วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 26, 2552

คติสอนใจจากคุณคริส หอวัง

เมื่อวานนี้ (25 พ.ย. 2552) ได้ชมรายการราตรีสโมสร มีการสัมภาษณ์คุณคริส หอวัง นางเอกภาพยนตร์เรื่องรถไฟฟ้ามาหานะเธอ มีตอนหนึ่งที่ผมสนใจมากคือตอนที่พิธีกรให้คุณคริสเล่าให้ฟังเรื่องการเรียน

คุณคริสเล่าว่า ตอนจบ ม.3 พ่อแม่ก็พยายามให้ลูกได้เรียน ม.4 ในโรงเรียนที่ดี ก็เลยให้เรียนพิเศษเยอะแยะมากมาย แต่คุณคริสแกบอกพิธีกรว่า มันไม่รุ่ง คือเรียนพิเศษยังไง ๆ ก็ไม่รู้เรื่อง ผลการเรียนไม่ดีขึ้น แต่ที่ไปเรียนเต้นน่ะ สอบทีไรก็ได้ที่หนึ่งที่สอง มีประกวดแข่งขันทีไร ก็ได้ที่หนึ่งที่สองทุกที

คุณพ่อกับคุณแม่ก็เลยปรึกษากันว่า ถ้าอย่างนั้นก็น่าจะให้ไปเรียนเต้นเสียให้เป็นเรื่องเป็นราวไปเลย ก็เลยส่งคุณคริสไปเรียนที่โรงเรียนที่มีการสอนเต้นและสอนวิชาสามัญไปด้วยแทนที่จะเรียนวิชาสามัญอย่างเดียว (ผมฟังจากรายการจับใจความได้ประมาณนี้)

ผลก็คือ ผู้หญิงคนนี้กลายเป็นนักเต้นมืออาชีพ มีความรู้ด้านงานในวงการบันเทิงที่ไม่มีสอนในโรงเรียนสายสามัญเยอะแยะ และทำงานที่เป็นที่ใฝ่ฝันของเด็ก ๆ หลายคน เช่นการเป็นนักแสดง นักจัดรายการ นางแบบ

ผมเลยนึกดูเล่น ๆ ว่าถ้าพ่อแม่ไม่มีความเข้าใจในความชอบและความถนัดของลูก และเคี่ยวเข็ญบังคับให้คุณคริสเรียนต่อ ม. 4 5 6 เพื่อไปสอบเอ็นทรานซ์ตามแบบแผนปกติ คุณคริสจะเรียนคณะอะไร และวันนี้คุณคริสน่าจะกำลังประกอบอาชีพอะไรอยู่?

คงฟังดูแปลก ๆ ที่คนที่เป็นครูมาเขียนความคิดเหมือนกับว่าไม่สนับสนุนให้เด็กเรียน จริง ๆ ก็ไม่ใช่อย่างนั้น เพียงแต่ผมคิดว่าการเรียน มันไม่จำเป็นต้องเป็นสายสามัญ ม. 4 5 6 แล้วต่อด้วยมหาวิทยาลัยจนจบ ป. ตรี โท เอก คณะยอดนิยมเสมอไป การเรียนสายวิชาชีพก็เป็นการเรียน การเรียนศิลปะก็เป็นการเรียน การเรียนคณะที่คนไม่นิยมเรียน (แต่ตนเองมีความชื่นชอบ) ก็เป็นการเรียน

หากเราตั้งใจจริงจนเป็นที่หนึ่งในสิ่งที่เราชอบ สนใจ และมีความถนัดแล้ว มันก็มีโอกาสก้าวหน้า มีโอกาสได้ทำงานที่ท้าทาย และมีความสุขกับงานนั้น ๆ ได้

ผมไม่อยากเห็นพรสวรรค์ของใครมาถูกฆ่าทิ้งในห้องเรียน อย่างที่เห็นอยู่เรื่อย ๆ ถ้านักศึกษารู้เร็วว่าตนเองสนใจอะไร ชอบอะไร และถนัดอะไร ถ้ามุ่งมั่นศึกษาไปในเส้นทางนั้น ก็น่าจะประสบความสำเร็จได้มากกว่าการเรียนตาม ๆ กันไป หรือเรียนเพราะไม่รู้จะไปทำอะไรดีมากกว่า

อยากให้ย้อนไปดูชีวิตของคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตหลาย ๆ คนบ้าง เขาไม่ได้ประสบความสำเร็จเพราะเรียนคณะยอดนิยม เขาไม่ได้ประสบความสำเร็จเพราะผลการเรียนดีเลิศ เขาไม่ได้ประสบความสำเร็จเพราะเขาเรียนสูง

แต่เขาประสบความสำเร็จเพราะความมุ่งมั่น ตั้งใจจริง และไม่ยอมแพ้ต่างหาก

วันจันทร์, พฤศจิกายน 16, 2552

ความชั่วคือความโง่ในกฏของโลก

โลกนี้วุ่นวายเพราะคนมันโง่ มันไม่ฉลาด
ไม่ใช่ฉลาดเรื่องการอินทิเกรต ไม่ใช่ฉลาดเรื่องกฏของเคอร์ชอฟหรือเกาส์
เป็นฉลาดเรื่องกฏของโลก นั่นคือกฏแห่งกรรม (หรือชื่ออื่น ๆ ที่มีความหมายเดียวกัน)

โกหกเพราะโง่
ขี้เกียจเพราะโง่
เอาเปรียบเพื่อนเพราะโง่
ทุจริตเพราะโง่
มักง่ายเพราะโง่

คนเราทุกคนมีความโง่อยู่ในตัวทั้งนั้น เช่นบางคนอาจจะขี้เกียจ หากรู้ตัวก็ฉลาด (ขยัน) ขึ้นมาได้ หากลืมตัวก็กลับไปโง่ (ขี้เกียจ) อีก แต่เรื่องโง่ถึงที่สุดจนกระทั้งเรียนรู้อะไรไม่ได้เลยนั้น...คิดแล้วหงุดหงิด (อ้าว ผมก็โง่นะนี่ มาหงุดหงิดกับเรื่องไม่เป็นเรื่องนี้ ฮ่า ฮ่า ฮ่า)

คนโง่ทำชั่วได้ ทำผิดได้ เพราะไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ ในกฏแห่งกรรม
ทำลงไปแล้วยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าได้ทำผิดไปแล้ว
ได้รับผลของมันแล้วก็ยังไม่รู้ตัวว่ากำลังรับผลของอะไรอยู่ คิดเข้าข้างตนเองว่าโชคร้ายหรือถูกคนอื่นกลั่นแกล้งตลอด เรื่องราวทำนองนี้ก็พบเห็นได้ในหนังสือพิมพ์แทบทุกวัน ณ วันนี้ก็มี

เห็นคนพวกนี้แล้วน่าสงสาร สงสารตรงที่ดูเหมือนเขาจะไม่ทราบเลยว่า เขาได้ทำผิดอะไร
การที่ต้องรับกรรม และเจ็บปวดจากการกระทำของตนเอง โดยที่ตนเองไม่ทราบว่าตัวได้ทำผิดอะไร มันเจ็บว่าที่เจ็บจริงหลายเท่านัก และไม่เลิกเจ็บง่าย ๆ ด้วย เพราะเจ้าตัวยังไม่เลิกทำผิด (เพราะยังไม่รู้ว่าที่ทำอยู่นั้น มีอะไรผิด) อย่างนี้เรียกว่าโง่ถึงที่สุด และน่าสงสารที่สุด

วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 12, 2552

ฝรั่งเป็นของสูง เพราะมันอยู่บนต้นไม้

เมื่อวานดูละคร จำชื่อเรื่องไม่ได้ เนื้อความเกี่ยวกับพระเอกเป็นลูกเศรษฐี แล้วจะไปทำงานเป็นเชฟ
พอที่บ้านทราบ ดูเหมือนว่าพี่น้องจะรับไม่ได้ บ่นว่า
"หากใครรู้ว่าลูกพระยา...ตกอับจนถึงกับจะไปทำงานก้นครัว ก็อายเขา"
แต่ในบรรดาคนที่บ้านก็มีผู้ชายตนหนึ่งที่ดูจะเข้าอกเข้าใจพระเอก เขาพูดว่า
"อาชีพเชฟก็ไม่ได้กระจอกงอกง่อยอะไร ฝรั่งทำตั้งเยอะ"
ฝรั่งทำตั้งเยอะ เพราะฝรั่งทำอาชีพนี้เยอะ มันจึงไม่ใช่อาชีพกระจอกงอกง่อย? ช่างสะท้อนความคิดของคนดีแท้ ถามว่าผิดไหม? มันก็ไม่ผิดหรอก มันก็สะท้อนความคิดคน ที่บางทีแม้แต่เจ้าตัวก็ไม่รู้ตัวเท่านั้นเอง

คือผมอยากจะบอกว่าคนพูดก็ไม่ผิดหรอก คนเขียนบทก็ไม่ผิด มันแค่สะท้อนความคิดคนเฉย ๆ และผมก็เชื่อ จากประสบการณ์ที่ได้พบปะกับคนในที่ต่าง ๆ ว่า ในสังคมไทยแล้ว ความคิดลักษณะที่ว่าฝรั่งเหนือกว่า มันเป็นไปโดยปริยาย ไม่ได้ตั้งใจจริง ๆ

ในระดับมหาวิทยาลัยก็คงมีความคิดลักษณะนี้อยู่บ้าง เพราะเห็นบางมหาวิทยาลัยดูจะเน้นให้นักศึกษาเขียนภาษาอังกฤษได้ พูดภาษาอังกฤษเป็น อย่างมาก ดูจากงบประมาณที่ทุ่มเทลงไปในการพัฒนาภาษาอังกฤษของนักศึกษา แต่กลับละเลยการเขียนภาษาไทยและการอ่านภาษาไทยของนักศึกษาเสียนี่ ทั้ง ๆ ที่นักศึกษาหลายคนอ่านจับใจความไม่ได้ หลายคนเรียบเรียงความคิดและถ่ายทอดในภาษาของตนเองไม่ได้

หรือเพราะไม่ใช่ภาษาฝรั่ง จึงเป็นภาษาที่มีวรรณะต่ำกว่าและไม่น่าสนใจ?
น่าสนใจว่าภาษาฝรั่งที่นักศึกษาจะได้ ทั้ง ๆ ที่ยังจับใจความไม่เป็น และยังเรียบเรียงความคิดเพื่อถ่ายทอดไม่ได้ มันจะเป็นภาษาฝรั่งแบบไหนกัน