วันนี้อ่านมติชนรายสัปดาห์ฉบับประจำที่ 1407 ประจำวันที่ 3-9 สิงหาคม 2550 คอลัมน์กระแสคน กระแสโลก โดย ดร. ภาณุภาคย์ พงศ์อติชาต สำนักงาน ก.พ. เรื่องภูมิใจไหม? คนไทยทำงานหนัก (เกือบ) ที่สุดในโลก !!!
ได้ความว่าประเทศไทยมีสัดส่วนคนทำงานมากชั่วโมงที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกคือ ร้อยละ 46.7 ชั่วโมง ทำงานมากกว่า 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ รองจากอันดับหนึ่ง เปรู ร้อยละ 50.9 และ เกาหลีใต้ ร้อยละ 49.5
แล้วท่านก็ตั้งประเด็นว่า เรื่องนี้มองแง่ดีก็คือ คนไทยขยัน มองแง่ร้ายก็คือค่าจ้างของเราต่ำทำให้ต้องทำงานมาก และน่าจะส่งผลเสียหลายประการเช่น เมื่อใช้เวลาทำงานมากก็จะมีเวลาสำหรับเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตน้อยลง ทำให้คุณภาพชีวิตตกต่ำ
แต่ผมกลับรู้สึกว่า ที่ต้องทำงานอย่างหนักหนาสาหัส (ณ เวลานี้ 00:09:00 น. และยังต้องทำงานอยู่) ส่วนหนึ่งก็เพราะไอ้การประเมิน KPI ของ ก.พ. นั่นแหละ ท่านอาจจะไม่ทราบว่า KPI ที่เราต้องเตรียมนั้นรวมกันได้ตั้ง 86 ตัวชี้วัดไล่ลงมาถึงหน่วยงานระดับเล็กที่สุดในมหาวิทยาลัย
ผมไม่ได้รังเกียจ KPI การมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนย่อมส่งผลดีต่อการพัฒนางาน แต่ตำราก็บอกว่า จำนวน KPI สำหรับหน่วยงานที่ไม่มีระบบฐานข้อมูลที่ดี ควรจะไม่เกิน 20 ตัวชี้วัด ! สำหรับหน่วยงานที่มีระบบฐานข้อมูลอย่างดี ก็ไม่ควรจะเกิน 40 ตัวชี้วัด !! เพราะถ้าเกินไปกว่านี้หน่วยงานจะต้องเสียเวลาอย่างมากในการรวบรวมข้อมูลซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของงานประจำ
แล้วคุณรู้ไหมว่าหน่วยงานเล็กที่สุดในมหาวิทยาลัยจะต้องเตรียมเอกสารเพื่อรับการประเมินโดยใช้ตัวชี้วัดถึง 86 ตัวชี้วัด !!!
ภาควิชาฯ น่ะ แค่เตรียม สอน วิจัย บริการวิชาการ ก็หมดเวลา 45 ชั่วโมงต่อสัปดาห์แล้ว ใน 86 ตัวชี้วัดยังเรียกร้องให้มีการทำแผน "ลดขั้นตอน" การทำงาน แผน "ประหยัดพลังงาน" อยู่เลย
เรื่องตลกของแผน "ลดขั้นตอน" ก็คือ ขั้นตอนราชการมันลดไม่ได้ครับท่าน เพราะผู้ปฏิบัติไม่มีใครกล้าทำผิดไปจากความเคยชิน ทุกคนกลัวความผิดพลาด กลัวความผิดจากระเบียบราชการทั้งนั้น
ถ้าท่านอยากลดขั้นตอน ท่านก็ออกระเบียบราชการมาให้มันมีขั้นตอนน้อย ๆ ตั้งแต่แรกสิครับ อย่ามาเรียกร้องเอากับหน่วยงานปลายทางอย่างภาควิชาอย่างนี้ เราน่ะ ท่านให้ทำอย่างไร เราก็ทำอย่างนั้นทั้งนั้นแหละ ไม่อยากแหกกฏแหกระเบียบหรอก ต่อให้ระเบียบมันงี่เง่าขนาดไหนก็ตาม
ถ้าท่านอยากให้พวกเรามีคุณภาพชีวิตดีกว่านี้ มีชั่วโมงทำงานไม่แตกต่างไปจากนานาอารยประเทศแล้วละก็ ขอแค่ท่านลดจำนวน KPI ของท่านลงบ้าง หรือคุยกับหน่วยงานอื่นที่เขาจะต้องประเมินเราบ้าง อันไหนรวมกันได้ก็รวมกันเสีย เราต้องถูกประเมินจากหลายหน่วยงาน ถ้าต้องเตรียมให้ทุกท่านมาประเมินเราได้อย่างดี ก็ต้องจัดสรรกำลังคนส่วนหนึ่งไปกับเรื่องนี้ แต่คนเราเท่าเดิมเพราะอัตราราชการมันไม่มีอีกแล้ว มันก็ทำให้เราต้องทำงานเพิ่มขึ้นเท่านั้นเอง
และจะช่วยได้มากยิ่งขึ้นหากท่านจะอธิบายให้แต่ละหน่วยงานมีความเข้าใจการประเมินอย่างถ่องแท้ ไม่ใช่แค่ต้องการปั่นตัวเลขเฉย ๆ ผู้ใหญ่รับงานมา ผู้น้อยมันเหนื่อย...โว้ย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น