคิด ปิดประตูที่จะได้รับทราบข้อมูลจากมุมอื่น ๆ ยิ่งคนอยู่ในสังคมแบ่งฝักแบ่งฝ่าย หากชอบพอกับคนหนึ่ง ก็มักจะต้องเกลียดอีกคนหนึ่งไปด้วยเสมอ อคติทั้ง 2 นี้ก็เลยมักจะโผล่มาพร้อม ๆ กัน
  • โมหาคติ ลำเอียงเพราะโง่ หลงงมงายกับเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล เช่นงมงายกับลัทธิ แนวปฏิบัติ บางอย่างโดยปราศจากการคิดอย่างถี่ถ้วน ผมเคยเห็นว่าอาการแบบนี้ คนจบสูง ๆ บางคนก็เป็น คือไปเจอเครื่องไม้เครื่องมือ หรือวิธีการ หรือกระบวนการที่ตนเองประทับใจ ก็ปักใจคิดว่าเครื่องไม้เครื่องมือแบบนี้ วิธีการแบบนี้ กระบวนการแบบนี้ เท่านั้น คือคำตอบสุดท้ายของทุกเรื่อง ทำให้การตัดสินใจผิดพลาด
  • ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว กลัวอำนาจเหนือกว่าเลยสยบยอมแบบราบคาบ กลัวคนว่าไม่รู้เลยทำเป็นรู้ ออกแนว ๆ พระราชาสวมผ้าทิพย์ โดนหลอกเอาง่าย ๆ
ผมไม่ได้ว่าคนจะต้องปราศจากอคติ อันที่จริงถ้ามองจากมุมมองในระดับอุดมคติแล้วเราก็อยากให้ทุก ๆ คนปราศจากอคติ แต่มันเป็นไปได้ยากและถ้าเป็นได้จริงโลกนี้คงไม่มีความวุ่นวายแล้ว แต่เพราะเรากำลังคุยกันเรื่องปุถุชนจึงเรียกร้องเพียงแค่ให้รู้ทันอคติของตนเอง อคติจะได้ไม่แรงจัดเท่านั้น

คนที่มีอคติแรงจัดทำให้การคิดใคร่ครวญไม่ถี่ถ้วนรอบคอบ ปักใจเชื่ออะไรง่าย ๆ ทำให้การตัดสินใจผิดพลาด ถ้ายังไม่ตระหนักว่าตนมีอคติ 4 อยู่ รู้ไม่ทันอคติของตนเองและไม่พยายามลดอคติทั้ง 4 ลงให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่ระดับของตนจะทำได้ก็นับได้ว่ายังไม่มีการศึกษา

ไม่มีเหตุไม่มีผล

ไม่มีการเรียบเรียงความคิดจากเหตุไปหาผล ดังนั้นจึงไม่สามารถทำความเข้าใจเหตุผลได้ และคนดี ๆ ก็ไม่สามารถคุยด้วยโดยใช้เหตุผลได้ ความมีเหตุมีผลนี้ต้องอยู่กับโลกของความเป็นจริง การเป็นเหตุเป็นผลในโลกอื่น ๆ เช่น เกม การ์ตูน นิยาย ไม่นับ ความไม่มีเหตุผลแบบหนึ่งที่พบบ่อยในหมู่คนไร้การศึกษาก็คือการคิดเข้าข้างตนเอง ทำให้เกิดความไม่รอบคอบ และสร้างปัญหานานาประการให้กับชีวิตของตนเอง

ไม่รับผิดชอบ

คืออาจเป็นเพราะไม่เข้าใจถึงผลของการกระทำอย่างถ่องแท้ จึงไม่รู้สึกว่าต้องรับผิดชอบต่อการกระทำนั้น ๆ ความไม่รับผิดชอบอาจแสดงออกมาได้หลายทาง เช่นชุ่ย มักง่าย ไม่รอบคอบ คิดทางเดียว (คือไม่มีการคิดเผื่อความผิดพลาด) หรือที่เลวร้ายที่สุดก็คือไม่ขวนขวายใส่ใจทำแม้แต่งานของตนเอง รวมทั้งหมดลงได้ที่ความไม่รับผิดชอบทั้งสิ้น

หากบุคคลใดก็ตาม
  1. หูเบา
  2. อคติจัด
  3. ไม่มีเหตุผล
  4. ขาดความรับผิดชอบ
ถึงจะเสียเวลาเล่าเรียนไปหลายปีก็น่าเสียดายว่าเวลาเหล่านั้นสูญเปล่า เพราะเป้าหมายของการศึกษาทุกระดับคือให้บุคคล
  1. ไม่ปักใจเชื่ออะไรง่าย
  2. วินิจฉัยสิ่งต่าง ๆ โดยปราศจากอคติ
  3. มีเหตุมีผล และ
  4. มีความรับผิดชอบในงาน
หากแม้ไม่เคยเข้าโรงเรียนเลย แต่ได้เรียนรู้จากโลกจนกระทั่งมีคุณสมบัติทั้ง 4 ข้อที่กล่าวมานี้ ก็นับได้ว่าเป็นผู้มีการศึกษาอย่างแท้จริง และจะไม่สร้างปัญหาให้กับชีวิตของตนเองเกินว่าที่มันจะมีโดยธรรมชาติของชีวิต

ทั้ง 4 ข้อเป็นส่วนเสริมซึ่งกันและกันได้อย่างดี นั่นคือ คนที่รับผิดชอบต่อตนเองก็จะรอบคอบ คนที่รอบคอบ ย่อมไม่หูเบา เมื่อไม่หูเบาย่อมมีอคติน้อย เมื่อมีอคติน้อยก็มีเหตุผลมาก เมื่อมีเหตุผลมากก็จะรู้ว่าต้องรับผิดชอบ เมื่อรับผิดชอบก็รอบคอบ...

ในทางกลับกัน คนที่ไม่รับผิดชอบต่อตนเองย่อมไม่รอบคอบ คนที่ไม่รอบคอบย่อมหูเบา เมื่อหูเบาอคติก็เข้ามาได้ง่าย เมื่อมีอคติจัดย่อมกลายเป็นคนไร้เหตุผล เมื่อขาดเหตุผลก็ไม่รับผิดชอบ เมื่อไม่รับผิดชอบก็ไม่รอบคอบ...

เกณฑ์ 4 ข้อที่กล่าวมานี้ไม่เกี่ยวกับการเป็นคนดีหรือคนไม่ดี เพราะเราสามารถจินตนาการถึงคนที่มีคุณสมบัติของผู้มีการศึกษา 4 ข้อนี้ครบ แต่เอารัดเอาเปรียบคนอื่นได้

ผมเห็นต่างจาก อ. วิริยา ตรงที่ผมไม่คิดว่าเราจะเรียกคนเอารัดเอาเปรียบคนอื่นว่าไร้การศึกษา (แม้ว่าคนทำชั่วล้วนโง่ก็ตาม) เราเรียกคนพวกนี้ว่าคนชั่ว หรือคนไม่ดี ไม่น่าจะเรียกว่าเป็นคนไร้การศึกษาให้สับสนกัน เพราะปัญหาคนไร้การศึกษาแก้ได้ด้วยคุณธรรมชุดหนึ่ง ส่วนปัญหาคนชั่วต้องแก้ด้วยคุณธรรมอีกชุดหนึ่ง หากเอามาปนกันเวลาแก้ปัญหามันจะยุ่ง

ผมพบว่าการได้คิดในเรื่องเช่นนี้สนุกและมีประโยชน์มากทีเดียว หวังว่าข้อสรุปความคิดนี้คงจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน ขอขอบคุณผู้ตั้งคำถามด้วยใจจริงที่เปิดโอกาสให้มีโอกาสคิดในเรื่องนี้ ผมเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองต่อไปอย่างแน่นอน

[แก้ไข]

ผมขยายความจากหัวข้อรอบคอบให้กลายเป็นรับผิดชอบ เพราะรับผิดชอบกินความครอบคลุมมากกว่า