วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 08, 2552

KPI - Key Performance Index ในมหาวิทยาลัย

KPI หรือ Key Performance Index หมายถึงดัชนีชี้วัดผลสัมฤทธิ์ของงานของหน่วยงาน ซึ่งจำแนกแยกแยะกันไปตามเนื้องาน เช่น KPI ของหน่วยบริการประชาชนก็อาจเป็นจำนวนประชาชนที่ได้รับบริการ ถ้ามากแสดงว่าหน่วยงานมีผลงานดี ถ้าน้อยแสดงว่าหน่วยงานมีผลงานไม่ดี เป็นต้น

หน่วยงานของรัฐในยุคนี้ ก็จะถูกประเมินกันโดยใช้ KPI เป็นหลัก และแน่นอนมหาวิทยาลัยก็ไม่เว้น

อันที่จริง KPI นี้ถ้าใช้อย่างเข้าใจ ใช้เป็น ก็จะเป็นของดี เพราะมันช่วยให้มองเห็นเป้าหมายของหน่วยงานเป็นรูปธรรม ทำให้มองเห็นจุดแข็งและจุดอ่อนได้ดี

แต่เมื่อมันเข้ามาในระบบราชการบางหน่วยงาน KPI นี้แทนที่จะเป็นตัวชี้วัด เป็นตัว สะท้อน ผลงาน ตัว KPI มันกลับกลายเป็น เนื้องาน ของหน่วยงานแทน และมันทำให้เป้าหมายที่แท้จริงของหน่วยงานถูกบดบังโดยการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างตัวเลข KPI เหล่านี้

เรื่องตลกก็เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ ต้องกันงบเป็นกรณีพิเศษ เพื่อ KPI เรื่องการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ซึ่งกิจกรรมที่จัดได้ก็เช่นจัดงานทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ในขณะที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเดียวกันก็ต้องพยายามทำวิจัยเพิ่มเพื่อพัฒนา KPI เรื่องการวิจัย เป็นต้น ถ้าถามว่า KPI ดีไหม ตอบว่าดีแน่ แต่ต้องใช้ให้เป็น รู้ให้ทัน แต่จากตัวอย่างที่ยกมานั้น มันเป็น KPI แบบบ้าจี้ เป็น KPI แบบไม่รู้เรื่อง รับกันมาเป็นทอด ๆ มากกว่า

นอกจากนี้ หากเราเชื่อว่า KPI มีไว้เพื่อให้มองเห็นจุดแข็ง และจุดอ่อนของหน่วยงาน เพื่อที่จะพัฒนาตนเองต่อไปได้ มันก็ยังอุตส่าห์มี KPI บางตัวที่ไม่รู้ว่าจะรู้ไปทำไม

เช่น จำนวนศิษย์เก่าที่ได้รับรางวัลในระดับชาติและนานาชาติ เป็นต้น

ศิษย์เก่านะครับ ไม่ใช่ศิษย์ปัจจุบัน เขาจะได้รับรางวัลมากหรือน้อย มหาวิทยาลัยทำอะไรไม่ได้แล้ว เขาจบไปแล้ว เราจะพัฒนาตนเองยังไงหรือครับ ศิษย์เก่า ถึงจะได้รับรางวัลเพิ่ม

ที่ทำกันก็มีนะ เช่นจัดงานกันเอง แจกรางวัลกันเอง แล้วก็นับ KPI กันเอง

ผมว่าเลิกเหอะ KPI ข้อนี้ แล้วไปเน้นเรื่องการพัฒนานักเรียนนักศึกษาของเราดีกว่า ถือเอา Feedback ที่ไม่มี Delay Time เช่นจำนวนศิษย์ปัจจุบันที่เข้าร่วมการแข่งขันทางวิชาการต่าง ๆ ดีกว่า ได้รางวัลก็แสดงว่าสอนมาดี ไปแข่งแล้วไม่ชนะเขาสักที แสดงว่าต้องปรับปรุง เป็น Feedback ที่ตรงไปตรงมาและรวดเร็วดี เป็น KPI ที่จะช่วยให้เรามองเห็นจุดอ่อนของตนเองได้ดี และเปิดโอกาสให้เราพัฒนาตนเองได้จริง ๆ

ไม่ใช่หลอกตัวเองไปวัน ๆ

ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ได้รับการทักท้วงจากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยไหม? คำตอบคือจริง ๆ แล้วมีการตั้งคำถาม และมีการทักท้วงอยู่ตลอดมา แต่คำตอบที่ได้มันน่าผิดหวังมาก สิ่งที่เขาตอบเราได้ก็มีแค่ ก.พ.ร. เป็นผู้กำหนด ดังนั้นเปลี่ยนไม่ได้!

จริง ๆ ผมก็ทราบนะ ว่าตัวชี้วัดพวกนี้ ก.พ.ร. ท่านกำหนดมาสำหรับหน่วยงานราชการทั่วประเทศ โดยใช้เกณฑ์ต่าง ๆ กัน เช่นมหาวิทยาลัยก็จะมีเกณฑ์อย่างหนึ่ง โรงพยาบาลก็มีเกณฑ์อีกอย่างหนึ่ง

แต่ผมว่าเกณฑ์สำหรับมหาวิทยาลัยนั้น ไม่น่าจะใช่ว่า ก.พ.ร. ส่งเกณฑ์มาใด้ 40 ข้อ มหาวิทยาลัยก็โยนให้คณะ 40 ข้อดิบ ๆ อย่างนั้น ระดับบนมันต้องช่วยย่อยบ้าง สิ่งใดเป็นภาพรวม ส่วนกลางของมหาวิทยาลัยก็ทำไปเลย เช่นจำนวนนักศึกษาต่างชาติ ทำไมสำนักทะเบียนจะไม่รู้ ไม่ใช่มาถามเอาที่ระดับคณะ หรือที่ระดับภาควิชา เกณฑ์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมก็ยกให้คณะศิลปกรรมศาสตร์เขาไปเลย แล้วไม่ต้องไปคาดคั้นเอานวัตกรรมจากเขา มาคาดคั้นเอากับคณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์นี่ แล้วไม่ต้องเรียกร้องให้เราไปส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม

แต่ตอนนี้คือ ใช้ KPI ไม่เป็นไง
เจ้านายอยากได้ตัวเลข ก็เอาตัวเลขให้ ใช้แบบไม่ได้คิด มันเลยดูบ้าบอ แล้วก็ ถ่วง ประสิทธิภาพในหน้าที่หลักของเราคือการสอนไปด้วย

หรือเราอยากได้ KPI สูง ๆ (และได้มาจริง ๆ ด้วย) ในขณะที่นักศึกษาของเราแข่งอะไรยังไม่เคยชนะเลย?

อะไรคือของจริงและอะไรคือภาพลวงตากันแน่?