เอาเรื่องข้อสอบก่อน ข้อสอบที่ตะลุยตรวจช่วงนี้คือข้อสอบวิชาคณิตศาสตร์วิศวกรรม 4 เรื่องน่าชื่นใจคือ แม้จะมีบางข้อ ยุ่ง (โปรดสังเกตว่าไม่ได้ใช้คำว่ายาก) เป็นพิเศษ แต่ก็มีคนทำได้ถูกต้องครบถ้วนและได้คะแนนเต็ม 40 คะแนนในส่วนที่ผมรับผิดชอบอยู่เป็นสิบ ๆ คน และด้วยเหตุผลที่ว่ามันค่อนข้างยุ่ง คนอื่น ๆ จึงได้แสดงเพียงหลักการคิด และคำตอบบางส่วนไว้ ซึ่งถ้าถูกต้องผมก็ให้คะแนนไปตามสัดส่วน
เรื่องที่น่าผิดหวังก็คือ ในบรรดาข้อสอบที่ผมรับผิดชอบนั้น จะมีอยู่อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งง่ายเป็นพิเศษ และไม่ยุ่งด้วย คือถามตรง ๆ ตามกรรมวิธีที่ได้สอนในชั้นเรียนและนักศึกษาเกือบทุกคนทำได้ถูกต้อง แต่ก็ยังอุตส่าห์มีนักศึกษาที่ทำผิดหรือทำมั่วหรือไม่ทำเลย! ซึ่งอันที่จริง ก็เป็นเรื่องปรกติในชั้นเรียนอาจมีคนเรียนไม่ได้บ้าง ปรกติก็จะไม่คิดอะไร
แต่กับกลุ่มหนึ่งผมทราบว่านักศึกษารุ่นพี่ คือได้เรียนวิชานี้มาก่อนแล้ว และน่าจะหลายรอบแล้ว และที่พบนี้ก็ไม่ใช่คนเดียวแต่พบหลายคน ถ้าปัญหายุ่ง ๆ ทำไม่ได้ยังพอทำใจ แต่แม้แต่ปัญหาที่รุ่นน้อง ๆ ทำได้สบาย ๆ เสร็จใน 3 - 5 บรรทัดเกือบทุกคน (และในกลุ่มเรียนซ้ำด้วยกัน ก็มีคนทำได้) นักศึกษากลุ่มนี้ก็ยังทำไม่ได้ ปรากฏการณ์นี้ต้องมีความหมายพิเศษ
ความหมายก็คือ เรียนมาหลายรอบแล้วยังทำไม่ได้ มันแปลได้ไม่กี่อย่าง เช่น
- หัวสมองไม่เหมาะกับสาขาวิชาที่มีคำนวณเยอะอย่างนี้ อาจเหมาะกับสาขาวิชาอื่นที่ใช้ทักษะอื่นมากกว่าการคำนวณ เช่นทักษะการวินิจฉัยเหตุผลเชิงพรรณา ก็ไปเรียนกฏหมาย ทักษะงานฝีมือและศิลปก็ไปเรียนศิลปศาสตร์ ถ้ามีทักษะคำนวณที่จำเป็นได้บ้าง ก็เรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ ก็ไม่ควรมาเสียเวลากับสาขาวิชานี้ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าสายวิชาเหล่านี้ง่ายกว่า แต่ตั้งใจจะบอกว่า สาขาต่าง ๆ กันจำเป็นต้องใช้ทักษะที่ต่างกัน
- ไม่ตั้งใจเฉย ๆ คิดว่ามาเรียน ๆ แล้วก็ไหล ๆ ตาม ๆ กันไปเหมือนสมัยประถมศึกษา มัธยมศึกษา ไม่ต้องพยายามอะไร ไม่ต้องทุ่มเทอะไร หายใจทิ้งไปวัน ๆ เดี๋ยวก็จบการศึกษา ก็ไม่ควรมาเสียเวลากับสาขาวิชานี้หรือสาขาวิชาไหน ๆ ทั้งสิ้น ควรออกไปทำงานเลย เพราะอาจจะเหมาะกับการทำงานมากกว่า
- เรียนผิดวิธี ไม่เข้าใจว่าที่เขาสอนนั้น เขาสอนเหตุผล ที่มาที่ไป ประโยชน์ใช้สอย แล้วก็กรรมวิธี แต่ไปยึดติดกับกรรมวิธีอย่างเดียว คือท่องสูตรเยอะแยะ แต่ไม่เข้าใจที่มาที่ไป เหตุผลและประโยชน์ของมัน ทำให้จำสูตรไม่ได้ หรือท่องสูตรไปก็ใช้ไม่เป็น อย่างนี้ถ้าเป็นปีต้น ๆ ยังพอหัดได้โดยธรรมชาติ ถ้าปีท้าย ๆ แล้วยังเรียนไม่เป็นอย่างนี้ ถ้าจะฝึกจะหัด ต้องทุ่มเทมากกว่าคนอื่น ๆ หลายเท่า
- และมันก็แสดงด้วยว่าบางคนที่เรียนซ้ำ ๆ นี่ แทนที่จะซ้ำแล้วที่เคยไม่เข้าใจก็เข้าใจ ที่เคยสงสัยก็คลายสงสัย ก็เปล่า คือเรียนซ้ำ ๆ เป็นพิธีกรรมไปเฉย ๆ พอให้เปลืองเงินเล่น ๆ แต่ไม่ได้เรียนรู้อะไรจากความผิดพลาดแต่เดิมของตัวเองเลย